ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกการทำงานบีบให้องค์กรและพนักงานต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อให้ธุรกิจเติบโต หลายบริษัทเริ่มมอบหมายงานใหม่ๆ ให้พนักงาน โดยหวังว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมและวัฒนธรรมองค์กร แต่เมื่อภาระงานที่มีอยู่แล้วเพิ่มขึ้นและยุ่งเหยิงกว่าเดิม พนักงานหลายคนต้องทำงานล่วงเวลาจนเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ชีวิตแบบนี้ใช่ที่เราต้องการหรือเปล่า?” สุดท้าย คำว่า ‘ลาออก’ กลายเป็นทางเลือกที่จะปลดปล่อยพวกเขาจากปัญหา และทำให้องค์กรสูญเสียทีมงานที่มีความสามารถไปมากมาย
อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง SEAC กล่าวว่า ผลสำรวจจากผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรพบว่า 70% ของการปรับเปลี่ยนองค์กรมักจะล้มเหลว เพราะเน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานมากกว่าการสนใจกับสิ่งที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนั้น ซึ่งก็คือกรอบความคิด (Mindset)
หลายครั้งผู้นำต้องกลับมาพิจารณาสไตล์การเป็นผู้นำของตัวเองและผลกระทบต่อทั้งประสิทธิภาพและความสุขในองค์กร การเป็นผู้นำไม่ได้หมายถึงการคิดเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงคนในทีมและเข้าใจความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง กรอบความคิดนี้เรียกว่า Outward Mindset ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงผู้นำหลายคน รวมถึงทีมและองค์กรไปในทางที่ดีขึ้น
เป็นไปได้ว่าในช่วงเวลาที่เราและคนในทีมต้องเผชิญกับแรงกดดันและภาวะหมดไฟในการทำงาน แต่ละคนก็มักจะคิดถึงแต่ความต้องการของตัวเองและให้ความสำคัญกับงานที่เร่งด่วนมากกว่าความสุขของคนรอบข้าง ทุกคนเห็นและทำงานเพื่อเป้าหมายของตนเองเท่านั้น บางครั้งอาจลืมเป้าหมายองค์กรที่มีร่วมกันไป ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกการทำงานและความขัดแย้งตามมา
ด้วยการพัฒนากรอบความคิดแบบ Outward Mindset เราและคนในทีมจะสามารถรู้ทันความคิดของตัวเอง และปรับมุมมองเพื่อใส่ใจความต้องการและความท้าทายของทีมงานมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงช่วยให้แต่ละคนมีส่วนร่วมและพึงพอใจในการทำงานมากขึ้น แต่ยังช่วยให้เราค้นพบคุณค่า เป้าหมาย และความสุขในบทบาทของเราเองด้วย
โดยสามารถเริ่มต้นจากการกระทำเล็กๆ ด้วย 4 แนวทางนี้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ ไม่เพียงแค่สไตล์การเป็นผู้นำของตัวเราเอง แต่ยังรวมถึงความสำเร็จโดยรวมและความสุขของทีมงานและองค์กรด้วย
1. เปิดใจพูดคุย รับฟังปัญหาของทีม
หัวใจสำคัญของการซื้อใจพนักงานคือความเข้าอกเข้าใจที่องค์กรและผู้นำมีต่อพนักงาน อย่าปล่อยให้พนักงานรู้สึกโดดเดี่ยวราวกับกำลังแบกรับปัญหาอยู่ฝ่ายเดียว เพราะนั่นจะยิ่งบั่นทอนกำลังใจในการทำงาน ผู้นำควรหาโอกาสพูดคุยกับพนักงานหรือทีมงานของตัวเอง เพื่อรับฟังเรื่องราว ความรู้สึก และปัญหาของพวกเขา ที่สำคัญคือต้องฟังอย่างใส่ใจและพยายามคิดในมุมมองและความรู้สึกของพวกเขา การทำเช่นนี้จะช่วยให้องค์กรเข้าใจความต้องการของพนักงานมากขึ้น
2. เปิดทางให้ทีมมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย
การที่ผู้นำหรือองค์กรสั่งงานโดยไม่ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจ คือสาเหตุที่ทำให้พนักงานขาดแรงผลักดัน การเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายของงานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะวิธีนี้จะช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งและเป็นเจ้าของงาน ทำให้ทุกคนมองไปที่เป้าหมายของงานมากกว่าเป้าหมายของตัวเอง
3. เปิดโอกาสให้ทีมเติบโตไปพร้อมกับองค์กร
หากต้องการพัฒนาองค์กรให้เติบโตไปในทางสร้างสรรค์ ควรเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงศักยภาพของตัวเองในการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้พวกเขาได้ฝึกฝน เรียนรู้ และเติบโตไปพร้อมกับองค์กร อย่าปิดกั้นความคิดและวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ เพราะนั่นคือกุญแจสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนา และทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อองค์กร
4. เปิดกรอบความคิดให้ทีมเห็นคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น
กรอบความคิดเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานรู้สึกรักงานและรักองค์กร นำไปสู่พฤติกรรมการทำงานที่พร้อมปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวเองด้วยความปรารถนาที่จะเห็นองค์กรเติบโต การสร้าง Outward Mindset ในองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำไม่ควรมองข้าม เพราะกรอบความคิดนี้จะช่วยผูกใจพนักงานเอาไว้และผลักดันให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานได้อย่างยั่งยืน
ในขณะที่เราบริหารและนำพาองค์กรให้เติบโตในโลกธุรกิจที่ซับซ้อนทุกวันนี้ การเป็นผู้นำที่ดีนั้นต้องไม่มองเพียงแค่ความต้องการ เป้าหมาย และความท้าทายของตัวเองเท่านั้น แต่จะต้องมองให้เห็นความต้องการ เป้าหมาย และความท้าทายของคนอื่นๆ ในทีมด้วย
หรือกล่าวง่ายๆ คือต้องเป็นผู้นำที่มี ‘Outward Mindset’ หรือการปรับมุมคิดด้วยการยึดความต้องการของคนรอบข้างเป็นที่ตั้ง เพื่อช่วยให้สามารถนำทีมไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง มองเห็นเป้าหมายร่วมกัน แต่ละคนมีความสุขและเห็นคุณค่าในบทบาทการทำงานของตนเอง พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคที่ทุกอย่างถูกดิสรัปต์อยู่ตลอดเวลา