“งานแค่นี้เอง ช่วยกันหน่อย งานหนักไม่เคยฆ่าคนหรอก”
หลายคนน่าจะเคยได้ยินวลีที่ว่า ‘งานหนักไม่เคยฆ่าคน’ แต่ว่ามันจริงหรือ ในเมื่อมีข่าวคนเสียชีวิตเพราะทำงานหนักเกินทุกปี
อ้างอิงข้อมูลจากวารสาร Environment International ที่ตีพิมพ์โดย WHO คนที่ทำงานกว่า 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 35% และความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับคนที่มีชั่วโมงการทำงานมาตรฐานที่ 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘อีลอน มัสก์’ ออกมาวิจารณ์ ‘คนจีนทำงานหนักถึงตี 3’ ส่วนคนอเมริกันชอบ ‘หนีงาน’ เหตุผลที่ทำให้บริษัทในแดนมังกรแข็งแกร่งกว่าที่อื่น
- มนุษย์เงินเดือนมักใช้เวลากว่า 85% กับการประชุม แต่ผลวิจัยชี้ ‘งดประชุม 3 วันต่อสัปดาห์’ ช่วยให้ประสิทธิภาพงานดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
- เป็น ‘เป็ด’ ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร! เปิดข้อดีของการทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่สุดสักอย่าง
นอกจากนี้ WHO ยังเปิดเผยว่า จากการสำรวจทั่วโลกในปี 2016 มีคนกว่า 488 ล้านคนที่มีความเสี่ยงว่าจะมีชั่วโมงการทำงานที่มากกว่าปกติ และในปีนั้นมีผู้เสียชีวิตกว่า 745,000 คนจากการทำงานหนักเกินไป ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ และผู้คนวัยทำงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกยังมีความเสี่ยงมากที่สุดอีกด้วย
และผลการศึกษานั้นก็ทำให้มีการกำหนดให้ ‘ชั่วโมงการทำงานที่มากกว่าปกติ’ กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นครั้งแรก ประชากรจำนวน 1 ใน 3 ของยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกล้วนเสียชีวิตเพราะ ‘ทำงานหนักเกินไป’
นอกจากนี้ในภาษาญี่ปุ่นยังมีคำว่า ‘คาโรชิ’ หรือที่แปลว่า ‘ความตายจากการทำงานหนักเกินไป’ หลังจากวิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1973 ทำให้องค์กรหลายองค์กรในญี่ปุ่นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง นั่นส่งผลให้ผู้คนต้องทำงานหนักมากขึ้น
จากการรายงานการเสียชีวิตของพนักงาน ส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง หรือฆ่าตัวตายทั้งสิ้น สิ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีชั่วโมงการทำงานมากกว่าปกติ โดยชั่วโมงการทำงานของพวกเขาสูงถึง 60-70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลยทีเดียว ซึ่งนั่นมากกว่าชั่วโมงการทำงานมาตรฐานถึงเท่าตัว
ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ล่าสุดบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เปิดประตูให้พนักงานทำงานได้ 4 วันต่อสัปดาห์ แทนที่จะเป็น 5 วัน ทำให้พนักงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อปรับปรุงสมดุลชีวิตการทำงานและการทำงานเพื่อตอบสนองความรับผิดชอบที่บ้านหรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ นอกที่ทำงาน
โดยบริษัทที่ปรับปรุงนโยบายดังกล่าวมีทั้ง Panasonic, Hitachi, Mizuho Financial Group และ Fast Retailing ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Uniqlo
อย่างไรก็ตามหลายคนคิดว่าการเข้ามาของการทำงานจากที่บ้าน หรือการทำงานแบบผสมผสานที่เป็นผลมาจากการปรับตัวขององค์กรในยุคโควิด อาจแก้ปัญหาการทำงานหนักมากเกินไปได้ แต่ไม่เลย นักวิจัยพบว่ามีคนกว่า 3.1 ล้านคนในอเมริกาเหนือ ยุโรป และตะวันออกกลาง มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอีก 48 นาที จากการทำงานจากที่บ้านหรือการทำงานแบบผสมผสาน
ทั่วโลกต่างมองเห็นปัญหานี้ แต่ไม่มีใครสนใจจะแก้มันอย่างจริงจัง เมื่อองค์กรยังมองพนักงานของพวกเขาเป็นแค่เฟืองตัวหนึ่ง ไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตเป็นของตัวเอง มีครอบครัว มีกิจกรรมยามว่างที่อยากทำ ปัญหานี้ก็จะยังคงไม่ถูกแก้เสียที
รู้แบบนี้แล้วยังจะกล้าพูดอีกหรือว่า ‘งานหนักไม่เคยฆ่าคน’ จะต้องรอให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกสักกี่คนถึงจะเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
อ้างอิง:
- https://www.npr.org/2021/05/17/997462169/thousands-of-people-are-dying-from-working-long-hours-a-new-who-study-finds
- https://www.wired.co.uk/article/karoshi-japan-overwork-culture
- https://english.kyodonews.net/news/2022/05/5daa8e6f3231-focus-japan-inc-turns-to-4-day-workweek-to-offer-flexibility-to-employees.html