×

ลูกน้องมีปัญหาส่วนตัวจนส่งผลกระทบต่อเรื่องงาน จะทำอย่างไรดีคะ

18.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • อย่างแรกผมคิดว่าเราควรแสดงความเห็นอกเห็นใจกับลูกน้อง ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่เดียวดาย มันไม่มีคำว่าเรื่องงานต้องมาก่อน เรื่องส่วนตัวต้องมาทีหลัง เพราะเอาจริงๆ ทั้งสองอย่างนี้เชื่อมโยงกันอยู่ ถ้าเรื่องส่วนตัวพังพินาศจะเอาพลังที่ไหนมาทำงาน ถ้างานแย่มากก็เครียดจนส่งผลกระทบกับเรื่องส่วนตัวเหมือนกัน
  • รับฟัง บางทีคนเราไม่ได้ต้องการคำปรึกษา ไม่ได้ต้องการความเห็น ไม่ได้ต้องการคนมาตัดสิน เขาแค่ต้องการคนรับฟัง เพราะฉะนั้น คุณควรวางตัวในฐานะผู้รับฟังมากกว่าเป็นผู้ให้คำปรึกษา บางทีระหว่างที่เขาพูดไปนั้นมันคือกระบวนการคิดทบทวนด้วยตัวเอง มันจะทำให้เขาคิดได้โดยที่เราไม่ต้องไปชี้บอกว่าเขาต้องทำอย่างไร
  • ในฐานะหัวหน้าต้องรู้กฎของบริษัทให้ดีก่อนว่ามีช่องทางไหนที่จะช่วยเหลือน้องได้บ้าง แต่ถ้าเราจะให้น้องลา จะอนุญาตให้ลาได้เท่าไร มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ตกลงกับลูกน้องให้ดีว่าขอบเขตมันแค่ไหน เมื่อกลับมาแล้ว แปลว่าเขาต้องแข็งแกร่งขึ้นได้แล้ว ถ้ากลับมาแล้วยังเละๆ เทะๆ ก็ไม่ได้แล้ว เขาต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองเหมือนกัน

Q: สวัสดีค่ะ ตอนนี้กำลังประสบปัญหาว่าลูกน้องมีปัญหาส่วนตัว ซึ่งกระทบจิตใจอย่างมากจนไม่เป็นอันทำงาน งานก็เลยเสียไปด้วย จะดุก็รู้สึกว่าชีวิตลูกน้องกำลังเจอปัญหาอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างงานก็จะพังไปหมด ควรทำอย่างไรดีคะ

 

A: ลูกน้องคุณโชคดีนะครับที่มีหัวหน้าที่เป็นห่วงความรู้สึกลูกน้องแบบนี้ แม้เราจะมาเจอกันด้วยเหตุผลเรื่องหน้าที่การงาน แต่อีกมุมหนึ่งเราทุกคนเกี่ยวข้องกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ เอาแต่เรื่องงานอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของมนุษย์ด้วยกันก็คงไม่ดี เพราะฉะนั้น ถูกแล้วครับที่คุณนึกถึงความรู้สึกของลูกน้อง แต่ก็อย่างที่คุณคิดนั่นแหละครับว่า ไม่ทำอะไรสักอย่างงานก็จะพังไปด้วย

 

ลองคิดแทนลูกน้องนะครับว่า ถ้าเราเป็นลูกน้องที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะอยากให้คนรอบข้างปฏิบัติต่อเราอย่างไร นั่นแหละครับคือคำตอบว่าเราควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

 

อย่างแรกผมคิดว่าเราควรแสดงความเห็นอกเห็นใจกับลูกน้อง ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่เดียวดาย มีคนให้กำลังใจเขาอยู่ อย่าตัดสินเขาว่าปัญหาแค่นี้เองทำไมจัดการไม่ได้ มันไม่มีคำว่าเรื่องงานต้องมาก่อน เรื่องส่วนตัวต้องมาทีหลัง เพราะเอาจริงๆ ทั้งสองอย่างนี้เชื่อมโยงกันอยู่ ถ้าเรื่องส่วนตัวพังพินาศจะเอาพลังที่ไหนมาทำงาน ถ้างานแย่มากก็เครียดจนส่งผลกระทบกับเรื่องส่วนตัวเหมือนกัน ขึ้นชื่อว่าความทุกข์ มันทุกข์แบบไม่แบ่งแยกกันหรอกครับ

 

เพราะฉะนั้น จะดีขนาดไหนถ้าวันนี้ลูกน้องคุณอาจจะรู้สึกแย่กับเรื่องส่วนตัว แต่เราซึ่งอยู่ในที่ทำงานทำให้เขารู้สึกว่าอย่างน้อยมันก็ไม่ได้แย่ไปหมดทุกเรื่อง และต่อให้เขารู้สึกว่าเขาไม่มีใคร แต่นี่ไง ยังมีหัวหน้าอยู่ที่พร้อมจะเข้าใจเขา

 

สิ่งที่ควรระวังคือการถามละลาบละล้วง บางเรื่องถ้าคนที่เผชิญปัญหาอยู่ไม่อยากเล่าออกมา เราก็ไม่จำเป็นต้องไปถาม เพราะเขาอาจจะไม่สบายใจที่อยากจะเล่า เราควรทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นกำลังใจให้เขา และถ้าเขาต้องการระบาย เราก็พร้อมจะรับฟัง

 

การรับฟังนี่มันมีพลังมากเลยนะครับ บางทีคนเราไม่ได้ต้องการคำปรึกษา ไม่ได้ต้องการความเห็น ไม่ได้ต้องการคนมาตัดสิน เขาแค่ต้องการคนรับฟัง เพราะฉะนั้น คุณควรวางตัวในฐานะผู้รับฟังมากกว่าเป็นผู้ให้คำปรึกษา เพราะบางครั้งความคิดเห็นของเราอาจจะไปทำร้ายเขาได้ หรือความคิดเห็นบางอย่างจากคนนอกอาจเป็นการตัดสินตัวเขา ซึ่งอาจทำให้เขารู้สึกไม่ดีกว่าเดิม ปล่อยให้เขาพูดออกมาให้มากที่สุดและจบที่ตรงนั้น บางทีระหว่างที่เขาพูดไปนั้นมันคือกระบวนการคิดทบทวนด้วยตัวเอง มันจะทำให้เขาคิดได้โดยที่เราไม่ต้องไปชี้บอกว่าเขาต้องทำอย่างไร เราต้องให้เขาคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง

 

ถ้าเขายินดีอยากจะเล่าให้คุณฟัง คุณก็ต้องแสดงออกว่าคุณพร้อมจะรับฟัง คุณจะเก็บความลับ คุณจะไม่ตัดสิน คุณจะฟังเขาให้มากกว่าที่เป็นคนพูด คุณจะมีเวลาให้เขา อยากเล่าให้ฟังเมื่อไรก็พร้อมจะรับฟัง เวลาแบบนี้เราต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความหมายสำหรับเรา

 

ก่อนที่จะเสนอความช่วยเหลือใดๆ คุณในฐานะหัวหน้าต้องรู้กฎของบริษัทให้ดีก่อนว่ามีช่องทางไหนที่จะช่วยเหลือน้องได้บ้าง เช่น ถ้าดูทรงแล้วน้องท่าทางจะไม่สบายใจจริงๆ จนไม่เป็นอันทำงาน ให้น้องลาไปพัก ไปจัดการกับชีวิตตัวเองก่อนดีไหมครับ แต่ถ้าเราจะให้น้องลา จะอนุญาตให้ลาได้เท่าไร มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง อันนี้ต้องมาคุยกัน บางบริษัทที่เป็นบริษัทรุ่นใหม่ๆ เขาให้สิทธิ์ลูกน้องลาอกหักได้ ซึ่งผมว่ามันแสดงให้เห็นว่าบริษัทห่วงใยคนทำงานแค่ไหน แต่เรื่องแบบนี้ผมคิดว่าต้องแล้วแต่วิสัยทัศน์ของหัวหน้าเหมือนกันว่าจะเลือกแบบไหน จะยึดตามกฎตายตัวหรือจะยึดความรู้สึกของคนเป็นหลัก อันนี้อยู่ที่คุณเลยครับ

 

บางคนอาจจะมองว่า ถ้าเราให้สิทธิพิเศษกับคนขนาดนี้ มันจะทำให้เขาใช้สิทธิ์นั้นมากเกินไปหรือเปล่า แต่ผมมองแบบนี้ครับว่า ยิ่งเราเข้าใจเขามากเท่าไร เขาจะยิ่งเกรงใจเรา และไม่กล้านอกลู่นอกทาง ถ้าเราให้สิทธิ์เขาแล้วและเขาเอาไปใช้เลยเถิด เสียงานเสียการ มันก็จะกลับมาทำร้ายตัวเขาเองครับ ผมคิดว่าตรงนี้เราต้องตกลงกับลูกน้องให้ดีว่าขอบเขตมันแค่ไหน เช่น เราให้ลาไปพักจัดการชีวิตได้ แต่ไปได้กี่วัน ระหว่างนั้นเราจะไม่รบกวนเขาเรื่องงาน ให้เขาพักเต็มที่ แต่เมื่อกลับมาแล้ว แปลว่าเขาต้องแข็งแกร่งขึ้นได้แล้ว ถ้ากลับมาแล้วยังเละๆ เทะๆ ก็ไม่ได้แล้ว เขาต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองเหมือนกัน

 

กลับไปเรื่องเดิมครับว่า ยิ่งเราทำให้เขารู้ว่าเรารักเขาแค่ไหน เขาก็จะรักษาความรักเรามากเท่านั้น ถ้าเราให้เขาเยอะๆ เขาก็จะรู้สึกครับว่า หัวหน้าเป็นห่วงเขาขนาดนี้ มีคนให้กำลังใจเขาขนาดนี้ มันก็ต้องลุกขึ้นมาให้ได้ล่ะวะ!

 

เราทำให้เขารู้สึกว่าเราพร้อมจะเป็นกำลังใจให้เขา แล้วลองฟังลูกน้องก่อนครับว่าเขาอยากให้เราช่วยอะไรบ้างหรือเปล่า ให้เขาพูดออกมาก่อน มันจะช่วยให้เราช่วยเหลือเขาได้ตรงจุด บางทีเขาอาจจะไม่ได้ต้องการอะไรมากมายไปกว่าการรับฟัง หรือแค่อยากให้เราช่วยดูแลไม่ให้งานช่วงนี้มันมากเกินไปในสภาพที่จิตใจยังไม่พร้อมแค่นั้นเอง

 

ตอนนี้คนเขาล้มอยู่ เราต้องทำให้เขารู้สึกว่ามีคนเป็นห่วงเขาอยู่ และต้องไม่ให้เขารู้สึกโทษตัวเองว่าเขากำลังทำให้คนอื่นลำบากอยู่ ถือว่าเราช่วยกันด้วยใจ เราทำงานกันเป็นทีม เราดูแลกันและกัน ตอนนี้คนหนึ่งอ่อนแออยู่ เราต้องเป็นความเข้มแข็งให้เขา ปล่อยให้เขาได้อ่อนแอให้เต็มที่ก่อน เมื่อเขาพร้อมแล้ว เขาจะลุกขึ้นมาใหม่ มาเป็นความแข็งแกร่งให้กับทีมอีกครั้ง และเมื่อใครอ่อนแอขึ้นมา เขาคนเดิมที่เคยอ่อนแอและได้รับการดูแลจากทีมที่แข็งแกร่งนี่แหละครับจะกลับมาดูแลคนอื่นๆ เพราะเขาเข้าใจแล้วว่าทีมที่ดูแลกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันเป็นอย่างไร

 

ฝากไว้อีกเรื่องคือ เวลาคนมีความทุกข์มาระบายให้เราฟัง พยายามรับฟังแต่ไม่ต้องแบกมาเป็นทุกข์ของเรานะครับ รักเขาแค่ไหนแต่ถ้าแบกมาเป็นทุกข์ของเราด้วยก็เป็นการทำร้ายตัวเอง เพราะฉะนั้น เห็นใจน้องได้ ให้กำลังใจน้องได้ ช่วยน้องได้ แต่อย่าลืมเติมความแข็งแกร่งให้ตัวเองนะครับ เดี๋ยวจะพังครืนตามไปกันหมด

 

ส่งใจไปช่วยคุณ และฝากกำลังใจไปให้น้องด้วยอีกคนนะครับ

 

พยายาม

 

ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

 

*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising