การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือที่รู้จักกันในชื่อ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ เสร็จสิ้นลงไปแล้วเมื่อวันเสาร์ (13 พฤศจิกายน) ที่ผ่านมา หนึ่งในดีลที่สามารถปิดลงได้ในการประชุมครั้งนี้คือการกำหนดกฎสำหรับ ‘ตลาดคาร์บอน’ (Carbon Market) ที่อนุญาตให้ประเทศที่มีความยากหรือมีค่าใช้จ่ายสูงในการตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถซื้อ ‘เครดิตชดเชย’ ที่แสดงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประเทศต่างๆ ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้มากกว่าที่ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ เพื่อมาชดเชยกับการปล่อยก๊าซของตนเอง
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่สถาบันสาธารณะหรือองค์กรเอกชนจะลงทุนในโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมักจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เช่น การเปลี่ยนถ่านหินเป็นพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก็จะสามารถสร้าง ‘เครดิต’ ที่สามารถซื้อขายต่อไปได้เช่นกัน
นี่คือข้อสรุปสำคัญของกฎว่าด้วยตลาดคาร์บอนดังกล่าว
- กฎดังกล่าวประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือระบบรวมศูนย์ที่เปิดให้แก่ภาครัฐและเอกชน และอีกส่วนคือระบบแบบทวิภาคีที่อนุญาตให้ประเทศต่างๆ สามารถซื้อขายเครดิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนของตนเองได้
- อย่างไรก็ตาม มีความกังวลจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประนีประนอมที่เกิดขึ้นในกฎเหล่านี้ ซึ่งอนุญาตให้เครดิตเก่าที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้พิธีสารเกียวโตและถูกพิจารณาว่ามีคุณภาพที่ไม่ดี สามารถเข้าสู่ระบบตลาดใหม่ได้ และมีการตั้งข้อสงสัยถึงประโยชน์ต่อสภาพภูมิอากาศของเครดิตเก่าบางส่วนด้วย จากการประมาณการโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Carbon Market Watch ประมาณว่าเครดิตดังกล่าวมีราว 300 ล้านเครดิต ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี 2013-2020 ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเครดิตเหล่านี้อาจทำให้ตลาดเต็มไปด้วยเครดิตราคาถูกที่กดดันราคาได้
- นอกจากนี้กฎใหม่ดังกล่าว (เฉพาะส่วนระบบรวมศูนย์) ยังมีข้อกำหนดให้เก็บส่วนแบ่งรายได้จากการซื้อขายเครดิตดังกล่าวร้อยละ 5 ไปให้กองทุนที่ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเครดิตอีกร้อยละ 2 จะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติเพื่ออำนวยความสะดวกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวม แต่กับระบบซื้อขายทวิภาคี กฎข้อนี้จะไม่ถูกนำมาใช้
- และยังมีการออกกฎเพื่อป้องกันการนับเครดิตซ้ำ โดยประเทศที่สร้างเครดิตชดเชยขึ้นมาจะต้องตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้ขายเครดิตนี้ให้กับประเทศอื่น หรือนับรวมเข้ากับเป้าหมายการลดคาร์บอนของตนเอง หากอนุมัติและมีการขายเครดิตออกไป ประเทศผู้ขายจะต้องเพิ่มหน่วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงไปในการนับปริมาณการปล่อยก๊าซของประเทศตนเอง ส่วนประเทศผู้ซื้อก็จะนำไปหักออกจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของตน
- ในขณะที่บราซิลระบุว่าข้อตกลงนี้เป็นชัยชนะของบราซิล และบราซิลเองก็เตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้ส่งออกคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ นักวิจารณ์กล่าวว่าการชดเชยดังกล่าวอาจไปไกลเกินไปในการอนุญาตให้หลายๆ ประเทศยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่อ ส่วนบรรดาประเทศที่อ่อนไหวต่อผลกระทบของสภาพภูมิอากาศก็ส่งสัญญาณถึงความกังวลว่าการชดเชยดังกล่าวอาจเปิดโอกาสให้มีฝ่ายที่เลี่ยงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ภาพ: Sean Gallup / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.spglobal.com/platts/en/market-insights/latest-news/energy-transition/111421-cop26-nations-strike-deal-on-international-carbon-markets-at-glasgow-summit
- https://apnews.com/article/climate-business-scotland-glasgow-europe-ef49bd6336c3cbd5356aea1e8af19f6d
- https://www.ft.com/content/f13bce2b-8a2b-4289-9281-9c6acf34f472
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-11-13/cop26-finally-set-rules-on-carbon-markets-what-does-it-mean?sref=CVqPBMVg
- https://www.reuters.com/business/cop/outline-carbon-markets-deal-emerges-un-climate-summit-2021-11-13/