×

แยกขยะไปก็เท่านั้น สุดท้ายก็เทกองรวมกันอยู่ดี? เลิกความเชื่อผิดๆ ที่เพิ่มภาระให้พนักงานคัดแยกขยะเสียที [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
26.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะคนละ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน ถึงอาจฟังดูไม่เยอะ แต่หากรวมกันทั้งประเทศแล้วจะพบว่า น้ำหนักของขยะที่คนไทยสร้างตลอดปีเทียบได้กับช้าง 13 ล้านตัวเลยทีเดียว
  • ปัญหาของ ‘การไม่แยกขยะ’ ไม่ได้มีแค่การเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่คัดแยกขยะ แต่เมื่อขยะหลายประเภทมาปะปนรวมกัน จะยิ่งกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและแบคทีเรีย และที่สำคัญคือ สร้างปัญหาขยะล้นโลกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

หากใครที่เคยดูภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Wall-E (2008) ของ Disney Pixar คงจะจดจำภาพที่เจ้าหุ่นยนต์ตัวน้อยค่อยๆ หยิบขยะทีละชิ้นในโลกที่ว่างเปล่าได้ดี เมื่อโลกในอนาคตกลายเป็นดาวรกร้างที่มนุษย์ต่างถอยหนี เหลือไว้แต่กลิ่นเหม็นเน่าและภูเขาขยะอีกมหาศาล จะมีก็แค่หุ่นยนต์ตกกระป๋องอย่าง Wall-E ที่ต้องแยกขยะไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย

 

Photo: www.moviefone.com

 

แน่นอนว่าโลกใน Wall-E เป็นภาพจำลองของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ถ้าลองพิจารณาจากปัญหาขยะล้นเมืองที่เพิ่มระดับความจริงจังขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวันนี้ วันที่โลกของเราจะเต็มไปด้วยขยะอย่างใน Wall-E อาจคือความเป็นจริงที่อยู่ไม่ไกล

 

ลำพังแค่ในประเทศไทย รู้ไหมว่าคนไทยหนึ่งคนสร้างขยะคนละ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน ถึงอาจฟังดูไม่เยอะ แต่หากรวมกันทั้งประเทศแล้วจะพบว่า น้ำหนักของขยะที่คนไทยสร้างตลอดปีเทียบได้กับช้าง 13 ล้านตัวเลยทีเดียว คำถามคือ เราต่างเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างขยะปริมาณมหาศาลนี้จริงๆ เหรอ

 

 

ในปัจจุบันที่มีการตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น การรีไซเคิลคือแนวทางหนึ่งของการจัดการขยะที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างมุ่งมั่นผลักดัน แต่บ่อยครั้งเราจะเห็นว่าการจะได้มาซึ่งขยะที่รีไซเคิลได้แต่ละชิ้นต้องผ่านกระบวนการที่เสียเวลาจนเกินไป เพราะเมื่อผู้ทิ้งไม่สนใจที่จะแยกขยะตั้งแต่แรก ขยะสารพัดชนิดที่มากองรวมกันในถังถังเดียวจึงยิ่งจะทวีความวุ่นวายให้กับเจ้าหน้าที่คัดแยกขยะที่ปลายทางไปกันใหญ่

 

ถึงตรงนี้บางคนอาจเกิดคำถามว่า “จะเหนื่อยแยกขยะไปทำไม เพราะต่อให้แยกไปสุดท้ายขยะก็จะไปกองรวมกันอยู่ดี”

 

แต่เพราะปัญหาของ ‘การไม่แยกขยะ’ ไม่ได้มีแค่การเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่คัดแยกขยะเท่านั้น ด้วยอีกปัญหาหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามกันคือ เมื่อขยะคนละประเภทมาปะปนรวมกันนานๆ จะยิ่งง่ายต่อการเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและแบคทีเรีย ซึ่งพร้อมจะแพร่เชื้อให้กับผู้ที่สัมผัสขยะเหล่านั้นได้อย่างง่ายๆ

 

 

นอกจากนี้หากปล่อยขยะบางประเภทไว้นานๆ การหมักหมมรวมกันยังจะก่อให้เกิดก๊าซซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อมลภาวะทางอากาศ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือที่รู้จักกันในชื่อก๊าซไข่เน่านั่นเอง โดยก๊าซเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

 

การแยกขยะตั้งแต่ต้นทางยังช่วยลดระยะเวลาการคัดแยกขยะที่ปลายทางลงได้ เท่ากับว่าขยะแต่ละชิ้นจะยิ่งผ่านเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างรวดเร็วขึ้น พร้อมๆ กับกองขยะที่สะสมรอคอยการคัดแยกก็ย่อมจะลดน้อยลง เช่นนี้แล้วอนาคตที่โลกจะเต็มไปด้วยภูเขาขยะสุดลูกหูลูกตาอย่างใน Wall-E ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นจริงถ้าเราทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะตั้งแต่วันนี้

 

 

นี่เองจึงเป็นที่มาของแคมเปญ #ขอบคุณทุกคนที่แยกขยะ จากเป๊ปซี่ ที่ต้องการเชิญชวนทุกๆ คนให้ตระหนักถึงความสำคัญและหันมาเริ่ม ‘แยกขยะ’ ก่อนทิ้ง เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยให้การจัดการขยะง่ายขึ้น และเพิ่มปริมาณการนำขยะให้กลับมา ‘รีไซเคิล’ เพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีกครั้ง แต่ยังช่วยลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่คัดแยกขยะ ที่ต้องเผชิญกับกลิ่นเน่าเหม็น ก๊าซพิษ รวมถึงอันตรายจากเศษขยะบางชนิดระหว่างคัดแยก เช่น เศษแก้ว ของมีคม หรือขยะอันตรายต่างๆ

 

ในหนึ่งปี ประเทศไทยสร้างขยะกว่า 27 ล้านตัน หากมีเพียงแค่ 8 ล้านตันเท่านั้นที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ถ้าเราทุกคนร่วมมือกันแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เชื่อได้เลยว่าปริมาณขยะที่รีไซเคิลได้ย่อมจะมีมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

หากเราไม่อยากเห็นโลกของเราเต็มไปด้วยภูเขาขยะอย่างใน Wall-E เริ่มแยกขยะตั้งแต่วันนี้ เพียงแค่ลองหยุดคิดก่อนใช้ และคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เท่านี้ก็ถือว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และช่วยให้โลกของเราได้มุ่งหน้าสู่อนาคตที่ขาวสะอาดขึ้นแล้ว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising