×

ทำไมพระพุทธเจ้าต้องหล่อเหลา ที่มาของร่างกายสมบูรณ์แบบที่สัมพันธ์กับความดี

08.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนาแล้ว เรามักจะให้ความสำคัญไปที่ตัวปรัชญาทางศาสนาเป็นหลัก พร้อมกับตัดสิ่งที่คิดว่าไม่เป็นแก่นสารออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อหรือรูปลักษณ์ของพระพุทธองค์ที่หล่อเหลาสวยงาม ทั้งๆ ที่ในความเชื่อของอินเดียสมัยโบราณนั้นมันเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างยิ่งกับการบรรลุธรรมและความเชื่อเรื่องกรรม 
  • พระพุทธรูปที่เราเห็นกันอยู่นั้น แท้จริงคือผลรวมของความหมายเชิงนามธรรมของความดี ทำให้เราเชื่อมโยงความดีเข้ากับรูปร่างหน้าตาและร่างกายอันงดงามและสมบูรณ์ไปด้วย

ขอเริ่มต้นว่าข้อเขียนนี้ไม่ได้มีเจตนาจะดูหมิ่นศาสนาและพระพุทธเจ้า ซึ่งการเริ่มต้นเช่นนี้ก็เป็นไปตามปกติของการเขียนที่เกิดขึ้นภายใต้วัฒนธรรมที่เราอาศัยอยู่นั่นเอง 

 

ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นทั้งในสังคมตะวันตกและเอเชียคือ เมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนาแล้ว ก็มักจะให้ความสำคัญไปที่ตัวปรัชญาทางศาสนาเป็นหลัก พร้อมกับการตัดสิ่งที่คิดว่าไม่เป็นแก่นสารออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อหรือรูปลักษณ์ของพระพุทธองค์ที่หล่อเหลาสวยงามออกไป (หรือไม่ให้ความสำคัญ) ทั้งๆ ที่ในความเชื่อของอินเดียสมัยโบราณนั้นถือเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างยิ่งกับการบรรลุธรรมและความเชื่อเรื่องกรรม 

 

จอห์น พาวเวอร์ส (John Powers) นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเรื่อง The Bull of A Man: Images of Masculinity, Sex, and the Body in Indian Buddhism ซึ่งว่าด้วยเรื่องการศึกษาความเป็นชาย เพศ และรูปร่างของในความเชื่อหรืออุดมคติของพุทธศาสนาในอินเดียสมัยโบราณ โดยพาวเวอร์สได้กล่าวว่า ความเชื่ออินเดียสมัยก่อนนั้น รูปลักษณ์ภายนอกอันประกอบไปด้วยพระพักตร์ พระวรกาย และอวัยวะของพระพุทธเจ้าถือเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เช่นนั้นแล้วในคัมภีร์ต่างๆ คงไม่ให้ความสำคัญกับพุทธลักษณะของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ และอนุพยัญชนะอีก 82 ประการ 

 

แต่งานประวัติศาสตร์ศิลปะที่มุ่งศึกษาประติมานวิทยากลับให้ความสนใจเพียงแค่เรื่องของรูปแบบ โดยไม่ได้มองความหมายอันเชื่อมโยงกับรูปลักษณ์ดังกล่าวนี้

 

นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว พาวเวอร์สยังได้ชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า ร่างกายอันสมบูรณ์แบบของพระพุทธเจ้านั้นเกี่ยวโยงโดยตรงกับอุดมคติต่อรูปร่างของความเป็นชาย (Masculinity) ซึ่งรูปร่างดังกล่าวที่ว่านั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการประกอบสร้างและการผลิตซ้ำบรรทัดฐานในสังคมอินเดีย ร่างกายจึงเป็นสัญญะแบบหนึ่งที่ช่วยเป็นภาพสะท้อนความคิดความเชื่อของสังคมนั้นๆ 

 

ถ้าให้ผมพูดต่ออีกนิดก็คือ ความเข้าใจต่อร่างกาย (Body) เพศ (Sex) และอื่นๆ ในยุคหนึ่งนั้นจึงย่อมมีความแตกต่างจากแว่นของคนในสังคมปัจจุบัน ซึ่งก็ผ่านกระบวนการประกอบสร้างมาด้วยกัน ส่วนใครจะไปตีความในเรื่องอื่นในทางปรัชญานั้นก็เป็นเรื่องของความเข้าใจต่อพระพุทธศาสนาในแบบปัจจุบัน 

 

