×

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา “อย่าทำให้คนรุ่นใหม่หมดหวังกับคนรุ่นเรา หมดหวังกับสังคมไทย”

18.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • เป็นอีกครั้งหนึ่งกับการแสดงปาฐกถาอันแหลมคมและน่าขบคิดของภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เขาชี้ว่า เราสามารถสร้างสังคมที่ทรงค่าให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีกว่าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ดังที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้กล่าวไว้ ไม่ใช่ให้ลูกหลานมาตั้งคำถามใหญ่จากเชิงตะกอนย้อนกลับไปยังครรภ์มารดา
  • หนุ่มสาวเยาวชนคือคนที่จะต้องทนอยู่กับประเทศใหม่ เป็นคนรุ่นที่จะต้องตอบว่าจะปฏิรูปประเทศไทยอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้า เป็นคนรุ่นที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุวัยชราที่กำลังก้มหน้าปฏิรูปประเทศอยู่เวลานี้ มีแต่ความรับผิดชอบต่อลูกหลานในอนาคตอย่างซื่อสัตย์เท่านั้นที่จะทำให้ท่านได้รับการยอมรับจากลูกหลาน

     บ่ายวันเสาร์ที่ 16 กันยายนที่ผ่านมาในงาน ‘ร้อยปีชาตกาล สืบสานปณิธานอาจารย์ป๋วย’ ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปรากฏชื่อ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks และนักเขียนเจ้าของผลงาน Future: ปัญญาอนาคต และ Managing Oneself: ปัญญางาน จัดการตน ซึ่งว่ากันว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และเร็วๆ นี้กับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่กำลังจะมาถึงในช่วงวันที่ 18-19 ตุลาคม แฟนานุแฟนเตรียมพบกับผลงานใหม่แกะกล่อง Past | ปัญญาอดีต ผลงานเล่มที่ 2 ในชุดไตรภาค Future, Past และ Present

     กลับมาที่การปรากฏกายของเขาในงานนี้ ไม่ใช่ความตื่นเต้นที่ได้เจอคนชื่อ ‘ภิญโญ’ ไม่ใช่ความตื่นเต้นเพียงแค่รู้ว่างานเขียนเล่มใหม่ของเขากำลังจะออกสู่บรรณพิภพนี้อีกครั้ง แต่เป็นความตื่นเต้นที่จะได้ฟังว่าเขาจะสื่อสารความคิดอ่านในแต่ละห้วงเวลาของสังคมว่าอย่างไรบ้าง และแน่นอน สังคมควรจะได้ขบคิดในสิ่งที่เขาแสดงทัศนะไปพร้อมๆ กันด้วย

     และในโอกาสที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี ชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อีกวาระหนึ่ง ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘จากเชิงตะกอนถึงครรภ์มารดา จากอดัม สมิธ ถึง พอล สมิธ: The Poetical Economy in a Club Friday Country 4.0’ ต่อไปนี้คือสาระและรายละเอียดที่ THE STANDARD ถอดความและเรียบเรียงมาให้ทุกท่านร่วมคิดอ่านในบรรยากาศสังคมเวลานี้

     ภิญโญเดินขึ้นสู่เวทีด้วยสูทสีขาวที่เราคุ้นตากับบุคลิกการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ ที่กระเป๋ากางเกงมีพู่เล็กๆ สอดออกมาให้เห็น เขาขยับแว่น ทดลองไมค์ ก่อนจะเริ่มทักทายผู้คนที่มาร่วมงาน ซึ่งผู้ร่วมรับฟังในวันนั้น นอกจากผู้เขียนแล้วยังมี ส. ศิวรักษ์, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จำนวนมาก

     หัวข้อ ‘จากเชิงตะกอนถึงครรภ์มารดา จากอดัม สมิธ ถึง พอล สมิธ: The Poetical Economy in a Club Friday Country 4.0’ คือสิ่งที่เขาเตรียมมาพูดในวันนี้ ก่อนจะออกตัวย้ำว่าสิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ ‘Poetical’ ไม่ใช่ ‘Political’ แต่อย่างใด

ความพยายามหาทางเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนยุค ทำให้เกิดทุกข์ทรมานทางการเมืองไทยมายาวนานกว่าทศวรรษ แต่การเมืองก็ยังหาทาง disrupt ตนเองไม่ได้

 

     ท่านผู้มีเกียรติ ผมจะเริ่มจากเรื่องที่ง่ายที่สุดก่อนคือเรื่อง 4.0 ทำไมต้อง 4.0?

     เมื่อคุณคิดเรื่องใหญ่ๆ ไม่ออก ก็ให้หาตัวเลขเข้าไปใส่ในเรื่องนั้น เช่น Business 2.0, Marketing 3.0 และในที่สุดก็จะกลายเป็น Thailand 4.0 จากนั้นคนก็จะไปเถียงกันว่า 4.0 คืออะไร และทำให้ลืมเรื่องใหญ่ๆ ที่เผชิญหน้าเราไปในที่สุด

     นี่เป็นวิธีคิดแบบ 1.0 ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยจีนโบราณ วิธีการเช่นนี้ยังใช้ได้ดีในไทยแลนด์ปัจจุบัน นี่เป็นที่มาขนาดสั้นของไทยแลนด์ 4.0

     เรื่องที่ง่ายรองลงมาคือเรื่อง ‘คลับฟรายเดย์’ ทุกวันศุกร์เรามีรายการสำคัญอยู่สองรายการ รายการแรกเรตติ้งดี คนติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง ส่วนรายการที่สองเรตติ้งไม่ดี แต่คนก็ยังติดอยู่กับท่านทั้งบ้านทั้งเมืองอีกเช่นกัน

     รายการแรกเป็นของป้าซุ่มทุ่มไม่อั้น ส่วนรายการที่สองนั้นเป็นของลุงซุ่มทุ่มไม่เลือก

     คนรักลุงก็บอกว่าลุงซุ่ม ทุ่มเทมาก ทำงานหนัก แบกรับภาระประเทศชาติไว้ทุกด้าน คนไม่รักลุงก็บอกว่าลุงซุ่มชอบทุ่มสิ่งของ ไม่ค่อยรู้กาลเทศะ ชอบวีนเหวี่ยง

     คนเตือนก็น้อยใจ วิจารณ์ไปก็ทำให้ลุงโกรธ แล้วลุงก็จะกลับไปซุ่มสักสองสามวัน ก่อนกลับมาทุ่มใหม่

     คนเบื่อรายการลุงก็เลยหันไปฟังรายการป้า และนี่คือที่มาที่ทำให้ประเทศเราสมควรได้รับฉายาว่า Club Friday Country 4.0 เพราะนโยบายส่วนใหญ่ล้วนมาจากรายการวันศุกร์ เช่นเดียวกับความสนุก การนินทา และหัวข้อสนทนาในออฟฟิศที่มักมาจากรายการป้า

     ลุงและป้าจึงเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน

     เมื่อเป็นเช่นนั้น คำถามใหญ่จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะอยู่อย่างนี้ไปอีกนานไหม

     แต่คำถามใหญ่คือเราจะอยู่อย่างนี้ไปได้อีกนานเท่าไร

การจะคิดใหม่ได้นั้น ผู้คนในประเทศต้องมีเสรีภาพในการคิด ไม่ต้องมีคนมาคอยบอกว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดให้คิด สิ่งใดไม่ให้คิด

 

   เมื่อหันมามองตัวเลขทางเศรษฐกิจภายใน การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นภายนอกก่อให้เกิดการ disrupt ไปทุกวงการ ตั้งแต่โทรคมนาคม สื่อสารมวลชน ธนาคาร รถยนต์ ไปจนถึงค้าปลีกและแฟชั่น เมื่อเป็นเช่นนั้น ราชการและการเมือง ถ้าไม่ disrupt ตนเอง ไม่นานก็คงถูก disrupt ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

     ในประวัติศาสตร์โลก ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางเทคโนโลยี ไม่มีครั้งไหนที่การเมืองจะไม่เปลี่ยน ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อโลกอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีหรือการเมืองไทยจะไม่เปลี่ยน

     ความพยายามหาทางเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนยุค ทำให้เกิดทุกข์ทรมานทางการเมืองไทยมายาวนานกว่าทศวรรษ แต่การเมืองก็ยังหาทาง disrupt ตนเองไม่ได้ เราจึงได้เห็นแต่การ corrupt ที่เพิ่มมากขึ้นในทุกวงการ อันเป็นเครื่องสะท้อนว่าเราสูญเสียความสามารถและภูมิปัญญาในการทำมาหากินปกติ เราสูญเสียศักยภาพในการคิดใหม่ ธุรกิจที่เคยทำมาเริ่มไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และถ้าสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในอัตราเร่ง เสียงเพลงแห่งงานเลี้ยงก็คงใกล้เลิกรา

     เราจึงเห็นผู้คนมากมายออกมาตอกย้ำว่า ธุรกิจต้องสร้างนวัตกรรม

     ธุรกิจต้องคิดและผลิตสิ่งใหม่ ส่วนใหญ่เป็นคำแนะนำจากสถาบันที่ไม่ได้ผลิตนวัตกรรมใดๆ มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา รวมทั้งสถาบันวิจัยพัฒนาที่กำลังจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยไปตามลำดับ

     ถ้าองค์กรเหล่านี้ไม่หลับตาข้างเดียวและเกาะเกี่ยวตัวเองกับผู้มีอำนาจ ข้อแนะนำอันชาญฉลาดให้ผู้อื่นปฏิบัติก็คงทำให้ตนเองจัดการกับอนาคตของตนเองได้ดีขึ้น

     ความขันขื่นในวันนี้ที่ไม่ได้ถูกเอ่ยอ้างบนเวทีสัมมนา สถานการณ์แวดล้อมในประเทศไทยไม่ได้ก่อให้เกิดนิเวศแห่งการคิดใหม่และการสร้างสรรค์

หากปณิธานอันแรงกล้าของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงคือการรักษาพระราชอาณาจักร วิธีรักษาพระราชอาณาจักรที่ดีที่สุดก็คือการปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

 

     การจะคิดใหม่ได้นั้น ผู้คนในประเทศต้องมีเสรีภาพในการคิด ไม่ต้องมีคนมาคอยบอกว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดให้คิด สิ่งใดไม่ให้คิด

     เพราะความผิดพลาดคือกระบวนการที่สร้างความชาญฉลาดและสร้างนวัตกรรมของมนุษย์ นี่คือความจำเป็นพื้นฐานที่สุดของนวัตกรรม ซึ่งคงไม่ต้องตอกย้ำว่าประเทศเรายังไม่มี

     นอกจากนี้ ประเทศจำเป็นต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่ใช้นิติธรรมเป็นเครื่องยุติ เมื่อเกิดข้อขัดแย้ง หรือเมื่อจะพิพากษาความผิดผู้ใด กระบวนการยุติธรรมต้องโปร่งใส บังคับใช้อย่างถ้วนหน้า

     คนจน คนรวย ชาวนา มหาเศรษฐี ล้วนต้องอยู่ภายใต้ความยุติธรรมนี้

     ถ้าไม่มีความยุติธรรมเช่นนี้ ถ้ามีแต่ความยุติธรรมเลือกข้าง ความคั่งค้าง คับแค้นในหัวใจ ย่อมไม่อาจอนุญาตให้ผู้ใดไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่สดใสสวยงามได้

     จุดกำเนิดของมหาวิทยาลัยในโลกนี้ จากมหาวิทยาลัยโบโลญญาในอิตาลี ถึงมหาวิทยาลัยปารีสในฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ ล้วนต้องประกอบด้วยสองปัจจัยนี้เป็นหลัก

     เราสร้างนวัตกรรมทางการค้า สร้างปัญญาในการผลิตไม่ได้ ถ้าไม่มีเสรีภาพทางความคิดและนิติรัฐ

     มหาวิทยาลัยต่อสู้กับรัฐมานับพันปีเพื่อให้ได้มีสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมนี้ อันเป็นที่มาของเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพของประชาชน และความยุติธรรมของชนทุกหมู่เหล่าที่เข้าถึงได้โดยเสมอภาค

     ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรมฉันใด ความยุติธรรมที่แบ่งฝ่ายก็คือความอยุติธรรมฉันนั้น เมื่อเราพรากปัจจัยหลักสองข้อออกไปแล้วเรียกร้องให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์นวัตกรรม ก็ไม่ต่างอะไรกับการเรียกร้องให้ผู้คนเดินไปบนน้ำ

     คนส่วนใหญ่คงจมน้ำตาย ที่รอดมาได้ก็คงน้ำท่วมปาก ท่วมปอด และจอดอยู่ที่ฝั่ง ไม่สามารถเดินไปสู่ความฝันได้

เพราะนี่คือหัวใจของยุค 4.0 สังคมไทยจึงควรโอบอุ้มคนหนุ่มสาว เปิดพื้นที่ให้เขาและเธอคิดสร้างสรรค์ ตั้งคำถาม กล้าท้าทาย มิใช่ทำให้พวกเขาเสี่ยงอันตรายเมื่อทำเช่นนั้น

 

     อดัม สมิธ บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นสร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่อย่าง The Wealth of Nations ขึ้นมาได้ด้วยเสรีภาพทางความคิดอันเกิดจากยุค Scottish Enlightenment ในสกอตแลนด์ อันเป็นยุคที่ความคิดใหม่ท้าทายผู้มีอำนาจเก่า และเมื่อความคิดใหม่ได้ธงนำ มันจึงกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งนิยามความมั่งคั่งใหม่ ไม่ใช่จากเงินทองในท้องพระคลัง

     แต่จากพลังการค้าและการผลิต พลังทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

     สปิริตเช่นนั้นก่อให้เกิดนักประดิษฐ์มากมาย แทบจะทั้งหมดไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่กำเนิดจากชาวนา ช่างฝีมือ ผู้ยากไร้

     จอร์จ สตีเฟนสัน ผู้เป็นบิดาแห่งการรถไฟนั้นไม่ได้เรียนหนังสือจนถึงอายุ 18 ปี

     ตระกูลพีลนั้นมีกำเนิดจากชาวนา สร้างตัวขึ้นมาจนเป็นนักอุตสาหกรรม ก่อนที่เซอร์โรเบิร์ต พีล จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรุ่นที่สาม

     ผู้ที่ถือกำเนิดจากความยากจนเหล่านี้คือผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ให้แก่โลก

     คนเหล่านี้อาศัยการลองผิดลองถูก และสปิริตของการเป็นผู้ประกอบการ

     ความกล้าได้กล้าเสีย อาศัยสังคมที่เปิดกว้างในอังกฤษ สังคมที่ผลิตประชาธิปไตย สร้างนวัตกรรมของโลกขึ้นมากมาย

     ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรไอน้ำ รถไฟ เหล็กกล้า เรือเดินสมุทร ซึ่งเดินทางมาจนสุดแผ่นดินสยาม และเรียกร้องให้สยามต้องปรับตัวตามในสมัยรัชกาลที่ 5

     หากปณิธานอันแรงกล้าของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงคือการรักษาพระราชอาณาจักร วิธีรักษาพระราชอาณาจักรที่ดีที่สุดก็คือการปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ปรับตัวให้เป็นสมัยใหม่ เดินทางไกลออกจากวิธีคิดโบราณ และสมาทานเทคโนโลยี

     นี่คือที่มาของการปฏิรูปครั้งใหญ่ในสยาม

     น่าเสียดายที่ในหลายกรณี มรดกที่พระพุทธเจ้าหลวงทิ้งไว้กลับถูกเลือกสนใจแต่รูปแบบภายนอก หาได้เข้าใจ เข้าถึงสปิริตแท้จริงที่อยู่ภายใน อันถือเป็นสปิริตแห่งความกล้าหาญ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ กล้าท้าทายกระทั่งความคิดเดิมของตนจนเกิดการพัฒนาขึ้นมาได้

     ดังมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในกรณีนี้

     ถ้าผู้คนสมัยใหม่ยังผูกตัวเองอยู่กับสปิริตเก่า เราคงต้องอยู่เหย้าเฝ้าอยุธยา ซึ่งเสียแก่พม่าครบ 250 ปีในปีนี้

     ที่เรายังมีกรุงเทพฯ ให้อยู่อาศัยก็ด้วยความกล้าหาญ การคิดใหม่ และมองการณ์ไกลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ยกทัพทหารกล้า 500 ตีฝ่าทัพพม่า

     ออกจากวัดพิชัย อยุธยา มาตั้งหลักอยู่ที่เมืองจันทบูร

     นี่คือสปิริตของสตาร์ทอัพ สปิริตของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และสมควรจะเป็นสปิริตของทหารกล้าที่กล้าจะคิดอะไรใหม่ให้ไปไกลกว่ากรอบความคิดเดิม

     มีแต่ความกล้าหาญ สร้างสรรค์ มองไกล และใจกว้างเท่านั้น ที่จะสร้างอนาคตต่อไปให้ประเทศชาติได้

     ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวไกลไม่ต่างจากอังกฤษ เรามีความคลาสสิกที่ต้องการการทวิสต์บางประการเหมือนกับที่พอล สมิธ ดีไซเนอร์ชื่อดังเคยกล่าวไว้

     พอล สมิธ นั้นไม่ได้เรียนมาทางด้านการออกแบบหรือแฟชั่น แต่ในสมัยหนุ่มนั้นเคยเป็นนักแข่งจักรยาน เมื่อประสบอุบัติเหตุ เขาหันมาศึกษางานด้านการออกแบบด้วยตนเองโดยมีภรรยาสนับสนุน

     ความกล้าหาญในการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ กล้าท้าทายขนบเก่า ทำให้พอล สมิธ กลายเป็นดีไซเนอร์อังกฤษที่ยืนยงอยู่คู่ยุคสมัยโดยใช้สปิริตของยุคแสวงหา ยุคบุปผาชน มาเปลี่ยนค่านิยมแฟชั่น

     ยุคบุปผาชนเป็นยุคของเยาวชนกบฏ กบฏต่อค่านิยมเก่า กบฏต่อสังคม

     กบฏต่อกฎเกณฑ์ กบฏต่อสงคราม พวกเขาถามหานิยามของการมีชีวิตใหม่

     บทกวี ดนตรี วรรณกรรม เกิดขึ้นมากมาย เป็นยุคที่สร้างความหลากหลาย  

     และสร้างนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่อย่างสตีฟ จ็อบส์ ขึ้นมาได้จากความเป็นกบฏ

     ถ้าจ็อบส์เรียนจบและสมยอมกับระบบ เราคงไม่มีไอโฟน ไอแพด แอปเปิ้ลวอตช์ และโลกคงไม่เปลี่ยนแปลงรุนแรงรวดเร็วเช่นนี้

     นี่คือผลงานของนักศึกษากบฏคนสำคัญของโลก นี่คือสปิริตของซิลิคอนวัลเลย์ที่นำมาสู่การปฏิวัติดิจิทัล หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่แท้จริง

 

 

     ถ้าประเทศไทยต้องการไปสู่ยุค 4.0 ที่ไม่ได้เป็นแค่คลับฟรายเดย์ ก็ไม่สามารถปฏิเสธสปิริตของยุคสมัยเช่นนี้ได้

     เพราะนี่คือหัวใจของยุค 4.0 สังคมไทยจึงควรโอบอุ้มคนหนุ่มสาว เปิดพื้นที่ให้เขาและเธอคิดสร้างสรรค์ ตั้งคำถาม กล้าท้าทาย มิใช่ทำให้พวกเขาเสี่ยงอันตรายเมื่อทำเช่นนั้น

     ถ้าสังคมไม่เปิดกว้าง อดทน และใช้ไอโฟนเป็นเครื่องมือด่า ประณามความเห็นต่าง เราคงต้องตอบคำถามใหญ่ว่าเราจะสร้างคนอย่างสตีฟ จ็อบส์ ได้อย่างไร

     แน่นอน เราไม่ได้อยู่ในจุดที่ได้ทุกอย่าง พอใจทุกเรื่อง เมื่อคิดถึงสังคมไทยในอนาคต เราอยู่บนจุดของเส้นทางเลี้ยวลดในประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งถ้าเราตัดสินใจผิดพลาด โอกาสจะไม่หวนกลับมาให้เราตัดสินใจใหม่

     เราอยู่ในจุดที่สามารถตัดสินใจว่าสังคมไทยที่ดีกว่าในอนาคตจะเป็นเช่นไร

     เราอยู่ในจุดที่สามารถพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศชาติได้

     เราอยู่ในจุดที่สามารถนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันและสร้างอนาคตใหม่ หาใช่นำอนาคตใหม่มาจ่ายราคาเพื่อรักษาอดีตอันรุ่งโรจน์เช่นที่โปรโมตในปัจจุบัน

     เราสามารถสร้างสังคมที่ทรงค่าให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีกว่าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ดังที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้กล่าวไว้

     ไม่ใช่ให้ลูกหลานมาตั้งคำถามใหญ่จากเชิงตะกอนย้อนกลับไปยังครรภ์มารดา

     จากความตายที่ไร้ค่า อนาคตอันว่างเปล่า ว่าเรากำเนิดสังคมเช่นนี้ขึ้นมาให้พวกเขาอยู่อาศัยได้อย่างไร

     หนุ่มสาวเยาวชนคือคนที่จะต้องทนอยู่กับประเทศใหม่ เป็นคนรุ่นที่จะต้องตอบว่าจะปฏิรูปประเทศไทยอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้า เป็นคนรุ่นที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุวัยชรา ผู้ที่กำลังก้มหน้าปฏิรูปประเทศอยู่เวลานี้

     มีแต่ความรับผิดชอบต่อลูกหลานในอนาคตอย่างซื่อสัตย์เท่านั้นที่จะทำให้ท่านได้รับการยอมรับจากลูกหลาน

     โปรดจงถามคนหนุ่มสาวว่าพวกเขาต้องการอะไร

     อย่าซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ท่านชอบเข้าบ้าน เพราะเสียเวลาที่ลูกหลานต้องขนออกมาขายเมื่อท่านจากไป นับประสาอะไรกับเรื่องปฏิรูปอันเปรียบเสมือนการสร้างบ้านใหม่

     ถ้าไม่ถามผู้อยู่แล้วไซร้ ท่านจะให้เขาอยู่ในบ้านนั้นได้อย่างไร

     อย่าทำให้คนรุ่นใหม่หมดหวังกับคนรุ่นเรา หมดหวังกับสังคมไทย  

     คนรุ่นเราเองก็คงไม่อาจหมดหวัง เราต้องรวมพลังสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการใหม่ สร้างเศรษฐกิจภายใต้ข้อจำกัดมากมายที่ทุกคนตระหนักอยู่

 

 

     เราต้องเรียนรู้ที่จะผสมผสานจินตนาการและความไม่สิ้นหวังเข้ากับพลังงานและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลก

     เราต้องไม่ติดกับกรอบเก่า ความคิดเดิม เราต้องเริ่มคิดตีฝ่าไปข้างหน้าดังสำนวนพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศที่กล่าวถึงพระเจ้าตากในวันเข้าตีเมืองจันท์ที่ว่า

     “ตรัสสั่งโยธาหาญทั้งปวงให้หุงอาหารรับพระราชทานแล้ว เหลือนั้นสั่งให้เทเสีย ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้ ตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้

     ให้ไปหาข้าวเช้าเอาในเมือง ถ้ามิได้ ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด”

     นี่คือบทกวีที่ล้ำค่า เป็นคาถาที่จะช่วยให้เราฟันฝ่าไปสู่อนาคต อนาคตที่เหลือทางรอดให้เราไม่มากนัก แต่เราจักต้องกล้าหาญ มุ่งมั่น แม้นในวันที่เลวร้ายที่สุด

     ขอคนรุ่นใหม่จงอย่าหยุดฝัน อนาคตสำคัญของประเทศชาติอยู่ในมือพวกท่าน

     ขอจงกล้าหาญ มุ่งมั่น และสร้างโลกใหม่ที่น่าอยู่ ขอจงก้าวเดินทางไปสู่อนาคต

 

     ขอบพระคุณทุกท่านครับ

     ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising