ในฐานะพนักงานที่ยังมีไฟในการทำงานอยู่ การทำงานให้ออกมาดีย่อมเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการทำงานแน่นอน แต่การจะทำงานให้ผลลัพธ์ออกมาได้ดั่งใจ องค์กรก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการจัดหาทรัพยากรให้กับพนักงานของพวกเขาด้วย
ตลาดแรงงานปัจจุบันไม่ได้แข่งขันกันที่ตัวเงินอีกต่อไป แต่เป็นทรัพยากรอื่นที่ช่วยยกระดับให้ชีวิตการทำงานของพนักงานดีขึ้น จากการสำรวจพบว่า 60% ของผู้ที่กำลังมองหางานเห็นตรงกันว่าทรัพยากรและสิทธิประโยชน์ส่วนเพิ่มนั้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจว่าจะตกลงเข้าทำงานกับองค์กรหรือไม่ และพนักงานกว่า 80% ในองค์กรสนใจทรัพยากรที่องค์กรมอบให้มากกว่าการขึ้นเงินเดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คาดการณ์นายจ้างในไทยจะปรับเพิ่มค่าตอบแทน เงินเดือน 4.5% ในปี 66 แต่น้อยกว่าเวียดนามที่คาดปรับเพิ่ม 7.1%
- ‘โตไปอย่าเป็นแบบนี้’ ฮาร์วาร์ดจัดประเภท เจ้านาย หัวหน้า ที่ไม่น่ารัก 5 แบบที่ลูกน้องไม่อยากทำงานด้วย
- ที่ทำงานเก่าที่โปรด! พฤติกรรม ‘พนักงานบูมเมอแรง’ ที่ลาออกและกลับมาใหม่อีกครั้ง และรับเงินเดือนแบบยิ่งใหญ่กว่าเดิม
การได้รับการสนับสนุนทรัพยากรในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การทำงานอย่างคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมต่างๆ ไปจนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนั้น นอกจากจะช่วยให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่นและได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจแล้ว ยังช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี เพิ่มความมั่นใจให้กับพนักงานเมื่อพวกเขาเจอกับอุปสรรคในการทำงานด้วย
จากการสำรวจพนักงานกว่า 4,000 คนในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน พนักงานกว่า 42% องค์กรไม่มีคอมพิวเตอร์ให้พวกเขาใช้ทำงาน ส่งผลให้ 9% ของพวกเขาตัดสินใจลาออกตั้งแต่ไม่กี่วันแรกของการทำงาน และอีก 10% ตัดสินใจลาออกในไม่กี่เดือนถัดมา
โชคร้ายที่หลายองค์กรยังมีชุดความคิดที่ว่า ‘ให้ตามมีตามเกิด’ แม้ว่าองค์กรจะมีทุนทรัพย์มากพอที่จะสนับสนุนสิ่งต่างๆ ให้กับพนักงานก็ตาม หรือบางองค์กรก็เลี่ยงบาลีด้วยการใช้คำว่า ‘ให้ตามผลประกอบการ’ ซึ่งดูอย่างไรก็ผลประกอบการดี แต่คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่ยื่นคำขอไปเมื่อปีที่แล้วก็ยังไม่เห็นวี่แววเสียที หรือโปรแกรมที่ต้องใช้ก็ไม่มีให้ จนพนักงานต้องหาทางออก (ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการใช้ของเถื่อน ซึ่งผิดกฎหมาย) หรือประกันกลุ่มที่องค์กรควรจะใส่ใจให้มากกว่านี้ก็ยังคงเบิกได้น้อยนิดเหมือนเดิม
การให้ทรัพยากรกับพนักงานแบบ ‘ตามมีตามเกิด’ นั้นอาจไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรที่เห็นได้ชัด แต่ความไม่พอใจของพนักงานจะเริ่มสะสม และเป็นหนึ่งในเหตุผลเทรนด์การทำงานที่กำลังมาแรงในปัจจุบันอย่างการ Quiet Quitting ที่พนักงานรู้สึกว่าองค์กรไม่ได้เห็นค่าอะไรพวกเขาเลยสักนิด เพราะฉะนั้นจะทำงาน ‘ตามมีตามเกิด’ คืนไปก็แล้วกัน หรือ Lying Flat ในจีน ที่คนหนุ่มสาวเริ่มหมดความทะเยอทะยาน ไม่ทำอะไรมากไปกว่าที่จำเป็นอีกต่อไป เพราะทำต่อไปก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นเลย
การสนับสนุนทรัพยากรให้กับพนักงานสามารถเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานให้พวกเขาได้ และทำให้พวกเขารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับองค์กร ดังนั้นองค์กรจึงควรตรวจสอบอยู่เสมอว่าพนักงานในแต่ละแผนกจำเป็นต้องใช้อะไรในการทำงานให้สำเร็จด้วยดีบ้าง หรือแม้กระทั่งการเรียกพบเพื่อถามจากพนักงานโดยตรงว่าพวกเขาต้องการอะไร ถ้าสิ่งที่พวกเขาต้องการนั้นสมเหตุสมผล ก็ควรพิจารณามอบให้ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน และลดอัตราการลาออกลงได้ด้วย
อ้างอิง: