×

Perfectionist กับดักความสมบูรณ์แบบ ที่อาจแปรเปลี่ยนเป็นความกลัวและวิตกกังวลจนไม่ได้ลงมือทำ

18.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 MIN READ
  • ‘Perfectionist’ เป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่แสวงหาความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ และอ้างอิงตัวเองกับการประเมินตัวเองและคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนประเภทนี้มักเป็นคนที่ละเอียดและซับซ้อนทางบุคลิก มิติตัวตน และลักษณะนิสัย
  • ความเป็น Perfectionist ทำให้เกิดความกังวลและไม่มั่นใจว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ว่าในสเกลใหญ่หรือเล็ก ใกล้หรือไกล อีกทั้งยังกลัวความล้มเหลวหรือถูกมองว่าน่าผิดหวัง มองโลกในแง่ร้าย โฟกัสเรื่องไม่ดีกับข้อผิดพลาดมากกว่าเรื่องดีๆ หรือความสำเร็จ ละอายหรือรู้สึกผิดบาปเมื่อทำผิดทำพลาด และติดอยู่ในหล่มเนื่องจากการผัดวันประกันพรุ่ง 
  • การเป็น Perfectionist ทางการแพทย์แล้วไม่ใช่อาการป่วยทางจิต แต่เป็นพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ได้รับมาจากการโต้ตอบเหตุการณ์รุนแรงหรือกระทบกระเทือนจิตใจบางอย่างในชีวิต ความเครียด หรือบาดแผลทางจิตใจบางอย่างที่เคยพบเจอมา 
  • เมื่อเป็น Perfectionist แล้ว คนคนนั้นจะเต็มไปด้วยความกดดันไม่ว่าจะทำอะไร หรือในการพิสูจน์ว่าตัวเองนั้นสามารถทำอะไรได้ในสายตาคนอื่น หลักการสำคัญที่สุดในการเอาชนะความคลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบจึงเป็นการละเอียดเหมือนเดิม แต่หันมาละเอียดและกลับมามองที่ตัวเองมากขึ้น

คำว่าอะไรก็ตามเมื่อขึ้นต้นแล้วมีคำว่า ‘เกินไป’ ตามหลังหรือต่อท้าย โดยทั่วไปแล้วมักจะไม่ใช่สิ่งดีเท่าไรนัก และมีความหมายในตัวว่าสิ่งนั้นกำลังต้องการการบาลานซ์ให้เกิดสมดุล เพื่อที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างราบรื่น สำหรับคำว่า ‘Perfectionist’ ที่เป็นศัพท์ใช้เรียกคนที่ละเอียดลออ พิถีพิถัน จดจ่อ และบูชาความสมบูรณ์แบบก็เช่นเดียวกัน 

 

แม้เป็นคำที่ไม่ได้มีความหมายแย่ไปซะหมด เพราะสำหรับบางสถานการณ์และบางเคส การจดจ่อที่ความสมบูรณ์แบบช่วยในการรังสรรค์ผลงานคุณภาพดี แต่ Perfectionist แสดงถึงความสุดโต่งที่อาจเป็นผลเสียต่อเจ้าตัวเอง โดยเคสที่เลวร้ายที่สุดคือไม่ได้แม้แต่เริ่มลงมือทำ 

 

คำถามคือ เหตุใดคำที่มีคำว่า ‘Perfect’ เป็นคำขึ้นต้นและฟังดูสวยหรูเช่นนี้ถึงดูอันตรายในเวลาเดียวกัน?


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ความหมายของการเป็น Perfectionist

‘Perfectionist’ เป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่แสวงหาความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ และอ้างอิงตัวเองกับการประเมินตัวเองและคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนประเภทนี้มักเป็นคนที่ละเอียดและซับซ้อนทางบุคลิก มิติตัวตน และลักษณะนิสัย

 

ในปี 2019 โทมัส เคอร์แรน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ London School of Economics and Political Science ได้ศึกษาและสรุปนิยามของการเป็น Perfectionist ได้ 3 ประเภท ได้แก่

 

  • Perfectionist ที่เกิดจากตัวเอง คือคนที่ให้ความสำคัญอย่างผิดๆ เกี่ยวกับความเพอร์เฟกต์ เต็มไปด้วยความคาดหวังที่ดูเป็นไปไม่ได้ และลงโทษตัวเองด้วยการประเมินตัวเองแย่ๆ
  • Perfectionist ที่เกิดจากสังคม คือคนที่อิงคุณค่าตัวเองกับสังคม รับฟังความเห็นและรับเอาความคาดหวังจากสังคมมาอย่างละเอียด และเชื่อว่าต้องทำให้ได้อย่างเพอร์เฟกต์ เพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากสังคม
  • Perfectionist กับผู้อื่นรอบตัว คือผู้ที่มีเกณฑ์ความคาดหวังที่ไม่สมจริง ที่ใช้มันประเมินคนรอบตัวและคนในสังคมอย่างจริงจัง 

 

ความเป็น Perfectionist ทำให้เกิดความกังวลและไม่มั่นใจว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ว่าในสเกลใหญ่หรือเล็ก ใกล้หรือไกล อีกทั้งยังกลัวความล้มเหลวหรือถูกมองว่าน่าผิดหวัง มองโลกในแง่ร้าย โฟกัสเรื่องไม่ดีกับข้อผิดพลาดมากกว่าเรื่องดีๆ หรือความสำเร็จ ละอายหรือรู้สึกผิดบาปเมื่อทำผิดทำพลาด และติดอยู่ในหล่มเนื่องจากการผัดวันประกันพรุ่ง 

 

ทั้งหมดนี้ทำให้ผลที่ตามมาคือคนประเภทนี้มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ เช่น  โรคซึมเศร้า, วิตกกังวล, OCD (Obsessive Compulsive Disorder หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ), PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder หรือโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ) ความสุขในชีวิตต่ำ และ Low Self-Esteem (ความพึงพอใจในตัวเองต่ำ) รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า, มีอาการ Imposter Syndrome (กังวลว่าตัวเองไม่เก่งจริง) หรือพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะปลอบประโลมใจตัวเองหลังจากทำผิดไป หรือล้มเหลวจากมาตรฐานอันเพอร์เฟกต์ที่ตัวเองได้ก่อตั้งเอาไว้

 

ยิ่งไปกว่านั้นสามารถทำให้เกิดความคิดในการฆ่าตัวตาย และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ทั้งทางด้านจิตใจ, ร่างกาย, สังคม และการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จได้ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ยาวไปจนถึงวัยชราได้เลยทีเดียว

 

 

สาเหตุและที่มาของการเป็นมนุษย์เพอร์เฟกต์

การเป็น Perfectionist ทางการแพทย์แล้วไม่ใช่อาการป่วยทางจิต แต่เป็นพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ได้รับมาจากการโต้ตอบเหตุการณ์รุนแรงหรือกระทบกระเทือนจิตใจบางอย่างในชีวิต ความเครียด หรือบาดแผลทางจิตใจบางอย่างที่เคยพบเจอมา 

 

ทำให้โดยส่วนมากคนเป็น Perfectionist มักเคยประสบพบเจอกับวัยเด็กที่เลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ถูกตำหนิ ไม่ได้รับความรัก หรือถูกมองข้ามจากพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะเด็กมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าหากพวกเขาทำงานหนักและทำได้ เป็นที่หนึ่ง เป็นคนโดดเด่น พวกเขากำลังพิสูจน์ตัวเองและมีคุณค่าพอที่จะได้รับความรักและการยอมรับจากพ่อแม่ ทำให้พัฒนาไปเป็นความต้องการได้รับความยอมรับของคนในสังคม และในบางเคสไปจนถึงความต้องการเป็นคนอยู่ท่ามกลางแสงและเป็นคนดัง มองว่าการได้รับการยอมรับกับการมีตัวตนเป็นสิ่งเดียวกัน

 

กล่าวคือการเป็น Perfectionist จัดเป็น Coping Mechanism (กลไกการรับมือ) หรือ Defense Mechanism (กลไกการป้องกันตัว) อย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่เริ่มจากการรับมือไปเป็นพฤติกรรมติดตัว แผ่กระจายในสเกลที่ใหญ่กว่าไปเป็นนิสัยและการมองโลกด้วยเลนส์ของผู้แสวงหาความสมบูรณ์แบบ พร้อมความรู้สึกว่าการใช้ชีวิตมีคนจดจ้องอยู่ตลอดเวลา ละเอียดลออ เพ่งพินิจกับสิ่งต่างๆ ทำให้อาจมองเห็นอะไรมากกว่าคนอื่นๆ เห็นในสิ่งที่หลายคนมองไม่เห็น และในขณะเดียวกันก็มองเห็นความเลวร้ายหรือเจ็บปวดมากกว่าเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความผิดพลาดของตัวเอง

 

บ่อยครั้ง Perfectionist มักกล่าวโทษและโจมตีตัวเอง (กลไกการป้องกันตัวที่ตัดหน้าไม่ให้ผู้อื่นพูด ทั้งที่อาจทำให้ดูแย่กว่าเดิม) หรือย้ำว่าตัวเองไม่ดีพอและจะต้องดีกว่านี้ ต้องควบคุมทุกอย่างให้ได้ดั่งใจกว่านี้ และมันยิ่งทำให้เกิดการดำดิ่งเพราะในความเป็นจริงไม่มีทุกอย่างเพอร์เฟกต์ ไม่มีทุกสิ่งเป็นไปดั่งใจ

 

สัญญาณที่บ่งชี้ว่าคุณกำลังเป็น Perfectionist เกินเหตุ

การเป็น Perfectionist ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไปก็จริง เพราะมันทำให้คุณมีมาตรฐานที่สูง การจัดการชีวิตต้องเป๊ะ ผลลัพธ์สมบูรณ์แบบน่าพึงพอใจทั้งต่อตนเองและผู้อื่น หรือสนใจในดีเทลเล็กๆ น้อยๆ เก็บรายละเอียดได้ดี 

 

แต่ลักษณะบางอย่างของการเป็น Perfectionist เองอาจเป็นพิษและไม่เป็นมิตรกับทั้งตัวคุณเอง คนรอบข้าง ไปถึงบริษัทและลูกค้า ต่อไปนี้คือสัญญาณหรือเช็กลิสต์ว่าคุณเป็น ‘Toxic หรือ Extreme Perfectionist’ ผู้มีมาตรฐานหรือสแตนดาร์ดที่เหนือจริง จนเป้าหมายนั้นวกกลับมาทำร้ายตัวเอง

 

1. พยายามทำทุกอย่างให้เพอร์เฟกต์ และทำเท่าไรก็ไม่พอ – การทำให้งานออกมาสมบูรณ์แบบและดูเป็นมืออาชีพไม่ใช่เรื่องผิด แต่การพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่กิจวัตรจนถึงเรื่องที่ต้องข้องเกี่ยวต่างๆ ระหว่างวันบ่งบอกว่าคุณเป็น Perfectionist ยิ่งถ้าคุณค้นพบว่าหงุดหงิดไปกับทุกอย่างที่ไม่ตรงกับความเป๊ะที่คุณคาดหวังไว้ หรือบ่อยครั้งทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นขนาดนั้นที่ส่งผลให้ใช้เวลามากไปกว่าที่ควรจะเป็น

 

นั่นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าการนิยมความเพอร์เฟกต์เริ่มที่จะทำร้ายคุณมากกว่าที่คุณจะรู้ตัว และการทำเท่าไรไม่พออาจส่งผลให้คุณมีอาการ ‘Imposter Syndrome’ หรือการมองว่าตัวเองเป็นผู้เสแสร้ง ไม่มีความสามารถ ผ่านมาได้เพราะโชคช่วยเท่านั้น และอยู่กับความหวาดกลัวว่าวันหนึ่งจะมีคนมาเปิดโปงว่าคุณเป็นคนไม่เก่งและไม่สมควรที่จะมาอยู่ตรงนี้

 

2. เป็นคนประเภท เต็มพิกัดหรือไม่เลย – หากคุณเป็นคนต้องการทุ่มหมดตัวเพื่อเป็นที่หนึ่งเท่านั้น และมองว่าการเป็นที่สองก็แค่เป็นการพ่ายแพ้ต่อที่ 1 ความเป็น Perfectionist จะทำให้คุณมีความสุขน้อยลง และเป็นการจับคุณหันหน้าหนีความเป็นจริงที่ว่า คุณเองก็ประสบความสำเร็จเหมือนกัน และยังทำได้ดีกว่าคนอื่นอีกตั้งมากมายอีกด้วย (หรือหากไม่เปรียบเทียบคือคุณทำมันได้ดีมากๆ แล้ว) และมันยังทำให้คุณรู้สึกว่าหากตัวเองไม่ได้อยู่ในจุดที่หวังไว้ คุณไร้ค่าและสู้ไม่ทำมันแต่แรกเสียดีกว่า

 

3. แสวงหาการยอมรับ และกลัวการไม่ได้รับการยอมรับ – ใครเป็นคนวัดว่าสิ่งไหนเพอร์เฟกต์หรือไม่? คำตอบในจิตในใจของคนเป็น Perfectionist คือผู้อื่น เรื่องนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้ Perfectionist ต้องการการยอมรับจากคนอื่นในสังคมเหนือสิ่งอื่นใด ถ้าคุณพบว่าตัวเองกำลังโฟกัสไปกับการที่ผู้คนพูดถึงความพยายามของคุณ มากกว่าที่จะมองว่าความพยายามของคุณมีความหมายอย่างไรด้วยตัวของมันเอง

 

นี่ก็เป็นอีกสัญญาณที่บ่งบอกว่าการเป็น Perfectionist  นั้นกำลังทำร้ายคุณ นอกจากนี้การเผยให้ผู้คนเห็นแง่มุมผิดพลาดของคุณก็เป็นสิ่งอันตรายเช่นกัน เพราะมันอาจนำไปสู่การสูญเสียการยอมรับ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกปฏิเสธ และไม่ได้รับการอนุมัติให้ทำสิ่งที่อยากทำหรือที่เคยได้ทำ

 

 

4. การได้รับฟีดแบ็กทำให้คุณปกป้องตัวเอง – เรื่องนี้มาจากการกลัวที่จะยอมรับว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอเช่นกัน มนุษย์โดยส่วนใหญ่แล้วมีแนวโน้มที่จะรู้สึกหงุดหงิดหัวเสียเมื่อมีใครบางคนพูดจาถึงเราในแง่ลบ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องของฟีดแบ็ก ไม่ว่าจะมาในรูปของคอมเมนต์โหดๆ ทำร้ายจิตใจ ก็เป็นคอมเมนต์ตำหนิติเตียนเพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนา

 

คนที่เป็น Perfectionist จะพบว่าตัวเองมีความยากลำบากในการแยกสองสิ่งนี้ออกจากกัน และบ่อยครั้งโต้ตอบคนที่ให้ฟีดแบ็กด้วยการป้องกันตัวเองไปจนถึงการโจมตีกลับ ทำให้ท้ายที่สุดแล้วการเป็น Perfectionist ไม่ได้ดีกับคุณเท่าไรนัก หากคุณไม่สามารถพิจารณาผลงานตัวเองโดยที่ไม่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งได้ และมันยังทำให้คุณขาดโอกาสในการเติบโตและพัฒนาตัวเองอีกด้วย

 

5. เป็นคนชอบตัดสินผู้อื่น – หากคุณรู้สึกว่าตัวเองต้องเป็นที่หนึ่งในยุทธภพตลอดเวลา มีแนวโน้มสูงที่คุณจะฉุดกระชากผู้อื่นให้อยู่ต่ำกว่าตัวเองเพื่อให้ตัวเองรู้สึกอยู่เหนือกว่า การกระทำแบบนี้เรียกว่า ‘Downward Comparison’ หรือการเปรียบเทียบที่ไม่จำเป็นต้องยกตนข่มท่าน แต่พูดถึงข้อเสียผู้อื่นให้พวกเขาอยู่ด้านล่างคุณ ตัวคุณก็ดูอยู่เหนือโดยอัตโนมัติ และเมื่อคุณวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นตลอดเวลาตั้งแต่คนในข่าว โลกอินเทอร์เน็ต จนถึงคนรอบตัว นอกจากจะเป็นการหลอกตัวเองด้วยการเปลี่ยนโฟกัสไปที่ผู้อื่นมากกว่าพิจารณาตัวเอง รู้ตัวอีกทีคุณก็อาจโดดเดี่ยวแล้วจากการสูญเสียคนรู้จักไปเพราะเรื่องนี้ 

 

6. เป็นนักผัดวันประกันพรุ่งตัวยง – หนึ่งในคุณลักษณะที่เป็นแกนของ Perfectionist คือการกลัวความล้มเหลว สำหรับหลายคนความกลัวนี้จึงเผยร่างในรูปแบบของ ‘พฤติกรรมหลีกเลี่ยง (Avoidance)’ อย่างเช่นการเลื่อนหรือผัดไปก่อนหากยังไม่สมบูรณ์พร้อม ที่เป็นเช่นนี้เพราะกลไกที่เกิดขึ้นคือหากคุณยังไม่เริ่มทำงานนั้นๆ คุณก็จะไม่ล้มเหลว การที่ทำอะไรต้องทำให้ออกมาดีที่สุด ในสภาพที่พร้อมที่สุด และผลงานออกมาสมบูรณ์ที่สุดเท่านั้น

 

การมีแนวคิดแบบนี้จึงทำให้คนคนนั้นตัดสินใจทำมันเต็มที่ ไม่ก็ถ้าโอกาสได้ที่หนึ่งริบหรี่หรือมองว่าเป็นไปไม่ได้ก็จะไม่ได้ทำเลย หรือสุดท้ายได้พบว่างานหรือเป้าหมายยังไม่ได้เริ่มสักที และนั่นอาจนำไปสู่การทำงานช้ากว่าเดดไลน์จนทำให้ผู้อื่นที่เกี่ยวข้องต้องเดือดร้อนและความเครียดที่สั่งสม และเกิดอาการ Burnout ไม่มีกะจิตกะใจจะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งเลยได้

