×

งานแต่งครั้งใดเป็นได้แค่นักดนตรี ฟังเบื้องหลังวงดนตรีงานแต่ง ที่ไม่ได้แค่เล่นเพลงรักไปวันๆ

02.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:02 วงดนตรีงานแต่งงาน

09:30 เพลงต้องห้ามในงานแต่ง

14:45 วงงานแต่ง มีงานต่อเนื่อง?

18:46 วงดนตรีสำคัญกับงานแต่งขนาดไหน

21:30 การแก้ปัญหาในงานแต่ง

31:05 การทำงานของวงนอกเหนือจากเล่นดนตรี

35:20 ปัญหาของการเป็นวงงานแต่ง

41:38 ความภูมิใจของวงงานแต่ง

ทุกครั้งที่เราไปงานแต่งงาน นอกจากบ่าวสาว พิธีกร พรีเซนเทชันบนเวที และอาหารบุฟเฟต์โต๊ะจีนรสเด็ดแล้ว อีกอย่างที่เป็นองค์ประกอบสำคัญมากในงานแต่งงานคือ วงดนตรี

 

วงดนตรีเก่งๆ ช่วยให้บรรยากาศดีตลอดงาน ตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน ระหว่างพิธีการ ไปจนถึงอาฟเตอร์ปาร์ตี้เลยทีเดียว

 

แล้วถ้ามองจากสายตาของนักดนตรีงานแต่งล่ะ งานแบบไหนที่พวกเขาอยากเล่น การทำงานในงานแต่งยากแค่ไหน มีอะไรต้องคำนึงเป็นพิเศษบ้าง แล้วรีเควสต์จากบ่าวสาวแบบไหนที่ทำใจลำบาก

 

Eargasm Deep Talk เอพิโสดนี้ ขอเชิญวง Middle Age Band วงดนตรีงานแต่งที่มีนักร้องมากฝีมืออย่าง จีน AF1 มาพูดคุยในเรื่องนี้กัน

 

 

 

วงดนตรีงานแต่งงาน

ยุคนี้มีวงดนตรีหลายวงที่รับเล่นดนตรีในงานแต่งงานเป็นหลัก ด้วยรายได้ที่ถ้าหากเป็นที่รู้จักแล้วก็เรียกได้ว่าเป็นกอบเป็นกำ และเนื้องานที่เป็นเสมือนการเพิ่มอารมณ์ให้บรรยากาศของงานแต่งงานให้สมบูรณ์ขึ้น วง Middle Age Band ก็เป็นหนึ่งในนั้น สมาชิกประกอบไปด้วย จีน (ร้อง), เบิ้ล (กีตาร์), จิว (ดับเบิ้ลเบส), ปอนด์ (แซกโซโฟน) และตี้ (กลอง)

 

จีนเคยประกวด AF ซีซัน 1 ซึ่งหลังจากประกวดก็มีหลายคนเชิญชวนไปร้องในงานแต่งงาน ก็มาตั้งวงดนตรีกับเบิ้ลที่รู้จักกันจากงานการกุศลงานหนึ่ง ซึ่งสำหรับจีนแล้ว การร้องในงานแต่งสนุกกว่าการไปร้องเพลงแบบดารานักร้อง เพราะมันเหมือนได้อยู่ในจังหวะสำคัญของคนอื่น ได้เป็นส่วนหนึ่งของเขา

 

ตอนแรกที่ตั้งวงกันมาเล่นงานแต่ง ก็ตั้งใจว่าจะเล่นแนวแจ๊ซๆ แต่ไปๆ มาๆ ด้วยความต้องการของลูกค้าทำให้วงต้องเริ่มเล่นเพลงสนุก แดนซ์ ลำไยไหทองคำ หญิงลี มากขึ้นซะอย่างนั้น มีถึงขั้นต้องเล่นเพลง เจงกิสข่าน ในอาฟเตอร์ปาร์ตี้งานแต่งแบบไม่เคยซ้อมกันด้วยซ้ำ

 

แต่สุดท้ายก็ได้ทำหน้าที่ของวงงานแต่ง คือทำให้บ่าวสาวและเพื่อนๆ เอ็นเตอร์เทน

 

