วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิดในประเทศไทย เป็นไปตามความสมัครใจ โดยมีการทำแบบสอบถาม หลังเริ่มให้วัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี
จากแบบสอบถามความสมัครใจของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุ 5-11 ปี ถึงความสมัครใจในการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิดในประเทศไทย ช่วงวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ มีผู้ปกครองตอบคำถามมาทั้งสิ้น 3,588 คน มีหลากหลายอาชีพ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ รับราชการ ธุรกิจส่วนตัว บริษัทเอกชน และแม่บ้าน และอื่นๆ อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครมากที่สุด จังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะปริมณฑล และกระจายเกือบทั้งประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ปกครองที่ตอบแบบสอบถาม 3,588 คน ได้อนุญาตให้บุตรหลานที่อายุ 5-11 ปี รับวัคซีนป้องกันโควิดมากถึงร้อยละ 75.3 และไม่ขอรับวัคซีนร้อยละ 24.7 ในจำนวนที่จะไปรับวัคซีน 2,700 คน ชนิดของวัคซีนที่ต้องการตามที่ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเป็น Pfizer ร้อยละ 59.2, Sinopharm ร้อยละ 30.7, Sinovac ร้อยละ 5.6 % และฉีดสลับชนิดของวัคซีน ร้อยละ 4.6
จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ความต้องการที่จะฉีดวัคซีนให้เด็กยังอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 3 ใน 4 และการเลือกฉีดชนิดของวัคซีนก็มีความหลากหลาย ที่น่าสนใจคือคำถามปลายเปิด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ต้องให้กับบุตรหลานไปรับวัคซีน ส่วนใหญ่จะคำนึงถึงอาการข้างเคียงและผลระยะยาวของวัคซีน การให้ความรู้ ประโยชน์ ผลที่ได้รับ และอาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากวัคซีน ในวัคซีนชนิดต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยการตัดสินใจของผู้ปกครอง