×

ย้อนที่มาก่อนวัคซีน Pfizer จะถึงแขนบุคลากรด่านหน้า นโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยการด่า?

08.08.2021
  • LOADING...
Pfizer

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ถ้าย้อนกลับไปประมาณ 1 เดือนก่อน ยังไม่มีใครรู้ว่าประเทศไทยจะได้รับการบริจาควัคซีนจากสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ยังไม่มีใครรู้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะไม่ได้จัดสรรวัคซีนล็อตนี้ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า จนกระทั่งมีเอกสารบันทึกการประชุมชิ้นหนึ่งหลุดออกมาในสื่อสังคมออนไลน์ แล้วหลังจากนั้นการจัดสรรวัคซีน Pfizer ก็น่าจะเป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยการด่ามาโดยตลอด
  • เนื้อหาของนโยบายที่สำคัญในการจัดสรรวัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดส ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย หรือวิธีการจัดสรรวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง น่าจะเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนด้วยการด่าในสังคมออนไลน์ อาจหมายความว่าผู้กำหนดนโยบายรับฟังข้อเสนอของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น 

 

เมื่อวานนี้ (6 สิงหาคม) เฟรนด์ในเฟซบุ๊กของผมหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นพี่พยาบาลที่โรงพยาบาลประจำอำเภอหรือที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (สถานีอนามัย) ได้ถ่ายรูปขณะฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 พร้อมกับถ่ายรูปขวดวัคซีนที่ได้รับการบริจาคมาจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลักฐานยืนยัน ในที่สุดบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก็ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นวัคซีน Pfizer-BioNTech 

 

แต่ถ้าย้อนกลับไปประมาณ 1 เดือนก่อน ยังไม่มีใครรู้ว่าประเทศไทยจะได้รับการบริจาควัคซีนจากสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ยังไม่มีใครรู้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะไม่ได้จัดสรรวัคซีนล็อตนี้ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า จนกระทั่งมีเอกสารบันทึกการประชุมชิ้นหนึ่งหลุดออกมาในสื่อสังคมออนไลน์ แล้วหลังจากนั้นการจัดสรรวัคซีน Pfizer ก็น่าจะเป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยการด่ามาโดยตลอด

 

บริบทของนโยบาย (Context)

เอกสารบันทึกการประชุมที่ว่าเป็นสรุปการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุข 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558, คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ณ ห้องประชุมชม เทพยสุวรรณ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ถูกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม และเนื้อหาที่มีการกล่าวถึงจำนวนมากคือความเห็นข้อ 10 ในที่ประชุมระบุว่า ‘ในขณะนี้ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 (บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า) แสดงว่าเรายอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น’ ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อการ ‘ไม่ยอมเสียหน้า’ หรือ ‘รักษาหน้า’ มากกว่ารักษาชีวิตบุคลากรทางการแพทย์ 

 

ในวันถัดมา (5 กรกฎาคม) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า เอกสารที่หลุดออกมาเป็นเอกสารในการประชุมจริง แต่เป็นเพียงข้อเสนอจากคณะกรรมการวิชาการเท่านั้น ยังไม่ใช่แนวทางปฏิบัติจริง ส่วน นพ.โอภาส​ การย์กวินพงศ์​ อธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงข่าวว่าไม่ใช่เอกสารก็จริง แต่เป็นเพียงความเห็นของกรรมการบางท่าน ไม่ใช่คณะกรรมการทั้งหมด 

 

เอกสารบันทึกการประชุมนี้ทำให้ประชาชนทราบว่าจะมีวัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดสเข้ามาในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ โดยอนุทินชี้แจงว่าวัคซีนล็อตดังกล่าวได้รับการบริจาคมาจากสหรัฐฯ ส่วน พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผอ.ศปก.ศบค. ระบุว่า จะต้องแบ่งวัคซีนส่วนหนึ่งให้กับชาวต่างประเทศซึ่งอยู่ในประเทศ อาจเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือจึงจะใช้ประโยชน์กับคนในประเทศได้

 

สำหรับดีลวัคซีนล็อตนี้ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ย้ำว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ ไม่มีคนกลางในการเจรจา ทำเนียบขาว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และสถานทูตสหรัฐฯ ทำงานโดยตรงกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขของไทย 

 

ซึ่งในแผนการบริจาควัคซีน 80 ล้านโดสของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ได้จัดสรรวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจำนวน 80 ล้านโดสเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่มีความจำเป็นทั่วโลก โดยจะมอบวัคซีนกว่า 23 ล้านโดสให้กับประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย จึงเป็นที่มาของประชุมเฉพาะกิจร่วมกัน 3 คณะกรรมการเพื่อจัดสรรวัคซีนล็อตนี้ที่จะได้รับบริจาคมา

 

ตัวเลือกในการตัดสินใจ (Alternatives)

ก่อนมติที่ประชุมจะสรุปแนวทางการให้วัคซีนล็อตนี้เป็นเข็มที่ 1 ทั้งหมดแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง ซึ่งในขณะนั้นคือพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คณะกรรมการได้มีการพิจารณาข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน 3 ทางเลือก กล่าวคือ

 

  • ทางเลือกที่ 1 บุคคลอายุ 12-ต่ำกว่า 18 ปี ในพื้นที่ระบาดและพื้นที่เศรษฐกิจ ข้อดีคือได้รับวัคซีนเร็วขึ้น (ไม่ต้องรอไตรมาสที่ 4 หรืออนุมัติใช้วัคซีน Sinovac ในเด็ก) เพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีน ข้อเสียคือมีความกังวลต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • ทางเลือกที่ 2 กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ในพื้นที่ที่พบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา ข้อดีคือสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็ว ลดการป่วยรุนแรง/เสียชีวิต และเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีน ข้อเสียคือเกิดการเลือกวัคซีน
  • ทางเลือกที่ 3 บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (เข็มที่ 3) ในสถานพยาบาลทั่วประเทศที่รับผู้ป่วยโควิด ข้อดีคือเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์ สร้างขวัญกำลังใจ มีวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายอื่นได้ ข้อเสียคือไม่เพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีน

 

ถ้าอ่านความเห็นข้ออื่นจะพบว่ามีกรรมการบางท่านเห็นว่า “อยากเสนอให้ Boost (กระตุ้น) เข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า” หรือ “ขอให้กลุ่ม 2 และ Boost กลุ่ม 3 ในพื้นที่ระบาด” หรือ “ควรให้เข็ม 3 บุคลากรทางการแพทย์เพราะความเสี่ยงสูง” แต่เมื่อสังคมออนไลน์อ่านความเห็นข้อ 10 “…แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น” จึงเกิดความไม่พอใจ และ ‘เปิดเครื่องด่า’ ผู้กำหนดนโยบายนี้เป็นครั้งแรก

 

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็รับฟังความเห็นนี้ โดยเห็นได้จากข้อเสนอที่นำเสนอ ศบค. ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ได้ระบุกลุ่มเป้าหมายของวัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดสไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่ บุคลาการทางการแพทย์ด่านหน้า (ฉีดเป็น Booster Dose จำนวน 1 เข็ม) ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย และผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน Pfizer ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ

 

ภาพที่ 1 ข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนบริจาคจากต่างประเทศ

(อ้างอิง: เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19)

 

จนเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม น่าจะเป็นครั้งแรกที่กรมควบคุมโรคได้จัดสรรจำนวนวัคซีนให้แต่ละกลุ่มเป้าหมายเป็นครั้งแรก แต่มีกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 6 กลุ่ม คือเพิ่มกลุ่มทำการศึกษาวิจัย และกลุ่มสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด โดยกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนมากที่สุดคือ

 

  • ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค หญิงตั้งครรภ์ที่มีสัญชาติไทย 800,000 โดส (51.9%)
  • บุคลาการทางการแพทย์ด่านหน้า 500,000 โดส (32.5%)

 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 กรกฎาคม กระทรวงสาธารณสุขได้มีการแต่งตั้ง ‘คณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (วัคซีนโควิด-19) กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer)’ ขึ้นมา โดยมี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นเลขานุการ

 

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย (Actors)

คณะทำงานด้านวิชาการเกี่ยวกับวัคซีนโควิดของประเทศ ประกอบด้วย 3 คณะที่ประชุมเฉพาะกิจในครั้งแรกสุด ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (เทียบเท่า Advisory Committee on Immunization Practices: ACIP ของสหรัฐฯ) แต่งตั้งโดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ภายใต้ พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 จึงรับผิดชอบวัคซีนป้องกันโรคทั่วไป

 

  1. คณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รับผิดชอบเกี่ยวกับโควิดโดยตรง เนื่องจากโควิดเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ. นี้ แต่ไม่ได้จำเพาะแค่วัคซีน และ 3. คณะทำงานวิชาการด้านการบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ซึ่งเป็น 1 ใน 6 คณะย่อยของคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิดของกระทรวงสาธารณสุข

 

โดยคณะอนุกรรมการวัคซีนโควิดนี้แต่งตั้งโดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ภายใต้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เช่นกัน เพื่อบริหารจัดการวัคซีนโควิดโดยเฉพาะ มี นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และรองอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นเลขานุการ และคณะอนุกรรมการนี้เองที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบวัคซีน Pfizer โดยเฉพาะ 

 

เพราะฉะนั้นในฝั่งของกระทรวงสาธารณสุขจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 4 คณะกรรมการ ซึ่งอาจมีกรรมาการบางท่านที่เป็นผู้แทนหน่วยงานหรือนักวิชาการที่เป็นที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ แต่สำหรับคณะทำงานวัคซีน Pfizer มีนักวิชาการนอกกระทรวงสาธารณสุข 4 ท่าน ได้แก่ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ และ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ

 

ผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ได้แก่ แพทยสภา ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพ โดย พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภาเปิดเผยว่า แพทยสภาได้นำเสนอ ‘ข้อพิจารณา กรณีของแพทย์ 9 กรณี’ ให้กับคณะทำงานวัคซีน Pfizer ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม (แต่ไม่ได้อยู่ในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน) ก่อนที่จะมีข้อสรุปเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนที่สร้างความไม่พอใจให้กับสังคมออนไลน์ในเวลาต่อมา

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เช่น ภาคีบุคลากรสาธารณสุข หมอไม่ทน Nurses Connect ที่รวมตัวกันเรียกร้องความโปร่งใสและติดตามการจัดสรรวัคซีนล็อตนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้านและภาคประชาชนในสังคมออนไลน์ เช่น เพจ Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าว

 

การประกาศนโยบาย (Adoption)

บ่ายวันที่ 30 กรกฎาคม กระทรวงสาธารณสุขจัดประชุมทางไกลชี้แจงหน่วยงานระดับเขตและจังหวัดถึงแนวทางการให้บริการวัคซีน Pfizer ล็อตที่มาถึงประเทศไทยแล้ว โดยอ้างถึงมติการประชุมคณะทำงานวัคซีน Pfizer ในวันเดียวกันว่าบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เข้าเกณฑ์ได้รับวัคซีนคือผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็มแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์ และยังไม่ได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มกระตุ้น

 

ส่วนผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์คือผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็มแล้ว ได้รับวัคซีนสูตรไขว้ (Sinovac 1 เข็ม และ AstraZeneca 1 เข็ม) ได้รับวัคซีน Sinovac หรือ AstraZeneca มาเพียง 1 เข็ม ได้รับการฉีดวัคซีนอื่นๆ และในการประชุมวันนั้นมีคำถามว่า ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนใดเลย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นหญิงตั้งครรภ์จะได้รับวัคซีนล็อตนี้หรือไม่ ผู้ชี้แจงจากส่วนกลางตอบว่า “ไม่ได้”

 

ภาพที่ 2 เกณฑ์จัดสรรวัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดสในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

(อ้างอิง: การประชุมทางไกลแนวทางการให้บริการวัคซีน Pfizer)

 

ภายหลังเกณฑ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก ‘เปิดเครื่องด่า’ ผู้กำหนดนโยบายอีกครั้ง เพราะตัดสิทธิ์ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบออกไป บางท่านเสนอให้ฉีดวัคซีนกับหญิงตั้งครรภ์และบุคลากรที่เคยติดเชื้อแล้วด้วย บางท่านยังเสนอให้ฉีดครอบคลุมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ในแผนกอื่น เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการไม่ทราบสถานะผู้ป่วยด้วย

 

ส่วนประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทุกคนที่ต้องการฉีด เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง และตั้งข้อสงสัยว่าการตั้งเงื่อนไขจำนวนมากนี้อาจทำให้มีวัคซีนเหลือให้กลุ่มบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยในวันที่ 31 กรกฎาคม แฮชแท็ก #ทวงPfizerให้หน่วยด่านหน้า และ #วัคซีนไฟเซอร์ ที่ติดอันดับคำค้นในทวิตเตอร์ตลอดทั้งวัน

 

ในขณะที่เพจของ สฤณี ได้โพสต์ภาพตั้งข้อสังเกตถึงเกณฑ์ดังกล่าวโดยเรียงลำดับประวัติการฉีดวัคซีนของบุคลากรด่านหน้าตามระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อดังภาพที่ 3 ทำให้เห็นว่าผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกลับไม่เข้าเกณฑ์ฉีดวัคซีน Pfizer พร้อมข้อความ “ถ้ากระทรวงสาธารณสุขไม่แก้เกณฑ์ให้มีความเป็นเหตุเป็นผล …บุคลากรที่ไหนจะมีแรงทำงานต่อ” ซึ่งโพสต์นี้มีผู้แชร์มากกว่า 2 หมื่นคน

 

ภาพที่ 3 เกณฑ์การจัดสรรวัคซีน Pfizer ในบุคลากรทางการแพทย์ วันที่ 30 สิงหาคม 2564

เปรียบเทียบกับความเสี่ยงในการติดเชื้อ (อ้างอิง: เพจ Sarinee Achavanuntakul)

 

การเปลี่ยนแปลงนโยบาย (Revisions)

การ ‘ด่า’ อาจมีความหมายในเชิงลบ แต่เป็นการด่าเป็นการแสดงความไม่พอใจอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยเป้าหมายแล้วการ ‘เปิดเครื่องด่า’ น่าจะหมายถึงการเรียกร้องด้วยเสียงที่ดังขึ้นเหมือนเครื่องขยายเสียง หรือเรียกร้องอย่างต่อเนื่องเหมือนเครื่องยนต์เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายเปลี่ยนแปลงเนื้อหา (Content) ให้เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งสังเกตว่าทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว

 

การเปิดเครื่องด่าครั้งแรกเป็นการเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้าด้วย ซึ่งไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่เลื่อนลอย เพราะเป็น 1 ใน 3 ทางเลือกที่มีผู้ทำข้อเสนอขึ้นมาอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ประชุมจัดสรรให้ทางเลือกที่ 2 ทั้งหมด ต่อมามีการเรียกร้องในสังคมออนไลน์จึงทำให้ทางเลือกที่ 3 มีน้ำหนักมากขึ้นและขับเคลื่อนให้ผู้กำหนดนโยบายจัดกลุ่มเป้าหมายใหม่

 

อย่างไรก็ตาม แพทย์บางท่านก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้ เช่น ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ แสดงความเห็นส่วนตัวในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมว่า “… 2. เรา (แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และทุกคนที่แม้แต่คิด) ดูเห็นแก่ตัวไปไหม ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ได้วัคซีนสักเข็มเดียว ถ้าเราจะมารับการกระตุ้นเข็มสามกันก่อน…” (โพสต์ฉบับเต็มสามารถสืบค้นได้ในอินเทอร์เน็ต)

 

การเปิดเครื่องด่าครั้งที่ 2 เป็นการเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดสรรวัคซีนให้บุคลากรด่านหน้า ซึ่ง นพ.สุระ ประธานคณะทำงาน Pfizer ชี้แจงในวันที่ 31 กรกฎาคม เบื้องต้นว่า เกณฑ์การจัดสรรวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ครั้งนี้เป็นไปตามมติ ศบค. ที่ให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือพูดอีกอย่างก็คือเป็นเกณฑ์ที่กระทรวงรับมาจากการเปิดเครื่องด่าในครั้งแรกแล้วก็ได้ 

 

แต่การเรียกร้องในครั้งหลัง หลายเครื่องด่าได้ยกเหตุผลทางวิชาการ อ้างอิงผลการวิจัยในต่างประเทศ เช่น วัคซีน Pfizer มีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตา การได้รับวัคซีนชนิด mRNA ต่อจากวัคซีน AstraZeneca สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ดังนั้นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับเพียงเข็มเดียวควรได้รับวัคซีนล็อตนี้ และยกหลักการความเสมอภาค (Equity) ขึ้นมาสนับสนุนด้วย

 

วันที่ 31 กรกฎาคม วันเดียวกันที่ยืนยันตามมติ ศบค. เพจกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่คำชี้แจงของ นพ.สุระ ใหม่ว่า “วัคซีน Pfizer สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ครอบคลุมทั้งผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิดโดยตรงและผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดทุกคนที่ประสงค์” เท่ากับว่าผู้กำหนดนโยบายได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนเกณฑ์จัดสรรวัคซีนอีกครั้ง 

 

นำมาซึ่งเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนใหม่ที่อธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงข่าวในวันที่ 2 สิงหาคม เพิ่มเติมอีก 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinopharm ครบ 2 เข็ม 2. ผู้ที่ได้รับวัคซีนใดๆ มาแล้วเพียง 1 เข็ม 3. ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนใดๆ มาก่อน และ 4. ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดและไม่เคยได้รับวัคซีน แต่สังเกตว่าครั้งนี้เป็นมติ ‘คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค’ วันที่ 1 สิงหาคม ไม่ใช่ ‘คณะทำงาน Pfizer’

 

ภาพที่ 4 คำแนะนำการให้วัคซีน Pfizer ในบุคลากรทางการแพทย์

ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ (2 สิงหาคม 2564)

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่มีผู้เปิดเครื่องด่าอีก เช่น ไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนที่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ กว่า 10 วัน จำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรจริง ซึ่งจะได้ไม่เกิน 75% ของจำนวนความต้องการที่แต่ละจังหวัดส่งมาให้ (คล้ายกับการเสนองบประมาณเผื่อถูกตัดงบในภายหลัง) หรืออย่างล่าสุดมีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดสรรวัคซีนให้กับจังหวัดที่เป็นฐานเสียงของนักการเมืองมากกว่าจังหวัดอื่น

 

ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าเครื่องด่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่โดยสรุปเนื้อหาของนโยบายที่สำคัญในการจัดสรรวัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดส ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหรือวิธีการจัดสรรวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง น่าจะเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนด้วยการด่าในสังคมออนไลน์ นั่นคือผู้กำหนดนโยบายรับฟังข้อเสนอของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น 

 

สิ่งที่น่าคิดต่อไปคือ ท่าทีของผู้กำหนดนโยบายในครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการกำหนดนโยบายในเชิงระบบหรือกับนโยบายอื่นๆ โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนหรือไม่ ทั้งนี้หากประยุกต์หลักการจัดสรรวัคซีนของ ACIP สหรัฐฯ จะมีหลักการเรื่อง ‘ความโปร่งใส’ (Transparency) ในกระบวนการตัดสินใจและแผนการกระจายวัคซีน เพื่อสร้างและรักษาความไว้วางใจจากประชาชนด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X