ช่วงหัวค่ำในคืนวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ถนนบางลา ถนนเชื่อมทะลุถึงชาดหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เงียบเหงาจนแทบจะเป็นซอยร้าง จากปกติที่จะคึกคักด้วยแสงสีเสียงของไนต์คลับ บาร์ และร้านรวงที่เปิดเรียงรายอยู่มากมาย
คนขับสองแถวประจำชายหาดป่าตองนั่งเหงาไร้ผู้โดยสารบอกกับเราว่า ปกติถนนเส้นนี้ความยาวไม่กี่ร้อยเมตร ใช้เวลาเกือบชั่วโมงกว่าจะเดินทะลุ เพราะแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวเดินกันไหล่เบียดไหล่ รายได้ของคนขับสองแถวจากวันละหลักพันบาท ปัจจุบันเต็มที่ได้แค่หลักร้อยพอเลี้ยงปากท้องไปให้พ้นวัน
โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวกว่า 94% ในปี 2562 ปกติภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทยปีละ 4 ล้านคน ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์มานานหลายเดือน แม้ภาครัฐจะมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ก็ช่วยภูเก็ตได้น้อยมาก เพราะรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป
ส่วนนักท่องเที่ยวไทยก็ไม่สามารถเติมเต็มสถานประกอบการในภูเก็ตได้เพียงพอ มิหนำซ้ำภูเก็ตยังมีภาพจำที่ไม่ดีในสายตานักท่องเที่ยวไทยในเรื่องราคาค่าครองชีพและค่าเดินทางภายในจังหวัด
‘ภูเก็ตโมเดล’ จึงถูกผลักดันผ่านการระดมความคิดของสมาคมธุรกิจต่างๆ ในภูเก็ตที่ต้องการแง้มประตูบ้านให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามา โดยมีมาตรการที่ออกแบบอย่างเข้มงวด เมื่อเข้ามาต้องตรวจโรคก่อนเดินทาง ต้องทำประกันสุขภาพ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ และต้องเสียเงินอย่างน้อย 1,000 บาทเข้ากองทุนเพื่อเยียวยาคนภูเก็ตหากมีสถานการณ์การระบาดเกิดขึ้น และที่สำคัญทุกคนที่มาต้องกักตัว 14 วันในสถานที่กักตัว (ALSQ) ในที่พักตามมาตรฐาน ศบค. ไม่ใช่ปล่อยให้อยู่ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรอย่างที่เข้าใจผิดกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะออกแบบมาตรการอย่างรัดกุมเพียงใด แต่ก็มีคนภูเก็ตที่ไม่เห็นด้วยและไม่สบายใจหากจะปล่อยให้ชาวต่างชาติเข้ามาในภูเก็ต
‘ภูเก็ตโมเดล’ จึงยังต้องรอการพิจารณาและสื่อสารทำความเข้าใจให้สบายใจกันทุกฝ่าย ขณะเดียวกันนี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ภาครัฐต้องเอาจริงเอาจัง สร้างมาตรฐานการเดินทางขนส่งสาธารณะในภูเก็ตไม่ให้เกินราคาจนน่าเกลียดหรือผูกขาดอยู่กับกลุ่มอิทธิพลใดๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้คนไทยเดินทางมาภูเก็ตอย่างสบายใจในราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น
ภาพ: ศักดิภัท ประพันธ์วรคุณ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า