ในปัจจุบันนักวิเคราะห์รวมถึงสถาบันการเงินเริ่มออกมาบอกว่าเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) คือภาวะที่เศรษฐกิจไม่มีการขยายตัว หรือ GDP ติดลบ ซึ่งสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้โดยพิจารณาจากค่า GDP ทั้งนี้ ประเทศใดก็ตามที่ค่า GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน จะเรียกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession)
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้ง 2 รูปแบบ แต่ประเทศที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงคือ สหรัฐฯ ซึ่งสิ่งที่ทำให้คนเป็นกังวลว่าสหรัฐฯ จะเกิดภาวะเศรษฐถดถอยมีสาเหตุมาจากการที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ต้องเจอกับภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มดอกเบี้ย ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยนี้เป็นหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เคน นครินทร์ พูดคุยกับ ชยนนท์ รักกาญจนันท์ Co-Founder FINNOMENA ถึงแนวทางของเศรษฐกิจโลก ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงแนวทางการลงทุนในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งคำแนะนำสำหรับนักธุรกิจเมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
1. การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและรุนแรงเกินไป
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มดอกเบี้ย
2. ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์
จากหลากหลายเหตุการณ์ เช่น สงครามยูเครนที่ยืดเยื้อ การคว่ำบาตรของฝั่งยุโรปที่เลิกนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ทำให้ Supply ของรัสเซียหายไปอย่างน้อย 20% ทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง และการคว่ำบาตรอาจจะอยู่ในระยะยาว
3. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น
จากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ยิ่งราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงก็ยิ่งส่งผลต่อราคาสินค้าอื่นๆ สูงขึ้นตามไปด้วย เพราะน้ำมันส่งผลต่อต้นทุนของสินค้าเกือบทุกอย่าง คนจึงจับจ่ายใช้สอยลดลง เศรษฐกิจจึงชะลอตัวลง
ต้องบอกว่าปัจจุบันเกิดขึ้นครบทั้ง 3 ปัจจัยแล้ว ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยใกล้กว่าที่คิด คำถามคือ นักลงทุนที่เห็นถึงปัญหานี้ควรจะมีการวางแผนการลงทุนอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงเวลา ‘ตลาดหมี’
ปัจจุบันตลาดหุ้นและตลาด Risky Assets กำลังเข้าเป็น Downtrend แต่ก็ยังมีหลายตัวที่น่าสนใจ และราคาต่ำกว่าปี 2021 โดยมีกำไรมากถึง 70-80% แต่ควรลงทุนในระยะยาวอย่างน้อย 5 ปี และหากจะลงทุนแบบ Thematic Themes ควรพิจารณาไปในแต่ละธีม เช่น
- Blockchain ยังไม่เป็นที่น่าสนใจเพราะยังคงลงอย่างต่อเนื่อง
- EV เป็นที่น่าสนใจโดยเฉพาะในจีน เพราะยอดขายรถ EV ในจีนสูงที่สุดในโลก
- E-Sports ควรมีเงินสดเยอะ และสามารถบริหารจัดการให้ดีไปในระยะยาว
- Healthcare น่าลงทุนเพราะเป็นหุ้นที่ทนในสภาวะตลาดได้ และสามารถเติบโตได้เรื่อยๆ ในระยะยาว
- Renewable Energy หรือ Sustainable Energy เป็นธีมแห่งอนาคต กำไรยังไม่มาในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่เป็นอีกธีมที่น่าสนใจ มีโอกาสที่ราคาจะขึ้น
ในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงรอบด้านเช่นนี้ หากมีเงินสดอยู่ในมือ ควรจะ ‘รอ’ หรือ ‘ลงทุน’?
หากแบ่งเป็น 2 ตลาด สหรัฐฯ และจีน ในส่วนของตลาดสหรัฐฯ ควรรอให้เกิด Panic Sale หรือเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงค่อยเข้าลงทุน ส่วนตลาดจีนตอนนี้เป็นที่น่าสนใจ ใครที่ยังไม่มีในพอร์ตอาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสะสม
สถานการณ์ของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี
ให้จับตามอง 2 เหรียญ ระหว่าง Bitcoin กับ Ethereum ถ้าหากทั้ง 2 เหรียญนี้ยังไม่สามารถกลับเป็นขาขึ้นได้ก็ยังไม่น่าลงทุน (ซึ่งตอนนี้อยู่ในคลื่นปรับฐาน) จะน่าลงทุนก็ต่อเมื่อ Bitcoin สามารถสร้างฐานได้ที่ระดับเกิน 36,000 เหรียญขึ้นไป
คำแนะนำสำหรับนักธุรกิจถ้าต้องสู้กับเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย
- สำหรับผู้ส่งออก ค่าเงินบาทอ่อนถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เงินบาทอาจจะอ่อนได้มากกว่านี้ ควรมีวิธีรับมือเอาไว้
- สำหรับการท่องเที่ยว ยังคงมีหวังหากโควิดในจีนดีขึ้น รัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะเปิดประเทศ และนักท่องเที่ยวในจีนก็อาจจะเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น
- สำหรับผู้ประกอบการที่รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ควรเน้นเรื่องการประคับประคองกิจการของตนเองก่อน และอย่าเพิ่งลงทุนอะไรที่เกินตัว
กล่าวได้ว่าสภาพการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย นักลงทุนและผู้ประกอบการจึงควรเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะนักลงทุนที่ต้องการทำเงินในระยะสั้น สถานการณ์ในปัจจุบันอาจยังไม่เหมาะสม แต่ก็ยังมีโอกาสสร้างรายได้หากมุ่งเน้นที่การลงทุนระยะยาว