×

6 เช็กลิสต์ฉุกเฉินที่ซีอีโอต้องทำเดี๋ยวนี้ #ฝ่าวิกฤตโควิด19

22.03.2020
  • LOADING...

ซีอีโอต้องรีบวางแผนอย่างไรเพื่อให้รอดพ้นจากภาวะฉุกเฉิน ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และอาจทำให้บริษัทกลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง

 

เคน นครินทร์ หยิบ 6 เช็กลิสต์เร่งด่วน รวมถึงแผนการทำวอร์รูมในแต่ละสัปดาห์ว่าควรทำอะไร อ้างอิงข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก Bain & Company

 

ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบัน

เหตุการณ์ครั้งนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในรอบ 100 ปี มีความรุนแรงและทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าวิกฤตอื่นๆ สิ่งนี้จะก่อให้เกิดการดิสรัปชันที่รุนแรง การรอ เฝ้าดู แล้วค่อยๆ ทำจึงอาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ดี ควรเตรียมการ Worst Case Scenario หรือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดไว้ และขอบคุณมันถ้าสิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้น

 

ธุรกิจต้องเตรียมการรับมือวิกฤตสภาพคล่อง เงินสดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การฟื้นฟูจะไม่เกิดขึ้นเร็วนัก จึงต้องมีการวางแผนในอีกหลายไตรมาสข้างหน้าว่ารายได้จะลดลง โดยบางที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์นี้จะยืดเยื้อออกไปถึง 18 เดือน เว้นแต่จะมีการค้นพบวัคซีน 

 

พนักงานและลูกค้าเกิดการหวาดกลัว บริษัทจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างวอร์รูมและโฟกัสกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ซีอีโอจะต้องเป็นคนแรกที่สั่งการและวางแผนเชิงรุก หากทำให้เร็วกว่าที่ลูกทีมจะรู้สึกตัวได้ยิ่งดี

 

จากการที่ลูกค้าอาจเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างไปตลอดกาล วิกฤตจะเร่งเทรนด์ต่างๆ ให้เกิดเร็วขึ้น เช่น เทรนด์การใช้ดิจิทัล บริษัทต้องจัดตั้งแผนให้ได้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

 

6 สิ่งสำคัญที่ต้องทำเดี๋ยวนี้

 

  1. ปกป้องพนักงานและลูกค้าของคุณ

ถ้าเคยมีผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเข้ามาภายในบริษัท ต้องประเมินอย่างใกล้ชิดว่าควรปิดออฟฟิศหรือไม่ และพนักงานควรทำการกักตัวเป็นเวลา 14 วันหรือเปล่า โดยอาจสังเกตการณ์จากแนวทางด้านสุขภาพจากประเทศทั่วโลก รวมถึงบริษัทอื่นๆ ผู้นำต้องกล้าที่จะลงทุนให้มากที่สุดกับพนักงานและลูกค้า รวมถึงต้องกล้าที่จะสื่อสารเกินพอดี (Over-communicate) ด้วยความโปร่งใสว่าขณะนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร

 

  1. ทดสอบงบกำไรขาดทุน กระแสเงินสด และสภาพคล่อง

ธุรกิจต้องสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหรืออุตสาหกรรมของตนว่าสิ่งนี้จะกระทบรายได้ของบริษัทอย่างไร โดยเฉพาะงบกำไรขาดทุน อาจกำหนดขึ้นมาเป็นสถานการณ์จำลองที่อ้างอิงจากปัจจัยหลายสิ่ง เช่น ยูนิตสินค้า รายรับ รายจ่าย เงินสด หรือการคาดการณ์ในระยะต่างๆ บริษัทต้องกล้าที่จะสุดโต่งกับการประเมินสถานการณ์เลวร้ายที่สุด

 

การทำแผนปฏิบัติการอาจก่อให้เกิดทางเลือก 2 ทาง ทางแรกคือการดึงเบรกมือทันที เช่น การตัดชิ้นส่วนของบริษัทที่จำเป็นออกไปอย่างรวดเร็วเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มกระแสเงินสด ทางที่สองคือการเฝ้าระวังและคอยตอบรับ บริษัทควรมีการประเมินว่าแต่ละแผนการควรใช้ทางเลือกแบบใด

 

  1. ป้องกันรายได้ที่จะตกต่ำลง

บริษัทควรมองในมุมของผู้บริโภคว่าจะสร้างความเชื่อใจ เชื่อมั่น และส่วนแบ่งการตลาดอย่างไรท่ามกลางสภาพแวดล้อมเช่นนี้ เช่น ร้านค้าหลายแห่งที่ปรับตัวไปสู่ตลาดออนไลน์ ทรัพยากรของคุณคืออะไร และจะใช้มันในการปรับตัวได้อย่างไรเพื่อให้รายได้ไม่ตกต่ำไปกว่านี้

 

สร้างแผนการที่จะสามารถบรรเทากระแสรายได้หลักที่จะลดลง และให้มองเพิ่มเติมไปถึงอนาคตว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่จะสามารถนำไปใช้ในการเติบโตอย่างไรได้บ้าง โดยอาจมุ่งเน้นไปที่สินทรัพย์ประเภทที่สามารถปรับเปลี่ยนหรือมีส่วนช่วยกับการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น

 

  1. รักษากระบวนการการทำงานภายใต้ความปกติใหม่

สร้างเสถียรภาพในอุปกรณ์กายภาพ แรงงาน การผลิต การกระจายสินค้า ซัพพลายเออร์ เริ่มทำแผนฉุกเฉินของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นฝั่ง Front-line ค่าใช้จ่าย และบุคลากร อาจทำแผนข้ามสายงาน แผนก หรือภูมิภาค โดยใช้ไอทีเข้ามาช่วย เช่น Work From Home ที่หลายบริษัทได้ทำไปแล้ว

 

  1. หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น บริษัทต้องวางแผนจัดการค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาเงินสดไว้

การดึงเบรกมือที่พูดถึงไปข้างต้นอาจมาในรูปแบบของการ Work Without Pay การขอความร่วมมือพนักงานลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็น โดย Bain & Company กล่าวว่า “ไม่มีไอเดียใดเอ็กซ์ตรีมเกินไป ถ้าเราต้องการที่จะรักษาไว้ซึ่งบริษัท”

 

ในระยะกลาง บริษัทต้องวางแผนทำให้องค์กรลีนมากขึ้น อาจทำโดยการนำหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีมาใช้ให้มากขึ้น สร้างโครงสร้างต้นทุนของอนาคต มี Buffer หรือตัวต้านทาน เช่น การมองหาส่วนธุรกิจที่สามารถใช้สำรองเงินสด ดึงกระแสเงินสดออกมาได้ โดยอาจลดทอนการให้เครดิตกับคู่ค้า

 

  1. เดินเกมบุก ไม่ใช่เพียงตั้งรับ

กำหนดวิธีที่คุณจะสามารถทำได้ดีกว่าคู่แข่ง หรือสามารถที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างไร โดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทคุณมีเงินสดรองรับไว้พอสมควร อาจมองถึงโรดแมปการทำ M&A การควบรวมกิจการ หรือการลงทุนอื่นๆ ที่จะช่วยทำให้สินค้า บริการ หรือลูกค้าของคุณเพิ่มศักยภาพมากขึ้น

 

นอกจากนี้บริษัทควรเตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นตัวที่จะเด้งกลับ เริ่มลงทุนในเทรนด์มหภาคเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้ใช้หลักความคิด ‘If… then…’ ถ้าเกิดสิ่งนี้ อะไรจะเกิดขึ้น แล้วรีบขยับทันที

 

การก้าวกระโดดเป็นสิ่งสำคัญในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคมุ่งไปสู่การเป็นดิจิทัลมากขึ้น เพราะถูกบีบให้คุ้นชิน จากที่ไม่เคยสั่งอาหารหรือสินค้าออนไลน์ก็ต้องเริ่มสั่ง เริ่ม Work From Home มากขึ้น และมีธุรกิจอะไรอีกบ้างที่จะเข้าไปเติมเต็มสิ่งนี้ได้

 

Bain & Company สร้างแผนปฏิบัติการวอร์รูม โดยแบ่งเป็น 4 ช่วง


สัปดาห์ที่ 0

รวบรวมผู้บริหารระดับสูงที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดให้มาอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน จัดตั้งการประชุมรายวันและสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งงานที่ชัดเจน การตัดสินใจร่วมกัน การสรรหาและใช้เครื่องมือใหม่ๆ เพื่อประเมินและติดตาม โดยอาจนำผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามาเป็นที่ปรึกษา บริษัทจำเป็นต้องมีความ Agile มีแผนการสื่อสารที่ชัดเจน พร้อมดึงพนักงานมาเกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด

 

สัปดาห์ที่ 1-3

ทำแผนการณ์ที่กล่าวไปในข้อ 1 และ 2 แผนอาจปรับเปลี่ยนได้อย่างฉับพลัน โดยมีมายด์เซตว่าจะไม่เสียใจภายหลัง เพราะทุกการตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของความรวดเร็ว 

 

สัปดาห์ที่ 3-5

มุ่งเน้นไปที่การวางแผนปฏิบัติการชัดเจน โดยทำแผนการที่กล่าวไปในข้อ 3-5 ข้างต้น

 

สัปดาห์ที่ 6 เป็นต้นไป

เริ่มใช้แผนเชิงบุกมากขึ้น โดยสามารถปรับระยะเวลาการทำแผนการต่างๆ ตามความเหมาะสมเองได้

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์ 

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Music westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X