“คอนเสิร์ตก็ดูฟรี นักดนตรีก็ได้เจอ” เป็นนิยามที่หลายคนมอบให้คนที่ทำอาชีพดูแลศิลปิน (Artist Relation) แล้วอะไรคือเนื้องานจริงๆ ของพวกเขากันแน่
มาพูดคุยกับหลากหลายตำแหน่งคนดูแลศิลปิน อย่าง เต๋า-เดชณรงค์ มีประโลม ผู้จัดการวง Getsunova, แน๊ค-นันทพร จงรั้งกลาง พีอาร์ค่าย Smallroom และ เพิร์ล-จรรยาณี สุทธาวสินธุ์ พีอาร์จากค่าย SpicyDisc มาแถลงไขให้ฟัง ว่านอกจากความดีงามที่ได้ใกล้ชิดศิลปินที่ชื่นชอบแล้ว คนทำงานนี้ต้องหัวร้อนกับอะไรอีกบ้าง
ใครคือคนดูแลศิลปิน (Artist Relation)
จริงๆ แล้วคนดูแลศิลปินมีหลายตำแหน่ง เช่น ผู้จัดการ ที่ดูแลศิลปินที่หน้างานเมื่อต้องออกงาน พีอาร์ หน้าที่หลักคือการพาศิลปินไปโปรโมต รวมถึงเขียนข่าวส่งไปตามสื่อ แต่ก็ต้องดูแลศิลปินด้วยในระหว่างที่ออกทัวร์ และเออาร์ คือตำแหน่งดูแลศิลปินที่ต้องคอยดูสารทุกข์สุกดิบของศิลปินในระหว่างทำงาน
งานของผู้จัดการและพีอาร์
ก็คือการจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย ถ้ามีงานมาสักงาน ผู้จัดการก็ต้องติดต่อวงดนตรี ทีมงาน แบ็กสเตจ ตากล้อง ประสานงานให้ทุกฝ่ายมาในเวลาที่เหมาะสม รวมไปถึงตรวจเช็กสถานที่ว่ามีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง
ส่วนงานของพีอาร์จะไม่จบแค่หน้างานเหมือนผู้จัดการหรือเออาร์ บางครั้งถ้าพาศิลปินไปงานแถลงข่าวมาก็ต้องกลับมาเขียนข่าวส่งเลยเหมือนกัน ทำทั้งงานพรีโปรดักชัน และโพสต์โปรดักชันเลย
ในยุคนี้พีอาร์อาจมีส่วนร่วมงานพาร์ตครีเอทีฟด้วย คือคิดว่าศิลปินบุคลิกอย่างนี้จะต้องไปออกสื่อไหนที่เข้ากับลักษณะของวง
มีปัญหาในการทำงานไหม
สมมติว่าต้องไปดูแลศิลปินต่างเพศ ก็ยังไม่เคยเจอปัญหานะ เพราะการไปออกงานแต่ละครั้งเราจะมีการบรีฟว่างานนี้ต้องการแบบนั้นแบบนี้นะ แล้ววงก็จะรับทราบ ปรับงานทำงานของวงให้เป็นตามที่สื่อต้องการ และส่วนมากวงมืออาชีพก็ไม่ค่อยมีปัญหานัก เขาเข้าใจเนื้องาน
ส่วนหน้างานก็มักจะมีปัญหาประเภทว่ามีการขอเพลงนอกเซตลิสต์ที่เตรียมมา เช่น Happy Birthday หรือมีการเชิญคนขึ้นกล่าวบนเวทีกลางโชว์ เป็นต้น ซึ่งเราก็จะถามศิลปินก่อนว่าได้ไหม ถ้าวงไม่แฮปปี้ก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องเป็นตัวกลางไปสื่อสารกับผู้ว่าจ้างให้รู้ และเสนอทางแก้ไข เช่น ไปแฮปปี้กันหลังโชว์ได้ไหม เป็นตำแหน่งที่เป็นกันชนให้วง ต้องปฏิเสธเป็นและต้องซอฟต์ด้วย ประนีประนอม
จริงๆ ศิลปินไม่ใช่คนเรื่องมากเลย ถ้ารีเควสต์ต่างๆ เขาทำให้ได้ แต่บางครั้งรีเควสต์ของสื่อหรือลูกค้าก็ไม่เข้ากับเขาเลย เช่น ให้ศิลปินป๊อปไปร้องลูกทุ่ง หรือให้เต้นหน่อย
เราต้องเซฟศิลปินและผู้ว่าจ้าง ให้ทั้งสองฝ่ายนี้ไม่ผิดใจกัน มีสัมพันธ์ที่ดีต่อไป แม้บางครั้งจะกลายเป็นเราโดนว่าแทนก็ตาม
ความสามารถที่คนดูแลศิลปินควรต้องมี
เคยเห็นค่ายเพลง What The Duck ประกาศรับตำแหน่งพีอาร์โดยบอกว่าต้องเป็นคนที่จองตั๋วเครื่องบินได้รวดเร็ว มันคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราต้องดูแลคนจำนวนมากด้วยตัวเองคนเดียว ฉะนั้น การคิดเร็วและลงมือทำเลยมันสำคัญ เราจะคิดกับวงเหมือนเวลาเราทำกับตัวเอง ถ้าเราอยากจองไฟลต์ที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง เราก็ต้องทำสิ่งนั้นให้วงเหมือนกัน
งานบัญชีก็ต้องทำนะ เห็นอย่างนี้ ทำหนักมาก ต้องมีความรู้เรื่องภาษี การหัก VAT โปรแกรมบัญชีก็ต้องใช้ หรือแม้กระทั่งถ่ายรูปศิลปินเวลาเล่น
ส่วนหน้าที่ผู้จัดการอย่างเต๋า อาจไม่ต้องถ่ายรูปศิลปินแต่ต้องเตรียมหน้างานให้ศิลปิน อุปกรณ์ที่ต้องพกไปอย่างแน่นอนคือโทรศัพท์กับไฟฉาย โดยเฉพาะไฟฉาย สำคัญที่สุดสำหรับหน้าเวที เนื่องจากเราไม่คุ้นสถานที่ ตรงไหนเดินยังไง มีหลุมหรือเปล่า เพดานเตี้ยไหม ก็ต้องมีไฟฉายไว้ดูก่อน เพราะถ้าศิลปินตกลงไปบาดเจ็บก็เป็นความผิดเราที่ไม่เคลียร์เวที
งานดูแลศิลปินมันเหมือนลูปนะ เราเสร็จงานหนึ่งพรุ่งนี้เราก็ต้องไปทำอีกงานหนึ่งที่มันเหมือนกัน มันเหมือนการทำงานออฟฟิศ เพียงแต่สถานที่มันเปลี่ยนทุกวัน ร้อยวันก็ร้อยร้าน
เรื่องประทับใจคนดูแลศิลปิน
มีโดนแกล้ง โดนตั้งสเตตัสแกล้ง แกล้งกันเกือบทุกวง แต่เห็นสนิทกันแกล้งกันอย่างนี้ แต่จริงๆ มันก็มีระยะของการทำงานนะ เพราะเมื่อไรที่ทำงาน ศิลปินที่ซี้ๆ กันเขาก็จะรู้ว่านี่เราจริงจังแล้วนะ พอหลังเลิกงานก็ค่อยลั้นลา
เราสามารถเตือนกันได้ คุยกันได้ บางทีถ้าใจดีเกินไปมันก็จะมีการไม่เชื่อฟังกัน เราก็ต้องแสดงให้ศิลปินหรือทีมงานเห็นว่าเราซีเรียสได้นะ
คุณสมบัติของคนดูแลศิลปินที่ดี
อย่างแรกคือตรงต่อเวลา เพราะถ้าเราสาย ทุกอย่างมันจะล่มหมดเลยเป็นโดมิโน เคยมีครั้งหนึ่ง ไปทัวร์กับวงแล้วนัดวงตอนเที่ยงที่ล็อบบี้โรงแรม เราลงมาเที่ยงตรง วงนั่งรอหมดแล้ว เรานี่ขนลุกเลย เขาตรงเวลากันมาก
อย่างที่สองคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งในเนื้องานและกับตัวศิลปินเอง มีบางครั้งที่ศิลปินต้องเข้างานแล้วแต่อารมณ์ไม่พร้อม เราก็ต้องทำยังไงให้เขา go on กับงานต่อไปได้ เราต้องไว ต้องดูศิลปินและรายการตลอดเวลาว่ารู้สึกยังไงอยู่
อย่างที่สามคือความอดทน คือเราต้องรู้จักระงับอารมณ์ตัวเอง และช่วยระงับอารมณ์คนอื่น บางทีเราโมโหนะ แต่เราก็ต้องคิดเผื่อวง ว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ต้องคอยเตือนทั้งตัวเองและศิลปิน
เค้าจ้างเรามาแก้ปัญหาน่ะเนอะ
ฟังรายการ Eargasm Deep talk พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน
Credits
The Host แพท บุญสินสุข
The Guest นันทพร จงรั้งกลาง, จรรยาณี สุทธาวสินธุ์, เดชณรงค์ มีประโลม
Show Creator แพท บุญสินสุข
Show Producer นทธัญ แสงไชย
Episode Editor นทธัญ แสงไชย
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Music Westonemusic