×

ไข้มาลาเรียสายพันธุ์ ‘โนวไซ’ ระบาดมากกว่าทุกปี ใครบ้างที่ควรระวัง

06.05.2022
  • LOADING...
ไข้มาลาเรีย

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนการระบาดของไข้มาลาเรียสายพันธุ์ ‘โนวไซ’ (Plasmodium knowlesi) โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้แล้ว 70 ราย จากเดิมที่เคยพบปีละประมาณ 10 รายมาตลอด และจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ระนอง สงขลา และตราด 

 

ไข้มาลาเรียสายพันธุ์นี้ควรสังเกตอาการอะไร ใครบ้างที่ต้องระวัง และจะป้องกันได้อย่างไร

 

พาหะของไข้มาลาเรีย

 

ไข้ป่า ไข้จับสั่น หรือมาลาเรีย (Malaria) คือโรคเดียวกัน เกิดจากการติดเชื้อชนิดหนึ่งในกลุ่มพลาสโมเดียม ซึ่งมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่ที่ก่อโรคในคนมี 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ฟัลซิปารัม, ไวแวกซ์, มาลาริอี, โอวาเล และโนวไซ 

 

โดยสายพันธุ์ ‘โนวไซ’ เป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่พบในประเทศไทย ครั้งแรกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2547 ทั้งนี้รูปร่างของสายพันธุ์โนวไซใกล้เคียงกับสายพันธุ์มาลาริอี จึงทำให้วินิจฉัยแยกจากกันได้ยากและอาจพบในไทยก่อนหน้านั้น

 

การติดเชื้อมาลาเรียต้องมีปัจจัย 3 อย่างร่วมกัน คือ 

  • คนที่มีความเสี่ยง
  • เชื้อมาลาเรีย
  • พาหะนำเชื้อมาลาเรีย และสิ่งแวดล้อม

 

เชื้อมาลาเรียมี ‘ยุงก้นปล่อง’ เป็นพาหะ ยุงชนิดนี้อาศัยอยู่ในป่าเขาที่มีลักษณะชุ่มชื้น ชายป่า หรือสวนยางพารา ส่วนที่ติดต่อกับชายป่า โดยจะวางไข่ตามแหล่งน้ำลำธารที่มีน้ำซับ หรือน้ำไหลเอื่อยๆ (ต่างจากยุงลายที่วางไข่ในน้ำนิ่ง) 

 

ยุงก้นปล่องหากินเวลาพลบค่ำถึงรุ่งเช้า ดังนั้นผู้ที่มีอาชีพหาของป่า ล่าสัตว์ กรีดยางพารา เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในเวลากลางคืน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปพักค้างแรมในป่า หรือใกล้ลำห้วย จึงเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง

 

เชื้อมาลาเรีย 4 สายพันธุ์แรกสามารถติดต่อจาก ‘คนไปคน’ คือผู้ติดเชื้อรายหนึ่งไปอีกคนหนึ่งผ่านยุงก้นปล่องได้ 

 

แต่สายพันธุ์โนวไซจะติดต่อจาก ‘ลิงไปคน’ หรือสัตว์สู่คน (Zoonotic Disease) โดยลิงที่เป็นแหล่งรังโรคในไทย ได้แก่ ลิงกัง, ลิงวอก, ลิงเสน, ลิงแสม และลิงอ้ายเงียะ พบมากในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ดังนั้นการติดเชื้อสายพันธุ์นี้จะพบไม่บ่อย จึงต้องติดตามผลการสอบสวนโรคว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่พบมากขึ้นในปีนี้เกิดจากสาเหตุอะไร

 

อาการของไข้มาลาเรีย

 

เมื่อยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียมากัดคน เชื้อจะเข้าไปที่ ‘ตับ’ เพื่อแบ่งตัวเพิ่มจำนวน ใช้เวลา 6-15 วัน เซลล์ตับจะแตกแล้วปล่อยเชื้อออกมาจำนวนมาก บางส่วนถูกทำลายโดยเม็ดเลือดขาว แต่ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ ‘เม็ดเลือดแดง’ เพื่อแบ่งตัวเพิ่มจำนวน จากนั้นเม็ดเลือดแดงจะแตก ปล่อยเชื้อออกมาในกระแสเลือด แล้วกลับเข้าไปในเม็ดเลือดแดงใหม่ วนเป็นวงจรเช่นนี้ ทุกครั้งที่เม็ดเลือดแดงแตก ผู้ติดเชื้อจะมีอาการจับไข้ตามวงรอบ

 

เชื้อแต่ละสายพันธุ์มีวงรอบสั้นยาวไม่เท่ากัน เช่น ฟัลซิปารัมใช้เวลา 36 ชั่วโมง จับไข้วันเว้นวัน มาลาริอีใช้เวลา 72 ชั่วโมง จับไข้วันเว้นสองวัน 

 

ส่วนสายพันธุ์โนวไซที่ระบาดในปีนี้ใช้เวลาสั้นที่สุด 24 ชั่วโมง ทำให้จับไข้ทุกวัน และมีอาการรุนแรงได้รวดเร็ว

 

ดังนั้นอาการสำคัญของไข้มาลาเรียคือ ไข้ หนาวสั่น (การจับไข้ช่วงแรกจะยังไม่เป็นเวลา) ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ บางรายที่อาการรุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ตับวาย ไตวาย ไข้มาลาเรียขึ้นสมอง ทำให้เสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

การวินิจฉัยไข้มาลาเรีย

 

อาการข้างต้นจะคล้ายกับโรคที่พบบ่อยในประเทศไทยอีกหลายโรค เช่น ไข้เลือดออก ไข้รากสาดใหญ่ ซึ่งมีการรักษาแตกต่างกัน ผู้ที่มีไข้ติดต่อเกิน 3 วันควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม 

 

แพทย์จะซักประวัติอาชีพ/ลักษณะการทำงาน การเดินทางในช่วง 1 เดือนก่อนมีอาการ (หากเดินทางกลับมาจากจังหวัดชายแดนเมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของไข้มาลาเรียควรแจ้งแพทย์) ตรวจร่างกาย และเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ 

 

การวินิจฉัยไข้มาลาเรียจะต้องตรวจหาเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ รูปร่างของสายพันธุ์โนวไซใกล้เคียงกับมาลาริอี ทำให้อาจวินิจฉัยผิดได้ แต่ไม่มีผลต่อการรักษา เพราะใช้ยารักษาเหมือนกัน หากแพทย์ต้องการตรวจยืนยันจะส่งตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธี PCR 

 

นอกจากนี้ปัจจุบันมีชุดตรวจอย่างเร็ว (คล้ายชุดตรวจ ATK แต่ใช้ตัวอย่างเลือดแทน) สามารถแยกสายพันธุ์ว่าเป็นฟัลซิปารัม หรือกลุ่มที่ไม่ใช่ฟัลซิปารัม แต่จะไม่สามารถตรวจสายพันธุ์โนวไซได้

 

การป้องกันไข้มาลาเรีย

 

หากต้องทำงานหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาดของไข้มาลาเรียควรป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยใช้ยาทากันยุง เช่น สารดีอีอีที (DEET) ซึ่งควรมีความเข้มข้น 20-50% (โลชั่นกันยุงทั่วไปมีความเข้มข้น 12-15% จะป้องกันได้ไม่นาน) สวมเสื้อแขนยาว-กางเกงขายาว และนอนในมุ้ง

 

บางท่านอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับการรับประทานยาต้านมาลาเรียก่อนเดินทาง แพทย์จะต้องประเมินความเสี่ยงในการติดเชื้อและเชื้อมาลาเรียในพื้นที่นั้นๆ เพราะแต่ละสายพันธุ์ใช้ยาไม่เหมือนกันและบางพื้นที่พบเชื้อดื้อยา รวมถึงยาที่ใช้ประจำ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง 

 

ทั้งนี้ยังต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วย เพราะยามีประสิทธิผลป้องกันไม่ 100% และสำหรับพื้นที่ชายแดนของไทยยังไม่ใช่พื้นที่ระบาดรุนแรง จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานยานี้

 

โดยสรุปไข้มาลาเรียสายพันธุ์ ‘โนวไซ’ ติดต่อจากลิงไปคนผ่านยุงก้นปล่อง มีอาการเหมือนสายพันธุ์อื่นคือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ แต่ด้วยระยะฟักตัวที่สั้นกว่าทำให้จับไข้ทุกวัน และอาจมีอาการรุนแรงได้เร็วกว่า 

 

ผู้ที่ทำงานหรือเดินทางเข้าไปในป่า/ชายป่าใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา (โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก), ไทย-มาเลเซีย และไทย-กัมพูชา ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัดในเวลากลางคืน และสังเกตอาการตนเอง หากมีไข้สูงเกิน 3 วันควรรีบไปพบแพทย์ 

 

อ้างอิง:

  • กรมควบคุมโรค เตือนระวังโรคไข้มาลาเรียสายพันธุ์ “โนวไซ” สามารถแพร่เชื้อจากลิงสู่คนได้ https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=25019 
  • แนวทางการปฏิบัติงานกำจัดโรคไข้มาลาเรีย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขประเทศไทย พ.ศ. 2562
  • แนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย ประเทศไทย พ.ศ. 2564 
  • Malaria https://www.tm.mahidol.ac.th/eng/tmpz/download/2008-malaria.pdf 
  • หากวันหนึ่งต้องเดินเข้าป่า โลชัน-สเปรย์ที่ใช้อยู่นั้นกันยุงได้จริงไหม https://themomentum.co/deet-mosquito-repellent/ 
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising