มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เตรียมเพิ่มที่นั่งให้แก่นักศึกษาจากพื้นที่ขาดแคลนเป็น 1 ใน 4 หรือ 25% ของนักศึกษาทั้งหมด ภายในปี 2023 ภายหลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษแห่งนี้เลือกปฏิบัติทางสังคมและให้โอกาสเฉพาะเด็กที่มีฐานะร่ำรวย
ศาสตราจารย์ลูอิส ริชาร์ดสัน รองอธิการบดี เปิดเผยว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กว่า 60.5% ของนักศึกษาใหม่จบการศึกษาจากโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 พร้อมทั้งยืนยันจะเร่งเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ของความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ออกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกต่างถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่คล้ายคลึงกันคือ รับแต่นักศึกษาใหม่ที่จบจากโรงเรียนเอกชน
องค์กรการกุศลที่ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมอย่าง Sutton Trust ระบุว่า ทั้งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ต่างรับนักศึกษาใหม่จากโรงเรียนเอกชน 8 แห่ง มากกว่าเด็กที่จบจากโรงเรียนรัฐบาลกว่า 3,000 แห่งของอังกฤษ
ในขณะที่ทางออกซ์ฟอร์ดชี้แจงว่า “มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีอัตราการแข่งขันสูงมาก และยังคงยืนยันว่าการรับนักศึกษาเข้าใหม่ให้ความสำคัญกับความรู้ความสามารถ มากกว่าประวัติหรือภูมิหลังทางสังคม” โดยศาสตราจารย์ลูอิสระบุว่า “เด็กนักเรียนที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการทั่วประเทศรู้ดีว่า พวกเขามีโอกาสในการที่จะเข้าศึกษาต่อในออกซ์ฟอร์ดอย่างเท่าเทียมกัน”
โดยนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป เด็กนักเรียนโรงเรียนรัฐบาล 250 คนจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าที่พัก ปัจจุบันมีนักศึกษาออกซ์ฟอร์ดกว่า 15% ที่มาจากพื้นที่ขาดแคลน โดยมหาวิทยาลัยจะตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 25% ภายใน 4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เด็กจากพื้นที่ดังกล่าวมีโอกาสสำเร็จการศึกษาจากออกซ์ฟอร์ดเพิ่มขึ้นกว่า 200 คนต่อปี โดยอีก 50 ที่นั่งจะให้โอกาสแก่เด็กที่มีศักยภาพทางด้านวิชาการ แต่อาจจะขาดทุนทรัพย์หรือมีปัจจัยรบกวนอื่นๆ ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ลี้ภัย โดยจะต้องผ่านการเรียนปรับพื้นฐาน 1 ปี ก่อนที่จะเริ่มต้นการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งจะพิจารณาจากพื้นที่อยู่อาศัยมากกว่ารายได้หรือเชื้อชาติ
อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวนี้ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า หากมีการสงวนสิทธิ์ให้เด็กจากพื้นที่เหล่านี้ 25% แล้ว เด็กนักเรียนที่มาจากชนชั้นกลางและไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนจะได้รับผลกระทบและยิ่งทำให้อัตราการแข่งขันยิ่งสูงเพิ่มขึ้นไปด้วยหรือไม่ ถ้าที่นั่งของเด็กจากโรงเรียนเอกชนเป็น 40% ขณะที่ที่นั่งของเด็กจากที่อื่นเหลือเพียง 35% เท่านั้น
ภาพ: S-F / Shutterstock
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: