วานนี้ (24 ตุลาคม) ปิยบุตร แสงกนกกุล จัดรายการ ‘เอาปากกามาวง’ ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองหลากหลายพรรคออกมาปกป้องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งๆ ที่มาตรา 112 มีปัญหาทั้งในเชิงตัวบท อุดมการณ์เบื้องหลัง และการบังคับใช้
ปิยบุตรกล่าวช่วงหนึ่งว่า หลังจากที่พรรคก้าวไกลแถลงนโยบายด้านการเมืองเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยหนึ่งในข้อเสนอนโยบายของพรรคก้าวไกลคือ เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยลดโทษจำคุก ย้ายออกจากหมวดความมั่นคง ให้สำนักพระราชวังเท่านั้นที่เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ และกำหนดให้มีเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ ในกรณีวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะ
หลังจากนั้นตลอดทั้งสัปดาห์มีหัวหน้าพรรค แกนนำพรรค และโฆษกพรรคต่างๆ ออกมาทำท่าทีขึงขังบอกว่าจะไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือประกาศว่าจะไม่ร่วมทำงานกับพรรคการเมืองที่เสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เด็ดขาด เหตุผลที่ยกมาก็มีตั้งแต่บอกว่า ตัวบทกฎหมายไม่มีปัญหา ประเทศอื่นเขาก็มี ประเทศเรามีก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ขณะคนธรรมดายังมีกฎหมายคุ้มครองเลย และข้ออ้างว่าถ้าไม่ทำผิดจะไปกลัวอะไร
“ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับตัวบทนั้น การที่มาตรา 112 อยู่ในหมวดของความมั่นคงในราชอาณาจักร ทำให้แนวทางการวินิจฉัยคดีเป็นเรื่องของการควบคุมอาชญากรรมมากกว่าการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน นำไปสู่ทิศทางที่มักไม่ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว หรือมีการเรียกหลักประกันชนิดที่สูงมาก และการไม่แยกฐานความผิดอย่างชัดเจน ระหว่างหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทั้งที่เป็นการกระทำที่ไม่เหมือนกัน แนวทางการใช้จึงปะปนกันไป นอกจากนี้ มาตรา 112 ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นการติชมโดยสุจริต หรือการพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่วิจารณ์นั้นเป็นความจริง อีกทั้งการมีอัตราโทษที่สูงถึง 3-15 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่สูงเกินไป แม้แต่เมื่อเทียบกับสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ลงโทษไม่เกิน 7 ปี และยังเป็นอัตราโทษหมิ่นประมาทที่สูงที่สุดในโลก ไม่มีที่ไหนสูงเท่านี้อีกแล้ว ซึ่งมีอุดมการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกำกับอยู่ ที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ประกอบกับแนวทางการปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่มักไม่ยอมใช้ดุลพินิจ แต่เลือกที่จะสั่งฟ้องไว้ก่อน นำไปสู่การกลั่นแกล้งกันทั้งในทางส่วนตัวและในทางการเมือง” ปิยบุตรกล่าว
สำหรับข้ออ้างที่บอกว่าประเทศอื่นเขาก็มี ประเทศเรามีก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ปิยบุตรระบุว่า กฎหมายว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐมีอยู่จริงในหลายประเทศ สำหรับประเทศที่เป็นสาธารณรัฐก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทประธานาธิบดี สำหรับประเทศที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่กฎหมายของประเทศเหล่านั้นแตกต่างจากมาตรา 112 อย่างสิ้นเชิง บางประเทศมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ไม่เคยนำมาใช้หรือไม่นำมาใช้นานแล้ว บางประเทศอาจนำมาใช้เป็นครั้งคราว แต่ก็เพียงลงโทษปรับ และทุกประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ล้วนแล้วแต่กำหนดโทษต่ำกว่ามาตรา 112 มาก และทิศทางแนวโน้มก็มีแต่จะยกเลิกโทษนี้ เช่น ในกรณีของเบลเยียม ศาลรัฐธรรมนูญเบลเยียมเพิ่งวินิจฉัยว่ากฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขัดรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป ในประเด็นเรื่องขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก หรือในกรณีของนอร์เวย์ ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 2015 ได้ยกเลิกความผิดฐานนี้ไปแล้ว
ปิยบุตรกล่าวด้วยว่า แม้ว่าไม่มีกฎหมายมาตรา 112 ไปแล้วก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาคุ้มครองอยู่ดี และการที่จะฟ้องหรือไม่ฟ้องใครก็ควรเป็นเรื่องส่วนตัว ให้แต่ละคนไปพิจารณากันเองว่าจะอย่างไร เสียหายหรือไม่ อาจคิดว่าไม่เสียหาย หรือเสียหายแต่ไม่อยากเอาความก็ได้ อย่างกรณีของตนก็มีคนหมิ่นประมาทเต็มไปหมด ตนก็ไม่เคยได้ไปเอาความ เพราะถือว่าเข้ามาเป็นบุคคลสาธารณะแล้ว การถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติ ก็ให้ประชาชนตัดสินว่าถ้ามาว่ากล่าว มาด่านั้น มีเหตุมีผลหรือไม่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งกฎหมายหมิ่นประมาทควรคิดจากฐานนี้ ให้เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลไปพิจารณากันเอง และทิศทางแนวโน้มของประเทศประชาธิปไตยส่วนมากเขาก็ยกเลิกโทษทางอาญาจากการหมิ่นประมาทไปแล้ว ให้เหลือแต่โทษทางแพ่ง แล้วก็ให้แต่ละคนไปพิจารณากันเองว่าจะฟ้องร้องเอาความหรือไม่ แต่ในกรณีมาตรา 112 ลักษณะความผิดไม่ได้สัดส่วนกับโทษ และอยู่ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร และใครๆ ก็สามารถไปฟ้องร้องได้ด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ยังสามารถไปฟ้องที่ไหนก็ได้ และยังไม่มีเหตุยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษด้วย จึงเห็นได้ว่ากฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาชัดเจน
“ข้อกล่าวอ้างที่บอกว่า ถ้าไม่ทำผิดจะไปกลัวอะไร ถ้าใช้ตรรกะนี้ต้องใช้คำพระว่า เถยจิต คิดแบบนี้ คิดในแง่ร้ายหมดเลย แบบที่คุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยบอกว่า ถ้าเราไม่คิดทำผิดกฎหมาย ทำไมต้องกลัวรับโทษทางกฎหมาย หากบอกแบบนี้ต้องไปเรียนอาชญาวิทยาใหม่แล้วครับ ถ้าใช้ตรรกะเดียวกัน คุณอนุทินและพรรคภูมิใจไทยแก้ไขกฎหมายกัญชาทำไม ก็ชัดเจนว่าแก้ไขเพราะจะเปิดทางให้คนใช้ได้ เสพได้ ใช้รักษาโรคได้ เป็นพืชเศรษฐกิจได้ ตอนยังมีกฎหมายควบคุมอยู่ ก็แสดงว่าคนเหล่านี้ต้องการทำผิดกฎหมาย ณ วันนี้เลยต้องแก้เพื่อทำให้ไม่ผิดกฎหมายไงครับ ผมไม่เคยใช้ตรรกะแบบนี้เลย เพราะผมเห็นว่านี่คือนโยบาย เป็นนิตินโยบาย ในเมื่อกฎหมายมีปัญหาก็ต้องแก้ ถ้ากัญชามีประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาลก็ต้องแก้ ก็ต้องเปิดทางให้ทำ ถ้าจะเปิดให้คนได้เสพในที่จำกัดได้บ้างก็ต้องแก้กฎหมาย แล้วมันผิดอะไร ในทำนองเดียวกัน ถ้า 112 มีปัญหา โทษสูง ปล่อยให้ใครต่อใครไปแจ้งความก็ได้ แล้วคนโดนคดีกันสองร้อยกว่าคน เด็กโดนคดีกัน 17 คนเนี่ย แบบนี้ไม่มีปัญหาหรือครับ ถ้ามีปัญหาก็ต้องแก้ครับ ถ้าคุณอนุทินคิดแบบนี้ว่าใครคิดจะแก้ไขกฎหมายอาญาแสดงว่าจะเตรียมทำผิด ถ้าอย่างนี้ประเทศไทยแก้ไขกฎหมายอาญาไม่ได้เลยสักมาตราเดียว” ปิยบุตรกล่าว
นอกจากนี้ ปิยบุตรได้ระบุว่าช่วงหนึ่งด้วยว่า ที่ไม่สบายใจที่สุดคือ พอแต่ละพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่ละคน ผู้มีอำนาจไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงสื่อมวลชนบางส่วนบางฝ่ายที่ไม่ได้เห็นด้วย หรือแม้แต่ไอโอที่มีการไปปลุกระดม ปั่นกระแสต่างๆ ก็ไปทำในลักษณะที่ว่า พรรคก้าวไกลเขาแตะแต่เรื่อง 112 ไป Branding ตีตราให้พรรคเขากลายเป็นพรรคที่มีวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร ทำแบบนี้มีประโยชน์ตรงไหน ถ้ามัวแต่มาทำแบบนี้ พูดว่าพรรคก้าวไกลมีแต่เรื่อง 112 โดยจงใจไม่พูดถึงว่าเขาเป็นพรรคที่เตรียมทำเรื่องเศรษฐกิจ สวัสดิการสังคม ปฏิรูปกองทัพ กระจายอำนาจ ฯลฯ หากหมกมุ่นพูดแต่ว่าก้าวไกลเป็นพรรคที่ทำแต่เรื่อง 112 แล้วพอถึงเวลาเขาลงเลือกตั้ง แล้วได้คะแนนเสียงมา หากได้เท่าเดิมเท่ากับตอนอนาคตใหม่คือ 6 ล้าน 3 แสนเสียง หรือได้เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ได้ ส.ส. เข้าสภามา แล้วไป Branding ให้พรรคก้าวไกลเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นเช่นนี้ใครเดือดร้อน พรรคก้าวไกลและประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกลไม่น่าจะเดือดร้อน แล้วเกิดลงเลือกตั้งแล้วเขาได้คะแนนมาเยอะ ได้มากกว่าพรรคที่ประกาศตัวทุกวันว่าจงรักภักดี ประชาชนจะคิดกันอย่างไร อยากให้ลองพิจารณากันให้ดีๆ ว่าควรใช้วิธีการแบบนี้หรือไม่ จะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่