คราวนี้บทความสั้นๆ นี้ผมจะขอพูดถึงเฉพาะ 2 ประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งงานพาวเวอร์สนั้นนำเสนอ พร้อมกันนี้ผมจะเสริมข้อมูลอื่นๆ เข้าไปด้วย เพื่อชี้ให้เห็นด้วยว่าความคิดดังกล่าวก็มีตกทอดในสังคมไทยเช่นกัน

 

 

คีอานู รีฟส์ ในบทพระพุทธเจ้าจากภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha

อ้างอิง: pinterest

 

ความหล่อและความงดงามของพระพุทธเจ้า

พาวเวอร์สได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาของอินเดียอธิบายว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ชายที่สมบูรณ์แบบอย่างที่สุด (Purusottama) โดยพระองค์มีความแข็งแกร่งเหนือมนุษย์ (Superman) อีกทั้งยังมีฝีมือด้านศิลปะการต่อสู้ การทำสงคราม มีร่างกายที่สวยงามเป็นพิเศษ และดึงดูดอิสตรีให้หลงใหลเมื่อเพียงแค่ได้พบเห็น 

 

ทั้งคัมภีร์ภาษาบาลีและสันสกฤตต่างพูดถึงลักษณะความเป็นชาย (Masculinity) ของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่โดดเด่นเหนือมนุษย์ทั่วไป ความเหนือมนุษย์ดังกล่าวสะท้อนผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ’ เช่น (ขอใช้คำสามัญ) มีผิวพรรณดุจสีทอง มีร่างกายดุจพญาราชสีห์ มีฝ่าเท้าแบนราบ ที่ฝ่ามือและเท้ามีธรรมจักร ระดับของมือยาวถึงหัวเข่า มีอุษณีษ์ (กะโหลกที่โป่งนูนขึ้นไป) เป็นต้น ซึ่งสามารถพบได้ในพระพุทธเจ้าและจักรพรรดิ (จักรวาทิน) เท่านั้น 

 

ต่อมาในคัมภีร์สมัยหลังยังได้เพิ่มเติมองค์ประกอบของร่างกายเข้าไปอีก 82 ประการ เรียกว่า ‘อนุพยัญชนะ’ (Anuvyanjana) เช่น มีเล็บทอง มีร่างกายกลึงกลม แต่ก็เพรียวบางได้สัดส่วน มีหน้าผาก คิ้ว และเศียรอันงดงาม อวัยวะเพศชายนั้นสมบูรณ์แบบ เป็นต้น ลักษณะร่างกายดังกล่าวนี้ปรากฏในคัมภีร์ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน ซึ่งสะท้อนว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ และทั้งหมดนี้ก็เพื่อสะท้อนว่าพระองค์มีร่างกายที่เหนือสรรพสัตว์ทั้งปวง  

 

ลักษณะร่างกายอันโดดเด่นดังกล่าวนี้ พระวสุพันธุ (มีชีวิตช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4) ได้กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เกิดจากการทำบุญมาร้อยปีหลายร้อยชาติ เช่นเดียวกับพระพุทธโฆษาจารย์ที่บอกว่า เกิดขึ้นจากการกระทำของชาติปางก่อนนับไม่ถ้วน  

 

ตามความเชื่อในพุทธศาสนา ลักษณะทางกายภาพของพระองค์นั้นเกิดขึ้นจาก ‘กรรม’ (Karma) ซึ่งเป็นกรรมดีที่พระพุทธองค์ทรงเคยประกอบไว้ ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ ด้วยผลจากการทำบุญประกอบกรรมดี จึงทำให้พระองค์เมื่อครั้งเป็นพระพุทธเจ้ามีพระวรกายบริบูรณ์ สวยงาม มีความฉลาด และยังร่ำรวยมั่งคั่ง 

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น ในความเชื่อของพุทธศาสนา สิ่งที่ตรงกันข้ามก็คือ หากประกอบกรรมชั่ว รูปร่างหน้าตาก็จะน่าเกลียด โง่ พิกลพิการ และเต็มไปด้วยความยากจนข้นแค้น ด้วยความเชื่อข้างต้น ผู้ที่เกิดมามีหน้าตาดีจึงย่อมถูกหมายถึงผู้ที่ประกอบกรรมดีไปด้วย 

 

ไม่มีใครรู้ว่าหน้าตาที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร เป็นเจ้าชายที่หน้าตาหล่อเหลาจริงๆ หรือไม่ ดังเช่นที่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ แต่ในความเชื่อทางศาสนานั้นได้ถูกกำหนดแล้วว่าพระองค์มีหน้าตาอันดี ในบางคัมภีร์จึงอธิบายว่าพระพักตร์ของพระพุทธเจ้านั้นหล่อเหลา (Handsome) กลมมน และสดใสดั่งกับแสงจันทร์นวล 

 

พระพุทธโฆษาจารย์ (Buddhaghosa) ได้ยืนยันว่า ลักษณะของพระพุทธองค์นั้นเป็นที่ประทับใจของคนทั้งมวล ในบางคัมภีร์ได้อธิบายว่า ด้วยหน้าตาที่หล่อเหลาและงดงาม (Beautiful ในทาง Masculine) นี้เอง ที่ดึงดูดให้ใครที่เพียงพบเห็นพระองค์จะเกิดความศรัทธาและอยากใกล้ชิดกับพระองค์ 

 

ความเชื่อว่ามหาบุรุษจะต้องมีรูปร่างอันหล่อเหลานี้เป็นความเชื่อพื้นฐานร่วมกันในอินเดีย ดังเช่นพระรามที่มีพระพักตร์และพระวรกายอันงดงามและผุดผ่อง (ถึงจะมีผิวสีคล้ำก็ตาม) 

 

ในเมื่อรูปร่างหน้าตาดีสะท้อนถึงการเป็นคนดีนี้เอง จึงทำให้เชื่อมโยงไปกับปัญญาอันเฉลียวฉลาดว่าเกิดขึ้นจากการประกอบกรรมดีในชาติปางก่อน และคุณภาพของจิตวิญญาณอันยอดเยี่ยม ดังเห็นได้จากในจารึกถ้ำอชันตา หมายเลข 22 ได้จารึกไว้ว่า ถ้ำนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นของขวัญให้กับพระสงฆ์ของศากยมุนี (พระมหายาน) เพื่อให้เข้าถึงความรู้อันยิ่งใหญ่แห่งสรรพสัตว์ พระผู้มีพระภาคเจ้า (ในฐานะของผู้พิชิต) เป็นผู้มีคุณลักษณะอันงดงาม เพียบพร้อม วิเศษในทุกมุมมอง เปี่ยมไปด้วยรัศมีสีทอง และมีพระเนตรอันงดงาม (ผู้เขียนไม่ได้แปลจารึกตรงทุกตัวอักษร) จากลักษณะที่กล่าวมานี้ ย่อมสะท้อนว่าความงดงามของร่างกายและคุณสมบัติด้านปัญญานั้นเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งยวดในความเชื่อของอินเดีย 

 

มีคำกล่าวด้วยว่า ผู้ชายหรือผู้หญิงใดก็ตามที่เห็นร่างกายของพระองค์จะต้องตกตะลึงจากความงดงามและต้องกล่าวถึงร่างกายอันสมบูรณ์แบบของมหาบุรุษ ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนานั้นต่างถือกันว่า ‘พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่สะท้อนพัฒนาของร่างกายผู้ชายอยู่สูงที่สุด’ นอกจากนี้แล้วยังมีการบรรยายว่า รูปร่างหน้าตาและร่างกายของพระพุทธเจ้านั้นดึงดูดทั้งเพศหญิงและได้รับความชื่นชอบจากผู้ชาย จนถึงขั้นกลายเป็นสาวกของพระองค์ในที่สุด 

 

ตัวอย่างเช่น พราหมณ์วักกลิ (Vakkali) เมื่อได้เห็นรูปโฉมพระวรกายของพระพุทธเจ้าอันบริบูรณ์แล้วถึงกับขอบรรพชากับพระองค์ จากนั้นพระวักกลิได้แสดงความหลงใหลต่อความงามของพระองค์ด้วยการติดตามอยู่ไม่ห่าง และจ้องมองพระองค์อย่างไม่ละสายตา จนทำให้ในท้ายที่สุดพระองค์ต้องสั่งให้พระวักกลิหยุดการกระทำเช่นนั้น พระองค์ได้ตรัสว่า “ดูก่อนวักกลิ จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการที่เธอต้องมาดูร่างกายอันเปื่อยเน่านี้ วักกลิเอย ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา” 

 

ด้วยการปฏิเสธดังกล่าวอย่างสุภาพนี้เอง เมื่อพระวักกลิคิดว่าตนจะไม่มีโอกาสได้จ้องมองพระพุทธเจ้าอีก จึงคิดจะฆ่าตัวตาย แต่โชคดีที่พระพุทธเจ้าเห็นเข้าจึงได้หาทางแก้ไขด้วยการเปล่งรัศมีอันรุ่งโรจน์ (ซึ่งพาวเวอร์สได้ให้ความเห็นว่าพระพุทธเจ้าน่าจะทรงเผยร่างอันเปลือยเปล่า – He Showed Vakkali His Naked Body.) แต่ก็ส่งผลทำให้พระวักกลิบรรลุเป็นพระอรหันต์ 

 

ภายใต้กรอบคิดของร่างกายของผู้ชายเป็นใหญ่ (Masculinity) นี้เอง ที่ทำให้เพศหญิงไม่อาจจะเข้าถึงภาวะแห่งความเป็นพุทธะได้โดยง่าย ดังนั้นเราจึงสังเกตได้ว่า ในพุทธศาสนามหายานได้อธิบายว่า พระโพธิสัตว์ส่วนใหญ่นั้นคือผู้ชาย ถึงจะมีบ้างที่เป็นผู้หญิง แต่ถึงอย่างนั้นในคัมภีร์ของฝ่ายมหายานนั้นพูดชัดว่า พระพุทธเจ้านั้นต้อง (Must) เป็นผู้ชาย 

 

นอกจากนี้แล้วร่างกายของมหาบุรุษและผู้หญิงตามอุดมคติของอินเดียนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการบรรลุธรรม โดยร่างกายของมหาบุรุษนั้นจะมีรูปร่างตรง ถึงจะมีส่วนเว้าโค้งเล็กน้อย และยังเป็นร่างกายที่สามารถเก็บอวัยวะเพศเข้าในฝักได้ 

 

หากแต่ร่างกายของผู้หญิงนั้นเต็มไปด้วยเรื่องของอารมณ์และราคะ นอกจากนี้แล้วจิตใจของผู้หญิงนั้นยังยากต่อการเข้าถึงภาวะแห่งการตื่นรู้ มีเรื่องเล่าของนางนาคตนหนึ่งที่ต้องการจะบรรลุถึงภาวะพุทธะ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยพระสารีบุตรได้อธิบายว่า เพราะร่างกายของผู้หญิงนั้นไม่มีลักษณะของมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาของนางนาคคือการแปลงตนให้กลายเป็นผู้ชาย จากนั้นจึงไปนั่งใต้ต้นโพธิ์และบรรลุธรรมในที่สุด 

 

 

พระพุทธรูปอินเดียศิลปะสมัยราชวงศ์คุปตะ สะท้อนถึงร่างกายอันเป็นอุดมคติของพระพุทธเจ้า

อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Gupta_art

 

 

อวัยวะเพศของพระพุทธเจ้า

ร่างกายอันเป็นมหาบุรุษของพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของความหล่อเหลางดงามเท่านั้น หากอวัยวะเพศของพระองค์ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมหาบุรุษด้วย ตามคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาอธิบายว่า ‘พระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก’ หรือ อวัยวะเพศของพระพุทธเจ้านั้นเก็บอยู่ในฝัก (คำบาลีคือ kosohita-vattha-guhya) ซึ่งปรากฏเป็นหนึ่งในลักษณะของมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ และในคัมภีร์ยังอธิบายด้วยว่า สาเหตุที่พระคุยหะของพระองค์เก็บอยู่ในฝักและมีความสวยงามเป็นอย่างยิ่งนั้น เป็นเพราะพระองค์ได้ละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ครั้งอดีตชาติมาช้านาน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า อวัยวะเพศของมหาบุรุษนั้นเกิดขึ้นจากการฝึกฝนไม่สังวาสกับผู้หญิง 

 

พระพุทธโฆษาได้อธิบายว่า พระคุยหะของพระองค์นั้นแตกต่างจากบุรุษอื่น เพราะไม่ยื่นตั้งหากไม่จำเป็น โดยท่านได้เปรียบพระคุยหะของพระพุทธเจ้าว่าเก็บอยู่ในฝักดั่งช้างหรือวัว และไม่ต่างจากการเก็บอยู่ในกลีบดอกบัวอันอ่อนละมุน ในคัมภีร์อวธรรมศกะสูตร (Avatamsaka Sutra) ได้กล่าวว่า อวัยวะเพศของพระพุทธเจ้านั้นเก็บไว้อย่างดี อยู่ลึกเข้าไปภายในและถูกปกปิดเป็นอย่างดี ไม่ต่างจากของช้างหรือม้า ซึ่งลักษณะเช่นนี้ถือเป็นร่างกายอันสมบูรณ์แบบของมหาบุรุษ ในคัมภีร์นี้ยังได้อธิบายต่อไปว่า ไม่มีใคร ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย เด็กหญิง เด็กชาย คนแก่ คนกลางคน หรือคนที่ช่ำชองเรื่องเพศ ไม่สามารถหยุดยั้งความรู้สึกปรารถนาทางเพศ (Sexual Desire) ได้ถ้าหากได้เห็นพระคุยหะของพระพุทธเจ้า ความงดงามดึงดูดดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติการละเว้นการร่วมเพศมาหลายภพชาติ 

 

พาวเวอร์สได้อธิบายว่า ในคัมภีร์ฝ่ายมหายานได้บรรยายว่า ในตอนที่พระพุทธเจ้าปราบพวกเดียรถีย์ชาวเชนที่เมืองสาวัตถีนั้น ทำให้พระองค์ต้องแสดงยมกปาฏิหาริย์ เล่าอย่างย่นย่อ พระองค์ได้ทำการเสกเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยน้ำขึ้นมาจากข้างหลังของพระองค์ จากนั้นพระองค์ก็ได้เปล่งรัศมีเป็นแสงสีทอง และได้แสดงปาฏิหาริย์ด้วยการให้พระคุยหะของพระองค์โผล่พ้นออกมาจากฝักและผงาดขึ้น ส่งผลทำให้เกิดลมพัดขึ้น 7 ครั้งรอบภูเขา อเล็กซานเดอร์ โซเปอร์ (Alexander Soper) ได้อธิบายว่า พระคุยหะของพระองค์นั้นมีความแตกต่างไปจากพวกเดียรถีย์หรือบุรุษทั่วไปตรงที่อวัยวะนั้นไม่ได้ผงาดขึ้นด้วยอารมณ์ที่ถูกยั่วยุทางเพศ (Sexual Temptation) แต่เกิดขึ้นจากฌานบารมี ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของพระองค์ที่เหนือพวกเดียรถีย์ 

 

แม้จะไม่ได้ระบุไว้ว่าพระคุยหะของพระพุทธเจ้านั้นมีขนาดอย่างไร แต่หากในทัศนะของอินเดียโบราณ ถ้าพิจารณาจากคัมภีร์อย่างกามสูตร (Karma Sutra) ได้แบ่งอวัยวะเพศชายออกเป็น 3 แบบคือ เหมือนกระต่าย เหมือนวัว และเหมือนม้า แบบแรกคือเล็กที่สุดแต่เป็นที่ต้องการที่สุด เพราะมีความคล่องแคล่ว และโดยธรรมชาติแล้วมันดูนุ่มนวล ในขณะที่อีกสองแบบนั้นมีขนาดใหญ่ แข็งแรง แต่ก็รุนแรง ดังนั้นในทัศนะของคนอินเดียโบราณแล้ว อวัยวะเพศชายที่มีขนาดเล็กเหมือนกระต่ายนั้นเป็นยอดปรารถนาที่สุด 

 

ดังนั้นเมื่อไปสังเกตที่พระพุทธรูปยืน เราจึงไม่เห็นพระคุยหะของพระพุทธเจ้า เพราะได้ถูกเก็บเข้าไปในฝักและจะแสดงก็ต่อเมื่อถึงวาระอันสำคัญเท่านั้น จนบางครั้งในสายตาของชาวตะวันตกบางครั้งถึงกับมองว่าพระพุทธรูปนั้นมีภาวะแบบไร้เพศ หรือบางครั้งก็เป็นผู้หญิงไปเลยก็มี ด้วยเป็นเพราะอยู่นอกวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา

 

บทความที่เขียนมานี้จริงๆ เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของการเรียนทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่ SOAS University of London ของผู้เขียน จึงทำให้มีโอกาสได้อ่านหนังสือของ จอห์น พาวเวอร์ส ซึ่งเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจต่อการศึกษาทางด้านประติมานวิทยาว่าร่างกายอันเป็นอุดมคติของพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปนั้นเป็นสัญญะที่สัมพันธ์กับกรรมและบุญในอดีตชาติที่สั่งสมมา และส่งผ่านจนถึงชาติปัจจุบันของพระพุทธเจ้า ดังนั้นพระพุทธรูปที่เราเห็นกันอยู่นั้นแท้จริงก็คือผลรวมของความหมายเชิงนามธรรมของความดี เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้เราเชื่อมโยงความดีเข้ากับรูปร่างหน้าตาและร่างกายอันงดงามและสมบูรณ์ไปด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าแบบอินเดียโบราณนี้จะต้องกลายมาเป็นคุณของปัจจุบัน เพราะสุดท้ายแล้วการเห็นธรรมะต่างหากจึงจะเห็นพระตถาคต หมายความว่าสุดท้ายแล้วปัญญาย่อมสำคัญกว่าหน้าตาที่วันหนึ่งจะเสื่อมสภาพและเน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X