ชื่อวง Middle Age Band ไม่ได้มาจากวัยกลางคน แต่มาจากการที่ช่วงแรกๆ วงเล่นเพลงเก่าเยอะ ซึ่งเข้ากับคนฟังวัยกลางๆ คน

 

เพลงต้องห้ามของงานแต่งงาน

ส่วนมากบ่าวสาวเจ้าของงานมักมีรีเควสต์เพลงที่อยากให้เล่นมา ซึ่งหลายเพลงไม่เหมาะกับงานแต่งเท่าไร อย่างเช่นเพลง Tears In Heaven เป็นต้น หรือที่วงเคยเจอมาคือบ่าวสาวเลือกเพลง Live and Learn ให้วงเล่น ซึ่งมีท่อนแรกว่า “เมื่อวันที่ชีวิต เดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน” พอถึงท่อนว่า “พอมีเข้ามาก็มีเลิกไป” นี่วงถึงกับเงิบ

 

ซึ่งบางครั้งวงก็ทราบดี ว่าเพลงไหนเหมาะไม่เหมาะ แต่งานแต่งก็เป็นงานของบ่าวสาว ของลูกค้า ก็ต้องมีการปรึกษา มีการแจ้งกันว่าเพลงนี้อาจจะไม่เหมาะนะ อาจทำให้บรรยากาศของงานอึนนะ รับได้ไหม เพราะบางครั้งผู้ใหญ่ในงานอาจจะไม่ชอบใจ ถ้าวงเล่นเพลงที่ความหมายไม่ดี เราก็ได้แต่ให้คำปรึกษา ส่วนการตัดสินใจอยู่ที่เขา

 

เร็วๆ นี้กำลังจะต้องร้องเพลง รถด่วนขบวนสุดท้าย ตอนช่วงโยนดอกไม้ ซึ่งส่วนมากจะใช้ดนตรีสนุก เพื่อกลบความเคอะเขินของเพื่อนๆ ที่จะออกมารับดอกไม้ ถ้าเป็นเพลงช้าแบบนี้นี่ก็ต้องแก้ปัญหาหน้างานเหมือนกัน

 

 

วงงานแต่ง มีงานต่อเนื่อง?

ถึงงานแต่งจะเป็นงานที่คนเราจัดไม่บ่อยครั้ง แต่ถ้าวงไปเล่นงานไหนแล้วมีแขกในงานประทับใจ หรือออร์แกไนซ์เห็นฝีมือ ก็ต่อยอดสร้างโอกาสได้งานใหม่ๆ เช่นกัน

 

สมัยก่อนอาจจะทำวงดนตรีที่เล่นงานแต่งงานอย่างเดียวยากเพราะติดต่อยาก ไม่รู้ว่าต้องหาวงดนตรีจากไหน จากร้านอาหารเหรอ แต่เดี๋ยวนี้เพียงแค่เข้าไปหาในกูเกิลก็ได้เบอร์ติดต่อแล้ว สะดวกขึ้นมากทั้งสำหรับนักดนตรีและบ่าวสาวที่หาวงดนตรี

 

วงดนตรีสำคัญกับงานแต่งขนาดไหน

หลังจากเข้างานแต่งงานไปถ่ายรูปกับบ่าวสาว นอกจากโต๊ะจีนแล้วสิ่งต่อไปที่เราได้ยินหรือเห็นคือดนตรี ถ้าเป็นดนตรีสดก็จะน่าสนใจมากขึ้น ยิ่งถ้าเล่นดีร้องดีก็จะสร้างความสนใจมากขึ้นอีก

 

จริงๆ ดนตรีที่คลอในบรรยากาศงานแต่งเป็นอะไรที่สำคัญมาก แขกจะกินดุ กินเร็ว กินช้า กลับบ้านเร็วไหม มันขึ้นอยู่กับดนตรีมากทีเดียว งานแต่งที่ดีก็ต้องมีครบทั้งรูป รส กลิ่น เสียง บ่าวสาวสวย งานสวย อาหารอร่อย กลิ่นไม่รบกวน ดนตรีก็ต้องดี บางงานที่ทุกอย่างดีแต่อาหารห่วย ก็ทำให้อารมณ์แขกเสียไปเลย เช่นเดียวกับดนตรี ถ้างานดีแต่ดนตรีน่ารำคาญ ก็จบเลย ตรงข้ามกับงานที่ดนตรีรื่นหู

 

ในงานแต่งงานทุกคนจะยุ่งมาก ทั้งแขก ทั้งบ่าวสาว ทั้งคนจัดงาน ส่วนมากทุกคนก็มาคุยกัน ทานข้าวกัน เพลงก็มีหน้าที่ต้องเลี้ยงให้คนอยู่ในอารมณ์ที่ดี วงดนตรีงานแต่งไม่ได้มาจัดคอนเสิร์ต เราไม่ต้องมีตัวตนขนาดนั้น แต่มีหน้าที่ทำให้แขกสบายหู

 

 

การแก้ปัญหาในงานแต่ง

ตอนเล่นเพลงสนุกมักไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร แต่เวลาเล่นระหว่างงานต้องคิดกันเยอะมาก ว่าจะเล่นชิลลืๆ หรือเล่นให้คนหันมาฟังกันเลย บางทีถ้างานดูกร่อยๆ ก็ต้องเลือกเพลงให้บรรยากาศดีขึ้น

 

บางงานเจ้าบ่าวเจ้าสาวอยากร้องเพลงให้กัน ก็ต้องเตรียมรับมือ เพราะบ่าวสาวก็ไม่ได้เป็นนักร้องอาชีพ ร้องไม่เป๊ะ บางครั้งร้องไม่ดีเลย ก็ต้องแก้ปัญหาไป บางครั้งร้องเพลงคนละคีย์กับตอนซ้อม ก็ต้องเปลี่ยนคีย์เพลงให้เร็ว บางครั้งก็ต้องร้องห่างๆ ไมค์เบาๆ รองเสียงเขาไว้ ให้เขาเกาะเมโลดี้ แต่จะไม่ปฏิเสธไม่ให้เขาร้อง เพราะนี่งานเขา อาจจะเป็นโอกาสครั้งเดียวที่เขาได้ร้องเพลงให้คนรักฟังก็ได้ ซึ่งหลายคนก็รู้ตัวว่าร้องแย่ เราก็ต้องมาคุยกัน

 

หรืออีกหนึ่งปัญหาคลาสสิกคือ บ่าวสาวอยากให้เล่นเพลง มหาฤกษ์ ซึ่งเครื่องดนตรีของวงเล่นไม่ได้ เพราะมีแค่กีตาร์ กลอง เบส ร้อง ก็ต้องคุยให้เขาเข้าใจว่าเราเล่นเหมือนกับของจริงไม่ได้ ถ้าอยากได้เหมือนของจริงก็เปิดยูทูบดีกว่า

 

มีบางงานที่เขาอยากให้เล่นสดๆ ก็ร้องแทมทะดะแดมแถ่มแทมแทมแท้ม~ กันไปก็มี ถ้ารับได้ก็เล่นให้ได้

 

ทางวง Middle Age Band ก็เอาเพลงมหาฤกษ์มาใส่ในซิงเกิลของวง นักดนตรีงานแต่งงาน ด้วยเช่นกัน

 

 

การทำงานของวงนอกเหนือจากการเล่นดนตรี

อย่างแรกเลยคือเมื่ออยู่หน้างาน วงต้องสังเกตแขกในงานว่าต้องการเพลงแบบไหน ถ้ามีผู้ใหญ่เยอะ ก็อาจต้องจัดเพลงเก่าๆ ให้บ้าง หรือถ้าวัยรุ่นมีบทบาทในงานมาก ก็เอาเพลงใหม่ๆ ให้เข้ากับสไตล์ของเขา ต้องสังเกตตลอดเวลา

 

อีกอย่างที่วง Middle Age ทำ ก็คือทำสเกลวงให้ลูกค้าเลือก ให้เข้ากับงบประมาณหรือสไตล์ที่เขาต้องการ เช่น ถ้าต้องการวง 3 ชิ้น อาจจัดเป็นกีตาร์-เบส-ร้อง / กีตาร์-เบส-แซกซ์ / ร้อง-กลอง-กีตาร์ ไว้ให้เขา เป็นแพ็กเกจให้เลือก จะได้ไม่ต้องทะเลาะกับลูกค้าเรื่องบัดเจ็ต ปีที่ผ่านมาก็ไม่เคยเจอปัญหาเรื่องราคาเลย

 

มีแค่งานหนึ่งที่เล่นเสร็จลูกค้าให้เล่นอาฟเตอร์ปาร์ตี้เพิ่มจากที่ตกลงกันไว้ ซึ่งก็ต้องมาคุยกันอีก ว่าหากเพิ่มงานก็ต้องให้ค่าเล่นเพิ่มนะ เพราะนักดนตรีก็เหนื่อย บางครั้งเล่นมา 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ก่อนเริ่มพิธีการ จนถึงโยนช่อดอกไม้

 

แต่ก็มีบางงานที่อยากได้จริงๆ แต่ไม่อยากเพิ่มเงิน วงก็ต้องต่อรองว่า ขอมีเบรกบ่อยด้วย ขอเลิกเร็วบ้าง หรือพิธีการไม่มีดนตรีสด แล้วแต่งาน

 

 

ปัญหาของการเป็นวงงานแต่ง

อย่างแรก งานแต่งงานมักจะกระจุกอยู่ในช่วงไฮซีซัน ปลายปีถึงต้นปี ก็ทำให้งานไม่ได้มีต่อเนื่องขนาดนั้น ช่วงที่ฤกษ์ไม่ดีหรือฝนตกบ่อย ที่คนมักไม่แต่งงานกัน วงก็ต้องกลับไปร้องเพลงตามร้านกัน

 

หรือช่วงที่จัดงานแต่งกันเยอะ ก็มีปัญหาว่างานชน บางงานฤกษ์แต่งเดียวกัน ก็ทำให้กระจายรับงานไม่ได้

 

อีกปัญหาคือวงงานแต่งหลายวงไม่ได้คำนึงถึงภาพลักษณ์เท่าไรนัก ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะวงเป็นส่วนหนึ่งของงาน เมื่อมีรูปถ่ายออกไปก็มีนักดนตรีติดไป ถ้าแต่งตัวดูแลลุคไม่ดี ก็ทำให้งานดูไม่ดีไปด้วย บรรยากาศก็เสีย วงก็เสียเครดิต

 

อีกปัญหาในงานแต่งที่อาจไม่เกี่ยวโดยตรงกับดนตรีคือพิธีกร บ่าวสาวหลายคู่อยากให้เพื่อนสนิทมาเป็นพิธีกร แต่หลายครั้งเพื่อนทำพิธีกรไม่ได้ ก็น่าสงสารทั้งเพื่อนทั้งงานแต่ง ยิ่งพอพิธีกรดำเนินงานไม่ราบรื่น พอส่งเข้าวงดนตรีก็กร่อยแล้ว เหนื่อยวงที่ต้องพยายามยกบรรยากาศงานอีก

 

พิธีกรเป็นเหมือนนางเอกอีกคนของงานเลย อย่าละเลย

 

 

สิ่งที่ประทับใจจากการเป็นวงดนตรีงานแต่งงาน

ก่อนมาทำวงงานแต่งเต็มตัว ก็เคยคิดว่าดนตรีสดในงานแต่งก็เหมือนมาแทนการเปิด MP3 แต่จริงๆ มันไม่ใช่ มันเป็นสิ่งที่บรรยากาศมันเข้มข้น ทำให้ความซาบซึ้ง ความอบอุ่นมันออกมา บางงานไปเล่นแล้วบ่าวสาวน้ำตาคลอจากเพลงที่เราเล่น ความรู้สึกที่ออกไปกับเพลงนั่นแหละที่ทำให้มันพิเศษ

 


 

Credits
The Host แพท บุญสินสุข

The Guest ธัญนันท์ มหาพิรุณ

เอกปิยะ สังขทับทิมสังข

ฐากูร คุณากรจิตติรักษ์

สรวิศ พันธ์เกษม

Show Creator แพท บุญสินสุข

Show Producer นทธัญ แสงไชย

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วัวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising