ก่อนจะได้แสดงความสามารถออกอากาศในรายการเพลง ทุกคนต้องผ่านด่านออดิชันกันก่อน ซึ่งการจะสร้างความประทับใจให้ทีมงานออดิชัน หรือทีม scout นั่น ถือว่าเป็นเรื่องที่กดดันและอาศัยเทคนิคอยู่พอสมควรเลย
Eargasm Deep Talk เอพิโสดนี้ จึงขอเชิญผู้ที่เคยทำหน้าที่ scout และผู้ที่เคยส่งคนไปออดิชัน มาคุยว่าการสร้างความประทับใจในขั้นแรกของการคัดเลือกนั้น ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง
Eargasm Deep Talk เทปนี้ มาคุยกับ พี-ประพฤติ ทองธานี ครูสอนร้องเพลงที่มีประสบการณ์ส่งนักเรียนไปประกวดร้องเพลงมานักต่อนัก และ แท็บบี้-รฐา โกกิลานนท์ นักร้องที่เคยเข้าประกวดและเคยเป็นกรรมการออดิชันนักร้องมาหลายรายการ รวมถึง โจ้-นทธัญ แสงไชย โปรดิวเซอร์รายการ Eargasm ที่เพิ่งผ่านการเป็นกรรมการคัดเลือกนักร้องมาสดๆ ร้อนๆ
สิ่งแรกที่ควรคิดเมื่ออยากสมัครแข่งรายการเพลง
ต้องดูว่ารายการที่เราอยากสมัครเขามองหาอะไร บางรายการหานักร้องที่บุคลิกภาพดี สวยสูงหุ่นดีมั่นใจ บางรายการก็เน้นร้องเพลงแหละ แต่หาคนที่เกือบจะเก่งมาปั้นให้พัฒนาในรายการ หรือ The Voice ที่ชื่อเหมือนจะเน้นเสียง แต่ก็ดูที่เสน่ห์เป็นหลัก ไม่ต้องหล่อก็ได้นะ แต่ร้องเพลงแล้วมีเสน่ห์ ดูเป็นศิลปิน ก็ต้องดูว่าคาแรกเตอร์เราเหมาะกับที่รายการหาอยู่หรือเปล่า ซึ่งถ้าไปแล้วไม่ติด ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ดีนะ แต่อาจเพราะเราไม่ใช่คาแรกเตอร์แบบที่รายการหาอยู่
ซึ่งหน้าที่ของแท็บบี้หรือโจ้ที่มาพูดคุยวันนี้ คือเป็นทีมออดิชันในขั้นแรก ที่ไม่ได้ออกทีวี ไม่มีการถ่ายเก็บไว้ ทำงานเป็นหน่วยคัดกรองคนออดิชันก่อนจะเข้าไปในรายการจริงๆ หลังจากนั้น
ซึ่งแต่ละปีจะมีเพลงฮิตของปีนั้นๆ ซึ่งทำให้กรรมการเกิดอาการ earworm มาก อย่างเช่นปีนี้จะเป็นเพลงของ The TOYS ถ้าเพลงสากลก็เป็น Shape of You
ถ้ามองในสายตาของครูสอนร้องเพลง พีเองคิดว่าก่อนประกวดร้องเพลง คนคนนั้นก็ต้องพอร้องเพลงได้บ้าง ควบคุมเสียงได้ เข้าใจความหมายเพลง ถ่ายทอดเนื้อหา สื่อสารได้ ถ้ายังก็จะยังไม่ส่งให้น้องไปประกวดที่ไหน
เลือกเพลงที่เหมาะกับตัวเอง
นักร้องหลายคนเลือกเพลงยากเกินไป หรือไม่เหมาะกับตัวเอง ฉะนั้นต้องแยกให้ออกระหว่างเพลงที่เราชอบ กับเพลงที่เหมาะกับเสียงเรา
บางทีเรามักมีภาพจำว่านักร้องประกวดต้องร้องเพลงโชว์พลังเสียง แต่ส่วนมากเท่าที่ผ่านการออดิชันมา กรรมการชอบฟังเพลงที่ฟังแล้วสบาย ซึ่งก็คือเพลงที่เหมาะกับเสียงของเรานั่นแหละ เราอาจไม่เหมาะกับเพลงโชว์เสียงอย่าง Listen ของบียอนเซ่ แต่เหมาะกับเพลงสบายๆ อย่างสิงโต นำโชค มากกว่า
อีกอย่างคือต้องมีการเตรียมท่อนเพลงสักหน่อย เลือกว่าท่อนไหนโชว์เสียงเรามากที่สุด ไม่จำเป็นต้องมายืนร้องตั้งแต่ท่อนเวิร์สแรก ซึ่งกว่าจะไปพีกก็อาจจะอีก 2 ท่อนต่อมา
เพราะด้วยความที่ผู้เข้าประกวดมีมาก กรรมการก็ต้องทำเวลาในการฟัง แต่ถึงเวลาจะน้อย กรรมการก็ฟังออกว่าคุณมีศักยภาพประมาณไหน ฉะนั้นเอาท่อนที่ดีที่สุดของคุณออกมาเลย
ถ้ามีแบ็กกิ้งแทร็กก็ควรตัดมาแค่ท่อนที่โชว์เสียงเราก็พอ ไม่ต้องเอามาตั้งแต่ต้นเพลง
หรืออย่างที่เคยไปดูออดิชันรายการหาบอยแบนด์ ซึ่งก็จะมีตำแหน่งต่างๆ ทั้งร้อง เต้น แรป ก็เจอเด็กที่ร้องไม่ได้ดีมาก แต่แรปดี เต้นดี หน้าตาดี เราก็บอกไปว่าน้องควรเข้าไปโชว์แรปนะ มันน่าสนใจกว่า แต่พอปล่อยเข้าห้องออดิชันใหญ่ไป น้องกลับร้องเพลงที่เตรียมมาตั้งแต่ท่อนแรก กว่าจะเข้าท่อนแรปน้องก็โดนตัดจบไปแล้ว เสียดายแทน
รู้จักตัวเองให้ดีพอ
อีกประเด็นคือเราไม่ควรตอบกรรมการว่า ฟังเพลงทุกแนว ชอบเพลงศิลปินทุกคนเท่ากันหมด เพราะเขากำลังหาคาแรกเตอร์ของคุณอยู่ ฉะนั้นคุณควรรู้จักตัวเองระดับหนึ่งว่าเราเป็นนักร้องสไตล์ไหน หรือชอบฟังเพลงสไตล์ไหน
บางครั้งเด็กเลือกเพลงมา พีเองในฐานะครูก็ต้องกรองให้ว่าเพลงเหมาะกับน้องไหม แต่บางทีก็มีตัวแปรเป็นพ่อแม่เด็กเหมือนกัน ที่เลือกเพลงที่ตัวเองชอบมาให้ลูกร้อง แต่ไม่เหมาะกับลูก ทำให้บางครั้งนอกจากต้องสอนร้องเพลงแล้ว ก็ต้องสอนพ่อแม่ด้วยเหมือนกัน
First Impression คือสิ่งสำคัญ
วันออดิชันควรนอนมาให้พอ และแต่งตัวมาให้เหมาะ ไม่เยอะเว่อร์เกินไปจนน่าอึดอัด หรือแต่งตัวไม่สุภาพมากๆ มา ก็ทำให้ทีมงานรู้สึกไม่ประทับใจในแว่บแรก
พอเข้ามาถึงการร้องเพลง ก็อย่างที่บอกไปว่าต้องเลือกเพลงที่เหมาะกับเสียงตัวเอง บางคนอายุน้อยมากไม่ถึง 10 ขวบ แต่ร้องเพลงเนื้อหาแอบรักเป็นชู้อย่าง Saving All My Love For You ก็ไม่เหมาะนะ
บางคนจะรู้สึกว่าเพลงยากเนี่ย กูต้องร้องให้ได้ มันเป็นบันไดที่ต้องขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ มันต้องกลับมาดูตัวเองว่าเสียงเราเหมาะกับเพลงแบบไหนมากกว่า การร้องเพลงแหกปากพลังเสียงไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าเราเป็นนักร้องที่ไม่ดีหรือใช้ไม่ได้ เราอาจเหมาะกับเพลงอะคูสติก เพลงใสๆ มากกว่า
การเลือกเพลงมาร้อง
อีกอย่างคือ ควรเตรียมเพลงมาสัก 3-4 เพลง ในหมวดต่างๆ เช่น เพลงช้า เพลงเร็ว เพลงสากล เพราะกรรมการก็อยากรู้ว่าเด็กคนนี้มีศักยภาพด้านไหนบ้าง มีอะไรน่าสนใจซ่อนอยู่อีกบ้าง
ซึ่งสามารถคิดเพลงได้จากเพลงหลักของเราเลย เพลงหลักควรเป็นเพลงที่เราร้องแล้วมั่นใจ ถ้าเพลงนั้นเป็นเพลงเร็วสากล เราก็หาเพลงช้า เพลงไทย มาเพิ่มหน่อย เผื่อกรรมการอยากฟังอีก เราจะเตรียมเพลงแนวเดียวกันมาให้กรรมการฟังทำไมล่ะ เพราะถ้ามันออกมาแย่ มันก็แย่ไปเลย ถ้ามันออกมาดี มันก็ดีเหมือนเดิม เราควรจะมีความดีหลายๆ แบบบ้าง
ความในใจทีมงานออดิชัน
เป็นตำแหน่งที่กดดันนะ เพราะนอกจากต้องตัดสินคนที่เราไม่รู้จัก ต้องบอกปฏิเสธคนจำนวนมากแล้ว การปล่อยให้คนที่ไม่ใช่คาแรกเตอร์ที่รายการหาอยู่ให้เข้าสู่รอบต่อไป ก็เสี่ยงต่อการโดนทีมงานหรือโปรดิวเซอร์ด่าได้เหมือนกัน
การออดิชันหรือรายการประกวดเหล่านี้ก็เป็นเหมือนบันไดขั้นแรกของการเข้าสู่สังคมนักดนตรี ฉะนั้นอย่างแรกสำหรับคนที่อยากเข้ามาออดิชันคือ เราต้องรักการร้องเพลง ไม่อยากให้คาดหวังอย่างอื่นก่อน ถ้าเราขับเคลื่อนตัวเองด้วยความสุขในการร้องเพลง เมื่อเจอฟีดแบ็กทั้งดีหรือไม่ดี ความเหนื่อยในการทำงานในภายภาคหน้า ความสุขนี่แหละที่จะทำให้เราไปต่อได้
อย่างที่สองคือสิ่งที่ย้ำมาตลอด เราต้องรู้จักตัวเอง และรู้ว่าจะพรีเซนต์อะไรในตัวเองให้คนอื่นดูหรือฟัง
อีกอย่างคืออยากเสริมให้คนที่ออดิชันแล้วไม่ผ่าน ว่านั่นไม่ใช่จุดจบของโลกนะ พลังของบางคนไม่ได้เหมาะจะมาโชว์คนเดียวบนเวที แต่อาจจะเหมาะกับการเล่นดนตรีกับเพื่อนแล้วอัปลงยูทูบก็ได้ หาช่องทางที่เหมาะกับตัวเองดีกว่า
ฟังรายการ Eargasm Deep talk พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน
Credits
The Host แพท บุญสินสุข
The Guest ประพฤติ ทองธานี, รฐา โกกิลานนท์, นทธัญ แสงไชย
Show Creator แพท บุญสินสุข
Show Producer นทธัญ แสงไชย
Episode Editor นทธัญ แสงไชย
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Music Westonemusic