×

เมื่อประจำเดือนเป็นประจำวัน

05.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • ใน 1 รอบประจำเดือน ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยเกิน 16 ผืน หรือวันหนึ่งไม่ควรใช้เกิน 1 กล่อง (10 ผืน) หากต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2 ชั่วโมง สันนิษฐานได้ว่าประจำเดือนมามากผิดปกติ

     ‘ถ้าประจำเดือนมาเกินหนึ่งครั้งในเดือนเดียว เป็นไปได้ไหม และควรแก้ไขอย่างไร’ ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับประจำเดือนกันก่อน ประจำเดือน แปลว่ามาเดือนละครั้ง หากประจำเดือนมาบ่อยเป็นประจำวัน หรือประจำสัปดาห์ ถือว่าผิดปกติ แต่ประจำเดือนผิดปกตินั้นพบได้บ่อยค่ะ

     จากการสำรวจผู้หญิงอายุ 18-50 ปีในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้หญิงอเมริกันประจำเดือนผิดปกติเป็นจำนวนร้อยละ 5.3 แต่ทีนี้จะทราบได้อย่างไรว่าแบบไหนเรียกว่าประจำเดือนผิดปกติกัน?

 

ประจำเดือนผิดปกติมีลักษณะดังนี้ค่ะ

      1. มามาก เลือดประจำเดือนต้องมาไม่เกิน 80 ซีซีต่อหนึ่งรอบ แต่มีน้อยคนที่ใช้คัพหรือถ้วยตวงประจำเดือน วิธีง่ายๆ ก็คือนับจากผ้าอนามัยขนาดปกติ ผืนหนึ่งซับได้ประมาณ 5 ซีซี ดังนั้นรอบหนึ่ง ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยเกิน 16 ผืน หรือวันหนึ่งไม่ควรใช้เกิน 1 กล่อง (10 ผืน) หากต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2 ชั่วโมง สันนิษฐานได้ว่าประจำเดือนมามากผิดปกติ

      2. มาน้อย น้อยกว่า 5 ซีซี ต่อหนึ่งรอบประจำเดือน โดยไม่ได้ใช้ฮอร์โมน หรือยาคุมกำเนิด

      3. มาถี่ ชื่อว่าประจำเดือน แปลว่ามาเดือนละครั้ง แต่อันที่จริงรอบประจำเดือนที่ปกติ อยู่ที่ 24-38 วัน หากมาถี่กว่านี้ หรือมานานกว่านี้ ถือว่าผิดปกติ การที่จะทราบว่าปกติหรือไม่ ต้องจดประจำเดือน นับจากวันแรกของประจำเดือนเดือนที่แล้ว ถึงวันแรกของประจำเดือนเดือนนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งรอบโดยทั่วไป แต่ละรอบควรใกล้เคียงกัน หรือห่างกันไม่เกิน 7-9 วัน

      4. มานาน ประจำเดือนที่มานานเกิน 8 วันถือว่าผิดปกติ เฉลี่ยมานาน 4-8 วัน

      5. มากะปริดกะปรอย ประจำเดือนมาแล้วต้องหยุดสนิท หากหยุดๆ มาๆ ทั้งเดือน ถือว่าผิดปกติ

      6. มาพร้อมเลือดก้อน ประจำเดือนปกติมีลิ่มเลือดเล็กๆ มีเศษเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดออกมาปนถือว่าปกติ แต่หากมีเลือดก้อนปนออกมาขนาดใหญ่เกิน 1 นิ้ว ถือว่าผิดปกติ

      7. มีกลิ่น มีไข้ ปวดท้อง พร้อมเลือดออก ที่เรียกไข้ทับระดู มักเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ

      8. มีประจำเดือนในวัยทอง หากหมดประจำเดือนตามธรรมชาตินานต่อเนื่องกัน 1 ปีแล้วมีประจำเดือนมาอีก ถือว่าผิดปกติ โดยการหมดประจำเดือนที่ว่าไม่ได้เกิดจากการใช้ฮอร์โมน หรือรักษาโรค

      9. สีประจำเดือนผิดปกติ สีปกติของประจำเดือนจะเป็นสีแดงคล้ำเล็กน้อยเหมือนสีของเลือดดำ หากมีสีผิดปกติร่วมกับประจำเดือนผิดปกติ อาจเกิดจากโรค เช่น ประจำเดือนสีจาง เหมือนน้ำล้างเนื้อ อาจเกี่ยวข้องกับโลหิตจาง ประจำเดือนสีเหมือนน้ำเหลือง อาจเกี่ยวข้องกับเนื้องอกหรือมะเร็ง เลือดประจำเดือนสีสดจำนวนมาก อาจเกิดจากเนื้องอก มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งโพรงมดลูก

 

สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนผิดปกติที่พบบ่อยมีดังนี้ค่ะ

      1. ฮอร์โมนรังไข่ผิดปกติ จากการทำงานของระบบฮอร์โมน (HPO Axis) ยังไม่สมบูรณ์ กรณีมักเป็นกับวัยรุ่น เครียดจัด ออกกำลังกายหนักมากไป ผอมมาก

      2. เป็นโรคเลือด มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง ฯลฯ ทำให้เลือดออกง่าย

      3. ตั้งครรภ์ เป็นอาการจะแท้งลูก ตั้งครรภ์นอกมดลูก

      4. มีการอักเสบติดเชื้อที่ปากมดลูก โพรงมดลูก ปีกมดลูก หรืออุ้งเชิงกราน

      5. มะเร็งปากมดลูก เลือดออกผิดปกติ มักออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์

      6. มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ เลือดประจำเดือนออกผิดปกติ มักเป็นชนิดกะปริดกะปรอย

      7. โรคต่อมไร้ท่อ ทำให้ระบบฮอร์โมนรังไข่ผิดปกติ เช่น โรคไทรอยด์ โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง (Prolactinoma) โรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (PCOS) โรคเหล่านี้ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ

      8. เนื้องอกปากมดลูก เนื้องอกมดลูก เนื้องอกรังไข่ มักทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ

      9. มีซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ ซีสต์ธรรมดา หรือ โรคช็อกโกแลตซีสต์ เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ

      10. รับฮอร์โมนเพศหญิงจากสมุนไพร หรือฮอร์โมนที่ใช้ทดแทนอาการหมดประจำเดือนมักทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ

     นอกจากนั้นยังมีความเชื่อที่ผิด (Myth) ในเรื่องประจำเดือน ทำให้ไม่มาพบแพทย์ หรือมาพบแพทย์ช้าจนอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตอีกด้วย

 

สาเหตุจากความเชื่อที่ผิดที่พบบ่อยมี 4 ประการคือ

     1. ประจำเดือนเป็นเลือดเสีย มามากยิ่งทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง หายปวดท้องปวดหลัง

     2. คนที่ใกล้หมดประจำเดือน แต่ประจำเดือนยังมามากเป็นเรื่องปกติ

     3. ขณะมีประจำเดือนไม่ควรตรวจภายใน

     4. มีไข้ขณะเป็นประจำเดือน หรือไข้ทับระดู ไม่ควรพบแพทย์ การฉีดยารักษาจะทำให้ตายคาเข็ม

 

วิธีรับมือเมื่อประจำเดือนผิดปกติ

      1. ผู้หญิงทุกคนควรจดประจำเดือนของตนเอง เพื่อตรวจดูความผิดปกติ

      2. หากกินฮอร์โมนเพศหญิง ควรหยุดรับประทานก่อน เพื่อดูว่าประจำเดือนกลับมาปกติไหม หากยังไม่ปกติให้พบแพทย์

      3. ประจำเดือนผิดปกติที่เกิดในวัยรุ่นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ไม่ค่อยอันตราย อาจดูอาการได้ 1-3 เดือน ไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ ยกเว้นอาการตกเลือด มีไข้ปวดท้องมากนั้นไม่ควรรอ

      4. หากประจำเดือนมามากผิดปกติเกิดในคนอายุเกิน 40 ปี ไม่ควรรอช้า เพราะอาการเหล่านี้ อาจเกิดจากโรคร้ายแรงที่เป็นสาเหตุซ่อนเร้นอยู่ ควรพบแพทย์ ทันที

 

     รู้เช่นนี้แล้วมาจดบันทึกประจำเดือนของเรากันเพื่อความสบายใจสบายตัว และเพื่อสังเกตความผิดปกติกับร่างกาย และไม่ควรรอช้ามัวแต่กูเกิลถึงอาการแดงเดือด ไปพบแพทย์เถอะเพื่อความชัวร์

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising