สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และจัดเสวนาในหัวข้อ ‘มุ่งเป้าอนาคตประเทศไทย’ ผนึกพลังขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเด็นประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2025 ณ โรงแรมทรีธารา จังหวัดลำปาง
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสถาบันการศึกษา ได้มีการร่วมมือกันมองปัญหาอย่างมุ่งเป้าไปที่เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องอากาศ ที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สะสมในอากาศปริมาณมากทุกปี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติกำหนดเป้าหมายหลัก 3 ประการไว้สำหรับโครงการนี้ ได้แก่ การลดจุดความร้อนหรือ Hotspot ให้ไม่เกิน 5,000 จุดต่อปี การลดจำนวนวันที่มีค่าฝุ่น PM2.5 มากเกินมาตรฐานให้ไม่เกิน 50 วันต่อปี และการลดจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังหรือ COPD ให้มีไม่เกิน 1,000 คนต่อปี โดยมุ่งหวังว่าทุกหน่วยงานจะมีการร่วมมือกันเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
ศิรินทร์พร เดียวตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานภายใต้โครงการว่า แบ่งการแก้ปัญหาออกเป็น 6 มิติ โดยมิติที่ 1 คือเรื่องงานวิจัยเพื่อบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจในการแก้ปัญหาของภาคส่วนต่าง ๆ มิติที่ 2 เป็นเรื่องลดการเผาพื้นที่เกษตรกรรมผ่านงานวิจัยนวัตกรรมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มิติที่ 3 คือเรื่องลดการเผาป่าและการจัดการไฟป่าโดยการร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มิติที่ 4 คือการลดปริมาณไอเสียจากการคมนาคมในพื้นที่เมือง มิติที่ 5 คือการลดฝุ่นข้ามชายแดนด้วยการทำข้อตกลงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อกำหนดนโยบายร่วมกัน และสุดท้ายมิติที่ 6 เป็นมิติการสื่อสารเชิงรุกด้วยการนำข้อมูลงานวิจัยมาเผยแพร่เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน
แผนงานดังกล่าว ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นต้นแบบที่เริ่มต้นใน 8 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือก่อน ประกอบไปด้วยจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ และตาก
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘มุ่งเป้าอนาคตประเทศไทย’ ผนึกพลังขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเด็นประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 ในครั้งนี้แบ่งออกเป็นการลงนามจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติร่วมกับตัวแทนจากจังหวัดลำปาง และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติร่วมกับตัวแทนจากจังหวัดตาก โดยมีผู้ร่วมลงนามทั้งหมดดังนี้
- นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
- นายกฤษณะ พินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
- นายสาธิต มณฑาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
- นางสาวปิยธิดา ถิระรณรงค์ เจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิเคราะห์นโยบายและแผนงานวิจัยการเกษตร ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
- นายพิษณุพล ประสาน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง
- นางจิตรี จิวะสันติการ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
- นางศิริพร ปัญญาเสน ประธานเครือข่ายฟ้าใส ลมหายใจลำปาง
- นายวิเชษฎ ขาวละออ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ผู้แทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก
- นายวิฑูรย์ ภู่ชินาพันธุ์ กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดตาก ผู้แทนประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดตาก
- นายอารักษ์ อนุชปรีดา ประธานสภาลมหายใจจังหวัดตาก
นอกจากในส่วนของพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงและเสวนาแล้ว นักวิจัยและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังมีนิทรรศการจัดแสดงผลงานวิจัยอีกด้วย ทั้งที่เป็นชิ้นงานผลิตภัณฑ์ และที่เป็นข้อมูลสำหรับนำไปวิเคราะห์ต่อ
อาทิตย์ ประทุมพวง กรรมการผู้จัดการบริษัท Sustain Innotech และนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนของทีมวิจัยที่ทำเรื่องการลด PM2.5 โดยการสร้างรายได้จากสินค้านวัตกรรม ที่เกิดจากการแปรรูปชีวมวลข้าวโพด โดยเน้นความยั่งยืนของชุมชนเป็นหลัก จากการเผยแพร่องค์ความรู้วิธีการผลิตสินค้าแปรรูปที่เพิ่มมูลค่า เช่น ปุ๋ยอินทรีย์จากซังข้าวโพด ถ่านไบโอชาร์คุณภาพสูง กรีนซีเมนต์ รวมถึงน้ำส้มควันไม้จากเปลือกหอยที่สามารถกำจัดแมลงและเพิ่มผลผลิตให้ข้าวโพดได้ ซึ่งนอกจากการสอนผลิตสินค้าแปรรูปแล้ว ทางทีมวิจัยก็ได้ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านธุรกิจ เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยโครงการวิจัยดังกล่าวเริ่มต้นที่จังหวัดน่านและจังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก แต่ในอนาคตก็มีแผนขยายผลโครงการไปยังจังหวัดอื่น ๆ เช่น ลำปางด้วย
นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยจาก ผศ. ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่วิจัยเรื่องการใช้เห็ดป่าไมคอร์ไรซา เช่น เห็ดเผาะ เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิดตั้งต้นมาจากพฤติกรรมของชาวบ้านที่มักจะเผาใบไม้เพื่อเห็ดจากความเข้าใจว่าการเผาป่าทำให้เกิดเห็ด แม้ว่าในความจริงแล้ว เห็ดเผาะสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่มักจะถูกใบไม้จากต้นไม้ใหญ่ร่วงหล่นและกลบทับไว้ การเผาจึงไม่ได้ทำให้เกิดเห็ด เพียงแต่มันทำให้หาเห็ดได้ง่ายขึ้น ทีมวิจัยจึงส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถปลูกเห็ดได้ด้วยตนเอง โดยการพัฒนาหัวเชื้อเห็ดเผาะด้วยวิธีการปั่นเส้นใยเพื่อเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการแล้วจึงนำไปแจกจ่าย รวมถึงการพัฒนาหัวเชื้อเห็ดเผาะจากสปอร์เห็ดที่ชาวบ้านสามารถทำตามได้เอง โดยโครงการเริ่มต้นที่ 6 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา และลำปาง
อีกหนึ่งนิทรรศการที่น่าสนใจเป็นงานวิจัยเชิงข้อมูลที่นำทีมโดย รศ. ดร.ธันวดี ศรีธาวิรัตน์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ที่มีการลงพื้นที่ตรวจวัดค่าประมาณสารประกอบต่าง ๆ ในอากาศจากแหล่งกำเนิดมลพิษโดยตรง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การขนส่งทางบก การเผาในที่โล่งและไฟป่า รวมถึงอื่น ๆ แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเพื่อจัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศในระดับจังหวัด แล้วนำข้อมูลนี้ไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจแก้ปัญหาระดับจังหวัด โดยพื้นที่เป้าหมายที่ทางทีมวิจัยเลือก ได้แก่ จังหวัดลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน
วิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรม กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของประชาชน แม้การลงนามบันทึกข้อตกลง ‘มุ่งเป้าอนาคตประเทศไทย’ ผนึกพลังขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเด็นประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก็ยืนยันว่าจะมีการติดตามผลเป็นระยะ ในช่วงเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี จะมีการเยี่ยมเยือนทุกจังหวัดในโครงการเพื่อประเมินผลการดำเนินงาน และช่วยสนับสนุนให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นไปได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