×

ว่าด้วยชีวิตจีนอพยพที่ผันผวนและถูกเหยียดหยามกับการสร้างเนื้อสร้างตัวของป๋า

18.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • 60 กว่าปีก่อน ความผันผวนในการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขของชาวจีนอพยพในไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะนโยบายรัฐไทยที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา พักหนึ่งก็เชียร์จีน อีกพักหนึ่งก็จะมาต้านจีน คนจีนอพยพในประเทศไทยล้วนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตามๆ กัน
  • การดูถูกคนจีนโดยคนไทยที่ผู้เขียนและครอบครัวได้เผชิญเองกับตัวคือคำว่า ‘เจ๊ก’ ผู้เขียนเคยเรียกตัวเองว่าเป็นเจ๊ก อากงก็จะต่อว่าผู้เขียนอย่างรุนแรงว่าห้ามเรียก ห้ามด่าตัวเอง ห้ามด่าคนจีน และอย่าด่าตัวเองสิ

60 กว่าปีก่อน ความผันผวนในการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขของชาวจีนอพยพในไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะความน่าหวาดหวั่นของหลากหลายปัญหาที่เข้ามาทำให้เกิดกระแสแห่งความสับสนและวุ่นวายใจ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรัฐไทยที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา พักหนึ่งก็เชียร์จีน อีกพักหนึ่งก็จะมาต้านจีน คนจีนอพยพในประเทศไทยล้วนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตามๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ชีวิตตกระกำลำบากหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่สอง โรงเรียนจีนในไทยโดนปิดตัว เนื่องจากอาจารย์หลายคนโดนจับและโดนยัดข้อหาความเป็นคอมมิวนิสต์แล้วโยนใส่ห้องขัง ไหนจะกรณีอั้งยี่ เนื่องจากความขัดแย้งของคนจีนอพยพกันเองในไทยแล้วโดนรัฐไทยปราบปราม แล้วยังจะมีเรื่องไฟไหม้อยู่เนืองๆ ในสลัมคนจีนที่ลามไปทั่วพระนคร เป็นที่เล่าลือกันว่าก็ความอยากได้พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ทำเลทองนั่นแล

 

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยสร้างให้บรรยากาศของคนจีนอพยพในไทยนั้นมีความสุขได้เลย

 

ในส่วนของครอบครัวฉันนั้น ป๋าคือคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ป๋าเล่าให้ฟังว่าป๋าเกิดขึ้นมาอย่างเด็กชายที่แข็งแรง แล้วอยู่ดีๆ ตอนอายุได้ 11 ปี ป๋าก็กลายเป็นคนเดินไม่ได้ด้วยโรครูมาติซั่ม หมอฝรั่งรักษาไม่หาย อากงต้องอุ้มป๋าไปตามโรงพยาบาลมากมาย ไม่ว่าจะหัวเฉียว ศิริราช แล้วในที่สุดป๋าก็มารักษาหายที่โรงพยาบาลเทียนฟ้า ดังนั้นพอป๋ามีฐานะร่ำรวยขึ้นมา ทุกปีป๋าจะไปบริจาคเงินให้ที่โรงพยาบาลเทียนฟ้าจนกระทั่งเสียชีวิตไป​

 

 

ชีวิตหลากหลายปัญหา พอเริ่มสบายกาย สุขภาพแข็งแรง บ้านตรงสามย่านซึ่งเป็นโรงงานก็มาโดนไฟไหม้อีก การโดนไฟไหม้มันสาหัสเช่นกัน เพราะมันพลิกผันชีวิตของป๋า กลายเป็นว่าโอกาสทางการศึกษาต้องหมดไป เพราะต้องออกจากโรงเรียนสิงฟ้า

 

สถานะที่เปลี่ยนไปจากลูกเถ้าแก่เจ้าของโรงงานทอผ้าที่เป็นกำลังสำคัญของโรงงาน คือเป็นคนคอยส่งผ้าไปสำเพ็งทุกเช้าก่อนจะเดินทางไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือ ก็ต้องมาเลิกเรียนแล้วกลายเป็นแรงงานเด็กอายุ 14 ที่ต้องไปทำงานเป็นพนักงานเล็กๆ ที่โรงทำถ่านไฟฉายตรากบอยู่หลายปี

 

หลังจากไฟไหม้ อากงอาม่าก็พาครอบครัวที่เริ่มใหญ่ขึ้นด้วยลูกถึง 7 คนมาหาบ้านเช่าอยู่ที่ตึกแถวเรือนไม้ตรงหน้าโรงพยาบาลกรุณาพิทักษ์ในปัจจุบัน ซึ่งในช่วงนั้นถือว่าเป็นถิ่นที่ยังไม่มีความเจริญเหมือนทุกวันนี้ และเป็นบ้านติดคลอง ใช่ค่ะ แถวนั้นเมื่อก่อนมีคลองอยู่ อากงของฉันเปลี่ยนสถานะไปเพราะไฟไหม้ จากเจ้าของโรงงานทอผ้าก็ต้องผันตัวมาเป็นคนขายน้ำเต้าหู้ทั้งอากงและอาม่า โดยอากงเป็นคนสอนอาม่าเองค่ะ ด้วยอาม่าเป็นคนจีนที่เกิดในไทย ส่วนอากงมาจากเมืองจีนเองเลย ความสามารถที่ติดตัวมาจากแผ่นดินใหญ่ก็เลยหลากหลายหน่อย

 

แล้วทั้งคู่สามีภรรยาก็มาทำงานหนักใส่บ่าแบกหามกันอีกครั้ง ทั้งครอบครัว รวมทั้งป๋าของฉัน น้องชาย 2 คนของป๋าก็จะตื่นแต่ตี 3 มาช่วยอากงอาม่าโม่ถั่วเหลืองเพื่อให้กลายเป็นน้ำเต้าหู้ โดยจะโดนปลุกด้วยไม้คานหาบตะกร้าของอาม่ากระแทกไปยังที่นอนให้ตื่นนอน หลังจากที่โม่ถั่วเหลืองเสร็จ ลูกๆ ก็จะเตรียมตัวไปโรงเรียน ในขณะที่ป๋าไปทำงานโรงงานทำถ่านไฟฉาย ไถ่กู๊ (น้องสาวของป๋า) ต้องถูกส่งตัวไปอยู่โพธารามกับญาติของอาม่า เพราะเลี้ยงไม่ไหว ส่วนอาเจ็ก น้องๆ คนถัดมาก็ยังได้ไปโรงเรียนอยู่ โดยต้องเปลี่ยนจากโรงเรียนจีนไปอยู่โรงเรียนไทย

 

แล้วหลังจากนั้นอากงก็จะหาบตะกร้าไปขายที่ตลาดใกล้กับเทคนิคกรุงเทพฯ อาม่าก็จะหาบไปขายน้ำเต้าหู้ที่ตลาดสวนพลูในตอนเช้า และขายเต้าฮวยกับเฉาก๊วยในตอนบ่าย (ฉันยังจำความตัวเองขายเฉาก๊วยได้เลย)

 

 

ย้อนกลับมาที่โรงงานทอผ้าที่อากงเป็นเจ้าของในละแวกสลัมสามย่าน ซึ่งบริเวณนี้ทุกวันนี้คือจามจุรีสแควร์นั้นไม่ได้มีอากงเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว แต่จริงๆ แล้วมันคือโรงงานที่เป็นหุ้นส่วนกันระหว่างอากงของฉันกับพี่ชายของอากงที่ฉันเรียกท่านว่าเหล่าแปะ (พี่ชายปู่) เนื่องจากช่วงแรกนั้นเหล่าแปะอยากทำงานเสมียนในโรงงานทำหนังมากกว่า แล้วให้น้องชายซึ่งก็คืออากงของฉันนี่แหละมาทำโรงงานแทน แล้วก็สร้างครอบครัวก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วเหล่าแปะจะมีเมียและลูกอยู่ที่เมืองจีนก่อนแล้ว แต่ด้วยหลายปีแล้วก็ยังไม่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวสำเร็จ ประกอบกับนโยบายปิดประเทศ ไม่อนุญาตให้คนจีนเข้ามาในประเทศได้อีก ทำให้เหล่าแปะไม่สามารถพาลูกเมียที่อยู่ซัวเถามาเมืองไทยได้อีก เลยทำให้อีกไม่กี่ปีหลังจากนั้นเหล่าแปะก็แต่งงานอีกครั้งกับคนจีนที่อยู่ในไทย เป็นสาวจีนเรียบร้อย ใจดี และรักฉันมากด้วย ฉันจะเรียกท่านว่าเหล่าอึ้ม (ย่าสะใภ้) ดังนั้นลูกๆ ของเหล่าอึ้มก็จะถือว่าป๋าของฉันเป็นพี่ชายคนโตสุดของตระกูลในรุ่นที่ 2 ถึงแม้ว่าจะเกิดมาจากน้องชาย แต่ก็เป็นผู้ชายคนโตสุดและมีหน้าที่ดูแลน้องๆ ทั้งสองครอบครัวเสมอมา

 

ครอบครัวของเราทั้งสอง เหล่าแปะ อากง พี่น้อง มาจนรุ่นลูก และจนถึงรุ่นฉันก็ถือว่าเราคือครอบครัวเดียวกัน ในวันที่คนจีนอพยพในไทยโดนบีบคั้นให้เปลี่ยนนามสกุลนั้น ป๋าของฉันคือคนแรกที่เปลี่ยน แล้วครอบครัวเราทั้งสองครอบครัวก็จะใช้นามสกุลเดียวกัน ซึ่งเราถือว่าเราคือพี่น้องลูกหลานภายใต้ทวดคนเดียวกัน ซึ่งคือเหล่ากงที่เมืองจีน ถึงแม้ฉันจะไม่เคยได้พบท่านเลย แต่เราต้องยึดถือสัมมาคารวะนี้ให้เคร่งครัดเสมอมาจนทุกวันนี้

 

 

และความที่พี่ชายน้องชายที่อพยพหนีตายมาจากเมืองจีนและเหลือกันอยู่เพียงแค่สองคนในไทยทำให้ทิ้งกันและกันไม่ได้ เมื่อน้องชายต้องเลี้ยงลูกที่ยังเล็กถึง 7 คน ทำให้ความจำเป็นที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือของพี่ชายเป็นสิ่งจำเป็น เหล่าแปะก็ใช้เงินที่สะสมบวกกับเงินทำงานร่วมกับเหล่าอึ้มเปิดโรงงานทอผ้าไหม แล้วจ้างอากงของฉันมาสืบผ้าในตอนกลางวันหลังจากหาบน้ำเต้าหู้ไปขายเสร็จ ส่วนเสาร์-อาทิตย์อาม่าก็จะพาอาของฉันไปเดินเร่ขายของที่สนามหลวง

 

ความสับสนวุ่นวายกับการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องนั้นมาพร้อมๆ กับความสับสนวุ่นวายกับปัญหาของนโยบายรัฐที่มีต่อคนจีนอพยพอย่างพวกเรา ป๋าเล่าให้ฟังว่าป๋าอาจจะต้องออกจากโรงเรียนเพราะฐานะที่เปลี่ยนไป แต่เพื่อนๆ หลายคนก็ต้องออกจากโรงเรียนอื่นๆ เพราะโรงเรียนโดนปิด หลายคนอาจจะย้ายเข้าโรงเรียนไทยได้ แต่หลายๆ คนก็ต้องเข้าไปสู่โลกของโรงงานต่างๆ เหมือนป๋า

 

ป๋าบอกว่าในขณะที่ป๋านั้นเฝ้าทำงานจันทร์ถึงศุกร์ แล้วตกเย็นก็กลับไปช่วยงานอากง เสาร์-อาทิตย์ก็ทำงานไม่ได้หยุด เพื่อนๆ หลายคนรอบตัวป๋าไม่ได้เป็นแบบนั้น หลายคนกลายไปเป็นนักเลง ไปรับเป็นอาสาในสมาคมจีนต่างๆ หรือไปอยู่ตามศาลเจ้าจีน ที่แย่หน่อยคือหลายๆ คนกลายเป็นผู้ประกอบอาชญากรรมในสังคมไทยจนทำให้คนจีนนั้นโดนหยามหมิ่นและกลายเป็นเป้าหมายที่โดนจับจ้องจากทางการ คนจีนที่อพยพมารุ่นหลังจะค่อนข้างลำบากในการสร้างเนื้อสร้างตัวมากกว่ายุคก่อนๆ มาก ทำให้กลายไปเป็นนักเลงหัวไม้ก็เยอะอยู่ หลายคนอาจจะอยู่ในโรงงานและไม่สามารถสร้างตัวเป็นเถ้าแก่ได้อีกเลย  

 

 

ป๋าเล่าให้ฟังว่า ในกรณีอั้งยี่ในยุคของป๋านี่ไม่ได้รุนแรงเหมือนสมัยก่อนที่อากงจะเข้ามาเลยนะ อั้งยี่ในยุคป๋านี่ไม่มีแรงที่จะเป็นปรปักษ์กับทางรัฐไทยแล้ว แต่อั้งยี่มีไว้เพื่อปกครองคนจีนด้วยกันเอง แต่ละครั้งที่มีต่อยตีกันมันคืออั้งยี่แต่ละสายตีกันเอง แต่ทางรัฐมองว่ามันจะไปกันใหญ่ แล้วใหญ่โตขึ้นจนต้องมีการปราบปราม ป๋าเคยบอกเวลาดูทีวีให้ฉันรู้หลายครั้งว่า “นี่ไง นามสกุลนี้ตระกูลอั้งยี่ที่โด่งดังสมัยป๋ายังหนุ่มเลย” อั้งยี่ในไทยไม่ได้มีแค่กลุ่มก้อน 2-3 กลุ่ม แต่มีเป็นสิบๆ กลุ่มกระจายไปทั้งประเทศด้วยซ้ำ… กรุงเทพฯ ก็ 5-6 กลุ่มแล้ว ไหนจะที่นครสวรรค์อีก เพราะเป็นแหล่งข้าว ไหนจะฉะเชิงเทรา สงขลา พัทยา เต็มไปทั่วนั่นแหละ แต่ก็ค่อยๆ คลายความเป็นนักเลงไปเรื่อยๆ ด้วยนโยบายปราบปรามของรัฐไทย แล้วอีกส่วนหนึ่งคือสมาคมแซ่ต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่ดูแลญาติพี่น้องคนจีนมากขึ้น ทำให้อั้งยี่หมดความสำคัญลงไปด้วย

 

ป๋าไปเอากับเขาด้วยไหม พวกอั้งยี่เนี่ย

 

ไม่เคย อากงเอาตาย อากงโคตรดุและเกลียดการเป็นนักเลง ทั้งๆ ที่แถวบ้านรอบๆ เราในสลัมสวนพลูเต็มไปด้วยนักเลงคนจีน ค้ายา ขายตัวเต็มไปหมด ความโชคดีของคนบ้านนี้คือเรามีอากงอาม่าที่เป็นคนเรียบร้อยมาก รักสงบสุดๆ แล้วก็รักดี รักที่จะให้ลูกเรียนหนังสือ แต่พวกเราโดนเหยียดหยามโดยเพื่อนบ้านคนไทยรอบด้านเช่นกัน เราก็อดทนกันมาตลอด สิ่งเหล่านี้ฉันได้รับเองกับตัวสมัยที่อยู่สลัมสวนพลูกับอากงอาม่า

 

การดูถูกคนจีนโดยคนไทยนี่ฉันได้เผชิญเองกับตัวคือแค่คำว่า ‘เจ๊ก’ ฉันเคยเรียกตัวเองว่าเป็นเจ๊ก อากงก็จะต่อว่าฉันอย่างรุนแรงว่า “ห้ามเรียก ห้ามด่าตัวเอง ห้ามด่าคนจีน และอย่าด่าตัวเองสิ” มาเป็นชุด แล้วโกรธเคืองค่อนข้างแรงกับคำดังกล่าว ฉันก็จะถามว่า “ทำไมล่ะ” อากงจะบอกว่ามันคือคำด่าคนจีนของคนไทย

 

 

ฉันไม่รู้ความเป็นมาของคำด่าที่ด่าคนจีนว่า ‘ไอ้พวกเจ๊ก’ หรอก แต่ฉันก็ไปสอบถามและเปิดหาข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ความว่าจริงๆ ไอ้พวกเจ๊กมันคือคำว่า เจ็ก ที่แปลว่าอาหรือลุง แล้วพวกเจ็กในสมัยก่อนก็จะเริ่มงานด้วยอาชีพต่างๆ เช่น รถลาก รถถีบ ขายก๋วยเตี๋ยว ​คนเขาก็จะเรียกคนทำงานแบบนี้ว่าเจ็กรถลาก เจ็กรถถีบ เจ็กขายก๋วยเตี๋ยว ​แล้วเวลาคนจีนทำอะไรไม่ได้ดังใจ อารมณ์เสีย หรือถึงกาลเวลาของการเหยียดกัน ไอ้คำว่า ‘เจ็ก’ ก็ได้รับการลงเสียงหนักๆ กระแทกเสียงสูงขึ้นมา โทนเสียงจากวรรณยุกต์เปลี่ยนเป็นไม้ตรี ทำเสียงแบบดารานางร้ายหรือเสียงระดับหม่อมแม่ หญิงใหญ่ หญิงเล็กแห่งบ้านทรายทอง ​คุณก็จะได้คำว่า ‘เจ๊ก’ มาแล้วกลายเป็นคำด่า คำเหยียด คำนี้เสียดแทงใจคนจีนโดยเฉพาะอากงมากค่ะ

 

บ้านหลังที่ 3 ที่อากงอาม่าย้ายมาหลังจากไฟไหม้เป็นบ้านที่ซื้อมาจากการเก็บหอมรอมริบและการขายน้ำเต้าหู้ของอากงอาม่า (ก่อนหน้านี้เช่าเอาตลอดค่ะ) อาม่าคือคนฉลาดในการเก็บเงิน วิธีการคืออาม่าเป็นนายทุนปล่อยกู้ให้กับแม่ค้าในตลาดสวนพลูด้วย ก็เลยเป็นอะไรที่ทำให้ทั้งสองคนส่งลูกของตัวเองเรียนหนังสือให้ได้มากที่สุดโดยไม่เกี่ยงเพศ ทั้งลูกสาวและลูกชายก็ได้เรียนหนังสือกันหมด ยกเว้นพ่อของฉันที่ผันตัวไปทำงานโรงงานเท่านั้น แล้วพ่อของฉันก็เป็นกำลังสำคัญที่ส่งเงินให้พ่อแม่ของตัวเองส่งเสียเลี้ยงน้องมาตลอดจนจบปริญญาตรีเกือบทุกคน และมีเงินให้อาม่าซื้อบ้านหลังที่ 3 นี่แหละที่ฉันได้อาศัยอยู่ในยามที่ฉันเกิดมาด้วย ใช่ค่ะ ฉันอาศัยอยู่ในสลัมสวนพลูมาก่อน… ​แต่ยังไม่ใช่เวลาที่จะมาเล่าช่วงอายุของฉันค่ะ

 

 

เรามาคุยถึงวิถีการสร้างเนื้อสร้างตัวของป๋าก่อนดีกว่า

 

หลังจากที่ทำงานที่โรงงานถ่านไฟฉายตรากบได้จนเป็นหนุ่มอายุ 17-18 ปี ป๋าก็ย้ายไปทำงานที่โรงงานตงฮวดตรงถนนพระรามสี่ สถานที่ปัจจุบันคือโรงพยาบาลเทพธารินทร์นี่แหละค่ะ และที่นี่เป็นที่ที่ทำให้ป๋ากับหม่าม้าได้พบกัน

 

หลายปีผ่านมา อากงอาม่ารวบรวมเงินซื้อเครื่องทอผ้ามาได้ 4 เครื่อง แล้วเอามาซ่อมเป็นเครื่องทอผ้าไหมจีนไว้ประกอบเป็นชุดเสื้อผ้าให้ตุ๊กตา ป๋าซึ่งอยู่โรงงานทอผ้ามาสักพักหนึ่งได้รับการฝึกฝนในหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะสืบผ้า ตากด้าย กรอด้าย จนเลื่อนตำแหน่งเป็นนายช่างโรงทอ ก็ได้มาเป็นช่างซ่อมเครื่องทอผ้าให้อากงนี่แหละค่ะ อากงวางเครื่องทอผ้าไว้ที่บ้านเช่าตรงซอยปั่นใกล้ๆ กับเทคนิคกรุงเทพฯ ซอยนี้เป็นซอยตันแคบๆ ไม่มีการทำหรือซ่อมถนนให้ดีจนฉันโตด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นซอยที่มีชุมชนคนไทยอยู่กันหนาแน่นทีเดียว ป๋าทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ที่โรงงานตงฮวด แล้วตอนเย็นกลับบ้านก็มาช่วยอากงทอผ้าต่อ เสาร์-อาทิตย์ก็มาทำงาน ไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย แต่ถึงจะไม่ได้ไปไหนเลย ความทะเยอทะยานที่จะเป็นเถ้าแก่เจ้าของโรงงานของป๋าเต็มเปี่ยมมากด้วยความขยันขันแข็งล้วนๆ แกสะสมเงินทองให้แม่เก็บไปปล่อยกู้ ให้น้องๆ ไปเรียนหนังสือ ทุกบาททุกสตางค์ไม่เคยนำไปหาความสำราญอะไรเลย แกเก็บเงินได้มากจนกระทั่งมีเงินซื้อรถมือสอง ซึ่งจริงๆ คือผ่านมาเป็นสิบมือแล้วก็ว่าได้เพื่อเอามาขนผ้าไปส่งขาย และได้มารับแม่ฉันไปเที่ยวบ้าง แต่ก็น้อยเต็มทน

 

บอกได้เลยว่าถ้าคุยเรื่องที่เที่ยวในกรุงเทพฯ ป๋าของฉันนี่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย แต่เรื่องบันเทิงให้ไปถามหม่าม้าแทนได้เลย

 

 

หม่าม้าเล่าว่าได้รู้จักป๋าก่อนที่ป๋าจะมีรถเสียอีก ณ ตอนนั้นหม่าม้าย้ายบ้านไปอยู่ที่ถนนใต้สะพานพุทธแล้ว ถ้าวันไหนป๋าไม่ได้รีบกลับไปทำงานกับอากง ซึ่งก็น้อยเต็มทน ป๋าก็จะไปรอหม่าม้าเลิกงานแล้วนั่งรถเมล์ไปส่งบ้านที่สะพานพุทธ แล้วป๋าก็ค่อยกลับไปทอผ้าต่อให้อากงจนดึก เสาร์-อาทิตย์ไม่ใช่เวลาที่จะมาจีบหม่าม้าไปเที่ยว ไปเดต หรือไปดูหนังกินข้าว เพราะต้องประหยัดเงิน ป๋าก็จะแค่พาไปนั่งสวนลุมฯ หรือไม่ก็พาไปที่โรงงานตัวเองเพื่อให้หม่าม้าไปช่วยกรอด้าย ทอผ้า โรแมนติกจริงๆ ป๋าฉัน

 

แทบไม่เคยเลยที่ป๋าของฉันจะพาหม่าม้าไปเดตในวันอาทิตย์ ไปดูหนัง หม่าม้าบอกว่าไปดูแต่กับเพื่อน ถ้าดูหนังจีนก็ต้องไปโอเดียน ถ้าดูหนังแขกก็ต้องไปพาราเมาท์ แต่ก็จะดูหนังจีนเป็นหลัก ตอนนั้นหลินชิงเสียได้เกิดขึ้นมาบนจอเงินแล้ว (ต้องมีวัยรุ่นถามว่าจอเงินคืออะไร… จอเงินคือจอภาพยนตร์ ส่วนจอทีวีเขาจะเรียกว่าจอแก้ว การได้เป็นดาราจอเงินถือว่ามีเกียรติกว่าจอแก้วเยอะเลยค่ะ แต่ทุกวันนี้ทุกคนจ้องไปที่จอโมบายล์ ซึ่งไม่รู้ว่าเขาจะเรียกว่าอะไร)

 

ในยุคที่บ้านเมืองยังไม่มีรถติด ในยุคที่บ้านเมืองยังเต็มไปด้วยคลอง และยังไม่ได้เต็มไปด้วยคนมากมาย แล้วรถเมล์ก็ยังมีน้อยเส้นทาง รถรางก็ยังไม่โดนยกเลิกนั้น การมีรถมือสองของป๋าก็ถือว่าเป็นเรื่องเท่มากแล้ว แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต

 

ป๋ากับหม่าม้าคบหาเป็นแฟนกันอยู่หลายปี แกจำไม่ได้ แต่เกิน 4 ปีแน่นอน ก็มาถึงวันแต่งงาน หม่าม้าบอกว่าป๋ายังไม่อยากแต่งงานหรอก เพราะอยากรวยกว่านี้ ตั้งตัวให้ดีกว่านี้ ให้ครอบครัวมั่นคงกว่านี้ แต่อาม่าเป็นฝ่ายไม่ยอม เพียงแค่เพราะว่าอาม่าไปดูหมอมาแล้วพบว่าดวงของหม่าม้าจะทำให้ป๋ารวยและเป็นเถ้าแก่ได้ คำสั่งแต่งงานก็ลงมาทันที​ราวกับสายฟ้าฟาดหน้าป๋าเลยทีเดียว จะให้ดีใจได้ยังไง บ้านส่วนตัวก็ยังไม่มีให้ บ้านก็ยังเป็นบ้านไม้ที่ลูกอากงอาม่าอยู่รวมกันเป็นสิบคน จะหาห้องไหนเป็นห้องหอ ฉันฟังเองยังเบ้ปากเลยค่ะ เพราะฉันโตมากับบ้านหลังนี้ด้วยเหมือนกัน แล้วฉันก็รู้ว่าห้องหอของป๋ากับหม่าม้าฉันนั้นเล็กมาก กว้างประมาณ 1.5 เมตร ยาว 2 เมตรได้ (เวลามีอะไรกันเสียงมันดังแน่ๆ ฉันคิดเอง แหะๆ) ตอนฉันโตมา ห้องนี้ก็เป็นห้องส่วนตัวของอากงไปแล้ว

 

 

วันแต่งงานนั้น ป๋ากับหม่าม้าของฉันแต่งที่สมาคมแซ่คูตรงกล้วยน้ำไท ซึ่งเป็นแซ่ของอากง ในวันนั้นมีสองคู่ที่แต่งพร้อมกันและเป็นญาติกัน อากงขี้โม้เสมอมา แกเล่าว่าวันงานทุกคนก็คือญาติๆ กันในสมาคมทั้งนั้น ฝั่งโน้นคือฝั่งคนรวย แต่เราคือฝั่งคนจน แต่พวกญาติๆ เพื่อนๆ ก็มาแต่ฝั่งเรากันจนแน่นไปหมดจนล้น จนฝั่งโน้นต้องมาบอกว่าให้แบ่งไปนั่งฝั่งเขาบ้างก็ได้ ฉันก็มักจะบอกว่าอากงขี้โม้ เพราะแกเป็นคนภูมิใจมากที่เป็นคนเพื่อนเยอะ ญาติเยอะ เพื่อนรัก ญาติรัก แล้วจริงๆ เป็นอย่างไร บอกเลยว่าเรื่องแบบนี้หม่าม้าจะไม่โกหกค่ะ และหม่าม้าบอกว่าอากงพูดถูกเลย ฝั่งงานแต่งงานของป๋ากับหม่าม้าคนเยอะมาก แน่นไปหมด

 

หมอดูก็อาจจะแม่นจริงๆ ก็ได้ แต่ไม่รู้หมอดูของอาม่าแม่น หรือหมอดูคนอื่นแม่นกว่ากัน หมอดูอาม่าบอกว่าป๋าจะได้เป็นเถ้าแก่ถ้าแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ แต่พวกน้องสาวของป๋าบอกฉันในภายหลังว่า หมอดูบอกว่าลูกสาวคนโตคือฉันนี่แหละที่ดวงจะทำให้ป๋าได้เป็นเถ้าแก่ พอไปเล่าให้หม่าม้าฟัง หม่าม้าบอกไม่เคยได้ยินดวงฉัน อืม อดอวดดวงตัวเองเลย

 

ยังไงก็แล้วแต่ ป๋าจะได้เป็นเถ้าแก่ก็เมื่อฉันเกิดมาแล้วและมีอายุได้ 6 เดือน แต่วัย 6 เดือนไม่ได้ช่วยอะไรพ่อตัวเองแน่ๆ จากปากคำบอกของอาม่าและหม่าม้าคือขายทอง ขายเพชร ขายทุกอย่าง ไม่มีญาติคนไหนให้ยืมเงิน ไม่มีเจ้านายคนไหนให้ยืมเงิน ทุกบาททุกสตางค์มาจากเครื่องเพชรเครื่องทองของสองสาวที่ทุ่มเทให้กับป๋าของฉัน (รักๆ) แล้วนำเงินไปเช่าโรงงาน ซื้อเครื่องทอผ้า เครื่องสืบผ้า เครื่องกรอด้าย แล้วย้ายคนจากบ้านเช่าโรงงานเล็กๆ ที่ซอยปั่นไปยังฝั่งธน ไปเริ่มต้นชีวิตความเป็นเจ้าของกิจการกัน โดยมีหม่าม้าเป็นกำลังสำคัญ ทอผ้าทั้งๆ ที่ฉันยังเล็กแล้วนอนอยู่ข้างๆ เครื่องทอผ้านั้น หัดเดิน แล้วเตาะแตะไปรอบๆ โรงงานนั้น

 

ครั้นมามีกิจการเป็นของตัวเอง ป๋าก็ต้องมีการทำเอกสารอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะใบประกอบกิจการ เอกสารทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ซึ่งในขณะนั้นชื่อป๋าในบัตรประชาชนคือ จินเผ่ง แซ่คู แต่จริงๆ ชื่อจีนของป๋าคือ คูจ๊กเอี้ย ฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมไม่เหมือนกัน แต่ความที่ต้องการให้ตัวเองเป็นคนไทย เพื่อความสะดวกในการทำงาน ทำกิจการ และติดต่อกับราชการ ป๋าตัดสินใจเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็นภาษาไทยทั้งหมด

 

 

อันนี้มันเนื่องมาจากที่ฉันถามป๋าเองว่าเราได้นามสกุลนี้มาจากไหน เพราะว่าในช่วงที่ฉันโตขึ้นมา เรามักจะคุยกับเพื่อนๆ ว่านามสกุลเรานั้นได้แต่หนใด หลายคนบอกเป็นพระตั้งให้ หลายคนบอกเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่มอบให้ หลายคนเป็นนามสกุลพระราชทาน ป๋าตอบว่านามสกุลเรานายอำเภอตั้งให้ ป๋าเดินโง่ๆ ไปในอำเภอ ไม่มีอะไรในหัวเลย แล้วไปบอกนายอำเภอว่าอยากเปลี่ยนชื่อและนามสกุล นายอำเภอคนไหนแกยังจำไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แล้วเขาก็ให้มาว่า ชัยถิรสกุล ซึ่งแปลว่าสกุลที่มีชัยชนะตลอดกาล อืม ก็เท่ดีนะ แล้วนามสกุลนี้ก็มีการใช้หลายสิบคน แต่ก็ไม่ถึงร้อยคนนะคะ สบายๆ ชิลๆ พวกอาๆ เล่าให้ฟังว่าช่วงที่อายังเด็ก คุณครูในโรงเรียนสนับสนุนให้เด็กจีนไปเปลี่ยนเป็นนามสกุลไทย แล้วเพื่อนๆ ก็จะล้อพวกใช้แซ่กันว่ามันเชย แล้วการมีนามสกุลไทยเป็นเรื่องเท่มากในช่วงนั้น ทำให้ทุกคนทยอยเปลี่ยนกันโดยไม่ได้รู้เลยว่านี่คือนโยบายกลืนชาติจีนให้เป็นไทยของภาครัฐ

 

แล้วทุกคนก็ทำเพราะความอยากเท่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเราจะใช้แซ่หรือนามสกุล เราก็คือคนไทยเชื้อสายจีน แต่แล้วเมื่อฉันเกิดมา ฉันก็กลายเป็นคนไทย สัญชาติไทย เชื้อชาติไทย ​ฉันภูมิใจกับความเป็นไทยของฉันมาโดยตลอด จนกระทั่งฉันรู้ว่าเลือดในตัวของฉันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นคือจีนอพยพทั้งหมด มันก็ให้ความรู้สึกคิดมากในใจบางอย่างกับตัวเองเปลี่ยนไป เช่น ฉันควรจะรักชาติไหนดี ไทยหรือจีน แต่นั่นก็ไร้สาระเกินกว่าจะมานั่งคิดในศตวรรษนี้แล้ว ในศตวรรษที่โลกทั้งโลกคือมนุษยชาติและไม่ควรแบ่งแยกสัญชาติและเชื้อชาติ ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องของความรักชาติจีนหรือรักชาติไทย แต่มันคือสายเลือดของการต่อสู้ ของความต้องการเป็นไทกับตัว ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ไม่เป็นทาสใคร ไม่เป็นเหยื่อของใคร แต่เป็นคนที่อยู่ในประเทศที่เป็นไท เป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด

 

 

ฉันเคยถามอากงเสมอๆ ว่าทำไมอากงถึงไม่หนีไปเมืองที่มันดีกว่านี้ เช่น ไปอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยที่แท้จริง แถมยังมีความทันสมัยที่ดีกว่าเมืองไทย อากงจะบอกเสมอว่าเงินไม่มี มาได้แค่นี้ แล้วอากงก็จะกอดไหล่แล้วบอกกับฉันว่าไม่ดีเหรอ ที่เมืองไทยก็สงบดี อากงก็มีความสุข มีลูกหลาน มีครอบครัว มีความร่ำรวย เราอยู่ในประเทศที่สงบใต้ร่มพระบารมี

 

จริงๆ แล้วอากงแทบไม่รู้เลยว่าทุกประเทศในโลกใบนี้ไม่ได้มีความสงบหรอก มันมีปัญหาแตกต่างกันร้อยแปดพันประการ

 

มันอยู่ที่เราเลือกจะรับรู้เรื่องปัญหาของประเทศนี้หรือเลือกที่จะปิดตาย ไม่รับรู้สิ่งรอบตัวที่เกิดขึ้น เลือกที่จะรับรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ หรือเลือกที่จะก้มหน้าเอาตัวรอดของตัวเองและครอบครัวเท่านั้นก็พอ ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน เช่นไร

 

ปัญหาของชาตินั้นๆ ก็กระทบต่อชีวิตของคนในชาตินั้นๆ ทุกคน ไม่มีน้อย มีแต่มาก เพียงแต่คนในชาตินั้นจะรู้ตัวไหมเท่านั้นเอง

 

สวัสดี

 

ลิลลี่ ชัยถิรสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising