×

เปิดปมวิกฤตการเมืองเปรู: ทำไมชาวเปรูขับไล่ผู้นำหญิงคนแรกพ้นอำนาจ

03.08.2023
  • LOADING...
วิกฤตการเมืองเปรู

ความรุนแรงทางการเมืองมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในลาตินอเมริกา โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวากันอย่างชัดเจนในแต่ละประเทศ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมามีอำนาจก็มักจะได้รับการต่อต้านจากอีกฝ่ายหนึ่ง 

 

สำหรับบทความนี้จะพาไปเจาะลึกความรุนแรงทางการเมืองในเปรูที่มีมาตั้งแต่ปลายปี 2022 และยังมีแนวโน้มดำเนินต่อไปอีกยาวนาน ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลดราวาศอกและประนีประนอมต่อกัน

 

‘ความเหลื่อมล้ำ’ ต้นตอวิกฤตใหญ่ในเปรู

 

ที่มาของปัญหาทั้งหมดนั้นมาจาก ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในทุกมิติของเปรู นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสเปนในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แม้กระทั่งในยุคโลกาภิวัตน์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความแตกต่างระหว่างชนบทกับเมืองกลับเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเมืองขนาดใหญ่สามารถเพิ่มศักยภาพของตนเองในการสร้างความร่ำรวยและความมั่งคั่งได้ ขณะที่เมืองเล็กๆ ต่างต้องแย่งชิงทรัพยากรและบุคลากรจากเมืองใหญ่ ประชาชนส่วนมากในชนบทไม่สามารถออกเสียงเลือกตั้งได้จนถึงปี 1979 เมื่อรัฐธรรมนูญเปรูอนุญาตให้ประชาชนออกเสียงได้ แม้จะไม่รู้หนังสือก็ตาม 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างปี 1991-2021 ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง 11 จาก 18 คนของเปรู เป็นคนที่อาศัยอยู่ในกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรู โดยการกระจายของความร่ำรวยในช่วงระยะเวลานี้เป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองหลวงและเมืองท่าใหญ่ๆ กับเมืองในชนบท นำไปสู่ความวุ่นวายและแตกแยกระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมือง ทำให้การเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่เมืองหลวง นับวันจะยิ่งก่อให้เกิดความแตกแยกต่อคนภายในประเทศ

 

ในช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโอยันตา อูมาลา (คนที่ 58), เปโดร พาโบล คุชซินสกี (คนที่ 59) และ มาร์ติน บิซการ์รา (คนที่ 60) รัฐสภาเปรูถูกครอบงำโดยกลุ่มฝ่ายขวา ซึ่งนำโดย เคโกะ ฟูจิโมริ ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ (คนที่ 54) ผู้ที่สามารถปราบปรามกลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายเหมาอิสต์อย่าง Shining Path และกลุ่ม Túpac Amaru Revolutionary Movement ได้สำเร็จ 

 

แต่ต่อมา อัลแบร์โต ฟูจิโมริ ถูกศาลตัดสินให้จำคุกข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังจากที่เคโกะพ่ายแพ้การเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับเปโดร พาโบล คุชซินสกี ในปี 2016 ทำให้เคโกะ ฟูจิโมริ ได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา ซึ่งเป็นรูปแบบสภาเดี่ยว หลังจากที่คุชซินสกีถูกต่อต้านอย่างหนัก ไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐสภา รวมถึงถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชัน ส่งผลให้ประธานาธิบดีเปโดร พาโบล คุชซินสกี ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ และทำให้รองประธานาธิบดีอันดับที่ 1 อย่างมาร์ติน บิซการ์รา ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนในเดือนมีนาคม 2018 

 

ในช่วงที่โควิดกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในเปรู ประธานาธิบดีมาร์ติน บิซการ์รา ถูกถอดถอนโดยรัฐสภาในเดือนกันยายน 2020 ส่งผลให้คนจำนวนมากออกมาต่อต้านการถอดถอนดังกล่าวในช่วงเวลานั้น ต่อมาประธานรัฐสภา มานูเอล เมริโน ก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเปรู (คนที่ 61) อยู่ 5 วัน ก็ถูกกดดันจากประชาชนให้ต้องลาออก ส่งผลให้ ฟรานซิสโก ซากัสตี ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2020 ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเปรู (คนที่ 62) แทนในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2020 เนื่องจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีทั้งสองตำแหน่งว่างเว้นมาตั้งแต่สมัยมาร์ติน บิซการ์รา ในปี 2018 

 

ชัยชนะจากมหาชนของ ‘เปรโด กัสติโย’ ก่อนถูกถอดถอน

 

ประธานาธิบดีฟรานซิสโก ซากัสตี อยู่ในตำแหน่ง จนกระทั่งเปโดร กัสติโย ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเปรู (คนที่ 63) ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2021 ขณะที่เคโกะ ฟูจิโมริ พ่ายแพ้ในการแข่งขันรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน 

 

ขณะเดียวกันในการเลือกตั้งครั้งนี้พบว่า ผู้นำสายอนุรักษนิยม พวกที่เคร่งในคริสต์ศาสนา นักธุรกิจ พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อย กองทัพ รวมถึงกลุ่มทุนสื่อขนาดใหญ่ สื่อโทรทัศน์และสื่อวิทยุ ต่างให้การสนับสนุนเคโกะ ฟูจิโมริ อย่างออกหน้าออกตา หนังสือพิมพ์ El Comercio สื่อสิ่งพิมพ์อนุรักษนิยมขนาดใหญ่ในเปรูก็เป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่เปโดร กัสติโย ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นแรงงาน ชนพื้นเมือง ผู้ซึ่งต่างได้รับผลกระทบของการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของรัฐบาลในอดีต อีกทั้งกัสติโยยังได้รับเสียงสนับสนุนจากบรรดาคนชายขอบของกรุงลิมาและเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ไม่ใช่เมืองหลวงอีกเป็นจำนวนมาก

 

ที่ผ่านมามีความพยายามขัดขวางหรือถอดถอนกัสติโยออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเปรูอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กัสติโยได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเปรูเมื่อปี 2021 โดยเคโกะ ฟูจิโมริ และผู้สนับสนุนของเธอต่างประกาศว่ามีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น ทำให้ชนชั้นสูงในกรุงลิมา กลุ่มนักธุรกิจ และนักการเมืองในรัฐสภา ประกาศไม่ยอมรับชัยชนะของกัสติโย ขณะที่อดีตผู้นำกองทัพและบรรดานายทุนทั้งหลายต่างเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ หรือแม้กระทั่งเรียกร้องให้มีการรัฐประหารล้มล้างผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างกัสติโย

 

ในระหว่างที่เปโดร กัสติโย ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รัฐสภาเต็มไปด้วยผู้นำสายอนุรักษนิยมที่ต่อต้านเขา มีความพยายามถอดถอนเขาจากตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่หลายครั้ง ซึ่งในรัฐธรรมนูญของเปรูฉบับปี 1993 รัฐสภาสามารถยื่นถอดถอนประธานาธิบดีได้ หากประธานาธิบดีประพฤติมิชอบด้วยกฎหมาย ดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญจะให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่าฝ่ายบริหาร นับจนถึงเดือนธันวาคม 2022 รัฐสภาเริ่มรวบรวมเสียงเพื่อยื่นถอดถอนกัสติโยอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 ทำให้เขาถูกกล่าวหาว่ามีความผิดทางอาชญากรรมถึง 6 ข้อกล่าวหา

 

ก่อนจะถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2022 มีการเดินขบวนใหญ่ใจกลางกรุงลิมาเพื่อเรียกร้องให้ยุบสภา และสนับสนุนประธานาธิบดีเปโดร กัสติโย ซึ่งการเดินขบวนครั้งนี้นำโดย ‘ขบวนการประชาชนแห่งชาติ’ รวมทั้งสหพันธ์เกษตรกรชนบทแห่งเปรู โดยวันที่ 7 ธันวาคม 2022 ในขณะที่รัฐสภากำลังยื่นถอดถอนกัสติโยในข้อหา ‘ไร้ความสามารถโดยสิ้นเชิงในการบริหารประเทศ’ กัสติโยได้ชิงประกาศยุบสภาและประกาศสภาวะฉุกเฉิน ส่งผลให้รัฐมนตรีหลายคนลาออกจากตำแหน่งทันที รวมถึงนายกรัฐมนตรีหญิงในขณะนั้นอย่าง เบตซ์ซี ชาเบส 

 

ศาลรัฐธรรมนูญได้ประกาศโดยทันทีว่าการกระทำของเปโดร กัสติโย เป็น ‘การรัฐประหารตัวเอง’ กองทัพมีสิทธิ มีอำนาจในการปกป้องรัฐธรรมนูญ โดยกองทัพก็ได้ปฏิเสธการยุบสภาของรัฐบาลกัสติโย และขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ ขณะเดียวกันรัฐสภาเปรูก็เรียกประชุมรัฐสภาอย่างเร่งด่วนและประกาศถอดถอนกัสติโยด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 101 เสียง คัดค้าน 6 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง พร้อมประกาศให้รองประธานาธิบดีคนที่ 1 อย่าง ดินา โบลูอาร์เต ผู้ซึ่งประกาศไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกัสติโย ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของเปรู (คนที่ 64)

 

กระแสต่อต้าน ‘ประธานาธิบดีหญิงคนแรก’ ของเปรู

 

การเดินขบวนต่อต้านของประชาชนเริ่มขึ้น เมื่อมีการขับประธานาธิบดีเปโดร กัสติโย ออกจากตำแหน่งในวันที่ 7 ธันวาคม 2022 ขณะเดียวกันประชาชนในเปรูมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองก็ยังได้แสดงพลังต่อต้านรัฐสภาเปรูอีกด้วย โดยการประท้วงนั้นไม่มีผู้นำที่ชัดเจนและประชาชนส่วนใหญ่ที่ประท้วงก็เป็นกลุ่มคนรากหญ้า เป็นกลุ่มหัวเอียงซ้าย รวมถึงประชาชนที่เป็นชนพื้นเมืองที่รู้สึกว่าตนเองถูกลิดรอนสิทธิทางการเมือง จึงพร้อมใจกันออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง 

 

ประธานาธิบดีเปโดร กัสติโย ถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกจับกุมตัว หลังจากที่เขาพยายามจะประกาศยุบรัฐสภาและตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้นมาใหม่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการรัฐประหารตัวเองโดยสื่อบางสำนัก ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีกัสติโยกลับมองว่ารัฐสภาพยายามจะกำจัดกัสติโยให้พ้นเส้นทางการเมืองระดับชาติ ส่วนประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเปรูอย่างดินา โบลูอาร์เต รวมทั้งรัฐสภาของเปรูต่างไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยได้คะแนนความนิยมเป็นลำดับสุดท้ายเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกา 

 

โดยข้อเรียกร้องที่สำคัญของกลุ่มผู้ประท้วงคือต้องการให้ยุบสภา ให้ประธานาธิบดีดินา โบลูอาร์เต ลาออกจากตำแหน่ง และจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยเร็วที่สุด พร้อมปล่อยตัวอดีตประธานาธิบดีกัสติโย และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทั้งนักวิชาการ สมาคมหอการค้า ต่างก็ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาความวุ่นวายที่จะบานปลายออกไปมากกว่านี้

 

ขณะเดียวกันรัฐบาลของประธานาธิบดีดินา โบลูอาร์เต ได้กล่าวหาผู้ประท้วงว่าเป็นพวกบ่อนทำลายประชาธิปไตย และได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2002 พร้อมจำกัดสิทธิบางประการของประชาชนชาวเปรู เช่น จำกัดการเดินทาง ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืน ห้ามรวมกลุ่มกันเป็นเวลา 30 วัน ขณะเดียวกันกองทัพและกองกำลังตำรวจต่างก็ใช้มาตรการรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจนถึงปัจจุบันกว่า 60 คน มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 600 คน ขณะที่อีกราว 380 คนถูกควบคุมตัว 

 

ประเด็นการทรมานผู้ที่ถูกจับกุมตัวนั้นได้รับการนำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ มากมาย ซึ่งรัฐบาลของประธานาธิบดีโบลูอาร์เตได้ปฏิเสธ และให้การชื่นชมต่อกองทัพและกองกำลังตำรวจในการปฏิบัติการดังกล่าว โดยพวกอนุรักษนิยมและรัฐบาลของประธานาธิบดีโบลูอาร์เตยังได้กล่าวหาผู้ประท้วงบางรายว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ ซึ่งเป็นแนวทางเก่าๆ ที่รัฐบาลเปรูในยุคสงครามเย็นมักใช้กล่าวหาขั้วตรงข้าม

 

ทางด้าน Clément Nyaletsossi Voule ผู้เสนอรายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติได้รายงานว่า ไม่พบหลักฐานของการมีผู้ก่อการร้ายในการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ ขณะที่องค์การสิทธิมนุษยธรรมสากลได้วิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโบลูอาร์เตกระทำต่อผู้ประท้วง รัฐมนตรีหลายคนลาออกเพื่อประท้วงการลุแก่อำนาจและการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเปรู ส่งผลให้อัยการสูงสุดของเปรูอย่าง แพทริเซีย เบนาบิเดส ประกาศเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2023 ว่าจะหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการกระทำเกินกว่าอำนาจ รวมถึงการสั่งการให้ปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยมของประธานาธิบดีโบลูอาร์เต รวมถึงนายกรัฐมนตรี อัลแบร์โต โอตาโรลา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บิกตอร์ โรฆัส และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอย่าง ฆอร์เฆ ชาเบส

 

ขณะที่สื่อต่างๆ ของเปรูได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่าให้การสนับสนุนรัฐบาลและต่อต้านการชุมนุมของประชาชน มีการสังหารผู้นำการประท้วงที่เป็นชาวพื้นเมือง 2 คนทางตอนใต้ของเปรู แต่กลับไม่ได้รับการนำเสนอข่าวผ่านสื่อของเปรู 

 

นอกจากนี้การที่ทหารและกองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในประเทศสร้างความกังวลใจให้กับประชาชนชาวเปรูอย่างมากว่า ทหารจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองและกลับมามีอำนาจในประเทศอีกครั้ง ขณะที่สมาชิกของรัฐสภาราว 1 ใน 3 เป็นพวกอนุรักษนิยมซึ่งต่อต้านความพยายามในการปฏิรูปประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปให้เร็วขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต่อต้านการถอดถอนประธานาธิบดีดินา โบลูอาร์เต ในวันที่ 9 มีนาคม 2023 ก่อนที่กฎอัยการศึกจะถูกยกเลิกในเขตพื้นที่ของกรุงลิมา เมืองหลวงของประเทศเปรู เนื่องจากการประท้วงที่เบาบางลง 

 

ทางด้านศาลฎีกาของเปรูได้ประกาศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2023 ว่า การชุมนุมประท้วงของประชาชนเป็นสิ่งผิดกฎหมายและจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ การประกาศดังกล่าวได้สร้างความโกรธเคืองให้ประชาชนชาวเปรูเป็นอย่างมากจนนำไปสู่การประท้วงใหญ่ นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

เราอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ความแตกแยกจนนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองในปัจจุบันของเปรูนั้นเป็นที่จับตามองของนานาประเทศ ไม่เฉพาะแต่บรรดาประเทศภายในลาตินอเมริกาอย่างอาร์เจนตินา โบลิเวีย โคลอมเบีย เม็กซิโก บราซิล และชิลี ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐสภาเปรู ประธานาธิบดี กองทัพ และกองกำลังตำรวจ ให้เคารพในเสียงของประชาชน แต่ยังรวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเองที่ต่างก็ต้องการให้คืนอำนาจให้กับประชาชน โดยจัดให้มีการเลือกตั้งและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว

 

ภาพ: Ernesto Benavides / AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising