×

ฝุ่น PM2.5 กรุงเทพฯ เกินค่ามาตรฐาน 59 พื้นที่ เริ่มกระทบสุขภาพ แพทย์แนะหลีกเลี่ยงการแกะ เกา และเสียดสี อาจทำให้เกิดผื่นได้

โดย THE STANDARD TEAM
26.12.2023
  • LOADING...

วันนี้ (26 ธันวาคม) ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครสรุปผลการตรวจวัด PM2.5 เวลา 08.00-10.00 น. ตรวจวัดได้ 31.6-56.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 41.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

 

โดยค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 59 พื้นที่ ได้แก่ 

 

  1. เขตราชเทวี 
  2. เขตสัมพันธวงศ์ 
  3. เขตพญาไท 
  4. เขตวังทองหลาง 
  5. เขตปทุมวัน 
  6. เขตบางรัก 
  7. เขตบางคอแหลม 
  8. เขตจตุจักร 
  9. เขตลาดกระบัง 
  10. เขตธนบุรี 
  11. เขตคลองสาน 
  12. เขตบางกอกน้อย 
  13. เขตภาษีเจริญ 
  14. เขตบางเขน 
  15. เขตบางพลัด 
  16. เขตบางขุนเทียน 
  17. เขตสาทร 
  18. เขตคลองเตย 
  19. เขตบางซื่อ 
  20. เขตหลักสี่ 
  21. เขตบึงกุ่ม 
  22. เขตสวนหลวง 
  23. เขตลาดพร้าว 
  24. เขตคลองสามวา 
  25. เขตสายไหม 
  26. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 
  27. เขตบางแค 
  28. เขตดอนเมือง 
  29. เขตดินแดง 
  30. เขตพระโขนง 
  31. เขตราษฎร์บูรณะ 
  32. เขตบางกอกใหญ่ 
  33. เขตตลิ่งชัน 
  34. เขตทวีวัฒนา 
  35. เขตดุสิต 
  36. เขตหนองแขม 
  37. เขตบางบอน 
  38. เขตทุ่งครุ 
  39. เขตบางนา 
  40. เขตคันนายาว 
  41. เขตมีนบุรี 
  42. เขตหนองจอก 
  43. เขตประเวศ
  44. เขตห้วยขวาง 
  45. เขตวัฒนา 
  46. เขตจอมทอง 
  47. สวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร 
  48. สวนจตุจักร เขตจตุจักร 
  49. สวน 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง 
  50. สวนรมณีย์ทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง 
  51. สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ 
  52. สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เขตบางกอกน้อย 
  53. สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม 
  54. สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา 
  55. สวนหนองจอก เขตหนองจอก 
  56. สวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน
  57. สวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด 
  58. อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย 
  59. สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เขตจตุจักร

 

สำหรับคุณภาพอากาศระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สำหรับประชาชนทั่วไปแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร, จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก หรือระคายเคืองตา

 

ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร, เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

PM2.5 กับผลกระทบทางผิวหนัง

 

ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผิวหนังเป็นอวัยวะหลักที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมและมลภาวะต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝุ่นละอองดังกล่าวจะส่งผลต่อผิวหนัง 

 

ด้วยข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สามารถเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางรูเปิดของผมหรือขนได้โดยตรง หรือสามารถเข้าสู่ผิวหนังที่อยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ (Barrier-Disrupted Skin) เช่น ผิวหนังที่เป็นโรคภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) 

 

นอกจากนี้ PM2.5 ยังสามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่างๆ และนำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนังโดยตรงและทำให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังผิดปกติ ทั้งในด้านกลไกการป้องกันของผิวหนังจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและการซ่อมแซมผิวหนัง กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิม เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผื่นผิวหนังอักเสบ จะมีการระคายเคืองคันมากยิ่งขึ้นและผื่นกำเริบมากขึ้นได้

 

ควรหลีกเลี่ยงการแกะ เกา และเสียดสี เพราะอาจทำให้เกิดผื่นได้ 

 

ส่วน พญ.จันทร์จิรา สวัสดิพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมผัสกับฝุ่นต่อเนื่องเป็นเวลานานเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผิวเสื่อมชราได้เร็วขึ้นนอกเหนือจากปัจจัยทางแสงแดดและการสูบบุหรี่ ทำให้เกิดจุดด่างดำเพิ่มมากขึ้นบริเวณใบหน้า เกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากฝุ่น PM2.5 มีผลกระทบต่อผิวหนังได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว 

 

ดังนั้นการปกป้องผิวหนังให้สัมผัสกับฝุ่นดังกล่าวให้น้อยที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิมเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบมากยิ่งขึ้น 

 

สำหรับการดูแลรักษาเบื้องต้นกรณีมีผื่นคันหลังการสัมผัสฝุ่น PM2.5 คือ ควรหลีกเลี่ยงการแกะ เกา การเสียดสี และการระคายเคืองต่างๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นผื่นมากขึ้นได้ ควรใช้สบู่อ่อนๆ ในการทำความสะอาดร่างกาย และทาครีมบำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ 

 

กรณีที่มีอาการคันสามารถกินยาแก้แพ้ที่เป็นสารต้านฮิสตามีน (Oral Antihistamine) เพื่อลดอาการได้ การซื้อยาทาสเตียรอยด์เพื่อลดผื่นหรือการอักเสบของผิวหนังควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นผื่นมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

 

อ้างอิง: 

  • ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร 
  • กรมอุตุนิยมวิทยา 
  • สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
  • กรมการแพทย์ 
  • สถาบันโรคผิวหนัง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising