วันนี้ (29 มีนาคม) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยมีคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง
ทันทีที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงได้ขอให้หน่วยงานชี้แจงการแจ้งเตือน SMS ไปยังประชาชนที่เกิดความล่าช้า และมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถส่งให้ส่งให้ประชาชนได้อย่างครอบคลุม
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตอนที่เกิดเหตุการณ์ประมาณ 13.20 น. ก่อนถามในที่ประชุมว่า “สิ่งแรกที่ควรจะเกิดขึ้นมันคืออะไร แผ่นดินไหวปุ๊บสิ่งแรกที่ควรจะเกิดขึ้นประชาชนควรได้รับรู้อะไรบ้าง ใช่ในเรื่องของ SMS หรือไม่ ถ้าใช่หน่วยงานไหนเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้”
จากนั้นภาสกร บุญญลักษณ์ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า ปกติกองป้องกันและเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของกรมอุตุนิยมวิทยาจะรายงานเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั้งหมด และจะแจ้งมาที่ ปภ. แต่ยอมรับว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์เดียวที่ไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ ประชาชนจะรับรู้ก็ต่อเมื่อมีแรงสั่นสะเทือน นายกรัฐมนตรี จึงกล่าวเสริมว่า ถือเป็นความรู้ใหม่ของตนว่าแผ่นดินไหว ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้
ก่อนที่อธิบดี ปภ. จะกล่าวว่า เมื่อได้รับข้อมูลแล้วเราจะส่งไปที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงตั้งคำถามต่อว่า ได้ข่าวว่าทาง ปภ. ส่งข้อความไปถึง กสทช. 2 ครั้งแล้ว ทำให้อธิบดี ปภ. กล่าวแย้งว่าส่งไปถึง 4 ครั้ง นายกรัฐมนตรีจึงถามจี้ต่อว่า ครั้งแรกส่งไปเวลาเท่าใด
อธิบดี ปภ. ชี้แจงว่า ส่งครั้งแรกเวลา 14.20 น. แจ้งว่าประชาชนสามารถเข้าอาคารได้ในกรณีที่มีความจำเป็น นายกรัฐมนตรีจึงหันไปถาม ไตรลักษณ์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ว่า กสทช. ได้รับคำสั่งจาก ปภ. ให้ส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชนหรือไม่
ไตรลักษณ์จึงชี้แจงว่า ได้รับข้อมูลร้องขอให้ส่ง SMS ครั้งแรกในเวลา 14.44 น. แต่มีข้อจำกัดว่าสามารถส่งได้ 1-2 แสนหมายเลขใน 1 รอบเท่านั้น และใช้เวลา 15 นาที ในการส่ง Cell Broadcast เพื่อส่งไปยัง Cell Site แล้ว Cell Site จะกระจายทันที แต่ขณะนี้ผู้ให้บริการเอกชนปรับปรุงระบบเพื่อให้สามารถส่งได้ครั้งละ 3 ล้านหมายเลขแต่จะใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง นี่คือข้อจำกัดของการส่ง SMS
ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะจี้ถามต่อไปยังเลขาธิการ กสทช. ว่าสรุปแล้ววานนี้ได้มีการส่ง SMS ไปยังประชาชนกี่หมายเลข เหตุใดประชาชน จึงบอกว่าไม่ได้รับ SMS ด้านเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า รวมแล้ว 10 ล้านหมายเลข ในรอบแรกจะเป็นการส่งไปยังพื้นที่ 4 จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี และการส่ง SMS สู้ Cell Broadcast ไม่ได้ เนื่องจากต้องมีการเรียงลำดับหมายเลข โดยช่วงแรกจะส่งไปยัง 4 จังหวัด และส่งต่อไปอีก 76 จังหวัดอีก 1 รอบ
อธิบดี ปภ. กล่าวด้วยว่า ครั้งแรกเป็นการแจ้งเตือนประชาชนให้สามารถเข้าอาคารได้เท่าที่จำเป็น เพราะได้ประสานกับกรมอุตุนิยมวิทยาในเบื้องต้น ว่ายังมีอาฟเตอร์ช็อกอยู่ ส่วนครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 มีการส่งต่อเนื่องในเวลา 16.07 น. และ 16.09 น. เรื่องข้อปฏิบัติตน ขณะเกิดแผ่นดินไหวและครั้งสุดท้ายส่งเวลา 16.44 น. ให้ประชาชนสามารถกลับเข้าอาคารได้
นายกรัฐมนตรีจึงกล่าวย้ำว่า ปัญหาคือเราส่ง SMS ได้ช้าและไม่ทั่วถึง ซึ่งนี่เป็นข้อแรกที่ต้องแก้ไข ไม่ว่า Cell Broadcast จะเข้ามาในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม แต่สิ่งที่ไม่มาคือ SMS และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ซื้อซิมของไทยในระยะสั้นๆ มีการแจ้งเตือนหรือไม่
“อยากให้ กสทช. และ ปภ. ประสานกันอีกครั้งหนึ่ง ท่านต้องตอบคำถามตรงนี้ให้ได้เพราะดิฉันต้องตอบคำถามประชาชน เพราะดิฉันสั่งไปตั้งแต่ก่อน 14.00 น. ให้ส่ง SMS เตือนให้หมด ทุกอย่างแต่ระบบไม่ออก ก็เลยไม่ทราบว่า มันต้อง improve (ทำให้ดีขึ้น) ตรงไหนเพิ่มเติมอีก มีข้อแนะนำไหมคะ improve มาเลย เพราะมีการสั่งการทั้งมหาดไทยและนายกรัฐมนตรีแล้ว มันต้องยังไงได้อีก” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ตอนนี้ปัญหาคือ Cell Broadcast เรายังไม่แล้วเสร็จ ปัญหาที่ 2 คือ SMS แจ้งเตือนล่าช้า ข้อมูลที่ส่งไปไม่ได้จะเป็นประโยชน์ พร้อมยอมรับว่า ส่วนตัวก็ผิดที่ไม่ได้ระบุว่า ข้อความต้องส่งอะไรบ้าง ตอนนั้นทุกฝ่ายควรจะร่วมกันบอกรายละเอียดว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง
“แผ่นดินไหว ตัวดิฉันก็ไม่ทราบ เหมือนกันว่าจะต้องทำตัวอย่างไร ค่อนข้างที่จะเหมือนประชาชนคนไทยทุกคน เพราะเราไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีแผ่นดินไหวเป็นประจำ เหมือนเช่นคุณแม่อายุเกือบ 70 บอกว่าไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ หลายๆ คนก็คงเป็นแบบนี้เช่นกัน และคิดว่าตัวเองไม่สบายเนื่องจากมันสั่น ก็คงต้องให้ความรู้เพิ่มเติมในส่วนนี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงระบบคมนาคมขนส่งมวลชนที่วานนี้มีการปิดให้บริการรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินว่า หลังจากนี้หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรืออุบัติเหตุ ให้เตรียมรับมือตั้งแต่วันนี้ แจ้งเตือนประชาชนถึงเส้นทางคมนาคมให้กับประชาชนรับทราบ เมื่อเกิดการจราจรอัมพาต SMS ต้องสามารถบอกข้อมูลเหล่านี้ให้กับประชาชนทราบได้ว่าสามารถใช้เส้นทางคมนาคมช่วงใดได้บ้าง เพื่อครั้งหน้าจะได้ไม่เป็นอัมพาตเช่นนี้