×

รถไฟความเร็วสูงกับผลกระทบต่อเมืองโบราณอโยธยา

20.04.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สำหรับคนชื่นชอบประวัติศาสตร์โบราณคดีก็คงอินและเห็นความสำคัญของพื้นที่อโยธยา แต่สำหรับคนที่โน้มเอียงไปในเรื่องการพัฒนาก็คงรู้สึกว่า อีกฝ่ายจะทำให้ความเจริญล่าช้าออกไปอีก และรถไฟความเร็วสูงเขาก็สร้างทับบนทางรถไฟเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อยู่แล้ว 
  • ปัญหาตอนนี้คือเหมือนเรากำลังมองประโยชน์ระยะสั้นกันเกินไป ทั้งๆ ที่กระหายอยากได้รายได้จากการท่องเที่ยว แต่กลับคิดทำลายต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ตัวเองมี ติดกับดักวาทกรรมของการพัฒนา และถูกมัดมือชกจากนายทุนภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยม 
  • ถึงเวลานี้ก็ยังไม่สาย ยังมีทางเลือกของเส้นทาง หรือวิธีการสร้างทางรถไฟ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักกันให้ดี เพราะมรดกทางวัฒนธรรมเสียแล้วเสียเลยสร้างใหม่ไม่ได้ 

การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีระยะทางช่วงหนึ่ง 13.3 กิโลเมตร จากสถานีบ้านโพมาถึงสถานีพระแก้ว ที่จะส่งผลกระทบต่อเมืองโบราณอยุธยาในส่วนที่เรียกกันว่า ‘อโยธยา’ ซึ่งขณะนี้นักวิชาการและภาคประชาสังคมหลายส่วนเป็นห่วงกัน

 

โครงการนี้ได้มีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อสอบถามความคิดเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์โบราณคดีที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่การพิจารณ์ที่เป็นผลกระทบด้านมรดกทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessments) นี้ก็เกิดขึ้นช้าเมื่อเทียบกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessments) ที่ทำล่วงหน้าไปนานมาก ราวกับไม่รู้ว่าเส้นทางรถไฟนี้จะต้องผ่านพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้คงอยู่ที่จุดตั้งต้นของการผ่านโครงการนี้ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลเผด็จการทหารหรือในระบอบการเมืองที่ใช้คำว่าประชาธิปไตยเป็นฉากบังหน้า

 

หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง สร้างสมัยก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี

 

พื้นที่อโยธยาสำคัญอย่างไร เพื่อให้เข้าใจตรงกันคงต้องกล่าวถึงที่ตั้งของเมืองโบราณแห่งนี้เสียก่อน อโยธยาคือ พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสักเลียบลงมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา หรือก็คือพื้นที่ฝั่งตะวันออกนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา ชื่ออโยธยานี้มีกล่าวถึงในหลักฐานลายลักษณ์โบราณที่ล้วนแล้วแต่กล่าวถึงเมืองนี้ก่อนศักราชที่จะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 1893 ด้วยกันทั้งสิ้น 

 

เป็นต้นว่าพงศาวดารเหนือระบุว่าอโยธยาสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าธรรมิกราช ราว พ.ศ. 1708 หรือในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่เล่าถึงพ่อค้าชาวอโยธยาที่ไปค้าขายถึงเมืองฝางเมื่อ พ.ศ. 1816 หรือจารึกวัดเขากบ จังหวัดนครสวรรค์ ที่กล่าวถึงการเดินทางของพระมหาเถรศรีศรัทธาที่ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์อโยธยาศรีรามเทพนครเมื่อราว พ.ศ. 1890-1910 

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของอโยธยาในหมู่นักประวัติศาสตร์ก็คือ เราจะเชื่อข้อมูลลายลักษณ์อักษรได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะพงศาวดารเหนือที่ระบุอายุเก่าไปถึง พ.ศ. 1708 

 

แนวคิดที่ต้องการสืบค้นประวัติศาสตร์โบราณคดีของอโยธยานั้นย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเสนอว่าพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก และปทาคูจามคือพื้นที่ของอโยธยา ต่อมาใน พ.ศ. 2467 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอเช่นกันว่า อโยธยามีบทบาทเป็นเมืองท่าของลพบุรี เมืองท่านี้สำคัญมากถึงได้มีความมั่งคั่งพอจนสร้างวัดพนัญเชิง

 

วัดเดิม หรือ วัดอโยธยา เชื่อตามตำนานว่าเป็นตำแหน่งที่สร้างวังของกษัตริย์อโยธยา

 

หลังจากนั้น นักวิชาการที่สืบค้นเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อมาก็คือ มานิต วัลลิโภดม ผู้พ่อ และ ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้ลูก ได้ใช้ข้อมูลจากพงศาวดารเหนือ เอกสารต่างๆ รวมถึงหลักฐานประเภทโบราณวัตถุโบราณสถานที่พบศิลปะในช่วงสมัยก่อนอยุธยาถึงอยุธยาตอนต้นอย่างหนาแน่น เช่น วัดเดิม วัดสมณโกฏฐาราม วัดมเหยงคณ์ จนนำไปสู่ข้อสรุปว่า พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสักคือพื้นที่เมืองอโยธยา และยังมีโบราณสถานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ เช่น วัดพนัญเชิง วัดธรรมิกราช วัดพุทไธศวรรย์ ในอีกหลายทศวรรษต่อมา ศรีศักรจึงได้ให้จิตรกรวาดภาพของแผนผังเมืองโบราณแห่งนี้ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับ 1 มกราคม-มีนาคม 2560 

 

วัดสมณโกฏฐาราม สร้างสมัยอยุธยาตอนต้นหรืออาจก่อนหน้านั้น

 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากรตามวัดหลายแห่งที่เชื่อว่าอยู่ในสมัยอโยธยาโดยผม/ผู้เขียนเองนั้นกลับไม่พบหลักฐานที่แสดงการตั้งถิ่นฐานที่สอดคล้องกัน ยกเว้นงานของ ปรีชา กาญจนาคม อดีตอาจารย์คณะโบราณคดีที่ทำการขุดค้นในพื้นที่ริมคลองข้าวเม่าทำให้พบเศษเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หยวนและหลักฐานอื่นๆ แต่ก็เบาบางมาก ส่วนวัดอโยธยาที่ตำนานระบุว่าเป็นวังเก่าสมัยอโยธยานั้นก็ไม่ได้พบหลักฐานเก่าไปถึงช่วงเวลาดังกล่าว 

 

ดังนั้น โดยสรุป พื้นที่บริเวณอโยธยานี้คงมีชุมชนขนาดเล็กเบาบางก่อนการสร้างวัดขนาดใหญ่ต่างๆ ในสมัยอยุธยาตอนต้น ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่ในเขตอโยธยานี้เต็มไปด้วยโบราณสถานและชุมชนโบราณสมัยอยุธยาตอนต้นที่เป็นส่วนหนึ่งหรืออันหนึ่งอันเดียวกันกับพัฒนาการของประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา

 

ชั้นดินที่วัดพนัญเชิงพบชั้นถ่านและโบราณวัตถุพวกเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หยวนมีอายุราว พ.ศ. 1867

 

เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวนพบที่บ้านโปรตุเกส (ภาพจากกรมศิลปากร, โครงการขุดค้นขุดแต่งโบราณสถานหมู่บ้านโปรตุเกส (โบสถ์คณะเยซูอิต) ตำบลสำเภาล่ม  อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, 2551)

 

แต่แล้วเมืองท่าอโยธยาที่ดูเก่าแก่และมั่งคั่งนั้นอยู่ที่ไหน เป็นไปได้ว่าอยู่ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตั้งแต่วัดพนัญเชิงและวัดบางกะจะลงมาทางใต้ ทั้งนี้เพราะจากการขุดค้นทางโบราณคดีทั้งที่วัดพนัญเชิงและโบสถ์คณะเยซูอิตที่โบราณสถานหมู่บ้านโปรตุเกส ทำให้พบเครื่องถ้วยจีนในสมัยราชวงศ์หยวน ทั้งที่มาจากเตาหลงฉวน ผู่เถียน และซือเจ้า แถมการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ที่วัดพนัญเชิงก็พบว่ามีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานเก่าสุดเมื่อ พ.ศ. 1867 สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐที่ระบุว่าหลวงพ่อโตของวัดพนัญเชิงสร้างใน พ.ศ. นี้

 

อโยธยาไม่ได้สำคัญแค่เป็นเมืองโบราณก่อนกรุงศรีอยุธยาและมีพัฒนาต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยา แต่ยังสัมพันธ์กับกำเนิดของ ‘สยาม’ หรือก็คือคนไทยในปัจจุบัน สองนักวิชาการ คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพรจิตร ในหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยา ได้เสนอว่า อโยธยาคือ ‘เสียน’ (暹) ที่ปรากฏในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์หยวนนับตั้งแต่ พ.ศ. 1821 เป็นต้นมา 

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กลับปรากฏว่ามีภาพกองทัพชาวสยามที่ระเบียงปราสาทนครวัดที่สร้างราว พ.ศ. 1660-1690 มาแล้ว แต่หลักฐานทางโบราณคดีที่อโยธยา-อยุธยากลับเก่าไปไม่ถึงช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วเมืองของ ‘สยาม’ หรือ ‘เสียน’ นี้ควรตั้งอยู่ที่ไหน ถ้าหากพิจารณาตามประวัติศาสตร์ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาจะพบว่า กรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นจากการสถาปนาโดยพันธมิตรของนครรัฐสำคัญคือ สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) และละโว้ (ลพบุรี) ดังนั้น สยามเมื่อ พ.ศ. 1660-1690 อาจอยู่ที่สุพรรณบุรี หรืออาจเป็นสุโขทัย (ซึ่งเป็นเครือญาติกับทางสุพรรณภูมิ) ต่อมาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) คงสร้างความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกับทางละโว้ จึงทำให้ผนวกรัฐทั้งสองได้ในที่สุด จึงทำให้อโยธยาที่เป็นเมืองท่าค่อยๆ พัฒนาความสำคัญจนกลายเป็นกรุงศรีอยุธยา 

 

วัดพุทไธศวรรย์ สร้างในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1

 

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ สำหรับคนชื่นชอบประวัติศาสตร์โบราณคดีก็คงอินและเห็นความสำคัญของพื้นที่อโยธยา แต่สำหรับคนที่โน้มเอียงไปในเรื่องการพัฒนาก็คงรู้สึกว่า อีกฝ่ายจะทำให้ความเจริญล่าช้าออกไปอีก และรถไฟความเร็วสูงเขาก็สร้างทับบนทางรถไฟเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อยู่แล้ว 

 

ขออธิบายอย่างนี้ว่า ประการแรก การทำเสารางรถไฟฟ้าที่อยุธยานี้ต้องขุดดินลึก เพราะโครงสร้างดินอ่อน พื้นที่ขุดผ่านเมืองอโยธยาจะอยู่ในระยะประมาณ 6-7 กิโลเมตร  แน่นอนว่า คงต้องมีงานโบราณคดีกู้ภัย แต่จะทำได้ครอบคลุมมากน้อยแค่ไหนนั้นเป็นปัญหา ที่สำคัญคือ ขุดกู้ภัยกับขุดเพื่อศึกษาให้เข้าใจนั้นแตกต่างกันมาก เสียดายองค์ความรู้เกี่ยวกับการเข้าใจกำเนิดของอยุธยาและสยาม 

 

ประการที่สอง นอกจากแรงสั่นสะเทือนที่จะเกิดขึ้น แต่แรงเฉือนของรถไฟความเร็วสูงที่แหวกอากาศไปนั้นแรงมาก ไม่ใช่เฉพาะแหล่งโบราณคดีที่จะได้รับผลกระทบ แต่ยังรวมไปถึงบ้านเรือนของราษฎรตลอดแนวรถไฟ คิดให้ดีถึงผลกระทบระยะยาว 

 

ประการที่สาม การสูญเสียทัศนียภาพทางสายตา คนคงทราบน้อยว่ารถไฟที่จะสร้างนี้ไม่ได้อยู่บนผิวดิน แต่ยกระดับขึ้นสูงด้วยเสา 19 เมตร แน่นอนว่า คงมองจากอุทยานประวัติศาสตร์หรือโซนที่กันเป็นมรดกโลกมาคงไม่เห็น แต่เวลาคิดเรื่องความเป็นกรุงศรีอยุธยาที่หมายถึงภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมทั้งเกาะเมืองและนอกเกาะเมืองในส่วนที่เป็นอโยธยานั้น มันไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ จะคิดเอาความสะดวกเข้าว่าบอกว่ารถไฟฟ้าใกล้เกาะเมืองดีคนจะได้เที่ยวเยอะ แต่ทัศนียภาพอุจาดตาก็ทำให้เสียคุณค่าไปเช่นกัน ภาพรถไฟวิ่งนอกเกาะเมืองจะอยู่ไปเป็นอีกร้อยๆ ปี 

 

ปัญหาตอนนี้คือเหมือนเรากำลังมองประโยชน์ระยะสั้นกันเกินไป ทั้งๆ ที่กระหายอยากได้รายได้จากการท่องเที่ยว แต่กลับคิดทำลายต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ตัวเองมี ติดกับดักวาทกรรมของการพัฒนา และถูกมัดมือชกจากนายทุนภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยม ถึงเวลานี้ก็ยังไม่สาย ยังมีทางเลือกของเส้นทาง หรือวิธีการสร้างทางรถไฟ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักกันให้ดี เพราะมรดกทางวัฒนธรรมเสียแล้วเสียเลยสร้างใหม่ไม่ได้ 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising