×

บีซีไอ ประเดิม กฟภ. ใช้หนังสือค้ำประกันฯ ผ่านบล็อกเชน ร่นเวลา-ต้นทุนเหลือหลักสิบ

03.11.2020
  • LOADING...
ศีลวัต สันติวิสัฎฐ์

ศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าบีซีไอเปิดให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นรัฐวิสาหกิจรายแรกที่เชื่อมต่อบริการ eLG on Blockchain (บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบล็อกเชน) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนองค์กรด้านงานเอกสาร ลดขั้นตอนและเวลาลง รวมถึงเพิ่มความถูกต้องมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ปัจจุบันบีซีไอให้บริการภาครัฐและเอกชนรวม 48 รายในหลายธุรกิจ เช่น ยานยนต์ ซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง พลังงาน ฯลฯ โดยภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 58 ราย

 

โดยปัจจุบันในระบบมีปริมาณการทำ LG หรือหนังสือค้ำประกันหลักแสนล้านบาท ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมต่อกับหลายหน่วยงานเพื่อให้ทุกหน่วยสามารถเชื่อมโยงส่งข้อมูลกันได้ ดังนั้นการร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานขนาดใหญ่ (เช่น กฟภ.) จะย่ิงทำให้บริการ eLG on Blockchain มีประสิทธิภาพเร็วยิ่งขึ้น

 

“เดิมการทำหนังสือค้ำประกันฯ ต้องส่งเอกสารหลายครั้ง ใช้ทั้งพนักงานส่งเอกสาร สอบทานกันไปมาระหว่างหน่วยงาน แต่พอมาทำบนบล็อกเชนนี้จะลดระยะเวลาลงจากเดิมที่ใช้ 9 วันเหลือราว 1-4 ชั่วโมง ส่วนต้นทุนใน LG แบบเดิมอยู่ที่ 500-1,000 บาทต่อฉบับ แต่เมื่อทำบนบล็อกเชนจะเหลือหลักสิบบาทเท่านั้น”

 

อย่างไรก็ตาม ปริมาณ LG จะเพิ่มขึ้นได้มีปัจจัยหลักมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันอาจทำให้การใช้ LG เติบโตไม่ถึง 10%  

 

ทั้งนี้ทางบีซีไอเตรียมออกบริการใหม่ในช่วงไตรมาส 3/64 คือ Bank Confirmation ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบงบการเงินต่างๆ ของบริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้บริการนี้ เช่น บริษัทจดทะเบียน และองค์กรรูปแบบต่างๆ ในไทย ซึ่งมีกว่า 6 แสนราย

 

อย่างไรก็ตาม บีซีไอเป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการทำระบบเทคโนโลยีกลาง โดยตัวบริษัทมีทุนจดทะเบียน 530 ล้านบาท มี 6 ธนาคารร่วมลงเงินทุนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันเพื่อทำระบบกลาง (กสิกรไทย, กรุงศรีอยุธยา, กรุงเทพ, ไทยพาณิชย์, ทีเอ็มบี-ธนชาต, กรุงไทย) และมี 17 ธนาคารที่เข้าร่วมให้บริการ​ (มีธนาคาร SFIs) โดยทางบีซีไออยู่ระหว่างการศึกษาบริการใหม่ๆ เช่น การปรับใช้บล็อกเชนกับเอกสารด้านการซื้อขาย 
 

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยี ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าโครงการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์นี้อยู่ระหว่างการทดสอบนวัตกรรมใน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการติดตามผลและความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่สนับสนุนให้ภาคการเงินพัฒนานวัตกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบเปิด และกำหนดมาตรฐานร่วมกันเพื่อให้เกิดบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น

 

ทั้งนี้คาดว่าบริการ eLG on Blockchain จะออกจาก Regulatory Sandbox ในช่วงต้นปี 2564โดยบริการนี้จะสามารถเป็นดิจิทัลร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อทุกคนเข้าสู่ระบบเดียวกัน ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมต้องมีการปรับรูปแบบการทำงานและขั้นตอนต่างๆ เพื่อมาเชื่อมโยงกับระบบกลางนี้

 

ในขั้นต่อไป การทำระบบกลางผ่านบล็อกเชนจะขยายสู่บริการอื่นๆ เช่น Bank Confirmation ที่จะช่วยให้ภาคการเงินสามารถลดต้นทุนการทำธุรกิจและทำเรื่องเอกสารได้คล่องตัวขึ้น รวมถึงลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X