×

สรุป Executive Espresso EP.339 อีลอน มัสก์ ฮุบ Twitter 100% 4.4 หมื่นล้าน กระทบเราอย่างไร

03.05.2022
  • LOADING...

เมื่อนายหัวของ SpaceX และ Tesla ได้เข้าเทกโอเวอร์บริษัทโซเชียลมีเดียนกสีฟ้าในราคา 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ดีลมหากาพย์ระหว่าง อีลอน มัสก์ และ Twitter จะปิดฉากลง แต่นับจากวินาทีนี้เป็นต้นไป โลกของเราอาจไม่เหมือนเดิม 

 

อีลอน มัสก์แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า การเข้าซื้อครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของธุรกิจ แต่เป็นการสร้างแพลตฟอร์มที่ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่ออารยธรรมของมนุษย์

 

สิ่งที่น่าสนใจคือภายใต้บังเหียนของอีลอน มัสก์ Twitter จะมีทิศทางในการดำเนินงานอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานอย่างเราอย่างไร

 


 

บทความเกี่ยวข้อง

 


 

Executive Espresso อีพีนี้ เคน นครินทร์ ชวนคุณมองปรากฏการณ์นี้ และคาดเดาถึงโลกในอนาคตร่วมกันว่า ‘โลกของ Twitter จะหมุนไปทางไหน’

 

Twitter Elon Musk

 

สรุปไทม์ไลน์การเข้าซื้อ Twitter ของ อีลอน มัสก์

 

14 มีนาคม 2022 อีลอน มัสก์เข้าถือหุ้น 9.2% ใน Twitter

ซึ่งเป็นจำนวนกว่า 73 ล้านหุ้น มูลค่า 2.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้อีลอน มัสก์กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในเวลานั้น และทำให้ราคาหุ้นของ Twitter ทะยานขึ้นไปประมาณ 25%

 

11 เมษายน 2022 อีลอน มัสก์ปฏิเสธตำแหน่งกรรมการบริหารของ Twitter แบบไม่ใยดี หลังจากนั้น พารัก อักราวาล ออกมายืนยันว่า แม้อีลอน มัสก์จะตัดสินใจเช่นนั้น แต่บอร์ดบริหารและ Twitter ก็ยังจะเปิดรับการเสนอความคิดเห็นจากอีลอน มัสก์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของพวกเขาเสมอ

 

14 เมษายน 2022 อีลอน มัสก์ยื่นข้อเสนอซื้อหุ้น 100%

อีลอน มัสก์ทวีตข้อความผ่าน Twitter ว่า “ผมได้ยื่นข้อเสนอไปแล้ว” พร้อมแนบลิงก์เอกสารที่เขาได้แจ้งความจำนงในการเข้าซื้อหุ้นของ Twitter ในสัดส่วน 100% ต่อ ก.ล.ต. สหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าตามราคาตลาด ซึ่งอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

26 เมษายน 2022 อีลอน มัสก์ซื้อ Twitter 100% ในราคา 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

โดยหลังจากที่ข่าวนี้ได้เปิดเผยสู่สาธารณชน อีลอน มัสก์ได้แถลงผ่านบัญชี Twitter ของตัวเองไว้ว่า 

 

“เสรีภาพทางการพูดคือรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และ Twitter นั้นเปรียบเสมือนกับจัตุรัสเมืองของโลกดิจิทัลที่มีการถกเถียงถึงประเด็นต่างๆ ที่สำคัญต่อมนุษยชาติ

 

“ผมมีความต้องการที่จะปรับปรุงแพลตฟอร์ม Twitter ให้ดียิ่งกว่าเดิมด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ สร้างอัลกอริทึมในรูปแบบ Open Source เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ กำจัดบอตสแปม และรับรองความถูกต้องของมนุษย์ทุกคน

 

“Twitter มีศักยภาพในการเติบโตมากมายอย่างมหาศาล ผมมองไปถึงการทำงานร่วมกับบริษัทและชุมชนผู้ใช้งานเพื่อที่จะปลดล็อกศักยภาพดังกล่าว”

 

Twitter Elon Musk

 

4 ทิศทางในอนาคตของ Twitter 

 

1. เสรีภาพในการแสดงออกและการควบคุมเนื้อหา

 

อีลอน มัสก์มักแสดงความกังวลว่า Twitter นั้นมีการควบคุมเนื้อหาและเข้าแทรกแซงบนแพลตฟอร์มมากเกินไป ซึ่งเขานั้นไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

ก่อนที่ข่าวการซื้อ Twitter ของเขาจะถูกประกาศอย่างเป็นทางการ อีลอน มัสก์ได้ออกมาทวีตว่า เขาหวังว่าแม้แต่ ‘นักวิจารณ์ที่แย่ที่สุด’ จะยังคงใช้แพลตฟอร์มนี้ต่อไป “เพราะนั่นคือสิ่งที่หมายถึงเสรีภาพในการแสดงออก” จึงมีแนวโน้มว่าในต่อไป Twitter จะให้ความสำคัญเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นหากเป็นไปตามคำกล่าวของอีลอน มัสก์

 

2. ท่าทีต่อ โดนัลด์ ทรัมป์

 

อีลอน มัสก์ไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะว่าเขาจะจัดการกับบัญชี Twitter ที่ถูกแบนตั้งแต่ปีที่แล้วของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไร 

 

แต่จากความคิดเห็นโดยเสรีของเขาทำให้เกิดการคาดเดาว่า Twitter ภายใต้ความเป็นเจ้าของของเขา จึงอาจมีแนวโน้มในอนาคตที่อีลอน มัสก์จะคืนบัญชี Twitter ให้กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 

 

3. อัลกอริทึม

 

บนเวที TED อีลอน มัสก์ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการที่จะทำให้อัลกอริทึมของ Twitter เป็น Open Source Model ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เห็นโค้ดที่แสดงว่าโพสต์บางรายการปรากฏในไทม์ไลน์ของตนอย่างไร อีลอน มัสก์มองว่าวิธีดังกล่าวนั้นดีกว่า และจะช่วยลดความสงสัยต่อผู้ใช้งานกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม

 

4. การใช้งานบนแพลตฟอร์ม

 

ก่อนหน้าที่จะเข้าซื้อ Twitter อีลอน มัสก์ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้งานบนแพลตฟอร์ม โดยบัญชีที่มีผู้ติดตามมากที่สุด 10 อันดับแรกอย่างอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา, จัสติน บีเบอร์ และ เคที เพอร์รี

 

มักไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวมากนัก ดังนั้นหนึ่งในแผนหลังการเข้าซื้อครั้งนี้

 

คือตั้งเป้าที่จะกำจัดบัญชีสแปมและบอตต่างๆ

 

 

ประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความเห็น

 

สังคมที่ไม่ถูกตีกรอบเรื่องเสรีภาพทางคำพูดจะเป็นอย่างไร เพราะในปัจจุบันยังมีประเด็นเรื่อง Cyberbullying หรือข้อความที่แฝงไปด้วยความเกลียดชังมากมาย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียที่ไม่เหมาะสมนี้

 

คริส แอนเดอร์สัน ผู้ดำเนินรายการ TED2022 ในหัวข้อ ‘Twitter, Tesla and how his brain works’ ได้ตั้งคำถามกับอีลอน มัสก์ในงานนี้ว่า

 

“แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีเสรีภาพทางการแสดงออกอย่างสูงสุดนั้น อาจส่งผลให้เกิด Hate Speech แล้วอีลอน มัสก์จะมีการจัดการกับปัญหาตรงนี้อย่างไร หากมีผู้คนมาทวีตว่า “ฉันเกลียดนักการเมืองคนหนึ่งมากๆ และไม่ต้องการให้เขามีชีวิตอยู่” หรือ “ภาพของนักการเมืองคนหนึ่งที่มีเป้าปืนเล็งไปที่ใบหน้าของเขา พร้อมกับบอกที่อยู่” คุณจะมีวิธีการจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร? อัลกอริทึมของคุณจะสามารถจัดการปัญหาตรงนี้ได้จริงๆ หรือ? หรือว่าเรายังต้องการให้มนุษย์เป็นผู้ตรวจสอบดูแลเรื่องเหล่านี้”

 

ทางฝั่งของอีลอน มัสก์ได้ตอบกลับมาว่า

 

“แนวทางการดำเนินงานของ Twitter จำเป็นที่จะต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศด้วย เพราะนั่นคือสิ่งที่เราต้องทำ เพียงแต่คำว่าเสรีภาพในการแสดงออกของผมหมายถึง หากบางทวีตได้รับการฟีดให้มีการมองเห็น โดยที่ทวีตอีกกลุ่มถูกลดการมองเห็น ผมมองว่าสิ่งนี้คือเรื่องที่อันตรายและต้องได้รับการแก้ไข 

 

“หากข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่มีความ ‘เทาๆ’ แน่นอนว่าผมอาจจะไม่ทำอะไรกับมัน แต่หากเป็นข้อความที่รุนแรงมากๆ ผมยังไม่มีคำตอบในส่วนตรงนี้ให้ แต่ที่แน่ๆ คือเราจะให้ความสำคัญกับการแบนบัญชีถาวร และพยายามที่จะไม่ให้สิ่งนั้นต้องเกิดขึ้น”

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising