×

ภัยไซเบอร์พุ่ง! ดันตลาดโต 1.4 หมื่นล้าน MFEC แนะองค์กรใช้เทคโนโลยีร่วมกับ AI รับมือการโจมตีที่จะถี่และซับซ้อนมากขึ้น

25.09.2024
  • LOADING...

บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (MFEC) ผู้ให้บริการไอทีครบวงจร เผยภาพรวมตลาด Cybersecurity ในประเทศไทยปี 2567 ว่า กำลังอยู่ในช่วงขยายตัวด้วยอัตราเติบโตทบต้นต่อปี (CAGR) ที่ 14.10% โดยมูลค่ารวมตลาดอยู่ที่ราว 1.4 หมื่นล้านบาท

 

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทาย แต่ภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ที่สร้างความเสียหายในระดับที่รุนแรงมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

ในขณะเดียวกัน เทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้องค์กรจำเป็นต้องหันมาใช้กลยุทธ์เชิงรุกเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ที่เริ่มซับซ้อนและทำได้แนบเนียนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยี AI ที่เปรียบเสมือน ‘ดาบสองคม’ สามารถใช้งานได้ทั้งในด้านการโจมตีและการป้องกันภัยไซเบอร์

 

“โลกยุคใหม่นี้ การเข้าใจบทบาท AI ในบริบทของ Cybersecurity เป็นหนึ่งสิ่งที่บริษัทควรพิจารณาว่าอาจจะต้องมีใน KPI โดยองค์กรจำเป็นต้องรู้จักตัวเอง เข้าใจความเสียหายที่อาจตามมา ยิ่งถ้าธุรกิจเริ่มนำองค์กรไปสู่เฟสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน นั่นมีแนวโน้มที่จะทำให้ช่องว่างการถูกโจมตีทางไซเบอร์สูงขึ้น” ดำรงศักดิ์ รีตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ประจำ MFEC กล่าว

 

ข้อมูลการวิจัยของ Cybersecurity Ventures องค์กรชั้นนำด้านการวิจัยและเก็บรวบรวมสถิติด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยทางไซเบอร์โลก คาดว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกถึง 9.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 310 ล้านล้านบาท*) ในปี 2567 และอาจสูงขึ้นถึง 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 343 ล้านล้านบาท*) ภายในปี 2568

 

สำหรับประเทศไทย มูลค่าการลงทุนด้าน Cybersecurity จากปี 2565 คาดว่าจะเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) 13% ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาทในปี 2568 ตามการคาดการณ์จาก Krungthai COMPASS ส่งผลให้รายได้รวมของอุตสาหกรรมระบบ Cybersecurity ในไทยเพิ่มจาก 4.4 พันล้านบาทในปี 2565 เป็น 6.3 พันล้านบาทในปี 2568 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยทบต้นต่อปี (CAGR) 12.3% 

 

แม้อัตราการขยายตัวของตลาดและมูลค่าการลงทุนด้าน Cybersecurity จะขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรม แต่เทรนด์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่องค์กรต้องเจอ และความสำคัญของการลงทุนด้าน Cybersecurity ในยุคที่ ‘ข้อมูล’ เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีค่าสำหรับธุรกิจมากที่สุด

 

ด้วยเหตุนี้ องค์กรจึงต้องเปิดโอกาสในการหากลยุทธ์เพื่อตอบโต้เชิงรุกต่อภัยคุกคามไซเบอร์โดยมี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ตรวจจับ และจัดการภัยคุกคาม ในขณะที่ ‘คน’ ขององค์กรก็จำเป็นต้องถูกพัฒนาทักษะและความรู้ให้ก้าวนำอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น

 

“การนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรไม่ใช่เรื่องยากที่สุด แต่เรื่องที่ยากคือการทำให้พนักงานไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ในภาวะ ‘Overload’ หรือปรับตัวไม่ทัน เพราะเมื่อเทคโนโลยีใหม่เข้ามาอยู่กับองค์กร พนักงานก็ต้องปรับพฤติกรรมหลายอย่างตามด้วย” ดำรงศักดิ์กล่าว

 

นอกจากนี้ ดำรงศักดิ์มองว่า การนำเทคโนโลยีอย่าง Generative AI เข้ามาทำงานร่วมกับพนักงาน เป็นการเสริมความแข็งแกร่งของกันและกันมากกว่าการมาแทนที่ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ด้านความปลอดภัย การตัดสินใจท้ายสุดจะขึ้นอยู่กับมนุษย์ ที่ต้องพิจารณาปัจจัยในหลายมิติ ทั้งจริยธรรม ข้อบังคับ และผลเสียหายทางธุรกิจ 

 

ในปี 2567 กลุ่มธุรกิจ MFEC ตั้งเป้ารายได้เติบโตเฉลี่ยทบต้นต่อปี 11.4% จากปีที่ผ่านมา หรือมีรายได้ 6,734 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการเติบโตของกลุ่ม Cybersecurity ประมาณ 25%

 

หมายเหตุ: 

  • มูลค่าเงินบาทที่แปลงจากดอลลาร์สหรัฐ 1 บาท = 32.65 ดอลลาร์สหรัฐ คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนจากเว็บไซต์ Investing.com ณ วันที่ 25 กันยายน 2567
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising