×

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เข้าใจหนึ่ง เข้าถึงล้าน “ประเทศไทยไปต่อไม่ได้ ถ้าไม่มีฉันทามติเรื่องอนาคต”

05.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • ภิญโญ มองว่า ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยตอนนี้ คือการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ คนที่มีความสุขอยู่กับอดีตกับคนที่หวังว่าจะมีความสุขกับอนาคต “เราจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องมีอนาคตร่วมกัน ไม่มีทางที่สังคมจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ถ้าไม่มีฉันทามติเรื่องอนาคต”
  • สิ่งที่เขาต้องการสื่อสารในหนังสือ One Million l ปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น คือ จงหา Magical Moment ของตัวเองให้เจอ ในบริบทและวัฒนธรรมที่ถูกต้องแล้วโอบกอดเอาไว้เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงตัวเอง
  • ความสุขในวัย 48 ปีของภิญโญคือ ได้ทำงานที่รัก มีความสงบศานติ ได้เดินทางเปิดโลก และใช้ชีวิตที่ไม่มีความทะเยอทะยาน

หากยึดคำกล่าว ‘หนังสือบนชั้นบอกนิสัยเจ้าของบ้านได้’ ผมคิดว่าชั้นหนังสือในห้องของภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บอกตัวตนเขาได้หลักๆ 3 ข้อ

 

หนึ่ง เขาเป็นคนรื่นรมย์ มีรสนิยมและสนใจศิลปะ หนังสือปกแข็งปกอ่อนเกี่ยวกับศิลปะ ดีไซน์ ประวัติศาสตร์ศิลป์ แต่งบ้าน ท่องเที่ยว อาหาร ชากาแฟ รวมถึงภาพวาด The Last Supper ที่เจ้าตัวชอบมองเวลาอยู่ในห้อง ทำให้เราเดาได้ว่าเจ้าของห้องชอบศิลปะ ละเอียดเรื่องการกิน และรักการท่องเที่ยว

 

สอง เขาเป็นคนทำงานเกี่ยวกับความคิด หนังสือทั้งปรัชญา การเมือง เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จิตวิเคราะห์ หรือหนังสือคมความคิดจากปราชญ์ทั่วโลก ไทย-เทศ ตะวันตก-ตะวันออก เก่าหลายร้อยปีหรือคนรุ่นใหม่ ทำให้หลายคนยกย่องเขาเป็นนักคิดนักเขียนแห่งยุคสมัย เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ยังชมว่าเขามีพรสวรรค์ในการจับประเด็นและมีศิลปะในการนำเสนอที่น่าสนใจยิ่ง

สาม เขาสนใจคำว่า ‘ปัญญา’ มากที่สุดคนหนึ่งในประเทศ ในมุมหนึ่งของชั้นหนังสือมีหนังสือของเขาเองซึ่งมีชื่อ ‘ปัญญา’ อยู่ในนั้นรวมแล้วถึง 8 เล่ม เล่มล่าสุดคือ ONE MILLION I ปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น

 

ผมพบ ‘พี่โญ’ หลายครั้ง คุยกันหลายรอบ ผมเลี้ยงกาแฟดำเขา เขาเลี้ยงอาหารใต้พร้อมไวน์อิตาเลียนคืน ผมมอบหนังสือปกแข็งให้ เขามอบชุดเครื่องชาคืน

 

เราเจอกันตั้งแต่ตอนเขาเป็นพิธีกรรายการ Hard Talk ‘ตอบโจทย์’ จนครั้งนี้ที่เขาอายุใกล้ 50 ปี ผมสังเกตเห็นได้ชัดว่า ชีวิตเขาสงบและนิ่งขึ้นมาก

 

 

น่าแปลกที่ทุกครั้งที่พบกัน บทสนทนาเรามักวนเวียนอยู่ไม่กี่เรื่อง วิชาชีพสื่อ ปัญญา ความสุข ชีวิต และสถานการณ์บ้านเมือง และที่น่าแปลกยิ่งกว่านั้นคือ หลายปีที่เราคุยกัน สถานการณ์บ้านเมืองไม่ได้มีอะไรดีขึ้นเลย ภิญโญพูดติดตลกว่า “ผมย้ายเข้าบ้านนี้วันที่บิ๊กบัง (พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน) รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผมรีบซื้อหนังสือพิมพ์เก็บไว้ มาวันนี้ไม่ต้องซื้อแล้ว เพราะรัฐประหารไม่ใช่เรื่องแปลก”

 

แม้พิธีกรรมของการสนทนาครั้งนี้จะคล้ายกับทุกๆ ครั้ง เขาจัดห้องสะอาด มีดอกไม้ ภาพเขียน และความสงบต้อนรับ เขาต้มน้ำร้อนรินชาอู่หลงและบอกให้ค่อยๆ คุย มีเวลาทั้งวันไม่รีบ เรานั่งลงที่โซฟาหนังตัวเดิม แต่…ผมคิดว่าการจิบชากับเขาครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน

 

ภิญโญบอกผมว่า ประเทศไทยกำลังเจอวิกฤตซ้อนทับกันหลายชั้นมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุด และเราไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วนอกจากการช่วยกันค้นหาสิ่งที่เรียกว่า ‘ปัญญา’

สถานการณ์ในบ้านเมืองเราตอนนี้ ไม่ได้ต้องการความรู้พื้นฐานทั่วไป ไม่ได้ต้องการแค่ท่องอาขยานธรรมดา แต่ต้องการปัญญาอีกชุดหนึ่งที่จะยกระดับทั้งสังคมไปข้างหน้าได้

 

ทำไมต้องซีรีส์ ‘ปัญญา’

ตอนที่พวกเราเจอวิกฤต มันจะบังคับให้เราคิดว่า จะไปยังไงกันต่อ เหมือนคิดไปข้างหน้า แต่บางทีมันไม่เห็นข้างหน้า ก็ต้องคิดกลับมาข้างหลัง เพื่อให้เห็นว่าเราผ่านอะไรกันมาบ้าง แล้วคนอื่นในประวัติศาสตร์โลกเขาผ่านอะไรกันมาบ้าง กระบวนการคิดไปข้างหน้า กลับมาข้างหลัง คิดไปข้างๆ คิดเปรียบเทียบ คิดวิเคราะห์ คิดมุมกว้าง คิดทางลึก คิดทางไกล คิดภาพใหญ่ ทั้งหมดมันเรียกว่าปัญญา มันคือกระบวนการทบทวนทางความคิด ซึ่งมันไม่ใช่ความคิดของผม ผมไม่ได้เป็นคนมีปัญญาแต่ผมพยายามจะหาว่าปัญญาในโลกนี้มีอะไรบ้าง ค่อยๆ ศึกษา เดินทาง ลองผิดลองถูกไปพร้อมกัน แล้วก็เอาประสบการณ์นี้มาแลกเปลี่ยน

 

ผมไม่ใช่ครู ผมเป็นนักเรียน แต่ก่อนเวลาเรียนเสร็จเราก็จะเก็บไว้คนเดียว ไม่บอกวิชาความรู้ใคร หวงแหนมาก เหมือนสูตรลับร้านอาหาร แต่ยุคใหม่มันไม่ทันแล้ว คนเรียนรู้เองได้เร็วมาก ผมจึงเปลี่ยนความคิดว่าถ้าเราสามารถเรียนรู้ชุดความคิดขึ้นมาได้ชุดหนึ่ง แล้วมันมีประโยชน์ต่อคนอ่าน ต่อเพื่อนฝูง ต่อมนุษย์ ก็ควรจะแชร์มันออกไป เพราะต่อให้เขาอ่าน เขาก็จะคิดไม่เหมือนเรา เขาจะคิดไปข้างหน้าเป็นสูตรของเขา แล้วก็แชร์ความรู้ออกไป ความรู้ก็จะเกิดการหมุนเวียนแลกเปลี่ยน ทำให้โลกทั้งโลก ประเทศทั้งประเทศ สังคมทั้งสังคม เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้  ไม่ใช่ด้วยความคิดของเรา แต่ด้วยความคิดที่แชร์กัน จุดประกายซึ่งกันและกัน

 

ครั้งแรกที่คุณรู้สึกว่าเราเจอวิกฤตใหญ่จนต้องเริ่มจุดไฟปัญญาซึ่งกันและกันคือช่วงไหน

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเจอวิกฤตซ้อนวิกฤตซ้อนวิกฤต

 

หนึ่ง วิกฤตทางด้านอาชีพการงานโดยเฉพาะวงการสื่อของเรา เทคโนโลยีกับความคิดใหม่เปลี่ยนวงการทั้งในต่างประเทศและในประเทศด้วยอัตราเร่งอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว สิ่งที่เราเคยทำมาแล้วถูกต้องตลอด 20-30 ปี ไม่ถูกต้องเหมือนเดิมอีกต่อไป  แล้วคุณจะทำยังไงกับภูมิทัศน์ของอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เคยมีเคยเป็นมันไม่ใช่

 

สอง ประเทศไทยเจอวิกฤตทางการเมือง ตีกันไปมา ทะเลาะกันไปมา พลิกข้างกันไป พลิกข้างกันมา ดิ้นรนกันอยู่ตรงนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี

 

สาม หากเจอวิกฤตแล้วเศรษฐกิจดี คนอาจจะยังไม่ค่อยรู้สึก เพราะประเทศยังไปต่อได้ ดูอย่างจีนของสีจิ้นผิงหรือรัสเซียของปูติน ไม่มีสองคนนี้ไม่รู้เสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นยังไง แต่ตอนนี้เราเจอกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ลองไปถามคนธรรมดาเดินถนนทั่วไป ตั้งแต่คนชั้นล่าง คนชั้นกลาง คนชั้นกลางระดับบน ไม่รวมคนรวยมาก ถามว่าเศรษฐกิจไหม ไม่มีใครตอบคุณหรอกว่าเศรษฐกิจดี ร้อยละร้อย อาจจะมีคนที่คิดว่าเศรษฐกิจดีไม่กี่คน ซึ่งส่วนใหญ่ให้สัมภาษณ์กันอยู่ แต่ลองคนพวกนี้เอาลิ่วล้อออกให้หมดแล้วไปเดินตลาดถามแม่ค้าทั้งซอยว่า “เศรษฐกิจดีไหม” (เลียนเสียงรองศาสตราจารย์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ให้นายกฯ ไปถามก็ได้ ไม่มีใครตอบว่าเศรษฐกิจดีหรอก

 

 

เหตุผลที่สังคมไทยไปต่อไม่ได้ เพราะเราไม่มีปัญญา

ใช่ ถ้าชุดความรู้เดิมแก้ปัญหาได้ คงไม่เรียกว่าวิกฤต วิกฤตคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคุณใช้ชุดความรู้ความคิดเดิมแก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งในภาษาจีนมีทั้งอันตรายและโอกาสอยู่ในนั้น

 

ในประวัติศาสตร์โลก เวลาเกิดวิกฤต คนจะถูกบีบให้คิดปัญญาใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างเข้มข้นแล้วมันจะคิดออก เมื่อคิดออก ก็จะพาตัวเองและสังคมไปข้างหน้า ซึ่งเราเรียกตรงนี้ว่าปัญญา ฉะนั้นสถานการณ์ในบ้านเมืองเราตอนนี้ ไม่ได้ต้องการความรู้พื้นฐานทั่วไป ไม่ได้ต้องการแค่ท่องอาขยานธรรมดา แต่ต้องการปัญญาอีกชุดหนึ่งที่จะยกระดับทั้งสังคมไปข้างหน้าได้

 

สามเล่มในซีรีส์ ‘ปัญญา’ มีสิ่งที่อยากเล่าต่างกันอย่างไร

คนคิดว่าปัญญาอดีตเริ่มก่อน แต่จริงๆ ปัญญาอนาคตเริ่มก่อน ผมไม่ได้เรียงตามเทนส์

 

คอนเซปต์ของปัญญาอนาคตคือ คุณต้องเริ่มจากตัวเองก่อน คนชอบคาดหวังว่าสังคมต้องเปลี่ยน ทำไมประเทศไม่ดีขึ้น รัฐบาลไม่ดีขึ้น การเมืองไม่ดีขึ้น คุณเปลี่ยนทั้งโลกไม่ไหว คุณเปลี่ยนทั้งสังคมไม่ไหว บางครั้งแค่จะเปลี่ยนคนในบริษัทยังเปลี่ยนไม่ไหว คู่สมรสยังเปลี่ยนไม่ได้ วิธีการง่ายที่สุดซึ่งยากที่สุดคือเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ฉะนั้นถ้าคุณไม่กลับมาโฟกัสที่ตัวเอง ก็ยากที่จะไปเปลี่ยนแปลงคนอื่น

 

เม่งจื๊อ นักปรัชญาชาวจีน กล่าวว่ามนุษย์ทุกคนล้วนกระหายที่จะเป็นครูของผู้อื่น อยากสอนเขาไปทั่ว อยากจะเปลี่ยนแปลงคนอื่นไปหมด แต่ยากที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงตัวเอง ฉะนั้น FUTURE จึงย้อนกลับมาจุดที่ยากที่สุดแต่ว่าง่ายที่สุด หรือว่าง่ายที่สุดแต่ว่ายากที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงตัวเอง

 

มองเข้าไปในตัวเองว่าจุดแข็งของคุณคืออะไร สถานการณ์รอบข้างคุณคืออะไร แล้วคุณจะใช้จุดแข็งในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่ายังไง

 

เวลาเครื่องบินจะตก กัปตันจะประกาศให้คุณใส่หน้ากากออกซิเจนก่อน กระทั่งลูกก็ต้องอันดับสอง เพื่อที่คุณจะได้ช่วยคนอื่นได้ ถ้าคุณทำตัวเป็นทัวร์จีนมัวไปใส่ให้ญาติๆ ก่อน ตัวคุณจะตายก่อน แล้วคนอื่นก็ตายกันหมด

 

แล้วปัญญาอดีตล่ะ

เกิดจากคนมากมายบ่นว่า ผมก็อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองแต่ผมไม่มีปัจจัยที่ช่วย ไม่มีการศึกษาที่ดีพอ ไม่มีเงินทุน ไม่มีเครือข่าย ติดนู่นติดนี่เต็มไปหมด ทุกคนเต็มไปด้วยข้ออ้าง ผมก็นั่งดู นั่งวิเคราะห์ สนทนากับคนรุ่นคุณ พูดคุยกับคนหลายๆ รุ่น บริษัทขนาดใหญ่ บริษัทขนาดกลาง บริษัทขนาดเล็ก เจอมาหมดแล้วก็ถามว่าทำไมมันเปลี่ยนยากเหลือเกิน มันต้องมีปัจจัยบางอย่างที่หายไป

 

ปัจจัยนั้นคือความกล้าหาญ

 

การออกจากพื้นที่ปลอดภัยมันยาก บางคนอยู่มา 60-80 ปีต้องเปลี่ยนตัวเองจะทำยังไง อยู่สบายมาทั้งชีวิต อยู่ในห้องแบบนี้ มีแอร์เย็นๆ แสงสวยๆ มันไม่อยากออกไปเจอรถติดหรือปัญหาทั้งปวง การจะเอาตัวเองออกไปจากคอมฟอร์ตโซนได้ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างยิ่งยวด ผมจึงเริ่มต้นในหนังสือ PAST ปัญญาอดีต ด้วยพระเจ้าตากซึ่งมีทหารแค่ 500 คน ฟันฝ่าทหารพม่าออกจากวัดพิชัยสงครามที่อยุธยาไปตั้งหลักที่เมืองจันท์ กอบกู้เอกราชสร้างประเทศขึ้นมาได้ด้วยอายุ 30 ต้นๆ คนที่สร้างสยามขึ้นมาใหม่ในสมัยธนบุรีอายุเพียง 30 ต้นๆ แล้วถ้าคุณอายุ 40 คุณมีข้ออ้างอะไร คุณขาดความกล้าหาญที่จะฟันฝ่าไปข้างหน้า

สังคมไทยยังแบ่งเป็น คนที่มีความสุขอยู่กับอดีตกับคนที่หวังว่าจะมีความสุขกับอนาคต บางคนก็บอกว่าจะไปสู่อนาคตใหม่ คนที่เป็นอดีตก็ถามว่าแล้วจะเอาอดีตไว้ไหน คนที่อยากจะไปอนาคตก็บอกว่าจะอยู่กับอดีตแล้วไม่ไปอนาคตเลยเหรอ สังคมไทยยังหาจุดเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับอนาคตไม่ได้

 

ทำไมต้องย้อนไปอดีต คนในอดีตมีความกล้าหาญกว่าปัจจุบันหรือ

แค่จะเปรียบเทียบให้ดูว่าในปัจจุบันคุณมีความพร้อมกว่าสมัยอยุธยาตั้งเยอะ ความเสี่ยงก็ต่ำกว่า ไม่มีใครมาฆ่าคุณ ไม่ได้มีกองทัพพม่าล้อมรอบอยู่ ไม่มีบ้านเมืองที่แตกสาแหรกขาด คุณมีแค่ความเสี่ยงทางธุรกิจ ความผิดหวังเล็กน้อย คุณยังไม่ทนเลย สมัยก่อนเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว คุณมีเงินทุน มีเครือข่าย มีการศึกษา พ่อแม่คุณสะสมความมั่งคั่งไว้พอสมควร ทำไมถึงไม่กล้า

 

สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมอังกฤษ พวกที่คิดเครื่องกลจักรไอน้ำ รถไฟ นวัตกรรมสมัยใหม่เป็นคนที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัย เป็นคนที่มีโอกาสน้อย ทุนน้อย ว่ากันถึงที่สุดคือเป็นคนจน แต่คนเหล่านี้ต่างหากที่สร้างเนื้อสร้างตัวและสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่ แล้วเปลี่ยนประเทศอังกฤษอย่างไม่หวนกลับ เปลี่ยนยุโรปอย่างไม่หวนกลับ จนโลกก้าวไปข้างหน้า นี่คือจิตวิญญาณที่บอกไว้ในหนังสือ PAST

 

เวลาเซ็นหนังสือ FUTURE ผมเขียนว่า “ขอให้เห็นอนาคตใหม่” ใน PAST ผมเซ็นว่า “ขอให้กล้าหาญและสร้างสรรค์”

 

 

 

แล้วเล่ม ONE MILLION เซ็นว่าอะไร

“ขอให้พบจุดเชื่อมต่อจักรวาลภายนอก & ภายใน และเดินทางไปสู่จุดมหัศจรรย์ใจ”

 

เล่มนี้เกิดจากคนมาบอกว่าอยากจะกล้านะ วิเคราะห์ตัวเองก็แล้ว แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ อยู่ตรงไหน ผมพบว่ามนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนด้วยการอ่านหนังสือ แต่มนุษย์จะมีบางจุดที่มีบางสิ่งบางอย่าง บางโมเมนต์ผ่านเข้ามาในชีวิตแล้วมันสั่นสะเทือนใจ จุดแบบนี้ที่ทำให้เราอยากเปลี่ยนแปลงอนาคต เพียงแต่ว่าการศึกษาโลกสมัยใหม่ ออฟฟิศ ความเคยชิน รถติด การจราจร สเตตัสเฟซบุ๊ก คอมเมนต์เพื่อน กดแชร์ กดไลก์ ซื้อของออนไลน์ ด่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก #DeleteFacebook กระบวนการเหล่านี้ทำให้เราสูญเสียญาณหรือสัมผัสที่เราจะจับ Magical Moment ของเราไป บางทีมันผ่านมาแต่ยังไม่รู้เลยว่าโมเมนต์นี้เกิดขึ้นแล้ว

 

คนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ได้จะมี Magical Moment เหล่านี้ เข้าใจโมเมนต์ว่า นี่คือปริศนาธรรมที่พระเจ้าหรือสิ่งที่จักรวาลกำลังจะบอกกับเราว่า มันคือจุดเปลี่ยนที่กำลังจะเกิดขึ้นในชีวิตคุณ คุณต้องหยิบฉวยจุดเปลี่ยนนี้ไว้ หยิบฉวยโอกาสนี้ไว้ เพื่อใช้เป็นพลังในการเปลี่ยนชีวิต

 

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้คิดด้วยเหตุผลอย่างเดียว บางที่คุณรอโมเมนต์ รอจังหวะ หนังบางเรื่อง ประโยคบางประโยค คำบางคำ คนบางคน เรื่องราวบางอย่าง การเดินทางบางที่ สถานที่บางประเทศ อุณหภูมิสูงต่ำร้อนหนาว มันมีทั้งโมเมนต์นั้นที่มันจะเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว จงหยิบฉวยโมเมนต์เหล่านั้นไว้ แล้วถ้ามันอยู่ในบริบท (Context) ที่ถูกต้อง ในวัฒนธรรม (Culture) ที่ถูกต้อง ภาษาไทยเรียกว่าอยู่ถูกที่และถูกทาง มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลังมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีที่มันรองรับคุณขนาดนี้ คุณเป็นแค่ One แต่คุณสร้าง Million ได้ นี่คือคอนเซปต์ของหนังสือเล่มใหม่

 

เราจะเจอ Magical Moment นั้นได้อย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือบริบทและวัฒนธรรมที่เราต้องฉกฉวยโมเมนต์ดังกล่าว

ในหนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่างมากมาย ฉากเริ่มที่เวียนนาประมาณปี 1900 ซึ่งเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในยุโรป หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมเสร็จ นักคิดในยุโรปเชื่อว่า โลกจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยการใช้เหตุผลและวิทยาศาสตร์ แต่คำถามคือ เมื่อมนุษย์คิดว่าการใช้เหตุผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่ทำไมยังมีเรื่องงี่เง่าเกิดขึ้นมากมายเต็มไปหมด แสดงว่ามุนษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้ใช้เหตุผลอย่างเดียว

 

เวียนนาปี 1900 กำลังจะค้นพบสิ่งที่เรียกว่า จิตใต้สำนึก หรือ จิตไร้สำนึก ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ กำลังจะเกิดขึ้น ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิทยาศาสตร์เรื่องเกี่ยวกับระบบประสาท ระบบสมอง จิตวิเคราะห์ ศิลปะ ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ การเมืองสมัยใหม่ และพลิกโฉมมนุษย์ในความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเอง

 

แต่ระหว่างที่การเปลี่ยนแปลงก่อตัวขึ้น ยุโรปกำลังจะเดินทางเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 มหาราชกำลังสั่งสมอำนาจกันเต็มไปหมด คล้ายๆ สถานการณ์การเมืองตอนนี้ ซึ่งถ้าโมเมนต์ที่ถูกต้องมันเกิดขึ้นแล้วถูกนำไปวางด้วยความคิดสร้างสรรค์ในบริบทที่ถูกต้องมันจะพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดี แต่ถ้าไปวางผิดที่แล้วใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปในทางที่ทำลาย มันจะนำไปสู่ความหายนะ ซึ่งหนังสือเล่มนี้พูดถึงทั้งการนำไปวางในทางที่ถูกต้อง และทางที่ผิด

 

ฉะนั้นถ้าคุณมีความคิดสร้างสรรค์มี Magical Moment ที่ถูกต้อง คุณใส่ไปในจุดที่ถูกต้อง แล้วในทิศทางที่ถูกต้อง มันจะได้ผลยิ่งใหญ่มหาศาล แต่ถ้าคุณใส่ไปในทิศทางที่ผิด ในบริบทที่ผิด แล้วคุณไม่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ คุณใช้ความคิดในการทำลายล้าง มันจะหายนะมาก

 

ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ ทั้งของตัวเรา ประเทศเรา และของโลกเราเอง ปัญญาที่เราสร้างขึ้นขณะนี้ กระทั่งไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ มันจะพาโลกไปสู่จุดไหน ไปสู่จุดที่สร้างสรรค์สูงสุดแล้วทำให้มนุษย์มีสันติและมีความสุขโดยถ้วนหน้า หรือนำมนุษย์ไปสู่วิกฤตและสงครามอีกครั้ง

สังคมไทยจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องมีอนาคตที่เราจะไปร่วมกัน ไม่ใช่อนาคตใหม่ที่ต่างคนต่างแยกไปอีกทางหนึ่ง เพราะมันจะกลายเป็นสองอนาคต ไม่มีทางที่สังคมจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ถ้าไม่มีฉันทามติเรื่องอนาคต

 

ถ้าเอาแนวคิดของหนังสือเล่มนี้มาเป็นกรอบในการมองสังคมไทย คุณคิดว่าประเทศเราติดหล่มอะไรอยู่ และเราจะเจอ Magical Moment เพื่อก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร

สังคมไทยแบ่งเป็นอย่างน้อย 2 ขั้ว แต่ในสองขั้วใหญ่ก็ยังมีขั้วย่อย เหลืองยังมีเหลืองตีกับเหลือง แดงยังมีแดงตีกับแดง เพราะแดงไม่มากพอ ต่างฝ่ายต่างตีกันเองมันกว่าตีกับศัตรู

 

สังคมไทยยังแบ่งเป็น คนที่มีความสุขอยู่กับอดีตกับคนที่หวังว่าจะมีความสุขกับอนาคต บางคนก็บอกว่าจะไปสู่อนาคตใหม่ คนที่เป็นอดีตก็ถามว่าแล้วจะเอาอดีตไว้ไหน คนที่อยากจะไปอนาคตก็บอกว่าจะอยู่กับอดีตแล้วไม่ไปอนาคตเลยเหรอ สังคมไทยยังหาจุดเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับอนาคตไม่ได้ ไม่สามารถใช้ต้นทุนที่มีในอดีตเพื่อสร้างอนาคต และไม่สามารถใช้วิสัยทัศน์แห่งอนาคตเพื่อโอบกอดอดีตแล้วไปพร้อมกันได้ นี่คือปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมว่าเราจะผสมอดีตปัจจุบันและอนาคตได้อย่างไร

 

เมื่อไม่สามารถผสมอดีตกับอนาคตได้ ปัจจุบันจึงกระอักกระอ่วน เพราะอดีตกับอนาคตมันปะทะกัน เราไม่สามารถผลิตคำตอบว่าอนาคตที่เป็นส่วนผสมของปัจจุบันและอดีตที่ดีกว่าของสังคมไทยคืออะไร เมื่อคิดเรื่องนี้ไม่ออก เรื่องอื่นตีกันหมดแน่นอน เพราะมันไม่มีจุดร่วมทางความคิดว่าคุณจะไปยังไง

 

คุณจะไปสู่อนาคตใหม่ทั้งหมด แต่ว่าถ้าคุณตอบคำถามของคนที่มีความสุขอยู่กับอดีตไม่ได้ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ อดีตจะจัดการคุณ แต่ถ้าคนอดีตยังมีความสุขกับการดูละครย้อนยุคแล้วจะโอบกอดอดีตอยู่ตลอดเวลา ความจริงของอนาคตจะจัดการคุณ

 

ตอนนี้ทุกคนอยู่ด้วยความเกลียดชังและความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน มันไม่มีความรู้สึกว่า มีพื้นที่ที่เป็นกลางที่จะโอบรับทุกฝ่าย แล้วค่อยๆ หาฉันทามติสร้างอนาคตที่แท้ของสังคม ทำยังไงให้คนรุ่นใหม่อยู่กับคนรุ่นเก่าได้ คนที่ก้าวหน้าอยู่กับคนที่เป็นอนุรักษ์นิยมได้ มีพื้นที่ปลอดภัย ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองหรือว่าชนะในการเลือกตั้ง อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าอยู่ได้ปลอดภัยในรัฐบาลของคุณ ตอนนี้ทุกคนรู้สึกว่าเราต้องกุมอำนาจรัฐ เราต้องเป็นรัฐบาลเพื่อเราจะได้ปลอดภัยแล้วสร้างอนาคตให้ตัวเอง แต่อีกฝ่ายก็ต้องล้มคุณอยู่ดี มันจะไปกลับไปกลับอยู่อย่างนี้

 

วันนี้สังคมไทยจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องมีอนาคตที่เราจะไปร่วมกัน แล้วทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทุกฝ่ายมองไปแล้วเห็นความรุ่งเรืองก้าวหน้า นี่คืออนาคตใหม่ที่แท้ ไม่ใช่อนาคตใหม่ที่ต่างคนต่างแยกไปอีกทางหนึ่ง เพราะมันจะกลายเป็นสองอนาคต ไม่มีทางที่สังคมจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ถ้าไม่มีฉันทามติเรื่องอนาคต

 

แต่ปัญหานี้ก็ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทย

เกิดขึ้นทุกที่ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงรุนแรง มันเป็นผลของประวัติศาสตร์ที่มีการปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย เป็นผลของเศรษฐกิจ การเมือง ความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรม พูดเป็นนามธรรมไปหมด นี่คือผลผลิตของสิ่งที่เราสร้างกันไว้ ระบบการเมืองปัจจุบันไม่ได้เป็นคำตอบ เราก็พยายามที่จะหาคำตอบใหม่ บางส่วนกลับไปหาผู้นำที่ทรงอำนาจที่สุด อย่างน้อยมั่นคง แต่คนบางส่วนก็ไม่ได้แฮปปี้ ประชาธิปไตยจึงไม่ได้ให้คำตอบ เผด็จการก็เช่นกัน

 

คนที่เชียร์ฝั่งเผด็จการก็จะบอกว่าเห็นไหมประชาธิปไตยมีปัญหา คนที่ฝั่งประชาธิปไตยก็บอก แล้วคุณคิดว่าเผด็จการไม่มีปัญหาเหรอ มันมีปัญหาทั้งสองฝั่ง แต่ยังหาเส้นทางสายที่สามไม่ได้ ถามว่าเราผลิตทางใหม่ได้ไหม ได้ แต่ใช้เวลาเป็นสิบยี่สิบปีหรือกระทั่งเป็นร้อยปี นี่คือยุคสมัยที่บ้านเมืองผันผวน ยังไม่มีฉันทามติ แม้กระทั่งในระดับประเทศหรือระดับโลก ผู้นำที่เก่งหน่อยก็ประคองประเทศได้ดี แต่คนที่ไม่เก่งบ้านเมืองมันก็จะผันผวนมาก

 

 

ช่วงหลังเราเริ่มเห็นคนใหม่ๆ อาสาทำหน้าที่เพื่อประเทศ โดยเฉพาะการเมืองที่มีหลายตัวละครหน้าใหม่ คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

ถ้าพูดถึงพรรคอนาคตใหม่ เรายังไม่สามารถวิจารณ์ได้ เขาเพิ่งเปิดตัว แต่อย่างน้อยเขามีความกล้าหาญ คนลงเล่นการเมืองวันนี้มีธุรกิจหมื่นล้าน ไม่มีใครโง่ การที่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงแล้วยังกล้ากระโดดออกมาเล่นการเมืองอย่างน้อยคุณต้องนับถือเขาในเรื่องความกล้าหาญ ต่อไปก็ต้องไปดูนโยบาย ถ้าดีถูกใจคนรุ่นใหม่อย่างน้อยเขามีความคิดสร้างสรรค์

 

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปก็ต้องกลับมาดูว่า แล้ว Culture กับ Context ประเทศคุณเป็นยังไง ถ้าคุณใช้ความกล้าหาญและความสร้างสรรค์แต่ถ้าคุณวางมาใน Culture กับ Context ที่ตอบรับคุณก็ไปสู่จุดที่เปลี่ยนแปลงทางที่ดีได้ แต่ถ้าไม่ได้ตอบรับ มันจะเกิดแรงเสียดทานอย่างรุนแรง มันจึงต้องการความละมุนละม่อมหรือความกลมกล่อมที่จะทำให้อนาคตใหม่อยู่กับอดีตเก่าได้ ต้องพิจารณาด้านที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ด้านที่เป็น Context และ Culture ผมคิดว่านี่คือหัวใจสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่เรื่องอำนาจทางการเมืองอย่างเดียว มันมีมิติทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งมาก

 

อยากให้ช่วยขยายความอำนาจของมิติทางวัฒนธรรม

ผมเล่าง่ายที่สุด เวียนนาปี 1900 ปัญญาชนสนทนากันที่ไหนรู้ไหม

 

ร้านกาแฟ

ใช่ ในร้านกาแฟ คาเฟ่ นักคิดที่เปลี่ยนแปลงโลกทั้งหมด ปฏิวัติรัสเซียเอย ทรอตสกีเอย ฮิตเลอร์เอย นั่งคิดกันตามคาเฟ่ ปัญญาชนนั่งจิบกาแฟ สนทนากัน และปัญญาก็หลั่งไหล ไปคาเฟ่บางร้านยังมีปากกาดินสอเผื่อคิดออกให้เขียนเลย คุยและนั่งนานเท่าไรก็ได้

 

ร้านกาแฟในอดีตปี 1900 ธุรกิจดีมากเพราะกาแฟมันไม่ได้อร่อย ต้นทุนถูก ไม่มีดริป ชงยังไงยังไม่รู้เลย แต่ว่ามันไม่ได้กินกาแฟ มันกินบรรยากาศ กินคัลเจอร์ของการเปิดเสรีทางความคิดให้คนได้ใช้เวลาถกกัน คัลเจอร์อย่างนี้มันช่วยหล่อหลอมความคิดขึ้นมา คุณคิดว่าคุณตื่นตี 5 ขับรถ 2 ชั่วโมงไปทำงาน ฟังพอดแคสต์ในรถติดๆ และเยี่ยวก็ไม่ออก แล้วก็นั่ง 2 ชั่วโมงกลับบ้าน เยี่ยวไม่ออกเหมือนเดิม นั่งฟังพอดแคสต์ คุณจะเกิดปัญญาในขณะนั้นได้หรอ คุณไม่เจอใครเลย คุณลงรูปอาหารการกิน คุณคอมเมนต์กันนิดหน่อย คุณเคยเกิดปัญญาจากสเตตัสในเฟซบุ๊กไหม มีเพื่อนอยู่ 50 คน อันเฟรนด์ไป 51 คน เป็นมาตรการเดียวที่จะจัดการความโกรธได้คือกูอันเฟรนด์มึง พอโพสต์เสร็จก็มาดูว่าคนกดไลก์เท่าไร มันไม่เกิดปัญญาหรอก หดหู่ ไม่นำไปสู่ความสร้างสรรค์

คุณคิดว่าคุณตื่นตี 5 ขับรถ 2 ชั่วโมงไปทำงาน ฟังพอดแคสต์ในรถติดๆ และเยี่ยวก็ไม่ออก แล้วก็นั่ง 2 ชั่วโมงกลับบ้าน เยี่ยวไม่ออกเหมือนเดิม นั่งฟังพอดแคสต์ คุณจะเกิดปัญญาในขณะนั้นได้หรอ ปัญญาจะเกิดขึ้นเมื่อคุณมีสมาธิ

คัลเจอร์ที่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทยคือ บรรยากาศที่ได้นั่งจิบกาแฟพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน

ใช่ ผมถึงยินดีที่จะนั่งคุยกันแบบนี้ มากกว่าที่เราจะทำ Facebook Live คุณต้องมีเวลาอยู่กับผมอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เตรียมของนั่งคุย เดี๋ยวจะเลี้ยงน้ำชา เราก็นั่งคุยกันไป อย่างน้อยวันนี้ก็ได้แลกเปลี่ยน ถ้ามีโอกาสเราควรจะได้นั่งคุยกันแบบนี้เยอะๆ คนอาจจะอ่านบทสัมภาษณ์นี้ไม่ถึง 5,000 คน แต่มันมีประโยชน์ อาจจะเป็นบทสนทนาที่เปลี่ยนแปลงชีวิตบางคน ถามว่าคุ้มไหม เรานั่งคุยกัน 3 ชั่วโมงแล้วเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้สัก 5 คน ผมว่าคุ้มแล้ว

 

คุณเชื่อในการพูดคุยกัน

ผมเชื่อในการสนทนา ผมส่งพลังบวก ผมส่งปราณทางที่ดีให้กับทุกคนและส่งกำลังใจ ผมไม่ได้พูดด้วยภาษา แต่พูดด้วยพลังแล้วส่งผ่านทุกคน เขียนหนังสือผมก็ทำวิธีเดียวกัน

จริงๆ ชีวิตมนุษย์มันง่าย เมื่อเราใช้ชีวิตมาถึงจุดจุดหนึ่ง เราอยู่ในเงื่อนไขแบบไหนแล้วเรามีความสุข เราควรจะรักษาเงื่อนไขเหล่านั้นไว้

 

คุณเคยเกิด Magical Moment บ้างไหม

มากมาย บางเรื่องคิดออกตอนที่เรามีสมาธินิ่งพอในห้องอาหารเช้า ในร้านกาแฟ ผมถึงพยายามอยากจะสงวน Magical Moment ไว้ให้กับทุกคน เรารณรงค์แคมเปญเลิกทำร้าย Moment คนอื่นในร้านกาแฟกันเถอะ หรือเลิกทำร้ายคนอื่นในที่สาธารณะเถอะ ทุกวันนี้เราถูกทำร้ายด้วยเรื่องแบบนี้เยอะ ควรให้เขามีสมาธิที่นิ่งเงียบ

 

ปัญญาจะเกิดขึ้นเมื่อคุณมีสมาธิ โมเมนต์ไหนก็ได้ คุณเดินทางท่องเที่ยว อ่านหนังสือ ช่องว่างระหว่างบรรทัดที่มันเป็นความเงียบจะทำให้คุณคิดได้ บางเรื่องอาจไม่ได้คิดจากการอ่านหนังสือเล่มนั้นก็ได้ ซึ่งในเฟซบุ๊กไม่มีโมเมนต์แบบนี้ มนุษย์ต้องการสเปซในการคิด ถ้ามีสเปซคุณจะคิดออก แต่เราเหนื่อยเกินไป เราวุ่นเกินไป คุณเอาทุกอย่างเติมหมด มันไม่เหลือช่องว่างในการคิด

 

ขอคุยเรื่องชีวิตคุณบ้าง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชีวิตคุณดูลงตัวและนิ่งขึ้น

ผมเขียนหนังสืออย่างเดียว เขียนดึกบางทีถึงเช้า ถึงงานหนังสือผมก็ไปขายหนังสือ พบคนอ่าน ผมอยากพบคนอ่านให้เยอะที่สุดเพราะอยากรู้ว่าเขาคิดอะไร ผมไปงานทุกวัน เสร็จแล้วผมก็พัก พอพักเสร็จผมก็เดินทางต่างประเทศหลายๆ เดือนเลยกลับมาก็อ่านหนังสือ และเตรียมทำหนังสือเล่มต่อไป มันก็วนอยู่แบบนี้ เป็นเทศกาลทำนา ผมมีความสุขดีกับชีวิตแบบนี้

 

คุณค้นพบเส้นทางชีวิตแบบนี้ได้อย่างไร และคุณออกแบบชีวิตตัวเองอย่างไร

ขออภัยคนรวยที่อ้างถึงบ่อยนะครับ ถ้าผมเป็นคนรวยหรือเป็นลูกของคนรวย ผมคงไม่มีข้ออ้างที่จะมาเล่าเรื่องแบบนี้ ผมไม่ได้เติบโตมากับครอบครัวที่ร่ำรวย ผมมาจากจันทบุรี หิ้วกระเป๋าใบหนึ่งติดหนังสือเล่มหนึ่งมาเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มาแบบตัวเปล่าเล่าเปลือย ผมก็เหมือนชีวิตค่าเฉลี่ยของคนทั้งประเทศตอนนี้

 

ถามว่าค้นพบเส้นทางชีวิตแบบนี้ได้อย่างไร จริงๆ ชีวิตมนุษย์มันง่าย เมื่อเราใช้ชีวิตมาถึงจุดจุดหนึ่ง เราอยู่ในเงื่อนไขแบบไหนแล้วเรามีความสุข เราควรจะรักษาเงื่อนไขเหล่านั้นไว้ ในช่วงปีสองปี ผมทดลองใช้ชีวิตแบบนี้ ชีวิตผมมีความสมดุล ผมมีความสุข ผมช้าลง ผมได้ทำงานที่ผมชอบ ผมมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดีและมันไปได้

 

อยากได้เงื่อนไขในการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพที่ดีได้ทำยังไง มีหนังสือชื่อ Your Money or Your Life คุณจะเลือกเงินหรือเลือกชีวิต คนส่วนใหญ่เลือกเงิน แน่นอนเงินจำเป็น แต่เมื่อถึงจุดที่คุณเลือกเงินมากเกินไป คุณจะสูญเสียชีวิต คุณจะไม่ได้ทำงานหาเลี้ยงชีวิต แต่คุณจะทำงานหาเลี้ยงความตาย โดยลืมถามว่าเงินที่เพิ่มขึ้นมาในแต่ละบาท แต่ละร้อย แต่ละพัน แต่ละหมื่น แต่ละแสน แต่ละล้าน คุณจ่ายอะไรไปบ้าง และชีวิตจริงๆ คุณต้องการใช้เงินแค่ไหน บางครั้งคุณหาจนเกินสิ่งที่ต้องใช้ แต่คุณก็ยังหาต่อ แล้วคุณภาพชีวิตคุณก็ถดถอยลง สุขภาพคุณก็ถดถอยลง มิตรภาพคุณก็หายไป หลายต่อหลายอย่างที่มันเป็นคุณค่าที่ไม่ได้หาได้ด้วยเงินหรือวัดได้ด้วยเงิน

 

ฉะนั้นกลับมาที่คำถาม คุณมีความจำเป็นต้องทำความสัมพันธ์กับเงินให้ถูกต้องก่อน คุณต้องรู้ว่าเงินมีหน้าที่อย่างไรในชีวิต และถ้าคุณทำความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง คือให้เงินเป็นบ่าวคุณไม่ใช่คุณเป็นทาสเงิน คุณจะปรับสมดุลระหว่างชีวิตกับเงินได้ ถ้าเมื่อไรคุณมีอิสระในการเงิน มีรายได้ที่ดีพอ มีเศรษฐกิจที่ดีพอ ไม่ต้องร่ำรวยมหาศาล คุณจะได้เลือกใช้ชีวิตที่คุณต้องการได้ ฉะนั้นในโลกทุนนิยมคุณต้องได้อิสระในการเงินก่อน ซึ่งอิสระในการเงินไม่ได้หมายความว่าต้องร่ำรวย คุณต้องเพียงพอกับสิ่งที่คุณกำลังจะใช้ เมื่อคุณรู้ ที่เหลือคุณจะมีเวลา

 

ความหรูหราที่แท้จริงคือเวลา

 

ผมกับคุณรวยมากนะ นั่งคุยกันครึ่งวัน เศรษฐีทำไม่ได้เพราะเขามีนัดต่อ เราคือเศรษฐี (หัวเราะ) คุยเล่นไร้สาระมีความสุข เพราะว่าในทางการเงินเราอยู่ได้ เราได้ทำงานที่ตัวเองรัก คุณภาพเราดี สุขภาพเราดี เดี๋ยวผมก็ไปออกกำลังกายแล้วผมก็ใช้ชีวิตที่ดีพอสมควร ถ้าคุณรู้จักการใช้ชีวิตและรู้จักการรักษาสมดุลและทำให้มันเป็นเรื่องเดียวกันหมด คุณจะได้สิ่งเหล่านี้

คุณไม่ต้องร่ำรวยมหาศาล คุณไม่ต้องมีชื่อเสียงมากมาย ไม่ต้องมีอำนาจ แต่คุณค้นพบว่าความสุขในชีวิตของคุณคืออะไร และคุณจัดการกับมันได้ คุณจะได้โมเมนต์ที่ดีในชีวิต

 

ความสุขของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ในวัย 48 ปีมีอะไรบ้าง

ง่ายมาก

 

หนึ่ง ได้ทำงานที่ตัวเองรัก การเขียนหนังสือเป็นงานที่ผมชอบ ได้ดิ่งลึกลงไปในตัวเอง ได้ต่อสู้กับตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับผู้ใด ได้ค้นลงไปในความสงสัยในตัวเอง ได้เดินทางไปที่ไหนก็ได้ ไปดูโลกจุดไหนก็ได้และย่อยทั้งหมดและถ่ายทอดออกมาให้คนอ่านในลีลาของตัวเอง ที่ดีมากที่สุดคือถ้าหนังสือที่เราเขียนมันเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ ซึ่งผมได้รับฟีดแบ็กเหล่านั้นมากมาย นักเขียนเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ายกย่อง เขียนวรรณกรรมและมันอยู่มา 100 ปี และคนอ่านยังมีความรู้สึกว่าสั่นสะเทือนใจอยู่

 

สอง มีความสงบ เรียกว่าศานติ มีความวุ่นวายในชีวิตน้อยหน่อย ซึ่งความสงบเกิดจากความพอใจในชีวิต ความทะเยอทะยานต่ำ ไม่ได้อยากทำนู่นทำนี่พิสูจน์ตัวเอง พอรู้สึกความทะเยอทะยานต่ำ พอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ ได้ทำงานที่ตัวเองรัก มันก็เกิดศานติ ชีวิตก็รื่นรมย์ดี มีกัลยาณมิตรที่ดี ผมมีเพื่อนที่ดีเยอะ เป็นเพื่อนที่หลากหลายมากในทุกระดับ ทั้งระดับยากจน ระดับร่ำรวย ระดับปัญญาชนและไม่ใช่ปัญญาชน ผมมีโอกาสได้สนทนากับเพื่อนฝูงบ่อยๆ แลกเปลี่ยนทรรศนะมันไม่เหงา กัลยาณมิตรจะช่วยโอบกอดคุณ ผมก็เรียนรู้ทัศนคติคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ก็เรียนรู้ทรรศนะผม มันก็จะช่วยโอบกอดกัน

 

สาม การเดินทาง เพราะได้เห็นโลก ได้เปิดโลก ทำให้เราคิดออกว่า โลกก็มีแบบนี้ด้วย เขาไปแบบนี้ ไอเดียใหม่เป็นแบบนี้ สนุกดี

 

พอเราอยู่ในเงื่อนไขที่ชีวิตค่อนข้างจะราบรื่น ความทุกข์ก็หายไปเอง มันเหมือนเดินทางใช้ชีวิตอย่างแผ่วเบา ทุกวันนี้ว่ายน้ำยังว่ายเบาเลย น้ำไม่กระเซ็นเลย (หัวเราะ)

ความสุขของผมในวัย 48 ปีคือ ได้ทำงานที่รัก มีความสงบศานติ และได้เดินทางเปิดโลก

ตอนไหนที่ความทะเยอทะยานของคุณต่ำลง

เมื่อผ่านวัย 45 มาแล้ว สังขารจะเริ่มบอกว่าเราเสื่อมทรุดลง การเปลี่ยนแปลงของสังขารเหมือนขึ้นยอดเขา ตอนที่ต้องเดินลงเราจะรู้ ถ้าคุณได้ทำในสิ่งที่อยากทำไปแล้วหลายต่อหลายสิ่ง ความทะเยอทะยานจะลดลงเพราะทำไปหมดแล้ว ทำซ้ำมีประโยชน์อะไร มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว

 

ให้ผมกลับไปทำนิตยสารอีกทีเหมือนตอนหนุ่ม มีประโยชน์อะไร ผมทำไปแล้ว ให้ผมกลับไปทำรายการทีวีอีกครั้งหนึ่งมีประโยชน์อะไร ผมทำไปแล้ว ผมทำดีที่สุดเท่าที่เขาให้เงื่อนไขที่ผมทำได้ในเวลาที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับตัวเอง มันเหมือนหนังสือ เมื่อจบบทที่หนึ่งมันต้องไปบทที่สองและไปบทที่สามและสี่ ไม่มีเอาบทที่หนึ่งมาอยู่บทที่ห้า แต่การใช้ชีวิตคุณชอบเอาบทที่หนึ่งมาทำบทที่ห้าใหม่ หนึ่ง สอง สาม สี่ ทำไมคุณไม่ไป ห้า หก ทำไมเอาหนึ่งมาเป็นห้า มันก็เลยเป็นการทำซ้ำและกลับไปวนใหม่ มนุษย์มันติดลูปอยู่อย่างนี้

 

ไม่มีแผนอะไรในชีวิตแล้ว?

ใช้ชีวิตให้สงบในบั้นปลาย และก็ทำงานเขียนอยู่ต่างจังหวัด คนก็ชอบถามผมว่ามีแผนอะไรไหม ผมอยู่เพลินๆ ไม่มีความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่ ไม่ตั้งพรรคการเมือง ใช้ชีวิตตามความทะเยอทะยานต่ำ ใช้ชีวิตให้ช้าลงกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ก็ช้ามากอยู่แล้ว ผมน่าจะช้าสุดในวงการ (หัวเราะ)

 

ถ้าสามารถสื่อสารบอกเล่ากับคนที่อ่านหนังสือของคุณได้ คุณอยากบอกอะไรมากที่สุด

มนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตัดสินอนาคตด้วยเหตุผลอย่างเดียว ในบางเรื่องเราตัดสินกันด้วยจิตใต้สำนึก ลึกๆ ที่สุดมนุษย์มีอะไรติดอยู่ในใจแล้วคุณก็ยังไม่รู้ ลองวิเคราะห์ลึกเข้าไปดูว่าอะไรมันติดอยู่ในหัวใจคุณ มันมีความกลัวระดับใต้น้ำ อยู่ใน Subconscious (จิตใต้สำนึก) หนังสือเล่มล่าสุดผมพยายามจะคลี่คลายให้ มันน่าจะมีปัจจัยที่อยู่ลึกไปกว่านั้นอีก ถ้าคุณเจอตรงนี้แล้วคุณปลดปล่อยมันได้พลังคุณจะมหาศาล ถ้าคุณเรียนรู้ตลอดกระบวนการทั้งหมดและคุณคลี่คลายได้ ชีวิตคุณจะเดินต่อได้ หาโมเมนต์นั้นให้เจอและเมื่อมาถึงอย่าทิ้งมัน จงก้าวออกไป อย่ากลัว บางทีต้องลองเสี่ยงดูก่อน ทำผิดทำถูกไม่รู้อย่าไปอาย คุณดูอย่างผมสิบาดแผลเต็มไปหมด แต่มันจะทำให้เราไปต่อได้ ฉะนั้นหา Magical Moment ของตัวเองให้เจอ วิเคราะห์จากด้านนอก ด้านใน ด้านกว้าง ด้านแคบ และลงไปด้านลึก เมื่อเจอโมเมนต์ที่ถูกต้องหยิบฉวยเอาไว้โอบกอดเอาไว้ และใช้มันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงตัวเอง

 

คุณเขียนหนังสือเกี่ยวกับปัญญามาหลายเล่ม ถ้าให้วิเคราะห์ตัวเอง คุณคิดว่าคุณมีปัญญาอะไรที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ยืนอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

ผมอาจจะเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี คุณสมบัติข้อเดียวก็พอจะหาเลี้ยงชีพตัวเองได้แล้ว ในอดีตผมคงเป็นนักเล่านิทาน เป็นขอทานและเก็บเรื่องราวที่เดินไปตามเมืองต่างๆ ไปแอบฟังคนเขาคุยกันและก็ถือกรับ ร่อนเร่ไปตามท้องถนน เรียกให้ผู้คนล้อมวงเข้ามาแล้วผมก็เล่าเรื่องให้ฟัง คนฟังเขาสนุกก็ให้เงินมาเล็กๆ น้อยๆ ผมก็เอาไปซื้อข้าวกิน มีความสุข และผมก็เดินทางต่อไป ถ้าชาติที่แล้วผมเป็นอะไรสักอย่าง ผมคงเป็นขอทานเล่าเรื่อง ชาตินี้ยังไม่ลืมสังขารเก่าก็เลยชอบเล่าเรื่องและก็เดินทางไป เลยไม่มีความคิดว่าอยากจะสร้างอาณาจักร เพราะเป็นแค่ขอทานหากินเรื่อยไป เล่าเรื่องแลกเปลี่ยน

 

ผมมีเรื่องเล่ากับน้ำชา แค่นั้นเอง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X