 

7. เต็มไปด้วยความรู้สึกผิด – หากคุณรู้สึกราวกับว่าคุณต้องเป็น The Best ไม่ว่าจะความผิดพลาดเล็กน้อยแค่ไหนก็ตามแม้กระทั่งเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถทำให้คุณจมดิ่งไปกันมัน และมองว่าเป็นความล้มเหลวขั้นสุด (Great Failure) ได้เช่นเดียวกัน และเมื่อพบเจอมากกว่าหนึ่งครั้ง คุณจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองผิดซ้ำๆ ซากๆ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกผิดไม่หยุดไม่หย่อน หากคุณรู้สึกว่าทำให้ตัวเองและคนอื่นผิดหวังบ่อยๆ ความเพอร์เฟกต์ดูจะเป็นปัญหาที่ขวางกั้นคุณอยู่ระหว่างตัวคุณกับความสุขในชีวิต

 

8. เน้นคำว่า ‘ควร (Should)’ มากเกินไป – บ่อยครั้งที่คนเป็น Perfectionist อยู่กับโครงสร้างความคิดและลิสต์ยาวเหยียดที่เต็มไปด้วยคำว่า ‘ควรอย่างนั้น’ ‘ควรอย่างนี้’ หรือมันได้กลายเป็นกฎในการดำเนินชีวิตไปอย่างไม่รู้ตัว และการเน้นย้ำคำนี้บ่อยๆ จะทำให้เกิดความเสียดายที่ไม่ได้ทำ จมอยู่กับความผิดพลาด ล้มเหลว กล่าวคำว่า “หากย้อนเวลาไปได้/หากมีไทม์แมชชีน” บ่อยครั้ง นั่นจะทำให้คุณไม่ได้โฟกัสกับสิ่งที่คุณปรารถนาจริงๆ ตามพื้นฐานความเป็นไปได้ ติดหล่มอยู่กับอดีต หวาดกลัวอนาคต และติดอยู่ตรงกลางของความเป็นปัจจุบันโดยลงมือทำได้ไม่เต็มที่

 

วิธีหลุดจากกับดักความสมบูรณ์แบบ

เมื่อเป็น Perfectionist แล้ว คนคนนั้นจะเต็มไปด้วยความกดดันไม่ว่าจะทำอะไร หรือในการพิสูจน์ว่าตัวเองนั้นสามารถทำอะไรได้ในสายตาคนอื่น หลักการสำคัญที่สุดในการเอาชนะความคลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบจึงเป็นการละเอียดเหมือนเดิม แต่หันมาละเอียดและกลับมามองที่ตัวเองมากขึ้น 

 

หรือเริ่มจากเปลี่ยน ‘ความคิด’ และ ‘มุมมอง’ ที่เป็นตัวกำหนดแนวทางการใช้ชีวิตและตัวตนของคนคนหนึ่ง แทนที่จะนำทุกอย่างไปอิงกับสายตาผู้อื่น และนำคุณค่าของตัวเองไปผูกติดกับสังคมเหมือนที่ผ่านมา ต่อไปนี้คือ 11+1 วิธีการจัดการกับกับดักความสมบูรณ์แบบที่อยากจะแนะนำ

 

1. ลดแรงกดดันตัวเอง เคารพตัวเอง และตระหนักเสมอว่าตัวเองเต็มไปด้วยความคิดของคนเป็น Perfectionist – การตระหนักรู้เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวัน ความท้าทาย อุปสรรค และข้อเสีย ทั้งหมดนี้หากใครก็ตามตระหนักถึงการมีอยู่ของมันได้ จะรู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญอะไรอยู่ ต้องปรับแก้ตรงไหนเพื่อให้ชีวิตราบรื่น ความเป็น Perfectionist ก็เช่นกัน หากตระหนักอยู่เสมอว่าตัวเองเป็น Perfectionist ในแบบที่เป็นพิษ การทำสิ่งใดโดยย้ำเตือนตรงนี้ไปด้วยจะทำให้ปล่อยวางมากขึ้น อาจยากหน่อยในช่วงแรก แต่มันจะค่อยๆ ดีขึ้น

 

ข้อนี้ถือเป็นพื้นฐานของการหลุดจากกับดักความสมบูรณ์แบบ นั่นรวมไปถึงการเห็นคุณค่าและเกียรติในตัวเองด้วยเช่นกัน หากนำตัวเองไปผูกกับเป้าหมายแล้ว ชีวิตจะมีความสุขน้อยลง เพราะชีวิตจะมีทั้งวันที่คุณทำสำเร็จได้เกินเป้า และทำได้ไม่ถึงเป้า แทนที่จะปล่อยให้ Self-Esteem ของเราไปอิงอย่างแกว่งๆ กับบาร์บนบาร์ล่างนี้ การเคารพ ลองมองตัวเองเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่มีผิด มีพลาด ความกดดันจะน้อยลง และจะเอ็นจอยกับการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น

 

2. ท้าทายและตีกรอบความคิดตัวเอง – หลังจากที่สังเกตแล้ว หากพบว่าความคิดขณะนั้นกำลังมีแนวโน้มจะเป็น Perfectionist ลองพยายามท้าทายตัวเอง เช่น หากอยู่ในสถานการณ์ที่กำลัง Judge การกระทำตัวเองและโทษตัวเองอยู่ ให้ลองถามว่า “ความเป็นจริงมันแย่ขนาดนั้นจริงๆ ใช่ไหม?”, “เราจำเป็นต้องก่นด่าตัวเองขนาดนี้หรือไม่?” หรือ “ที่กำลังคิดอยู่เป็นเรื่องจริงหรือตีโพยตีพายเกินจริง?”

 

วิธีการนี้จะช่วยให้คุณตีกรอบมุมมองของตัวเองได้ เพราะบ่อยครั้งคนเป็น Perfectionist มักจะมองสถานการณ์เลวร้ายเกินจริง นอกจากนี้การที่เสียงในหัวบ่อยครั้งมีแนวโน้มว่าจะวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอย่างโหดร้าย การตีกรอบใหม่จะช่วยลบเสียงตรงนั้นออกไป 

 

 

3. คิดในเชิงสร้างสรรค์ – เปลี่ยนความคิดลบๆ ให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เมื่อพิจารณาเสมอว่าในความคิดนั้นมีการบิดเบือนให้เหนือจริงหรือเป็นความจริงหรือไม่แล้ว แทนที่จะมองว่าสิ่งที่ทำพลาดคือความล้มเหลว ให้มองมันเป็นประสบการณ์ที่ได้พบ เรียนรู้ และจะประสบความสำเร็จ หรือทำมันได้ดีในอนาคต นานมาแล้วมีคำกล่าวจากปรัชญาสโตอิกที่เรียกว่า ‘อุปสรรคคือหนทาง’ ปรัชญานี้สอนว่าการโอบกอดอุปสรรคเป็นเส้นทางที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จ และการทำแบบนี้เท่านั้นที่จะทำให้เราเอาชนะมันได้

 

รวมไปถึงจะช่วยให้รับมือกับคำวิจารณ์จากผู้อื่น หรืออีกชื่อ ‘อุปสรรคกึ่งตัวช่วยพัฒนา’ ที่จะมาในทุกรูปแบบ (ทั้งที่พูดตรงไปตรงมาจนถึงพูดหยาบคายด่าสาดเสียเทเสีย) ได้ด้วยเช่นกัน การคิดเชิงสร้างสรรค์จะช่วยให้สกัดแก่นใจความของคำวิจารณ์ว่าอันไหนจริงไม่จริง คนไหนพูดมีพอยต์หรือด่าเอาสะใจ จากนั้นนำมันมาปรับปรุง แก้ไข และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น

 

4. ยอมรับว่าพยายามดีที่สุดแล้ว – ย้ำเตือนตัวเองเสมอว่าสิ่งที่เราทำได้คือ ‘ทำให้ดีที่สุด’ การย้ำเตือนนี้นอกจากจะทำให้ทำสิ่งต่างๆ ที่ตั้งใจอย่างเต็มที่ในทุกๆ เรื่องแล้ว ยังทำให้ตระหนักว่างานที่ทำจบไปแล้วคุณได้ทำมันดีที่สุด ที่จะเป็นการตั้งคำถามไปในตัวด้วยว่า ‘เราทำมันดีที่สุดแล้วหรือยัง?’ และเมื่อมันกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ (ไม่ว่าจะทำดีที่สุดแล้วหรือยังทำไม่เต็มที่พอ) สิ่งเดียวที่ทำได้คือทำให้ดีกว่าเดิม และเกิดความเห็นอกเห็นใจตัวเองมากขึ้น แทนที่จะโทษตัวเองซ้ำๆ ย้ำๆ 

 

5. โฟกัสที่ความหมายและกระบวนการ แทนที่จะโฟกัสความเพอร์เฟกต์ – ลองเปลี่ยนมุมมองจากโฟกัสที่เป้าหมายต้องสวยหรู สมบูรณ์ ได้ดั่งใจ เป็นโฟกัสไปที่ความหมายของการทำสิ่งนั้น หากการทำสิ่งใดก็ตามทำให้เราสนุก มีความสุข และคือเป้าหมายด้วยตัวมันเอง จึงไม่ได้สำคัญเท่าไรนักหากสุดท้ายแล้วมันไม่ได้เพอร์เฟกต์ไปเสียทุกอย่าง เพราะการเติมเต็มได้เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการไปแล้ว แต่หากสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ออกมาเพอร์เฟกต์น่าพึงพอใจ นั่นคือผลลัพธ์ประเภทผลพลอยได้ของการลงมือทำ

 

6. ฝึกเป็นคนซาบซึ้งเห็นคุณค่า (Appreciate) ในชีวิต แม้กระทั่งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ – หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการเอาชนะพลังลบของความเป็น Perfectionist  คือการเห็นค่าสิ่งดีๆ ในชีวิต เนื่องจากการเป็น Perfectionist  ทำให้เป็นคนละเอียด และเมื่อละเอียดจนมองเห็นสิ่งดีร้ายแบบลงดีเทล ก็จะสังเกตหรือปล่อยให้สิ่งไม่ดีมามีอิทธิพลเหนือใจมากกว่า (พลังลบทำงานกับจิตใจแรงกว่าพลังบวกเสมอ) การมองเห็นสิ่งที่ทำได้ หรือสิ่งดีๆ ในชีวิต จะช่วยให้คุณมีสุขภาพทางอารมณ์ที่ดี มีภูมิต้านทานทางด้านจิตใจ และมีกระบวนการคิดอ่านที่ดียิ่งขึ้น 

 

7. ตั้งเป้าหมายที่เป็นจริงได้ – หากปัญหาของคนเป็น Perfectionist คือมีเป้าหมายที่ไม่สมจริง (Unrealistic) ลองตั้งเป้าหมายที่สมจริง (Realistic) เพื่อแก้ทาง สิ่งนี้สำคัญตรงที่ยังสามารถเป็นคนมีเป้าหมายโดยที่ Productive และไม่ปล่อยให้เป้าหมายมาทำร้ายตัวเองอย่างที่เคย จากที่มีเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน (Life Goal) ลองเริ่มจากเป้าหมายที่เล็กกว่า ใกล้กว่า (Mini Goal) และตั้งเป้าว่าจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จเพื่อที่จะนำไปสู่อีกเป้าหมาย ทำให้รู้ตัวอีกทีอาจเดินทางไปถึง Life Goal แล้ว วิธีนี้เป็นการลดความกดดันได้ดี ทำให้ยืดหยุ่นขึ้นในความคิดและการใช้ชีวิต และช่วยให้เป็นคนเปิดรับกับการเปลี่ยนเป้าหมาย หรือปรับเปลี่ยนมันไปตามสถานการณ์ระหว่างเส้นทางด้วยเช่นกัน

 

8. ตัดปัจจัยด้านลบทิ้ง – ในยุคนี้การเป็น Perfectionist อันตรายกว่าที่เคยตรงที่มีทั้งโซเชียลมีเดีย ทีวี หนัง ซีรีส์ (ยิ่งเป็นสตรีมมิงที่ดูที่ไหน เมื่อไรก็ได้ด้วยแล้ว) พอดแคสต์ เพลง เกม และอีกมากมาย ทั้งหมดที่กล่าวไปเป็นสิ่งเร้าที่จะเบี่ยงเบนความสนใจ หรือความตั้งใจให้คุณทำงานเสร็จช้ามากขึ้น

 

การตัดสิ่งเร้าหรือปัจจัยด้านลบต่อการทำงานให้สำเร็จจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำเมื่อได้รับมอบหมายงานหรือก่อนเริ่มงาน ซึ่งทำได้ตั้งแต่วิธีการเบาๆ อย่างนำสิ่งเหล่านั้นไว้ไกลตัว นำพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงาน ไปจนถึงกำจัดสิ่งเหล่านั้นอย่างเด็ดขาดด้วยการกำจัดทิ้ง ลบทิ้ง จนกว่าคุณมั่นใจได้ว่าสามารถควบคุมตัวเองให้ทำงานอย่างมีสมาธิตั้งแต่เริ่มงาน ดำเนินงาน จนถึงจบงานได้แม้ตัวจะอยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้

 

9. ฝึกเป็นคนไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ลงมือทำทันที – 0 ไป 1 เผลอๆ อาจเป็นสิ่งที่ยากกว่า 1 ไป 100 เพราะสำหรับ Perfectionist การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ยากเสมอ แต่การวางเอาต์ไลน์ของงานหรือเป้าหมายแบบหยาบๆ ล่วงหน้าด้วยการลงมือทำยังเป็นการดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ย้ำเตือนตัวเองด้วยความเป็นจริงที่ว่า งานของคุณไม่มีทางเพอร์เฟกต์ได้ในดราฟต์แรกอยู่แล้ว และลองเริ่มจากการทำก่อน

 

จากนั้นจะมองเห็นหนทางไปต่อได้เอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องการเพื่อทำให้งานนี้สมบูรณ์ สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไข และอีกมากมายระหว่างการลงมือทำ การเริ่มลงมือทำทันทีที่ว่างหรือที่คิดได้ มีแนวโน้มว่าคุณจะส่งงานทันเดดไลน์หรือเป็นเรื่องดีกว่านั้นหากสำเร็จลุล่วงก่อนกำหนด

 

10. เฉลิมฉลองความสำเร็จ ให้รางวัลกับตัวเองบ้าง – นี่คือสเต็ปที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข การเฉลิมฉลองหรือแม้กระทั่งการชมตัวเองว่า ‘ทำสิ่งนี้สำเร็จแล้วนะ’ เป็นวิธีที่ให้รางวัลตัวเองอย่างง่ายและรวดเร็วที่สุด ข้อดีของการทำแบบนี้คือจะช่วยเพิ่มระดับความนับถือตนเอง ความพึงพอใจในตนเอง ความมั่นใจ และความสุขใจ หรือนอกจากนี้แล้วอาจเป็นการจดบันทึกทุกอย่างที่คุณทำสำเร็จในแต่ละวันแบบง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็น “ตอบเมล/แชตที่ดองไว้ครบแล้ว” “วันนี้ทำอาหารอร่อยดีนะ” “เก่งมากที่ทำโปรเจกต์ใหญ่ที่ทำมาเป็นสัปดาห์ๆ สำเร็จลุล่วง” หรือ “ในที่สุดเราก็ส่งงานตรงเวลาแล้ว”

 

 

11. นั่งสมาธิ – การนั่งสมาธิเป็นวิธีการที่ดีและแพร่หลายทั่วโลก นี่เป็นวิธีการที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยลดความวิตกกังวลทางด้านความรู้สึก ความเครียด โรคหัวใจ และปัญหาความดันเลือดได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยในการบูสต์พลังโฟกัส หรือความมีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอีกด้วย แต่นี่เป็นเพียงผลพลอยได้ว่าในขั้นต้นและเป้าหมายของการนั่งสมาธิคือการปิดกั้นสิ่งรอบตัว อยู่กับตัวเอง ตั้งคำถาม หาคำตอบ และมีช่วงเวลาที่จะได้พินิจพิจารณาความคิด ความรู้สึก ณ ขณะปัจจุบัน และจัดการกับความคิดเหล่านั้นอย่างสงบ มีสติ แทนที่จะตอบโต้หรือจัดการโดยใช้อารมณ์ความรู้สึก

 

12. บำบัด และให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือ – การเป็น Perfectionist ไม่ใช่เป็นเพียงแค่พฤติกรรม แต่เป็นนิสัยและตัวตนที่ฝังราก และหลายๆ เคสเกิดจากปมปัญหาที่ได้รับตั้งแต่ประสบการณ์ช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่นจากทั้งผู้ปกครอง และการเติบโตมาในสังคม อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะแก้ไม่หาย 

 

หากได้ลองทำข้อ 1-11 แล้วพบว่ายังเป็นเรื่องยากหรือไม่สามารถทำได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดหรือดูแย่หากไปบำบัดการเป็น Perfectionist ด้วยการบำบัดที่เรียกว่า CBT หรือ Cognitive Behavioral Therapy ที่จะช่วยปรับให้คนที่เป็น Perfectionist มีกรอบความคิดใหม่ มีมายด์เซ็ตใหม่ และทำให้คุณเข้าใจถึงเหตุผลลึกซึ้งของความรู้สึกกดดันตัวเองให้เป็นมนุษย์เพอร์เฟกต์ ทั้งข้อ 1-11 และข้อนี้จะช่วยให้คุณรักตัวเองมากขึ้น

  

ทำการฝึกฝนตั้ง 11 ขั้นตอน หรือพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คุณสร้างนิสัยใหม่ๆ ที่ห่างไกลกับกับดักความเพอร์เฟกต์ได้ ท้ายที่สุดคุณจะได้พบกับความสุขที่มาจากการไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟกต์ แต่ยอมรับตัวตนที่คุณเป็น 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising