×

ฉีดวัคซีน Pfizer ในวัยรุ่น ทางออกสำหรับการเปิดโรงเรียนตามปกติ?

20.05.2021
  • LOADING...
ฉีดวัคซีน Pfizer ในวัยรุ่น ทางออกสำหรับการเปิดโรงเรียนตามปกติ?

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2021 องค์การอาหารและยา (FDA) แห่งสหรัฐฯ ได้อนุมัติการใช้ในภาวะฉุกเฉิน (EUA) ให้วัคซีน Pfizer-BioNTech ใช้ในวัยรุ่นอายุ 12-15 ปีได้ 
  • ดร.โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แห่งสหรัฐฯ กล่าวสนับสนุนว่า “นี่เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้หลุดพ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และขยับเข้าใกล้ภาวะปกติ (Normalcy)” เพราะประชากรวัยรุ่นในสหรัฐฯ มีมากถึง 17 ล้านคน และผู้ปกครองจะมีความมั่นใจว่าครอบครัวได้รับการปกป้อง
  • ผลการทดลองวัคซีน Pfizer เฟส 3 ในกลุ่มวัยรุ่น 12-15 ปี ยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่ทางบริษัทได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2021 โดยการทดลองนี้ศึกษาในอาสาสมัครอายุระหว่าง 12-15 ปีในสหรัฐฯ จำนวน 2,260 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้วัคซีนจริงและวัคซีนหลอก (Placebo) อย่างละครึ่ง พบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวน 18 ราย ทั้งหมดอยู่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอก จึงถือว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 100% (ช่วงความเชื่อมั่น 95%: 78.1-100.0%)

ถึงแม้เด็ก/วัยรุ่นจะมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่า และเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีความรุนแรงต่ำกว่าผู้ใหญ่ แต่โควิด-19 ก็สามารถระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็ก/โรงเรียนได้ เพราะเด็ก/วัยรุ่นมักทำกิจกรรมกันเป็นกลุ่มกับเพื่อน ขณะที่บางกิจกรรมไม่สามารถสวมหน้ากากฯ ได้ตลอดเวลา และเมื่อเกิดการระบาดขึ้นก็อาจกลับไปแพร่เชื้อที่บ้านของแต่ละคนด้วย

 

ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้โรงเรียนต้องเลื่อนเปิดภาคเรียน เปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็นแบบออนไลน์ ซึ่งขัดกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก/วัยรุ่นที่ไม่ได้พัฒนาแค่ด้านวิชาการ ผู้ปกครองส่วนหนึ่งไม่ได้ทำงานที่บ้าน หรือถึงแม้ทำงานที่บ้านก็ไม่สามารถทำหน้าที่ทดแทนครูได้ วัคซีนจึงน่าจะเป็นทางออกสำหรับการเปิดโรงเรียนได้ตามปกติ

 

แต่เนื่องจากเด็ก/วัยรุ่นเป็นกลุ่มเปราะบาง (ปกติผู้ใหญ่แข็งแรงกว่า และไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครอง) ประกอบกับผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวมีอัตราป่วยเสียชีวิตสูงมาก การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในช่วงแรกจึงไม่ได้ทดลองในเด็ก/วัยรุ่น ต่อมาเมื่อประสบความสำเร็จในผู้ใหญ่แล้ว จึงมีการทดลองในกลุ่มอายุที่ต่ำกว่า 16-18 ปีลงมา

 

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2021 องค์การอาหารและยา (FDA) แห่งสหรัฐฯ ได้อนุมัติการใช้ในภาวะฉุกเฉิน (EUA) ให้วัคซีน Pfizer-BioNTech ใช้ในวัยรุ่นอายุ 12-15 ปีได้ 

 

โดย ดร.โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แห่งสหรัฐฯ กล่าวสนับสนุนว่า “นี่เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้หลุดพ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และขยับเข้าใกล้ภาวะปกติ (Normalcy)” เพราะประชากรวัยรุ่นในสหรัฐฯ มีมากถึง 17 ล้านคน และผู้ปกครองจะมีความมั่นใจว่าครอบครัวได้รับการปกป้อง

 

การทดลองวัคซีน Pfizer ในวัยรุ่น

 

ผลการทดลองวัคซีน Pfizer เฟส 3 ในกลุ่มวัยรุ่น 12-15 ปี ยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่ทางบริษัทได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2021 อย่างที่หลายคนอาจได้ยินข่าวมาก่อนหน้านี้ และได้ยื่นผลการวิเคราะห์นี้ให้ FDA พิจารณา ซึ่งเมื่อ FDA อนุมัติก็ได้เพิ่มรายละเอียดส่วนนี้ไว้ให้ศึกษาในเอกสารกำกับยาด้วย

 

การทดลองนี้ศึกษาในอาสาสมัครอายุระหว่าง 12-15 ปีในสหรัฐฯ จำนวน 2,260 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้วัคซีนจริงและวัคซีนหลอก (Placebo) อย่างละครึ่ง โดยเป็นขนาดเดียวกับที่ฉีดในผู้ใหญ่ ตารางการฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ เปรียบเทียบการติดเชื้อแบบมีอาการหลังได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้ว 7 วัน ค่ามัธยฐานในการติดตามเท่ากับ 2 เดือน พบว่า

 

  • มีผู้ติดเชื้อจำนวน 18 ราย ทั้งหมดอยู่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอก (แต่ถ้าตัดผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนจะเหลือ 16 ราย)
  • จึงถือว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 100% (ช่วงความเชื่อมั่น 95%: 78.1-100.0%)

 

นอกจากนี้ยังมีศึกษาการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Neutralizing Antibody) ต่อไวรัสในกลุ่มอายุ 12-15 ปี (เทียบเท่าการทดลองเฟส 2) เทียบกับกลุ่มอายุ 16-25 ปี ซึ่งเคยศึกษามาก่อนแล้ว พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิได้เหมือนกัน (Non-inferior) ผลการทดลองเฟส 2/3 นี้ ทำให้บริษัทมั่นใจว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในกลุ่มวัยรุ่นเหมือนกับในกลุ่มผู้ใหญ่

 

สำหรับความปลอดภัย ไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรงหรือเสียชีวิตที่เกี่ยวกับวัคซีน ส่วนอาการข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ 

 

  • ปวดบริเวณที่ฉีด (90.5%)
  • อ่อนเพลีย (77.5%)
  • ปวดศีรษะ (75.5%)
  • หนาวสั่น (49.2%)
  • ปวดกล้ามเนื้อ (42.2%)
  • ไข้ (24.3%)
  • ปวดข้อ (20.2%)
  • บวม/แดงบริเวณที่ฉีด (9.2/8.6%)
  • ต่อมน้ำเหลืองโต (0.8%) 
  • คลื่นไส้ (0.4%)

 

“ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าวัคซีนสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้หรือไม่ และยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าวัคซีนจะสามารถการป้องกันโรคได้นานเท่าไร” FDA ระบุในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ทั้งนี้ “ในการยื่นขออนุมัติการใช้ในกรณีฉุกเฉิน บริษัท Pfizer ได้ยื่นแผนการติดตามความปลอดภัยของวัคซีนอย่างต่อเนื่องและทันเวลา”

 

ถึงแม้วัยรุ่นที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีความรุนแรงต่ำกว่าผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ แต่ก็มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคและภาวะแทรกซ้อน และด้วยอาการป่วยเล็กน้อย วัยรุ่นมีโอกาสที่จะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อได้ ข้อมูลในผู้ใหญ่ วัคซีน Pfizer และ AstraZeneca สามารถลดการแพร่เชื้อได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนในวัยรุ่นจึงน่าจะมีประโยชน์มากกว่าโทษ

 

เมื่อสัปดาห์ก่อนบางท่านน่าจะได้ยินข่าวว่า CDC ปรับคำแนะนำในการสวมหน้ากากฯ ใหม่ว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้โดยไม่ต้องสวมหน้ากากฯ เวลา ดร.โรเชลล์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ก็มักจะพ่วงเหตุผลว่าวัยรุ่นสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้แล้ว (ซึ่งจะสามารถทำให้ถึงระดับภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วขึ้น)

 

สิงคโปร์อนุมัติการฉีดวัคซีนในวัยรุ่นแล้ว

 

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2021 องค์การวิทยาศาสตร์สุขภาพ (HSA) สิงคโปร์ ได้อนุมัติการใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech ในกลุ่มอายุ 12-15 ปี คล้อยหลังสหรัฐฯ 1 สัปดาห์ โดยอ้างถึงผลการศึกษาเดียวกัน ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาทั้งความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความคงทนของวัคซีน รวมถึงรูปแบบการศึกษาทางคลินิกในกลุ่มอายุนี้แล้ว 

 

หลังจากนี้ “กระทรวงสาธารณสุขจะทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน และแจ้งกำหนดการให้ประชาชนทราบในภายหลัง” การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดหลายคลัสเตอร์ รวมถึงโรงเรียนกวดวิชา และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ทุกโรงเรียนเปลี่ยนเป็นการเรียนจากที่บ้านจนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม

 

ตัดกลับมาที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันว่าบริษัท Pfizer จะสามารถส่งวัคซีนให้ได้ในช่วงไตรมาศ 3 และ 4 ของปีนี้ ประมาณ 10-20 ล้านโดส สำหรับเด็กอายุ 12-18 ปี แต่จนถึงปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติจาก อย. ยังไม่มีชื่อของวัคซีนนี้แต่อย่างใด

 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง:

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X