×

สร้างความเข้าใจลูกในแต่ละช่วงวัย เพื่อสายใยที่ดีในครอบครัว

07.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01.05 เข้าใจความหมายของ ‘อาการทางจิตเวช’

03.13 อาการทางจิตเวชของเด็กแต่ละช่วงวัย

04.54ให้เกียรติลูกในการให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง

06.45 สื่อสารกับลูกด้วยความจริงใจ

15.06 เมื่อไรที่พ่อแม่ไม่โอเค

17.08 บริหารความสัมพันธ์ในครอบครัว

19.54 Mama talk with the expert

27.58 การบ้านประจำสัปดาห์

ซินดี้-สิรินยา คุยกับ คุณต้น-นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตบำบัด จากมีรักคลินิก เรื่องอาการทางจิตเวชของเด็กแต่ละช่วงวัย และการทำเข้าใจลูกและตัวเองของผู้ปกครอง ในรายการ Balanced Mama Podcast

 


 

เข้าใจความหมายของ ‘อาการทางจิตเวช

อาการทางจิตเวช คืออาการที่แสดงออกทางพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์เป็นหลัก ถึงแม้ความรุนแรง หรือความแตกต่างทางด้านร่างกายจะไม่เหมือนคนเป็นโรคทางกายอื่นๆ แต่เวลารักษา ผมมองว่าเขาเป็นผู้ป่วยเหมือนกัน ผู้ป่วยในที่นี้คือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ต้องการเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนวิธีคิด จัดการอารมณ์ เพื่อให้ใช้ชีวิตได้สะดวกมากขึ้น

 

ไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนบ้า

จริงๆ แล้วคำว่า ‘คนบ้า’ เป็นคำที่รุนแรงมาก ภาพส่วนใหญ่ที่คนคิดคือคนสติไม่สมประกอบที่เดินอยู่ตามข้างถนน ทำให้พวกเขาปฏิเสธตัวเองในการเข้ารับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ผมอยากให้ทุกคนปรับมุมมองใหม่ว่า อาการทางจิตเวชเกิดขึ้นได้กับทุกคน ความเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวัน มุมมองความคิดต่อตัวเอง เรื่องพวกนี้ต้องใช้อารมณ์และพฤติกรรมทั้งนั้น

อาการทางจิตเวชของเด็กแต่ละช่วงวัย

เด็กแต่ละช่วงวัย มีปัญหาอาการทางจิตเวชที่แตกต่างกันไป เริ่มต้นที่เด็กเล็ก มักมีปัญหาทางพัฒนาการ 5 ด้าน ร่างกาย อารมณ์ สังคม การเรียนรู้ และการดูแลตัวเอง ซึ่งการทำงานกับเด็กวัยนี้ เราดูจากเกณฑ์ของพัฒนาการว่าอายุจริงกับอายุพัฒนาการของเขาต่างกันมากแค่ไหน และต้องทำงานอย่างไรให้ช่องว่างตรงนี้เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอเริ่มเป็นเด็กวัยเรียน ปัญหาส่วนใหญ่คือเรื่องการเรียนและพฤติกรรมในห้องเรียน รวมทั้งปัญหากับผู้เลี้ยงดู พอโตขึ้นมาอีกหน่อย ถึงช่วงวัยรุ่น ปัญหาที่เจอคือเรื่องมุมมองต่อตัวเอง การปรับตัวต่อกลุ่มเพื่อน การวางเป้าหมายในอนาคต

ดังนั้นผู้ปกครองควรใส่ใจและสังเกตลูกเสมอว่า ช่วงไหนเขาเป็นอย่างไร มีอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า เพื่อให้เขาสามารถก้าวผ่านแต่ละช่วงวัยไปได้อย่างเหมาะสม


คุณพ่อคุณแม่ควรให้เกียรติลูกในการให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง

เด็กแต่ละคนมีการรับรู้ต่อเรื่องราวที่ไม่เหมือนกัน แม้เมสเสจจะเป็นเรื่องเดียวกันทุกอย่าง เรื่องนี้มีสาเหตุมาจากหลายอย่าง ทั้งตัวเขาเอง ประสบการณ์การเลี้ยงดู และบริบทที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สังเกตได้จากการใช้ชีวิตที่โรงเรียน เด็กบางคนชอบโรงเรียนที่เป็นระเบียบนั่งอ่านเขียน เด็กบางคนชอบโรงเรียนที่เน้นให้ลงมือทำ และเมื่อต้องอยู่ในโรงเรียนที่ไม่ถูกใจ เด็กอาจมีอาการหงุดหงิดก้าวร้าวบ่อยขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนโรงเรียนหรือเปลี่ยนบริบทถือเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ควรกลับมามองที่พื้นฐาน ดูว่าลูกถนัดอะไร มีวิธีการเรียนรู้แบบไหน และช่วยให้เขาเจอบริบทที่เหมาะสม

คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่เป็นผู้นำ แต่ต้องไม่ลืมเป็นผู้ฟังความรู้สึกของลูกด้วย

สื่อสารกับลูกด้วยความจริงใจ

ก่อนนักจิตบำบัดจะเริ่มทำงานกับครอบครัวทุกครั้ง ต้องมีการสัมภาษณ์ผู้ปกครองก่อน ให้เขาเล่าความรู้สึกต่อเด็กๆ ที่เขามักนิยามเรื่องราวเหล่านั้นว่า ‘ปัญหา’ และส่วนใหญ่ 60-70% ของการพูดคุย ผู้ปกครองจะสรุปว่าเพราะตัวเองเลี้ยงดูแบบนี้ ลูกถึงเป็นแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้เกิดจากทั้ง 2 ฝ่าย เด็กบางคนซนมาก วิ่งเล่นปีนป่ายตลอดเวลา ในขณะที่ผู้ปกครองแต่ก่อนชอบนั่งชิลจิบกาแฟ ก็ต้องกลายเป็นคุณพ่อคุณแม่นักวิ่ง ต้องกระตือรือร้นมากขึ้น ดังนั้นทุกกรณีมีความแตกต่างกัน การช่วยเหลือจึงแตกต่างกันไปด้วย

 

สื่อสารกับลูกด้วยความจริงใจ

เวลาเข้ามาปรึกษา ผู้ปกครองมักโทษการเลี้ยงดูของตัวเองไว้ก่อน ดังนั้นการปรับทัศนคติจึงเป็นเรื่องสำคัญ การทำให้พ่อแม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลางที่สุด และพยายามแนะนำวิธีสื่อสารให้เด็กๆ มาเจอคุณหมอ หลายครั้งพอพวกเขาไม่รู้จะบอกลูกยังไง เลยไปบอกว่าจะพามาหาหมอฟัน เด็กมาถึงคลินิกก็ตกใจไม่มีเครื่องมือ หรือบางคนพูดเลยว่าเพราะลูกเป็นแบบนั้นแบบนี้ เลยต้องมาหาหมอ จิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดจึงกลายเป็นไม้เรียวของเด็กไปแล้ว

 

ผมคิดว่าวิธีที่ดีคือการให้พ่อแม่บอกความรู้สึกตัวเองกับลูก แม่รู้สึกเป็นห่วง แม่อยากเข้าใจหนู ถ้าได้ไปเจอคุณหมอ เราอาจจะได้เข้าใจกันมากขึ้น


เมื่อไรที่พ่อแม่ไม่โอเค

ถ้าพ่อแม่รู้สึกควบคุมตัวเองได้ยาก และใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ตามปกติ เช่น ในบทบาทเดิมๆ ของการทำงานที่เราเคยทำได้ดี กลับเริ่มทำไม่ค่อยได้ หรือไม่อยากเจอสังคม ไม่อยากแต่งตัว หงุดหงิดง่าย หลังจากที่เรามีภาระการเลี้ยงดูลูกเพิ่ม ถ้าเริ่มรู้สึกไม่ไหว ผมแนะนำลองไปพบจิตแพทย์ดู อาจทำให้เราเข้าใจตัวเอง และรู้จักประเด็นอื่นๆ ในชีวิตเพิ่มเติม ว่าตอนนี้เรากำลังโฟกัสเรื่องอะไร สาเหตุความเครียดมาจากไหน และจัดการตัวเองอย่างไรได้บ้าง

 

บริหารความสัมพันธ์ในครอบครัว

เริ่มต้นที่วัยเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ต้องเล่นกับลูกให้มาก เพื่อฝึกพัฒนาการโดยรอบด้าน ต่อมาคือวัยเรียน ลองสอนลูกผ่านการทำการบ้านร่วมกัน ฝึกให้เขาได้มีระเบียบ มีเป้าหมาย มีแรงจูงใจ และช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างวัยรุ่น อย่าลืมความสำคัญของการสื่อสารเชิงบวก เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในครอบครัว

โดยต้องไม่ลืมว่าถึงแม้ในแต่ละช่วงวัยของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรเน้นให้ความสำคัญแตกต่างกันไปในแต่ละบริบทที่ลูกเจอ แต่ทั้งหมดจะค่อยๆ สัมพันธ์กันอย่างแยกออกไม่ได้ ผู้ปกครองควรใส่ใจลูกในทุกช่วง เพื่อการเติบโตที่ดีที่สุดของเขา

สนใจปรึกษาคุณต้น หรือนักจิตบำบัดท่านอื่นๆ ที่มีรักคลินิก
ดูรายละเอียดได้ที่ www.merakclinic.com

 

 

 


 

Credits


The Host ซินดี้ บิชอพ

The Guest นรพันธ์ ทองเชื่อม

 

Show Creator ซินดี้ บิชอพ

Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Photographer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising