×

เป็นแค่ ‘คนธรรมดา’ ไม่ได้เหรอ? คำถามที่เกิดขึ้นมาในวันที่สังคมถามหาแต่ ‘ความสำเร็จ’

08.05.2022
  • LOADING...
คนธรรมดา

หลายคนน่าจะเคยเห็นคอนเทนต์ผ่านๆ ตาในลักษณะที่ว่า อายุ 30 ปีต้องมีเงินเก็บ 1 ล้านบาท รถ 1 คัน บ้าน 1 หลัง หรืออายุน้อยก็ขึ้นเป็นผู้บริหาร เป็นเจ้าของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ

 

คำถามคือ ทำไมอายุ 30 ปีจึงต้องประสบความสำเร็จ แค่มีเงินพอใช้ เลี้ยงดูตัวเองได้ วันหยุดไปเที่ยวบ้าง หรือถ้าไม่อยากไปไหนก็นอนดูหนังอยู่ห้อง ไม่ได้เหรอ?

 

“อยากไปเดินโง่ๆ อยู่ริมทะเล” จึงอาจไม่ใช่คำพูดเชิงตลกขบขัน แต่สำหรับหลายคน (รวมถึงตัวผู้เขียน) ก็มีความรู้สึกแบบนั้นเช่นกัน อยากไปเดินปล่อยตัว ปล่อยใจ ปล่อยวางทุกอย่างที่อยู่บนบ่า แล้วให้เสียงคลื่นฮีลใจเราให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง

 

หากมองเรื่องเหล่านี้เข้าด้วยกัน จึงไม่แปลกที่กระแส ‘คนธรรมดา’ จะเป็นไวรัลที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งไวรัลนี้ถูกจุดประกายโดยแบรนด์ ‘ห่านคู่’ และ ‘นันยาง’ แบรนด์ระดับตำนานที่อยู่คู่คนไทยมาแล้ว 69 ปี

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

“เราอยากบอกว่า ถึงชีวิตจะไม่โดดเด่น แต่อย่ารู้สึกผิดกับการเป็นคนธรรมดาก็พอ ห่านคู่จะอยู่ซัพพอร์ตคนธรรมดาอย่างคุณเสมอ” ห่านคู่กล่าว

 

ขณะที่นันยางก็รับลูกว่า “ขอบคุณที่เข้าใจคนธรรมดา เราเคยเหนื่อยกับการตอบคำถามว่าเรามีอะไรพิเศษ จุดเด่นเป็นยังไง เพราะเราก็เป็นรองเท้าธรรมดา ไม่หวือหวา ไม่ทันสมัย ไม่พิเศษ”

 

แหล่งข่าวที่เป็นนักการตลาดรายหนึ่งให้ความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กระแสที่เกิดเป็นไวรัลจนแบรนด์อื่นๆ ทำตามมาจาก ‘การเป็นคอนเทนต์ที่ใช่ ที่สำคัญมาจากแบรนด์ที่ใช่ด้วย’

 

คนรุ่นใหม่ต้องการความธรรมดาและเรียบง่าย สิ่งหนึ่งที่สะท้อนได้คือความสำเร็จของ Muji ซึ่งแม้จะทำการตลาดแบบ ‘ไร้แบรนด์ เรียบง่าย อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ราคาเข้าถึงได้ และสินค้าเน้นดีไซน์ที่สามารถใช้งานจริง’ หากกลับเป็นแบรนด์ที่คนชื่นชอบเป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนความคิดและความต้องการของผู้บริโภคบางอย่างได้เหมือนกัน

 

“อินไซต์เรื่องความธรรมดามีมาอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีแบรนด์ไหนกล้าหยิบมาพูด โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ๆ ด้วย จะทำให้แบรนด์เสีย Brand Position ของตัวเองไป กลายเป็นแบรนด์ที่ไร้จุดยืนและเสียราคา”

 

แต่เรื่องนี้การที่ห่านคู่และนันยางสามารถหยิบมาพูดได้ เพราะนี่คือสิ่งที่แบรนด์ทั้ง 2 สื่อมาตลอดอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อพูดขึ้นมาจึงเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า หรืออีกตัวอย่าง เช่น Apple ที่ไม่เคยออกมาทำโฆษณาว่าเทคโนโลยีของตัวเองนั้นดีอย่างไร แต่บอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องไหนได้บ้าง จึงทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้เช่นกัน

 

“นี่ถือเป็นคอนเทนต์ที่ทรงพลังมาก” แหล่งข่าวนักการตลาดกล่าว “ด้วยความที่เป็นแบรนด์ที่จับต้องได้ทั้งคู่ ทำให้เมื่อสื่อสารออกมาในเรื่องนี้ Message จึงโดนใจผู้บริโภคเป็นอย่างมาก”

 

ทั้งห่านคู่และนันยางเพิ่งออกสินค้าที่คอลแล็บกันไป ที่น่าสนใจคือ ทั้ง 2 แบรนด์ล้วนเป็นแบรนด์ระดับตำนานที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน แถมเบื้องหลังยังมีอะไรที่เหมือนๆ กันอีก ไม่ว่าจะเป็นเริ่มต้นธุรกิจก้าวแรกพร้อมกันในปี 2496 จึงมีอายุ 69 ปีเท่ากัน มีถิ่นกำเนิดของสินค้าที่มาจากเกาะด้วยกันทั้งคู่ และมีแฟนคลับหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก 4 ขวบ ถึงวัยเก๋า 80 ปี เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม อ้างอิงบทความที่ ‘ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช’ เขียนไว้ในเว็บไซต์ GQ Thailand ว่า ถ้าใครเคยได้เรียนวิชาสถิติก็อาจคุ้นกับเรื่องกราฟระฆังคว่ำ (Bell Curve) ซึ่งหากอธิบายผลการปฏิบัติงานโดยอิงกราฟระฆังคว่ำก็จะอธิบายได้ว่า พนักงานในบริษัทเกือบ 70% จะมีผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนประมาณ 15% จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และอีก 15% จะอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปานกลางหรือตกอยู่ในกลุ่ม Top Performer 

 

หรือหากเราจะนำกราฟระฆังคว่ำดังกล่าวมาอธิบายในเรื่องของคุณลักษณะทางจิตวิทยาจะได้ความว่า มนุษย์ประมาณ 70% จะมีสติปัญญาและความสามารถในการจดจำหรือภาวะผู้นำอยู่ในระดับปานกลาง หรือตรงกลางของกราฟระฆังคว่ำ 

 

ดังนั้นนี่จึง “ชี้ให้เห็นชัดเลยว่า ความธรรมดาปานกลางไม่ได้ผิดแปลก และไม่ได้หมายถึงความพ่ายแพ้แต่อย่างใดเลย” ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าว 

 

กระแสการอยากเป็นคนธรรมดา โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ Lying Flat ที่กำลังระบาดไปทั่วแดนมังกรในหมู่คนหนุ่มสาว ซึ่งนี่คือภาวะของการอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรมากไปกว่าที่จำเป็นให้หมดไปในแต่ละวัน

 

อธิบายอย่างคร่าวๆ ปรากฏการณ์ Lying Flat คือภาวะที่ผู้คนรู้สึกขาดความกระตือรือร้นอย่างรุนแรง ไม่ขวนขวาย ไม่ทะเยอทะยานในการจะประสบความสำเร็จ โดยปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในกลุ่มชนชั้นกลาง พนักงานออฟฟิศหนุ่มสาวที่ปราศจากแรงขับเคลื่อนในการทำงาน และยังแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

 

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางสังคมที่คาดหวังให้สมาชิกในสังคมกระตือรือร้น ทำงานหนัก เรียนหนังสือให้เก่ง ซื้อบ้าน และสร้างครอบครัว ซึ่งกลายเป็นว่าอุดมคติเช่นนี้ที่มีส่วนในการขยับขยายสังคมและเป็นฟันเฟืองสำคัญให้สังคมเคลื่อนไหวต่อไปได้

 

แต่เหล่านี้กลับถูกปัดทิ้งโดยคนรุ่นใหม่ที่ไม่โหยหาความมั่นคงหรือความอยากได้อยากมีอะไรในชีวิต และเลือกที่จะใช้ชีวิตให้หมดไปวันต่อวันเท่านั้น บางคนมองว่าแนวคิดนี้เป็นการปฏิเสธทุนนิยม บางคนก็มองว่าเป็นแค่ความขี้เกียจ รวมทั้งบางคนก็วิเคราะห์ว่ามันมีรากมาจากความเหนื่อยหน่ายและท้อแท้ของผู้คนซึ่งอุทิศตัวเองให้การทำงาน แต่กลับไม่ได้อะไรเป็นเนื้อเป็นหนังกลับมา ก่อนจะลงเอยด้วยการยกธงขาวยอมแพ้ในที่สุด

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่า ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น และค่อยๆ หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเคืองแค้น โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว ซึ่งสังเกตว่าความมั่งคั่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองเท่านั้น โดยความไม่พอใจนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกเมื่อเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงในอนาคต และสถานการณ์ Lying Flat คือผลพวงของความไม่พอใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ดังที่ว่ามานี้เอง

 

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินคำพูดจากพนักงานรุ่นซีเนียร์ว่าเด็กยุคใหม่ ‘ไม่ทนงาน’ นิดหน่อยก็ลาออก แต่ผลวิจัยใหม่ชี้ว่า ชาว Gen Z และ Millennials ยอมที่จะ ‘ลาออก’ หรือกลายเป็นคน ‘ว่างงาน’ หากต้องทำงานในบริษัทที่ ‘ไม่มีความสุข’

 

ตามรายงาน Randstad Workmonitor ปี 2022 ซึ่งสำรวจพนักงาน 35,000 คน ใน 34 ตลาด แสดงให้เห็นทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในที่ทำงาน

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ พนักงานมากกว่าครึ่ง (56%) ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Gen Z กล่าวว่า พวกเขาจะลาออกจากงานที่ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ผลสำรวจยังบอกอีกว่า 40% ของกลุ่มประชากรนี้กล่าวว่า พวกเขาจะยอมว่างงานมากกว่าทำงานที่พวกเขาไม่ชอบและทำให้ไม่มีความสุข

 

คนรุ่นใหม่ไม่เพียงแต่ยอมจ่ายเพื่อความสมดุลในการทำงาน ชีวิต และความสำเร็จส่วนตัวเท่านั้น แต่ 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจ Gen Z และ Millennials กล่าวว่า พวกเขาลาออกจากงาน เพราะไม่เข้ากับชีวิตส่วนตัวของพวกเขา เมื่อเทียบกับ 33% ของผู้ตอบแบบสำรวจโดยรวม

 

ทั้งหมดนี้ก็ทำให้เราพออนุมานได้ว่า ทัศนคติของคนรุ่นใหม่นั้นกำลังเปลี่ยนไป จะทำในแบบที่ตัวเองต้องการมากขึ้น โดยที่ไม่ได้ต้องการนำแรงกดดันทางสังคมมาบีบคั้นตัวเองเหมือนกับสิ่งที่คนรุ่นเก่าๆ ต้องเผชิญมา

 

ท้ายนี้ก็อย่างที่นันยางบอกไว้ ‘เมื่อดอกไม้ยังบานไม่พร้อมกัน ชีวิตคนเราก็ใช้เวลาเติบโตไม่เท่ากัน’ เราขอเป็นกำลังใจให้คนธรรมดาทุกคน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกๆ วัน 🙂 

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X