×

วัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดส ตรงกลางความเห็นแก่ตัว ความเห็นใจ และข้อมูลทางวิชาการ

08.07.2021
  • LOADING...
วัคซีน Pfizer

HIGHLIGHTS

  • วัคซีน Sinovac เพิ่งมีการตีพิมพ์ผลการวิจัยในชิลีในวารสาร NEJM เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ว่ามีประสิทธิผลในป้องกันการป่วย 65.9% และป้องกันอาการรุนแรงจนต้องเข้าห้องไอซียู 90.3% และมีผลการศึกษาเบื้องต้นในไทยพบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ 70-90% แต่ด้วยรูปแบบการศึกษาที่ไม่ชัดเจนและเป็นประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์อัลฟาจึงไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้
  • ถึงแม้วัคซีนทุกยี่ห้อจะสามารถ ‘กันหนัก’ ป้องกันอาการหนักหรือเสียชีวิต แต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์อาจมีข้อกังวลมากกว่านั้น ตรงที่ว่าถ้าไม่ ‘กันติด’ ก็จะมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อต้องแยกโรค และมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดต้องกักตัวจนทำให้ขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานได้ ยิ่งในสถานการณ์ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น บุคลากรทางการแพทย์จึงควรได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อป้องกันตัว
  • การแบ่งปันทรัพยากรในครั้งนี้คงไม่ใช่แบบยกโหลให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปทั้งหมด แต่สามารถแบ่งส่วนหนึ่งให้เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ‘ด่านหน้า’ ที่มีความเสี่ยงจากการสอบสวนโรคและดูแลรักษาผู้ป่วย และอีกส่วนหนึ่งให้กลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รองลงมาเป็นผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งการจัดสรรให้ทั้ง 2 ส่วนนี้ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อรักษาระบบสาธารณสุขไม่ให้ล่มสลาย

“…เรา (แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และทุกคนที่แม้แต่คิด) ดูเห็นแก่ตัวไปไหมในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ได้วัคซีนสักเข็มเดียว ถ้าเราจะมารับการกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3 กันก่อน…” ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ แสดงความเห็นส่วนตัวในเฟซบุ๊กคัดค้านการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564

 

ภายหลังจากที่ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. แถลงเมื่อช่วงเช้าของวันเดียวกันว่า คณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของ ศบค. ที่มี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน มีมติว่ากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster Dose) ก่อนเป็นกลุ่มแรก ถึงแม้จะเป็นความเห็นที่แย้งกัน แต่แนวคิดนี้สอดคล้องกับคณะกรรมการเฉพาะกิจก่อนหน้านี้

 

มติที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 อาจไม่ได้มีปัญหาตรง ‘ข้อสรุป’ มากเท่าการอภิปรายก่อนหน้านั้น โดยคณะกรรมการสรุปว่าวัคซีน Pfizer-BioNTech 1.5 ล้านโดสที่จะได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกามาในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ ควรจัดสรรให้ผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดหนักก่อน 

 

การอภิปรายก่อนหน้านั้นมีความเห็นหนึ่งที่ระบุว่า “ในขณะนี้ ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 (บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า) แสดงว่าเรายอมรับว่า (วัคซีน) Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น” ซึ่งถ้าวัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจริงคงจะไม่มีความเห็นนี้ขึ้นมา หรือคงจะไม่มี ‘ข้อเสนอ’ การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการประชุมดังกล่าว

 

วัคซีน Sinovac เพิ่งมีการตีพิมพ์ผลการวิจัยในชิลีในวารสาร NEJM เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ว่ามีประสิทธิผลในป้องกันการป่วย 65.9% และป้องกันอาการรุนแรงจนต้องเข้าห้องไอซียู 90.3% และมีผลการศึกษาเบื้องต้นในไทยพบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ 70-90% แต่ด้วยรูปแบบการศึกษาที่ไม่ชัดเจนและเป็นประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์อัลฟาจึงไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้

 

ถึงแม้วัคซีนทุกยี่ห้อจะสามารถ ‘กันหนัก’ ป้องกันอาการหนักหรือเสียชีวิต แต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์อาจมีข้อกังวลมากกว่านั้น ตรงที่ว่าถ้าไม่ ‘กันติด’ ก็จะมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อต้องแยกโรค และมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดต้องกักตัวจนทำให้ขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานได้ ยิ่งในสถานการณ์ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น บุคลากรทางการแพทย์จึงควรได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อป้องกันตัว

 

ส่วนวัคซีน Pfizer-BioNTech มีข้อมูลสนับสนุนจากในสหรัฐฯ ว่าเมื่อฉีดครบ 2 เข็มจะ ‘กันติด’ ได้ 91% ทำให้มีโอกาสที่จะ ‘กันหมู่’ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ และจากในสหราชอาณาจักรว่ายังคงมีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตา โดยวัคซีน 1 และ 2 เข็มป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 33% และ 88% ส่วนในอิสราเอลเพิ่งรายงานประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 64% แต่ยังป้องกันอาการหนักได้ 93% 

 

ทว่าข้อมูลที่ยังไม่มีคือประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 รวมถึงระยะห่างระหว่างเข็มที่เหมาะสม ซึ่ง นพ.อุดม กล่าวในการแถลงข่าวว่า “ขณะนี้ไม่มีประเทศใดหรือองค์การอนามัยโลกกำหนดแนวทางการให้ Booster Dose สำหรับประเทศไทยได้ให้โรงเรียนแพทย์ เช่น ศิริราช จุฬาฯ ทำการศึกษาการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิว่าตัวไหนจะเหมาะที่สุด คาดว่าในอีก 1 เดือนจะทราบผล”

 

ประเทศที่มีแผนการจัดหาวัคซีนคล้ายกับไทยอย่างชิลี สำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ว่าชิลีฉีดวัคซีน Sinovac ไปแล้ว 17.8 ล้านโดส และนักวิจัยกำลังศึกษาความจำเป็นในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน Pfizer-BioNTech อยู่ ส่วนบาห์เรนได้แนะนำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinopharm ครบ 2 เข็มแล้วฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech เป็นเข็มที่ 3 หลังครบ 6 เดือน

 

ในขณะที่การฉีดวัคซีน 2 เข็มในต่างประเทศ เริ่มมีคำแนะนำให้ฉีดแบบสลับหรือเปลี่ยนชนิดวัคซีนได้ กล่าวคือ เข็มแรกเป็นวัคซีน AstraZeneca แต่เข็มที่ 2 เป็นวัคซีนชนิด mRNA เช่น Pfizer-BioNTech หรือ Moderna โดยมีเหตุผลทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน (อิตาลี) วัคซีนขาดแคลน (เกาหลีใต้) ป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ลิ่มเลือดอุดตัน (แคนาดา ฟินแลนด์ เยอรมนี)

 

ผมเคยเสนอว่า ‘วัคซีนเป็นวิทยาศาสตร์ แต่การจัดหาวัคซีนเป็นการเมือง’ ครั้งนี้จะขอเพิ่มว่า ‘การจัดสรรวัคซีนก็เป็นการเมืองเช่นกัน’ ทั้งนี้การเมืองไม่ใช่เรื่องสกปรก แต่เป็นเรื่องของการแบ่งปันทรัพยากร เมื่อวัคซีน Pfizer-BioNTech ที่จะได้รับบริจาคมามีปริมาณจำกัดเพียง 1.5 ล้านโดส แต่ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแค่ 8.2 ล้านคน ยังต้องการอีก 41.8 ล้านคนถึงจะถึงเป้าหมาย 70% ภายในปีนี้

 

หากแยกตามกลุ่มเป้าหมาย พบว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเกิน 100% (7 แสนคน) ในขณะที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 12.9% ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค 15.6% และประชาชนทั่วไป 14.1% ถ้ามองในมุมของคณะกรรมการเฉพาะกิจ หรือ นพ.นิธิก็อาจเห็นว่ากลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนอีกจำนวนมากควรได้รับการจัดสรรวัคซีนล็อตนี้ไป

 

แต่บุคลากรทางการแพทย์จะดูเห็นแก่ตัวไปไหม? คงต้องคิดให้ครบว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบ กระทรวงสามารถเพิ่ม ‘ของ’ เช่น เตียง เครื่องช่วยหายใจได้ แต่ไม่สามารถเพิ่ม ‘คน’ ที่สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้ในระยะสั้น รวมถึงเจ้าหน้าที่ห้องแล็บ ผู้ช่วยพยาบาล แม่บ้าน พนักงานเปล กู้ชีพ/กู้ภัย ซึ่งถ้าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ติดเชื้อ พวกเขาก็ยังจะดูแลรักษาผู้ป่วยอยู่ เมื่อพวกเขาปลอดภัย ประชาชนก็จะปลอดภัยตามไปด้วย

 

การแบ่งปันทรัพยากรในครั้งนี้คงไม่ใช่แบบยกโหลให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปทั้งหมด แต่สามารถแบ่งส่วนหนึ่งให้เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ‘ด่านหน้า’ ที่มีความเสี่ยงจากการสอบสวนโรคและดูแลรักษาผู้ป่วย และอีกส่วนหนึ่งให้กลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รองลงมาเป็นผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งการจัดสรรให้ทั้ง 2 ส่วนนี้ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อรักษาระบบสาธารณสุขไม่ให้ล่มสลาย

 

สุดท้ายการใช้คำว่า ‘เห็นแก่ตัว’ เป็นคำที่ไม่มีความเห็นอกเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเลยแม้แต่น้อย ความเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ความหนักของภาระงาน เพราะจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแต่บุคลากรทางการแพทย์เท่าเดิม ความยากลำบากจากการสวมอุปกรณ์ป้องกันตัวตลอดเวลา ทั้งหมดเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องแบกรับ ซึ่งค่าตอบแทน/ค่าเสี่ยงภัยอาจไม่สำคัญเท่ากับความปลอดภัยของตัวบุคลากรทางการแพทย์เอง



พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising