×

ทิม พิธา ตัวตน ความคิด และเส้นทางชีวิตของแคนดิเดตรัฐมนตรีเกษตรฯ พรรคอนาคตใหม่

18.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 MINS READ
  • ทิม พิธา ตัดสินใจขยับชีวิตครั้งสำคัญ จากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย สนใจการเมืองมาบ้างในวัยเด็ก ในที่สุด วันนี้เขาเดินหน้าสู่สนามการเมืองเต็มตัวด้วยการร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่
  • แม้การเข้าสู่สนามการเมืองจะทำให้เวลาชีวิตของทิม พิธามีน้อยลง แต่ทิมบอกว่า เขาใช้ชีวิต 40 ปี ครึ่งแรกของชีวิตมาคุ้มแล้ว
  • ทิมบอกว่า สิ่งที่เขาต้องการคือ การทำให้คนทั้งประเทศใช้ศักยภาพของตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี เป็นหุ้นส่วนประเทศไทยที่ไม่ได้หมายความเฉพาะแค่กรุงเทพฯ อย่างเดียว

เราเริ่มคุยกับ ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โดยให้เขานิยามตัวเองว่าเป็นใคร

 

แต่ทิมออกตัวว่า การนิยามตัวเองควรให้คนอื่นนิยามจะดีกว่า ซึ่งครูสมัยประถมที่กรุงเทพคริสเตียนฯ เขียนในสมุดพกว่า เขาเป็นคนที่ฟังแต่ยังไม่เชื่อ คือเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน ฟังเยอะแต่ก็ไม่ใช่ฟังแล้วไม่คิดอะไรเลย

 

ทิมบอกว่า ตัวตนที่เขาภูมิใจมากที่สุดก็คือ การเป็นพ่อของลูกสาวที่ตอนนี้อายุ 2 ขวบแล้ว

 

ทิมบอกอีกว่า ด้วยความที่เป็นนักเดินทาง ก็อยากเดินทางไปในฐานะครอบครัวบ้างเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมาไปในฐานะตัวคนเดียวตลอด

 

ส่วนเรื่องการฟอร์มความคิดตัวตนทางการเมือง เริ่มต้นจากช่วงชีวิตตอนไปแลกเปลี่ยน และตอนเรียนปริญญาโท ในโปรแกรมควบฮาร์วาร์ดและ MIT ล้วนมีความสำคัญต่อความคิดเขา  

 

 

ทิมเล่าย้อนไปว่า ที่จริงเขาอยากไปแลกเปลี่ยนที่ซีแอตเทิลมากกว่าชนบทที่มีแต่แกะในนิวซีแลนด์ แต่เมื่อพ่อให้เขาไปอยู่ที่นั่น เมืองที่มีโรงหนังเพียงโรงเดียว โทรทัศน์ฉายเพียง 3 ช่อง หนึ่งช่องฉายแต่การอภิปรายในสภา จึงกระตุ้นให้ทิมสนใจการเมือง และชอบอยู่ชนบทมากกว่าเมือง

 

นอกจากนั้นช่วงชีวิตหนึ่งทิมไปแลกเปลี่ยนที่เทกซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ในห้วงแข่งขันระหว่าง อัล กอร์ กับ จอร์ช บุช จวบจนช่วงที่ทิมไปเรียนปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกาอีกหน ก็เป็นช่วงที่โอบามามาแรง รูมเมตของทิม ต่อมาก็เป็นคนเขียนสปีชให้โอบามา เมตอีกคนที่เป็น CIA เก่า ก็กลายเป็นคนช่วยฮิลลารี เรียกได้ว่า เพื่อนฝูงรอบตัวต่างทำงานในแวดวงนี้ ทั้งหมดที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขา ต่างเป็นสิ่งที่ช่วยฟอร์มตัวตนของทิม

 

คงไม่น่าแปลกใจที่ทิมในวันนี้ จะก้าวมาสู่การเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของพรรคอนาคตใหม่

 

แม้การเข้าสู่สนามการเมืองจะทำให้เวลาชีวิตน้อยลง แต่ทิมบอกกับเราว่า “ใช้ชีวิต 40 ปี ครึ่งแรกของชีวิตมาคุ้มแล้ว”

 

 

ตอนเด็กๆ เคยฝันไหมว่าจะมาลงสนามการเมือง

เริ่มต้นตอนนั้นอายุ 12-13 ปี ตอนไปอยู่นิวซีแลนด์ แม่บ้านของผมเป็นเกษตรกรโคนม ในเมืองที่ไปอยู่ประชากรน้อยมาก ผมออกจากเมืองไทยไปอยู่นิวซีแลนด์ ในเมืองที่อยู่ 3 วันแรกไม่เจอคนเลย หันไปมีแต่แกะ ส่วนโทรทัศน์ ตอนนั้นมีอยู่ 3 ช่อง มีช่องอภิปรายในสภา อีกช่องก็เป็นรักบี้

 

แม่บ้านพูดกับผมอย่างนี้ การเมืองเป็นเรื่องสำคัญของทุกวัน ของทุกคน ตั้งแต่คุณตื่นขึ้นมา ค่าไฟคุณจ่ายเท่าไร ตอนกลับมาคุณพักผ่อนในสิ่งแวดล้อมแบบไหน ก็ฟังมาเรื่อยๆ

 

ด้วยความที่เขาเป็นเกษตรกร เขาก็โชว์ให้เห็นว่า การที่จะพัฒนาประเทศด้วยการเกษตรที่เพิ่มมูลค่าทำแบบไหน ด้วยการสอนผมว่า องุ่นมันกิโลกรัมละเท่านี้ แต่ที่กลายเป็นไวน์ กิโลกรัมละเท่านี้

 

หลังเลิกเรียนหนังสือ ผมก็ต้องขี่จักรยานไปเก็บสตรอว์เบอร์รีบ้าง ส่งนมบ้าง ไปโยนหนังสือพิมพ์ข้ามหัวเหมือนในหนังบ้าง ก็เป็นการปลูกฝัง เรียนรู้เกี่ยวกับสังคมการเมือง

 

จบกลับมา ม.6 คุณพ่อบอกว่า ให้กลับมาเมืองไทย กลับมาธรรมศาสตร์ เขาก็เล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับสนามฟุตบอลที่เราเล่นตรงนี้ เกิดอะไรกับลิฟต์ ผมก็เริ่มเข้าใจ

 

ต่อจากนั้นไปทำงานเอกชน เป็นบริษัทให้คำปรึกษา ชื่อ Boston Consulting Group  เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐวิสาหกิจค่อนข้างเยอะ เช่น ปตท. EGAT การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นโดนสึนามิพอดี ก็เข้าใจแล้วว่าเหรียญมี 2 ด้าน มีทั้งเอกชน ทั้งรัฐ ไม่ใช่ว่าเราจบการเงินจากธรรมศาสตร์ แล้วเราต้องเป็นวาณิชธนกร เข้าตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น เอกชนเก่ง แต่รัฐไม่เก่งไม่ได้ รัฐทำอะไรออกมา แต่เอกชนไม่เข้าใจก็ไม่ได้

 

แล้วก็เข้าสู่การเป็นข้าราชการที่กระทรวงพาณิชย์ ดูนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ โดยรองนายกฯ ที่ทำงานให้ตอนนั้นท่านรับผิดชอบทั้งเกษตร อุตสาหกรรม ก็อยู่กับท่านไปปีครึ่ง ก็ชัดเจนขึ้น รู้สึกสนุกกว่าเอกชน

 

จากนั้นไปเรียนต่อ ไปเรียนปริญญาโทในโปรแกรมที่เรียนทั้งบริหารรัฐ และ MBA ใน 3 ปี โดยเรียนการเมืองการปกครองที่ฮาร์วาร์ด แล้วเรียนบริหารธุรกิจที่ MIT ซึ่งจากที่เรียนการเงินบริหารธุรกิจมา ก็เริ่มได้ความรู้เรื่องรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง ซึ่งเพื่อนฝูงที่มาเรียนที่นี่ก็เริ่มเห็นชัด เพราะบางคนก็เป็น NGO มา บางคนจบรัฐศาสตร์มา การที่สถาบันที่มาเรียนถูกสร้างโดย จอห์น เอฟ. เคนเนดี นักเรียนอาจมี 400-500 กว่าคน ซึ่งจะเป็นต่างชาติ 60% คนอเมริกัน 40%

 

มั่นใจในตัวธนาธรแล้วว่า ต้องการมาเขย่าโครงสร้างจริงๆ ของประเทศ ไม่ใช่แตะโน่นนิดแตะนี่หน่อย

 

อยากถามว่าทำไมต้องอนาคตใหม่

ภายในประโยคเดียวเลยนะ ผมอยากเห็นประเทศไทย ไม่ใช่กรุงเทพฯ กรุงเทพฯไม่ใช่ประเทศไทย ผมคิดว่า ประเทศนี้ยังมีศักยภาพอยู่สูงมากพอสมควร และมีพอที่จะให้คนที่ขยัน คนที่ตั้งใจทำงาน เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานที่อยากจะทำงานเพื่อเลี้ยงครอบครัวเขา แต่ทุกอย่างยังถูกกระจุกแทนที่จะกระจายความเจริญออกไป

 

ผมก็พูดกับธนาธรแล้วว่า ผมตามตั้งแต่ออก THE STANDARD Daily จนกระทั่งมั่นใจในตัวธนาธรแล้วว่า ต้องการมาเขย่าโครงสร้างจริงๆ ของประเทศ ไม่ใช่แตะโน่นนิดแตะนี่หน่อย  เพื่อให้การกระจายทั้งทรัพย์สิน อำนาจรัฐ เพื่อให้มันวิน-วินด้วยกันทั้งคู่ กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ ซึ่งคนกรุงเทพฯ ก็ได้ประโยชน์นะ เรื่องของความแออัด เรื่องของรถติด จะได้หายไป

 

ลองนึกว่าญี่ปุ่นมีโตเกียว ฟุกุโอกะ ฮิโรชิมา ฝรั่งเศสมีลียง ปารีส สหรัฐอเมริกานี่ไม่ต้องพูดถึง ถ้าเราสามารถดึงศักยภาพแต่ละพื้นที่กระจายความเจริญไปได้ ก็ตรงกับที่ธนาธรพูด

 

และอีกเรื่องที่ผมเลือกอนาคตใหม่คือ วัฒนธรรมองค์กร คนที่ทำงานเกี่ยวกับสตาร์ทอัพมาแล้ว มันจะมีองค์กรที่ทั้งยุ่งเหยิง สับสน แต่มันมีความพร้อมที่จะชนกับปัญหา ทำงานด้วยความรวดเร็ว ผิดพลาดก็คือผิดพลาด แต่ก็พร้อมลุกขึ้นมาใหม่ ปัดฝุ่นออกแล้วก็แก้ปัญหาใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความถ่อมตัว สบายๆ

 

อีกอย่าง จากการเข้ามาถึงเดือนที่ 3 ที่ 4 คือการทำงานนโยบายเป็นทีม นโยบายเกษตรจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการคมนาคมที่ดี ถ้าลูกหลานเกษตรกรยังอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่

 

อย่างนโยบายเกษตร ผมอยากทำให้ทันสมัย ผมอยากพูดเรื่องการเอาสัญญาณเซนเซอร์มาช่วย ต้องใช้น้ำเท่าไร ปุ๋ยเท่าไร เพื่อที่จะลดต้นทุนชาวนาจาก 4,650 บาทต่อตัน ลดได้ถึง 30% ทันที

 

ความเป็นจริงคืออะไร เวลาพูดในห้องแอร์มันง่าย แต่เราพยายามไม่เป็นนักรบในห้องแอร์ คุณไปดูเกษตรกรที่เขาอายุเท่าคุณแม่ผม แล้วคุณอยากจะเอาอะไรอย่างนี้ไป มันยาก ดังนั้น การวางนโยบาย การทำนโยบายของอนาคตใหม่ ไม่มีนโยบายไหนที่จะสำเร็จได้ด้วยตัวของมันเอง

 

คนกรุงเทพฯ ต้องสามารถเดินทางกลับไปภูมิลำเนาท้องถิ่นของตัวเองด้วยอุตสาหกรรมรถไฟที่ทางพรรคนำเสนอ ต้องกระจายอำนาจการตัดสินใจลงไปที่ท้องถิ่นให้มีงานพอ พอที่คนอยากจะออกจากกรุงเทพฯ กลับบ้าน ผมว่าทุกคนมีเพื่อนที่มาจากต่างจังหวัดแล้วบ่นว่าอยากกลับบ้าน แต่ไม่รู้กลับไปแล้วจะทำอะไร ไปเป็นข้าราชการ หรือจะไปเปิดโฮสเทลเล็กๆ หรือมันไม่มีอะไรที่จะทำ

 

 

เรื่องของนโยบายการศึกษา เรื่องของอะไรที่จะเชื่อมโยงกัน ทำให้เห็นภาพแล้วว่า หมดเวลาของการทำงานกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งของใครของมัน เรื่องเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ต้องทำงานมากที่สุด

 

แต่ว่าสำหรับความคิดผม เรื่องเกษตร กระทรวงที่ต้องทำงานมากที่สุดคือ กระทรวงวัฒนธรรม ขายความมีเสน่ห์ พระแม่โพสพ คือการขายสตอรีของเมืองไทย และกระทรวงเกษตรฯ ต้องร่วมมืออย่างหนักกับกระทรวงอุตสาหกรรมแปรรูป กระทรวงเกษตรฯ ต้องประสานกับกระทรวงท่องเที่ยวฯ เพื่อให้เกิดเกษตรท่องเที่ยว การปลูกข้าว 3-4 เดือน ตามสภาพภูมิอากาศต่อตัน คุณได้กำไรประมาณ 800-900 บาท นี่แล้วแต่ ขึ้นกับว่าคุณต้องเช่าที่หรือเปล่า ถ้าเช่าก็ลดลงไปอีก ถ้าเป็นที่ดิน สปก. ไร่ละ 1,000 ที่มีโฉนด ไร่ละ 2,000 นี่คือภาคกลางกำแพงเพชร และยังมีเรื่องหนี้นอกระบบ แต่ว่าเวลาคุณไปซื้อปุ๋ย คุณต้องไปตึ๊งเขาไว้ เดือนละ 3-7% เท่ากับ 36-62% ต่อปี ไอ้ตรงนี้มันงอกเงยมหาศาล

 

แต่เกษตรท่องเที่ยว สมมติคนจีนหรือใครมาเรียนรู้โรงเรียนชาวนา หรือเน้นที่ลูกค้า กลุ่มบริษัทที่ต้องการจะทำ CSR หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งตรงนี้มันขึ้นอยู่กับมุมมองต่อเกษตรกรไทย สำหรับผม ผมมองว่า จุดแข็งไม่ใช่แค่ผลิตผล หรือ Product แต่คือ Know How คือความรู้ คือประเพณี วิถีที่เขาใช้มา ซึ่งในช่วงเวลานอกจาก 4 -5 เดือน ที่ชาวนาไม่ได้ทำนา แต่เขาสามารถนำองค์ความรู้มาใช้ ดังนั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่มีทางที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งสามารถทำได้ ที่จะให้เกษตรมีสตอรี มีเทคโนโลยี

 

ต้องมีกระทรวงทรัพยากรฯ ในเรื่องคืนที่ดินทำกินให้ชาวนาชาวไร่ ปัญหาที่ผมเจอมากที่สุด ไม่ว่าจะกำแพงเพชร เชียงใหม่ ภาคอีสาน สุรินทร์ ก็คือ ป่าทับที่ ที่ดินผืนเดียวกันมีกฎหมายคุมอยู่ 2 กระทรวง หนึ่งอันมาจากระทรวงทรัพยากรฯ อีกอันมาจากกระทรวงเกษตรฯ มันถึงเวลาแล้วที่ต้องสะสางเรื่องนี้แล้วคืนที่ดินให้ ปัญหาเหล่านี้มีมาตั้งแต่ปี 2518

 

ดังนั้น เราต้องเอาที่ดินกลับมา มีการจัดการเรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องเมล็ดพันธุ์ ทีนี้ต้องเรียงลำดับความสำคัญ เรื่องที่ดิน มีป่าทับที่ เรื่องหนี้สิน เขาไม่มีทรัพย์สินไปตึ๊งแบงก์ได้ เรื่องน้ำ ชลประทานต้องไปดูทั้งประเทศว่าเรามีพื้นที่เกษตรที่อยู่ภายใต้ระบบชลประทานเพียง 20% อันนี้ตามข้อมูลของรัฐ แต่ถ้าข้อมูลของสหประชาชาติ อาจจะมีแค่ 9% ด้วยซ้ำไป ก็ต้องมาดูว่ามีวิธีจะขุดคลองให้เชื่อมทั้งระบบได้ไหม

 

คือการคิดว่าคุณเป็นหุ้นส่วนประเทศไทยด้วยกัน การเป็นรัฐที่ดี คือการเป็นรัฐที่สามารถทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาแล้วใช้ความสามารถ ศักยภาพให้สังคมมันไปด้วยกันได้

 

ตอนที่คุยกับคุณธนาธร ได้บอกเขาเลยหรือเปล่าว่าอยากเป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ แล้วทำไมเขาต้องชูให้คุณมาเป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ

ผมไม่เคยคิดเรื่องของอำนาจ แต่การผันตัวมาครั้งนี้ อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงความคิดคนด้วย การทำให้กระดิ่งในใจของคนฟังมันสั่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งคนที่เดินทางมาเยอะ เห็นมาเยอะ สิ่งที่สงครามพรากไปไม่ได้คือความคิด

 

สิ่งที่สงครามพรากไปไม่ได้คือความเชื่อว่าอนาคตยังมีอยู่ สิ่งที่สงครามยังพรากไปไม่ได้คือความเชื่อว่าถ้าเราขยัน ตั้งใจ เราสามารถมีชีวิตของเราและเลี้ยงดูครอบครัวเราได้ ผมว่าเป็นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทยใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะคนรุ่นใหม่ที่เวลายังอยู่ฝั่งเรา

 

แล้วคุณคิดไปที่อนาคตข้างหน้า มันมีอะไรมากพอที่จะทำให้ไทยเจริญอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่โตอยู่ไม่กี่ที่ แล้วเน้นส่งออกกันเป็นหลัก เพราะเน้นส่งออกเป็นหลัก มันก็เกิดความไม่เข้มแข็ง เกิดความอ่อนไหวในเศรษฐกิจตลอดเวลา ถ้าไม่พึ่งส่งออกมาก ประเทศไทยมีฐานความเจริญ ผมคิดว่ายังเป็นไปได้ในสังคมไทย ทุกคนผาสุก

 

สำหรับเรื่องตำแหน่ง ผมคิดว่าโลกใบใหม่มันหมดยุคแล้วกับการมีฮีโร่ มีซูเปอร์แมนแบบเทคโนแครต เขียนนโยบายจากรัฐมนตรีก็ดี จากสภาพัฒน์ก็ดี แต่ให้ออกมาเป็นทีมของคนไทยด้วยกัน ออกนโยบายด้วยกัน และการทำงานระหว่างรัฐและเอกชน และรัฐกับรัฐด้วยกัน เพราะผมก็เคยอยู่กระทรวงมาก่อน ก็นึกภาพออกว่าการทำงานกระทรวงเป็นอย่างไร อยากเห็นทุกกระทรวงไม่ว่ามาจากพรรคไหน ช่วยกันคิด ประสานงาน

 

ผมยังคิดว่า ปัญหาของประเทศไทยที่มีอยู่มันถูกซ่อมได้ด้วยสิ่งดีๆ ที่ประเทศไทยมีหรือเปล่า ถ้ามันใช่ เราคิดไม่ออกเหรอ หรือเทคโนโลยียังมาไม่ทัน หรือมันยังไม่มี มันก็ไม่ใช่ แต่มันคือเรื่องการลงมือทำหรือเปล่า

 

ดังนั้น มันก็ต้องเริ่มที่ตัวเรา ว่าฉันมีศักยภาพพอ ฉันเชื่อแบบนั้น ฉันเป็นชาวนาชาวไร่ที่มีศักด์ศรี เชื่อว่าการทำงานของฉันมีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาพึ่งนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่มีความยั่งยืน

คือการคิดว่าคุณเป็นหุ้นส่วนประเทศไทยด้วยกัน การเป็นรัฐที่ดี คือการเป็นรัฐที่สามารถทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาแล้วใช้ความสามารถ ศักยภาพให้สังคมมันไปด้วยกันได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising