×

แว่น จักราวุธ กับ แอ้ม อัจฉริยา คุยเรื่องนักแต่งเพลงไทย จากยุคทองสู่ยุคฟรีแลนซ์

09.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:18 สองนักแต่งเพลงจากสองยุค

04:03 หน้าที่นักแต่งเพลง

15:30 Input ของการแต่งเพลง

25:10 ชีวิตของนักแต่งเพลงในยุคทองของวงการเพลง

32:30 ชีวิตของนักแต่งเพลงในยุคใหม่

39:45 ปัญหาของการแต่งเพลง

01:06:00 ฝากถึงนักอยากแต่งเพลงรุ่นใหม่

ก่อนจะมีเพลงให้ศิลปินนักร้องมาเล่นกัน เบื้องหลังนั้นคืออาชีพปิดทองหลังพระอย่าง นักแต่งเพลง วันนี้เราจะมาพูดคุยกับนักแต่งเพลงสองยุคสมัย คนแรกคือนักแต่งเพลงสาวรุ่นใหม่ ที่แต่งเพลงฮิตมามากมาย เช่น รู้ยัง ต้น ธนษิต, หนึ่งหัวใจ โดม จารุวัฒน์, รักที่เป็นของจริง นิว จิ๋ว หรือ Make It Happen ที่ดังจากรายการ The Face Thailand

 

และอีกคนคือตำนานนักแต่งเพลง แว่น-จักราวุธ แสวงผล ที่แต่งเพลงเลี้ยงชีพมาตั้งแต่ยุคทองของวงการเพลงจนถึงปัจจุบัน มีผลงานมาแล้วกว่า 500 เพลง เช่น ทางเดินแห่งรัก แอม เสาวลักษณ์, เพื่อเธอ ตลอดไป ศักดา พัทธสีมา, จะรักให้ดีที่สุด ตอง ภัครมัย, รักกันมั้ย เบิร์ด ธงไชย และอีกมาก

 

มาฟังเบื้องหลังการทำงานของนักดนตรีในยุคทองกับยุคฟรีแลนซ์ สไตล์การแต่งเพลงของแต่ละคน และที่มาของไอเดียการแต่งเพลงฮิตทั้งหลายกัน

 

 

สองนักแต่งเพลงจากสองยุค

แว่น-จักราวุธ แสวงผล เป็นนักแต่งเพลงที่มีผลงานคุ้นหูคนไทยเยอะมาก ตลอดหลายสิบปี เช่น ยุ่งน่า, ประมาณนี้รึเปล่า, ก็ใครมันจะไปรู้ล่ะ – เจ เจตริน, ไม่ยากหรอก – คริสติน่า อากีล่าร์, คุณครูครับ – น้องพลับ, รักกันมั้ย และ ลองซิจ๊ะ – เบิร์ด ธงไชย, Would You Please – อ๊อฟ ปองศักดิ์, เจ้าช่อมาลี – Mr. Team รวมๆ แล้วตั้งแต่ปี 2532 น่าจะแต่งเพลงไปกว่า 500 เพลง

 

แอ้ม-อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์ ก็เป็นนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ที่กำลังมีผลงานเพลงคุ้นหู เช่น รู้ยัง – ต้น ธนษิต, รักที่เป็นของจริง – นิว จิ๋ว, นี่แหละความรัก – เป๊ก ผลิตโชค, Make It Happen – ญาญ่า ที่โด่งดังจากรายการ The Face Thailand

 

หน้าที่ของ นักแต่งเพลง

ในอุตสาหกรรมเพลงยุคก่อน ก็ต้องดูก่อนว่าตัวตนของศิลปินเป็นยังไง ภาพลักษณ์เป็นยังไง จากนั้นก็มาดูว่าในอัลบั้มจะมีเพลงแบบไหนบ้าง เพลงช้ากี่เพลง เพลงเร็วกี่เพลง เพลงขายกี่เพลง ศิลปินบางคนร้องเพลงช้าได้ดี ก็อาจมีเพลงช้ามากหน่อย พี่เต๋อ เรวัต บอกว่าต้องให้คนฟังทั้งอัลบั้มจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนเทปคาสเซ็ตต์

 

ส่วนมากพี่แว่นจะเป็นคนใส่เนื้อเพลง มีแค่บางเพลงที่แต่งทำนองด้วย

 

ในยุคนั้นก็จะมีการเคาะเพลง มีหลายคนคอยช่วยฟังช่วยเคาะ ส่วนปัจจุบันจะมีระบบหลากหลาย ถ้าเป็นงานค่ายเพลงก็คล้ายกับยุคก่อน แต่ยุคนี้ไม่ได้คิดเพลงเป็นอัลบั้มแล้ว ซึ่งน่าเสียดาย เพราะยุคก่อนจะมีเพลงไส้ คือเพลงที่ไม่แมส แต่เพราะมากๆ ดีมากๆ

 

เดี๋ยวนี้เวลาบรีฟงานทำซิงเกิลเดียว เราก็ต้องเอาทุกสิ่งทุกอย่างใส่ลงไป ทำให้ทุกเพลงต้องฟาดต้องปังทั้งหมด

 

อีกระบบคืองานศิลปินอิสระ ที่ศิลปินจะเอาเพลงไปดีลกับค่ายเอง งานแบบนี้จะสนุก มีตัวตนของศิลปินอยู่เยอะ เราก็จะยึดตัวเขาเป็นหลัก ตามใจเขาเยอะหน่อย

 

เพลงแรกของพี่แว่นคือเพลง ทะเลคน ของสุรสีห์ อิทธิกุล ซึ่งแต่งยากมาก เป็นแนวโปรเกรสซีฟ แต่ก็ต้องขอบคุณเพลงนั้นมากๆ ที่ทำให้เกิดแรงทำงานมาจนถึงทุกวันนี้

 

ส่วนแอ้มเริ่มแต่งเพลงตั้งแต่เด็ก เป็นคนชอบฟังวิทยุมาก จดชาร์ตเพลง เนิร์ดมาก แต่ไม่เคยคิดว่าจะได้เป็นนักแต่งเพลง รู้สึกว่ามันไกลตัวมาก ต่อมาก็ได้มาทำงานคอรัสเพลงก่อนที่ RS ได้มารู้จักพี่ๆ โปรดิวเซอร์ที่นั่น ก็ช่วยให้ได้เห็นการทำงานเบื้องหลัง ฝึกเขียนเพลง วิเคราะห์เพลงมากขึ้น

 

 

Input ของการแต่งเพลง

เกือบทุกอย่างเป็น input ได้หมด หลายครั้งที่พี่แว่นดูหนังหรืออ่านหนังสือได้สั้นๆ แล้วต้องปิดเพื่อไปแต่งเพลงเลย รู้สึกเหมือนโดนมันฉุดไปข่มขืน ทำกับเราแบบนี้ได้ยังไง เราจะอยู่ยังไงโดยที่ไม่ไปแต่งเพลงตอนนี้ โดยเฉพาะประโยคในหนัง มันจะมีที่โดนๆ

 

ครั้งหนึ่งดูหนังแล้วมีฉากที่พระเอกวิ่งลงไปดักหน้าลิฟต์เพื่อคุยกับนางเอกว่า ผมรู้ละ ผมไปกินข้าวคนเดียวก็ได้ ไปซักผ้าคนเดียวก็ได้ เดินเล่นคนเดียวก็ได้ ผมอยู่ได้โดยไม่มีคน แต่บอกผมหน่อยว่าผมจะอยู่ไปทำไม เปรี้ยง ไปเลย แต่งเพลง ฉันอยู่ได้โดยไม่มีเธอ กลายเป็นเพลงป๊อปเพลงเดียวที่อยู่ในอัลบั้มลูกทุ่งของสุนารี ราชสีมา

 

และเราเหมือนเป็นนักแสดงในตัวหนังสือ มันมีการหักมุม มีการสร้างสถานการณ์ มีการเล่าเรื่อง อย่างเพลง จะรักให้ดีที่สุด ของตอง ภัครมัย เพลงนี้ตอนแรกบรีฟมาเป็นเพลงเปลี่ยนปกเพิ่มเพลงของญารินดา แต่ต่อมาก็ปรับมาให้ตองร้อง เพลงนี้เล่าเรื่องมาให้คนสงสัย ‘ฉันไม่สัญญาว่าเธอจะเป็นคนสุดท้าย’ เอ๊า! ‘ฉันไม่มั่นใจอะไรที่มันยังไม่เกิด’ เอ๊า! แล้วก็ตบกลับมา ‘ฉันสัญญาจะมีแต่เธอเท่านั้น’ … ‘ความรักจะยืนยงเท่าไร ก็ต้องอยู่ที่เรา ทั้งสองคน’ จบ

 

ส่วนแอ้มก็มักใช้จากเรื่องรอบตัว ไม่เรื่องตัวเองก็เรื่องเพื่อน อย่างเพลง รักที่เป็นของจริง ก็คุยกับเพื่อนว่าคนที่โดนทิ้งเนี่ย ไม่ใช่ว่าเป็นคนไม่ดี แต่อาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เราเลิกกัน ตอนนั้นมีเพื่อนคนหนึ่งโดนเพื่อนทิ้ง เราก็สงสาร แต่ต่อมาเขาก็ได้เจอแฟนคนปัจจุบันที่ดีมากๆ ตอนนี้ก็แต่งงานมีลูกไปแล้ว

 

เพลงแต่ละเพลงเริ่มขึ้นมาอย่างไร

ส่วนใหญ่การแต่งเพลงจะเริ่มที่ทำนองก่อน เพราะถ้ามีเนื้อเพลงก่อนใส่ทำนองมันจะยากกว่า ในความเห็นแอ้ม เมโลดี้จะเป็นแกนที่สำคัญกว่า เป็นสิ่งที่ทำให้คนจำเพลงนั้นได้จริงๆ แต่แอ้มก็เคยเอาคำกลอนมาใส่ทำนอง คือเพลง รักในดวงใจนิรันดร์ ก็ทำได้ แต่อาจจะไม่ได้เหมาะกับเพลงป๊อปเท่าไร จากนั้นพอได้เมโลดี้ เนื้อเพลงแล้ว ก็เอามาเรียบเรียงดนตรีกันต่อ

 

ชีวิตของ นักแต่งเพลง ในยุคทองของวงการเพลง

เราทำงานกันอาทิตย์ละ 3 วัน จันทร์ พุธ ศุกร์ เพราะเราต้องการที่ทำงานที่สงบ ซึ่งสำหรับพี่แว่นคือที่บ้าน เริ่มแต่งเพลงกันสักบ่ายสองไปจนหกโมง ช่วงแรกก็ยังไม่ได้ไปผจญภัยที่ห้องอัดเท่าไร

 

ทุกอย่างมันสนุกมาก สำหรับเด็กคนหนึ่งที่เพื่อนไปเป็นสถาปนิก ไม่มีความกดดันใดๆ ไม่โดนดุ ไม่โดนตี เป็นเด็กอายุ 23-24 ปี ท่ามกลางพี่อายุ 30+ คนวัยเท่าๆ กันก็เป็นแอม เสาวลักษณ์ จากนั้นพอเย็นๆ อากู๋ก็จะนัดเราไปกินข้าวที่นั่นที่นี่ ฟรี! คอนเสิร์ตก็ไปดูฟรี เทปซีดีก็ได้ฟรี มันดีมาก แต่ที่มันแย่คือมันผ่านไปแล้ว

 

รายได้ก็มาจากส่วนแบ่งการเขียนเพลง ลิขสิทธิ์เพลง ก็พอมีเงินใช้สบายๆ เงินมันก็รันของมันไป

 

ชีวิตของ นักแต่งเพลง ยุคใหม่

เป็นยุคที่ส่วนแบ่งจากการแต่งเพลงค่อนข้างน้อย แต่จริงๆ ถ้ารับงานเยอะ หรืองาน commercial ก็จะอยู่ได้ มีเงินเป็นกอบเป็นกำขึ้น เช่น เพลงโฆษณา เป็นต้น แต่ถ้าทำเพลงค่าย ส่วนแบ่งก็ไม่เคยเพิ่ม ได้เท่ากับสมัยพี่แว่นเลย ทั้งที่ค่าครองชีพก็เพิ่มขึ้นแล้ว หรืออย่างส่วนแบ่งจากยูทูบก็ได้มาถึงนักแต่งเพลงน้อยมาก

 

นักแต่งเพลง รุ่นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้คิดว่าเป็นศัตรูหรือคู่แข่งนะ ยกเว้นแต่มาตัดราคากัน

 

พูดตามตรงเด็กนักแต่งเพลงยุคนี้เก่งจริงๆ ก็น่าเสียดายที่เขาไม่ได้รู้ศาสตร์ของการทำเพลงอัลบั้มทีละ 10 เพลง

 

ปัญหาของการแต่งเพลง

ปัญหาใหญ่คือบรีฟว่าต้องทำเพลงฮิต เพราะเราการันตีไม่ได้จริงๆ เพราะต้องมาดูกันว่าคนจะชอบหรือเปล่า บางทีลูกค้าเป็นแบรนด์แล้วอยากให้เพลงฮิต เราก็ทำให้ไม่ได้ บางทีก็ไม่รับ เพราะอย่างแรกที่เราต้องการคือจะทำเพลงลักษณะแบบไหน เรากับโปรดิวเซอร์ก็ต้องดีลกับทุกฝ่ายว่าจะทำยังไงถึงจะประนีประนอมสิ่งเหล่านี้ได้ ให้ออกมาเป็นเพลงที่ดี

 

ส่วนเรื่องกระแสเราเดาไม่ได้จริงๆ อย่างเพลง หน้าหนาวที่แล้ว ของ The Toys เขาปล่อยในยูทูบมา 2 ปีแล้ว ก็เพิ่งมาดังปีที่แล้วนี่เอง มันคาดเดาไม่ได้จริงๆ

 

อย่างพี่แว่น บางเพลงแต่งมา 4 เนื้อก็ยังไม่ลงตัว เช่นเพลง เสียดาย ของพี่เบิร์ด ที่เป็นช่วงที่กำลังเปลี่ยนภาพลักษณ์พี่เบิร์ดจากนุ่มๆ มาเป็นป๊อปมากขึ้น สุดท้ายก็ต้องให้พี่นิ่ม สีฟ้า ช่วย ก็ได้มาเป็น ‘เสียดาย ที่วันนี้ไม่มีเธออยู่’ โห มันง่ายมากเลย คำพูดง่ายมาก

 

 

ฝากถึงนักอยากแต่งเพลงยุคใหม่

พี่แว่นคิดว่าให้เริ่มจากว่าเราจะแต่งเพลงให้ใคร นึกก่อนเลย แต่งให้พ่อแม่ แต่งให้แฟน แต่งให้คนคนหนึ่ง ให้คนที่คุณรัก แล้วพูดไปเลยอย่างที่อยากพูด ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เพราะ

 

พี่แว่นชอบเพลงหนึ่งมาก ชื่อเพลง Fu**in’ Perfect ของ P!nk ที่บอกว่า แกไม่ต้องคิดมากเลย ที่แกชอบขับรถหลงทาง เนิร์ดมาก เพราะแกฟักกิ้งเพอร์เฟกต์จริงๆ ฟังแล้วร้องไห้เลยนะ

 

อีกอย่างคืออย่าเดินตามนักแต่งเพลงรุ่นเก่า พวกพี่แว่นแก่แล้ว เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาเลย เขียนตำราขึ้นมาเลยว่าเพลงไทยรุ่นใหม่เป็นแบบนี้

 

ส่วนแอ้มคิดว่าเนื้อเพลงคือไอเดียที่เราเอามาเล่า บางคนมาปรึกษาเรื่องเขียนเพลง แอ้มพบว่าคำเป็นคำที่เห็นกันบ่อยมาก เรื่องก็ไม่เดินไปไหนเลย เหมือนเอาคำสวยๆ มาเรียงกันมากกว่า ไม่ได้ทำให้คนฟังรู้สึกอะไร

 

บางคนแต่งมาไม่คล้องจองเท่าไร แต่เพลงมีไอเดีย อย่างนี้มีแววมากกว่า

 

ส่วนการแต่งทำนองมันยากยิ่งกว่าเนื้อเพลงซะอีก เป็นนามธรรมมาก อิสระมาก แต่คนชอบละเลยทำนองเพลง สำหรับแอ้มทำนองที่ดีต้องบอกอารมณ์ของเพลงได้เลย เช่น เพลง Jingle Bell ฟังทำนองดูก็รู้แล้วว่าเป็นเพลงสนุก

 

ฉะนั้นก็ควรศึกษาทฤษฎีบ้าง จะได้สื่อสารกับนักดนตรีหรือคนที่ทำเพลงรู้เรื่อง แอ้มมักบอกให้น้องที่มาปรึกษาเรื่องทำเพลงว่าให้ฟังเพลงเยอะๆ เพลงฮิตเพลงตลาดที่เราอาจจะไม่ชอบฟัง เราก็ควรฟังเพื่อให้รู้จักว่าทำไมมันถึงฮิต เขาแต่งมายังไง เราไม่ควรดูถูกแนวเพลงใดๆ ก็ตามในโลกนี้

 

อีกสิ่งที่สำคัญคือ อยากให้กล้าที่จะลอง ยิ่งถ้าอยากเข้ามาทำงานแต่งเพลง ก็ต้องเป็นคนที่อยากจะแต่งเพลง อยากจะเล่าจริงๆ ที่แอ้มยังมีความสุขแม้ว่าเงินในวงการนี้จะน้อย เพราะเรามีความสุขที่ได้นั่งในห้องอัด ฟังเพลงกับเพื่อน พอเพลงของเราออกมามีคนฟังแล้วชอบ เราก็ชื่นใจแล้ว

 

อีกอย่างคือต้องมีความรับผิดชอบ ความติสท์เป็นข้ออ้างไม่ได้ ต้องรู้จักลดอีโก้ลง เราต้องรู้ว่าทำเพลงกับคนอื่นแล้วเราอยู่ในโพสิชันไหน เวลาทำงานค่ายเราต้องแคร์ค่าย แคร์นักร้อง แคร์ศิลปินด้วย อยากให้ทุกคนตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด

 


Credits

The Host แพท บุญสินสุข

The Guest จักราวุธ แสวงผล

อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์

 

Show Creator แพท บุญสินสุข

Show Producer นทธัญ แสงไชย

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Photographer ศศิพิมพ์ อนันตกรณีวัฒน์  

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising