*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Plan 75 วันเลือกตาย*
Plan 75 วันเลือกตาย คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับหญิงหน้าใหม่ จิเอะ ฮายากาวะ ที่ต่อยอดมาจากภาพยนตร์ขนาดสั้นของตัวเองในชื่อ Ten Years Japan (2018) โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงสุดสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในปี 2016 เมื่อมีชายคนหนึ่งได้ลงมือสังหารผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในสถานดูแลผู้สูงอายุไป 19 คน และบาดเจ็บกว่า 40 คน โดยมีแรงจูงใจมาจากความคิดที่ว่า คนพิการเหล่านี้ไร้ประโยชน์และเป็นภาระของสังคม
จิเอะ ฮายากาวะ จึงตัดสินใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา โดยหยิบประเด็นสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมานำเสนอ ผ่านเรื่องราวในอนาคตอันใกล้ เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายที่ชื่อว่า Plan 75 ที่จะเปิดให้ประชาชนผู้มีอายุ 75 ปีขึ้นไปได้ลงทะเบียนเพื่อขอความช่วยเหลือในการปลิดชีวิตตัวเอง หรือการการุณยฆาต พร้อมรับเงินชดเชยเป็นจำนวนเงิน 1 แสนเยน และสวัสดิการมากมายสำหรับใช้ในบั้นปลายชีวิต เพื่อหวังว่าจะเป็นการแก้ปัญหาตัวเลขผู้สูงอายุที่มากจนเกินจุดสมดุล
ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของ 3 ตัวละครหลักที่มีช่วงอายุแตกต่างกัน เริ่มต้นด้วย มิจิ (จิเอโกะ ไบโช) หญิงชราวัย 78 ปี ที่ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ไร้ครอบครัว หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรม แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น เธอและเพื่อนร่วมงานที่รุ่นราวคราวเดียวกันจึงถูกเชิญออกอย่างกะทันหัน, ฮิโรมุ (ฮายาโตะ อิโซมูระ) เจ้าหน้าที่รับสมัครเข้าร่วมโครงการ Plan 75 ที่ได้โคจรมาพบกับลุงของตัวเองอีกครั้งหลังจากไม่ได้เจอหน้ากันนานกว่า 20 ปี แต่ลุงของเขากลับเป็นหนึ่งในผู้สมัครเข้าโครงการ Plan 75 เสียอย่างนั้น และ มาเรีย (สเตฟานี อาริอาน) หญิงสาวชาวฟิลิปปินส์ที่เดินทางมาทำงานในญี่ปุ่นเพื่อหาเงินไปให้กับลูกสาวที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งนำพาให้เธอได้เข้ามาเป็นพนักงานดูแลศพของผู้ที่เสียชีวิตในโครงการ Plan 75
ความพิเศษข้อหนึ่งของ Plan 75 คือแม้ว่าผู้กำกับจะเลือกนำเสนอเรื่องราวของสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น โดยมีตัวละคร มิจิ หญิงชราผู้โดดเดี่ยว เป็นศูนย์กลางของเรื่อง แต่เนื่องจากภาพยนตร์ยังเล่าเรื่องราวดังกล่าวผ่านตัวละครรอบข้างที่มีอายุแตกต่างกันไป นั่นจึงทำให้ภาพยนตร์ได้เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปสำรวจความคิดและมวลความรู้สึกของกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนวัยทำงานที่อาศัยในญี่ปุ่นไปพร้อมกัน
เริ่มตั้งแต่ ยูโกะ (ยูมิ คาวาอิ) พนักงานผู้ช่วยให้คำปรึกษากับผู้เข้าร่วมโครงการ Plan 75 ที่แม้ว่าเธอจะไม่ได้มีบทบาทสำคัญมากนักเมื่อเทียบกับตัวละครอื่นๆ แต่บทบาทของเธอก็อาจเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่แม้จะทำงานอยู่ในโครงการ Plan 75 ก็ตาม แต่เมื่อเธอได้รับหน้าที่ให้คำปรึกษากับมิจิผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ ได้รับฟังเรื่องราวที่มิจิเล่า จนทำให้เธอเริ่ม ‘สนิทสนม’ กับมิจิมากขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงเริ่ม ‘ตั้งคำถาม’ ต่อโครงการที่ตัวเองทำงานอยู่ว่า การแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุด้วยการ ‘ลบ’ พวกเขาเหล่านั้นทิ้งไปเสีย คือหนทางที่ถูกต้องแล้วแน่หรือ (แม้ว่าจะมีช่วงสั้นๆ ที่ภาพยนตร์บอกเราอย่างโจ่งแจ้งว่าโครงการนี้ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นดีขึ้นจริงๆ ก็ตาม)
ขณะที่ตัวละคร ฮิโรมุ ที่เพิ่งจะได้กลับมาพบหน้ากับลุงของตัวเองอีกครั้งหลังจากไม่ได้เจอกันเลยในรอบ 20 ปี ซึ่งแม้ว่าตัวภาพยนตร์จะไม่ได้เฉลยให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสาเหตุจริงๆ ที่ทั้งคู่ไม่สนิทกันคืออะไร แต่เรื่องราวระหว่างฮิโรมุและลุงของเขาก็ดูเหมือนจะกำลังโยนคำถามให้ผู้ชมได้ร่วมกันสำรวจว่า ตอนนี้เรากำลังมุ่งมั่นตั้งใจทำงานในเส้นทางของตัวเอง จนอาจหลงลืมใครสักคนไว้อยู่เบื้องหลังโดยไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า และหากโครงการ Plan 75 เกิดขึ้นจริงๆ แล้วมีญาติผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัวที่เรารู้จักตัดสินใจสมัครโครงการนี้ เราจะมีปฏิกิริยาอย่างไร
สลับมาที่เรื่องราวของ มาเรีย หญิงสาวชาวฟิลิปปินส์ ที่เดินทางมาทำงานในญี่ปุ่นด้วยการเป็นผู้ดูแลในสถานดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่ง แต่เนื่องจากเธอต้องการเงินไปรักษาลูกสาวที่กำลังป่วย เธอจึงตัดสินใจสมัครเข้าทำงานในโครงการ Plan 75 ที่ได้เงินมากกว่า
เรื่องราวของมาเรียจึงอาจเป็นตัวแทนของ ‘คนภายนอก’ ที่เข้ามาทำงานและอาศัยในญี่ปุ่น เพื่อพาผู้ชมไปสำรวจว่าเธอมีความคิดและรู้สึกต่อโครงการ Plan 75 อย่างไร พร้อมกันนั้นการที่ผู้กำกับเลือกที่จะให้มาเรียมีอาชีพเป็นผู้ดูแลในสถานดูแลผู้สูงอายุ ก็อาจจะเป็นภาพสะท้อนให้เราเห็นว่าสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันกำลังขาดแคลนคนที่จะมารับหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุอย่างหนัก จนต้องเปิดรับสมัครแรงงานต่างชาติเข้ามาช่วยทำงานได้อีกมุมหนึ่งด้วยเช่นกัน
ส่วนเรื่องราวของ มิจิ หญิงชราวัย 78 ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง ไม่มีลูกหลานคอยดูแล แถมยังต้องมาตกงานอย่างกะทันหัน ซึ่งส่งผลให้เธอถูกบีบให้ออกจากห้องเช่า จนดูเหมือนว่าชีวิตของเธอจะค่อยๆ กลายเป็น ‘ส่วนเกินของสังคม’ ไปเสียอย่างนั้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็นำมาสู่การที่เธอตัดสินใจสมัครเข้าโครงการ Plan 75 ในที่สุด
บทบาทสำคัญของตัวละครมิจิที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ อาจกำลังบอกกับผู้ชมอย่างตรงไปตรงมาและหนักแน่นที่สุดว่า จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้มีความสำคัญในเชิงของ ’ตัวเลข’ เท่านั้น แต่โปรดอย่าลืมว่าพวกเขาเหล่านั้นก็คือ ‘บุคคลสำคัญ’ ที่มีจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก ที่กำลังเฝ้ารอความช่วยเหลือ และอาจเป็นคนสำคัญของใครอีกหลายคนเช่นเดียวกัน
ในภาพรวมแล้ว เราคิดว่า Plan 75 คือภาพยนตร์ญี่ปุ่นน้ำดีอีกหนึ่งเรื่อง ที่ไม่ได้พาเราไปสำรวจประเด็นของสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่นผ่านเรื่องราวของทุกตัวละครอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมทุกช่วงวัยได้ลองสำรวจความคิดและความรู้สึกของตัวเองต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปพร้อมกับตัวละครภายในเรื่อง และเมื่อภาพยนตร์ฉายจบ ผู้ชมแต่ละคนก็อาจจะได้รับ ‘สาร’ ที่ภาพยนตร์ต้องการนำเสนอในแง่มุมที่แตกต่างกันตามช่วงอายุและตามประสบการณ์ที่แต่ละคนมี
Plan 75 วันเลือกตาย มีกำหนดเข้าฉายวันที่ 8 กันยายนนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่