×

8 องค์กรและภาคประชาชนร่วมเดิน ‘พอกันที ขออากาศดีคืนมา’ เรียกร้องภาครัฐแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5

23.01.2020
  • LOADING...

วันนี้ (23 มกราคม) 8 องค์กรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย กรีนพีซ ประเทศไทย, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, Friend Zone, Climate Strike Thailand และ Mayday พร้อมด้วยภาคประชาชน ร่วมเดินเรียกร้องในกิจกรรม ‘พอกันที ขออากาศดีคืนมา’ หวังให้หน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ไขวิกฤตฝุ่น PM2.5 

 

นอกจากนี้ได้มีการให้ ธารา บัวคำศรี ตัวแทนภาคประชาชน อ่านแถลงการณ์ในหัวข้อ ‘พอกันที #ขออากาศดีคืนมา’ ซึ่งในแถลงการณ์มีใจความสำคัญระบุว่า “นับจาก พ.ศ. 2561 ที่แรงกดดันทางสังคม จากความตระหนักถึงผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากฝุ่นพิษ PM2.5 ส่งผลให้ภาครัฐประกาศดัชนีคุณภาพอากาศใหม่ที่รวม PM2.5 มาจนถึงปัจจุบัน เราทุกคนเป็นประจักษ์พยานถึงระดับฝุ่นพิษ PM2.5 ที่อันตรายและส่งผลกระทบในวงกว้าง บางคนเกิดอาการแพ้อย่างหนัก ตั้งแต่แสบตา เจ็บคอ หายใจไม่สะดวก จนถึงเลือดกำเดาไหล ไอเป็นเลือด

 

“อาการเหล่านี้สอดคล้องกับงานศึกษาผลกระทบสุขภาพจากฝุ่นพิษ PM2.5 ทั้งขององค์การอนามัยโลก สหภาพยุโรป และองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา รายงาน State of Global Air ใน พ.ศ. 2558 ระบุว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรในประเทศไทยประมาณ 37,500 คนต่อปี ก่อนหน้านั้น พ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลกกำหนดอย่างเป็นทางการให้ฝุ่นพิษ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง นี่คือวิกฤตด้านสาธารณสุขในสังคมไทย!

 

“ความตระหนักของประชาชนต่อผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM2.5 ยังทำให้รัฐบาลกำหนดให้ ‘การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง’ เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562

 

“แต่น่าเสียดาย สิ่งที่ไม่มีในแผนปฏิบัติการฯ นี้ เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 คือทีมเตรียมพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน (Emergency Response Team) และระบบการสื่อสารสาธารณะที่รวดเร็ว ฉับไว แม่นยำ เที่ยงตรง และเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถปกป้องดูแลสุขภาพของตนและครอบครัวได้ทันท่วงที ซ้ำร้าย สิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอต่อสาธารณะคือ ความเพิกเฉยต่อปัญหา สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศ และโยนภาระมาให้ประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษีในท้ายที่สุด

 

“อีกทั้งการที่ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันสุขภาพ เช่น หน้ากากและเครื่องฟอกอากาศได้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยให้มากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้าง Clean Room กระจายอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อบริการประชาชนที่สัญจรตามทางเท้าในช่วงวิกฤตมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้หน่วยงานรัฐจะต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจวัดมลพิษทางอากาศ และให้ข้อแนะนำในการซื้อและใช้อุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษขนาดเล็ก และการตรวจสอบความถูกต้องของอุปกรณ์

 

“เพื่อเริ่มต้นปกป้องประชาชนจากผลกระทบฝุ่นพิษ PM2.5 รัฐบาลต้องปรับ ‘มาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศ’ ของประเทศไทย ให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายชั่วคราวที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก โดยที่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีคือ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายใน พ.ศ. 2563 ในขณะเดียวกัน เพื่อลดปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 ในสิ่งแวดล้อม รัฐบาลต้องเน้นมาตรการการลดการปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษ

 

“ดังนั้น หากประเทศไทยเริ่มต้นถอดรื้ออุปสรรคเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่ถูกต้อง ก็จะสามารถฝ่าวิกฤตมลพิษทางอากาศนี้ได้ เพื่อสุขภาวะที่ดีและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในสังคมไทย

 

“ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นสาเหตุที่กรีนพีซ ประเทศไทย, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ,​ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิชีววิถี, กลุ่ม Friend Zone จาก Change.org/pm2-5, Climate Strike Thailand และภาคประชาชน จึงเดินทางมาพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ลงมือแก้ไขปัญหานี้ที่ต้นตออย่างจริงจัง และยื่นข้อเรียกร้อง / ข้อเสนอแนะในการจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศตามแหล่งกำเนิดต่างๆ ดังเอกสารแนบเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนชาวไทย เพราะการได้เข้าถึงอากาศที่ดีคือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน

 

“พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภายหลังจากวันนี้จะได้เห็นท่าทีที่เปลี่ยนไปของภาครัฐกับการจัดการกับแหล่งกำเนิดที่มีแบบแผน กรอบเวลาชัดเจน จริงจัง เป็นรูปธรรม ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เพื่อจำกัดการปล่อยมลพิษทางอากาศสู่บรรยากาศทั่วไป และป้องกันไม่ให้สถานการณ์เกิดขึ้นซ้ำ ซึ่งหากหลังจากนี้ยังไม่มีการขยับที่ชัดเจน พวกเราจำต้องยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป”

สามารถอ่านคำแถลงการณ์แบบเต็มรูปแบบได้ที่ https://www.greenpeace.org/thailand/press/10946/airpollution-statment-activity-23-jan-2020/

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X