×

ความพินาศของโบราณสถานเมืองทวารวดีที่คูบัว ราชบุรี

22.03.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • การทำลายโบราณสถานที่เมืองคูบัว จ.ราชบุรี เป็นเรื่องใหญ่ น่าเสียดายที่โบราณสถานถูกทำลายไปแล้วหลายแห่ง และแย่พอกันคือการทำลายภูมิทัศน์ของเมืองโบราณ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แนวคันดิน คูเมือง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันกับการอนุรักษ์ตัวโบราณสถาน 
  • เรื่องนี้ใหญ่เกินขอบเขตหน้าที่ของกรมศิลปากรเพียงฝ่ายเดียว หากแต่ยังเกี่ยวพันกับหน่วยงานระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น และเจ้าที่ดินในท้องถิ่นที่ควรต้องมีจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้มากขึ้น เพราะการทำลายโบราณสถานและภูมิทัศน์ในวันนี้ก็คือการทำลายมรดกทางวัฒนธรรมที่จะตกทอดถึงลูกหลานของตนเองและของคนในประเทศโดยรวมในอนาคต

การพัฒนาบ้านเมืองของไทยยังขาดการวางแผนควบคุมที่ดีพอ แหล่งมรดกวัฒนธรรมหลายแห่งถูกทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่าไปอย่างน่าเสียดายในรอบไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ‘คูบัว’ เป็นหนึ่งในเมืองทวารวดีที่ราชบุรีกำลังเผชิญกับปัญหานั้นอย่างหนัก 

 

ที่ต้องเขียนเรื่องนี้ เพราะเมื่อไม่กี่วันก่อนผมได้ไปสำรวจโบราณสถานที่เมืองคูบัว จ.ราชบุรี เพื่อทำฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดี ทำให้ต้องตกใจกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และสภาพของโบราณสถานเมื่อเทียบกับเมื่อสิบกว่าปีก่อน บางแห่งดินรอบโบราณสถานถูกขุดถูกดูดจนโบราณสถานแทบจะกลายเป็นเกาะ บางแห่งกำลังมีการถมที่ดินเพื่อก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างประชิดโบราณสถาน ซึ่งถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปอย่างนี้ อีกไม่นานจะสายเกินแก้ครับ

 

เมืองคูบัวสำคัญอย่างไร

 

ทวารวดีเป็นรัฐสองสถานะคือเป็นทั้งเมืองท่า (Port city) และเมืองตอนในของแผ่นดิน (Inland city) เมืองทั้งสองแบบต่างทำงานกันเป็นเครือข่าย ฝ่ายหนึ่งลำเลียงสินค้าของป่ามายังเมืองท่า ส่วนเมืองท่ากระจายสินค้าต่างถิ่น และความรู้ ความเชื่อเข้าไปยังตอนในของแผ่นดิน 

 

โบราณสถานที่วัดโขลงสุวรรณคีรีอยู่กลางเมืองคูบัว

 

แผนที่แสดงขอบเขตและตำแหน่งโบราณสถานที่เมืองคูบัว
ภาพ: สมศักดิ์ รัตนกุล, 2535

 

เมืองคูบัวตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งไหลผ่านตัวเมืองทางด้านทิศตะวันออก โดยอาศัยคลองเล็กๆ ที่ไปเชื่อมลงแควอ้อม ก่อนเชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลอง ก่อนจะไหลลงไปยังทะเล ดังนั้นจากตัวเมืองคูบัว เมื่อย้อนทวนน้ำแม่กลองทั้งสายเก่า (แควอ้อม) และสายใหม่ (แม่น้ำแม่กลอง) ขึ้นไปจึงพบเมืองและชุมชนทวารวดีอยู่หลายแห่ง ได้แก่ วัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี, เขางู, เขาน้ำพุ-เขากาจับ (เขตโพธาราม), วัดรับน้ำ (เขตบ้านโป่ง), เมืองพงตึก (ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี), ปราสาทเมืองสิงห์ (จ.กาญจนบุรี), เมืองทวารวดีที่บ้านวังปะโท่ (อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี) ซึ่งปัจจุบันอยู่ใต้เขื่อนเขาแหลมไปแล้ว เส้นทางนี้ก็คือเส้นทางการค้าการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างบรรดาเมืองท่าโบราณในเมียนมา ทั้งเมาะตะมะและทวาย เพื่อเดินทางมายังอ่าวไทย โดยมีเมืองคูบัวเป็นเมืองท่าใหญ่ 

 

เมืองคูบัวอาจเก่าแก่ก่อนหน้าสมัยทวารวดี เพราะระยะหลังมีคนพบหลักฐานเพิ่มขึ้น แต่ยังตกอยู่ในมือของเอกชน มีทั้งเครื่องมือหินขัด บ้างมีรายงานว่าบางจุดในเมืองพบโครงกระดูกมนุษย์ และเครื่องประดับในยุคเหล็กตอนต้นหรืออาจเรียกว่า ‘สุวรรณภูมิ’ เรื่องนี้คงต้องรอการค้นคว้าและขุดค้นในอนาคต 

 

โบราณสถานในเมืองคูบัว 

 

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 60 ปีก่อน ว่าที่ ร.ต. สมศักดิ์ รัตนกุล ได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากรให้ไปสำรวจและขุดค้นขุดแต่งโบราณสถานต่างๆ ในเมืองคูบัว เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2500 มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ลักลอบขุดค้นหาสมบัติ ประกอบกับพระภิกษุลมูล คุณาภิรโต วัดสัตตนารถปริวัตร จ.ราชบุรี ได้ทำหนังสือขอให้กรมศิลปากรเข้าไปตรวจสอบโบราณสถานต่างๆ 

 

ผลจากการสำรวจในครั้งนั้นได้พบโบราณสถานและโคกเนินที่คาดว่าเป็นโบราณสถานรวมทั้งหมด 44 แห่ง ว่าที่ ร.ต. สมศักดิ์ ให้ข้อสังเกตว่า จากการทำแผนผังการกระจายตัวของโบราณสถานในเมืองแห่งนี้พบว่า โบราณสถานตั้งอยู่อย่างไม่เป็นระเบียบโดยปราศจากการวางผังเมือง จากการขุดค้นขุดแต่งโบราณสถานจำนวน 23 แห่ง (สมศักดิ์ รัตนกุล, 2535) 

 

โบราณสถานหมายเลข 21 ที่ได้รับการขุดค้นเมื่อปี 2504-2505

ภาพ: สมศักดิ์ รัตนกุล, 2535

 

ต่อมาในปี 2538-2539 ทางสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้สำรวจเพิ่มเติมพบอีก 15 แห่ง รวมเป็น 59 แห่ง และได้ดำเนินการขุดค้นโบราณสถานเพิ่มอีก 4 แห่ง (กรมศิลปากร) (ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าโบราณสถานอาจมีมากถึง 70 แห่ง)

 

โบราณสถานต่างๆ ที่พบในเมืองคูบัวสามารถแบ่งแผนผังออกได้เป็น 8 แบบ เช่น ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานรูปวงกลม และฐานรูปแปดเหลี่ยม ซึ่งช่วยทำให้เข้าใจความหลากหลายของศาสนา ความเชื่อ และภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรมเมื่อพันกว่าปีก่อนได้เป็นอย่างดี 

 

ประติมากรรมรูปนักดนตรีผู้หญิง พบที่โบราณสถานหมายเลข 10

ภาพ: สมศักดิ์ รัตนกุล, 2535

 

นอกจากนี้ยังได้พบโบราณวัตถุต่างๆ อีกมากมายมหาศาล เป็นต้นว่าเศียรและชิ้นส่วนของพระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ปูนปั้นและดินเผา ลวดลายปูนปั้น ชิ้นส่วนธรรมจักร ลูกปัด ผอบทอง-ผอบเงินบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เศษภาชนะดินเผาท้องถิ่น ที่มีชื่อเสียงคือ ประติมากรรมปูนปั้นรูปผู้หญิงเล่นดนตรี พบที่โบราณสถานหมายเลข 10 และประติมากรรมรูปชาวต่างชาติสวมหมวกรูปกรวย อาจเป็นชาวซ็อกเดียน (Sogdian) หรืออิหร่าน ซึ่งเป็นพ่อค้าที่มีบทบาทในเส้นทางการค้าสายไหม

 

โบราณสถานบางแห่งได้แก่ หมายเลข 24 และ 25 ได้มีการขุดพบกระดูกสัตว์เป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยทำให้เข้าใจระบบการดำรงชีพของคนในเวลานั้น กระดูกสัตว์แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ สัตว์ป่า ได้แก่ กวาง เก้ง ละองละมั่ง เนื้อทราย สมัน, สัตว์เลี้ยง ได้แก่ วัว ควาย สุนัข หมู และไก่ กลุ่มสุดท้ายคือสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลา จระเข้ เต่า ตะพาบน้ำ และเปลือกหอยนานาชนิด 

 

ประติมากรรมเศียรของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ที่พบจากการขุดค้นโบราณสถานในเมืองคูบัว

ภาพ: สมศักดิ์ รัตนกุล, 2535

 

ในภาพรวมแล้วทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เมืองคูบัวสะท้อนว่าสร้างขึ้นในศาสนาพุทธนิกายมหายาน และอาจมีบางแห่งที่เป็นนิกายเถรวาท โดยในเมืองมีโบราณสถานที่วัดโขลงสุวรรณคีรีเป็นศูนย์กลาง นอกเมืองทางทิศตะวันออกมีโบราณสถานหมายเลข 31 (โคกวิหาร) เป็นศูนย์กลาง อาจเป็นพื้นที่ของวัดป่า ตามโบราณสถานเหล่านี้มีประติมากรรมดินเผาและปูนปั้นเหล่านี้ทำขึ้นมาเพื่อประดับรอบเจดีย์ เพื่อใช้เล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ในพุทธประวัติหรือชาดก 

 

โบราณสถานส่วนใหญ่แล้วทำขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไป น่าเสียดายที่ยังไม่มีการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดจนรู้ถึงพัฒนาการที่ชัดเจน ถึงอย่างนั้นจากจำนวนโบราณสถานที่เหลืออยู่ถือได้ว่าเป็นเมืองโบราณที่พบโบราณสถานมากที่สุด เมื่อเทียบกับอีกหลายเมืองของทวารวดี ไม่ว่าจะเป็นเมืองอู่ทอง, นครปฐม, ละโว้ (ลพบุรี), ศรีเทพ ดังนั้นคูบัวจึงเป็นหนึ่งในเมืองท่าสำคัญอันดับต้นของทวารวดีที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น

 

โบราณสถานหมายเลข 12 ถูกไถบางส่วนเพื่อทำถนน

 

สถานการณ์ในปัจจุบัน

 

จากโบราณสถานที่ ว่าที่ ร.ต. สมศักดิ์ และสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี สำรวจไว้ในครั้งนั้นว่ามี 59 แห่งนั้น ทว่าในปัจจุบันจากข้อมูลหลายๆ แหล่งและนักสำรวจท้องถิ่นพบว่ามีโบราณสถานที่ถูกทำลายไปแล้วมากถึง 34 แห่ง ทั้งๆ ที่โบราณสถานเหล่านี้ได้รับการประกาศคุ้มครองในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 79 ตอนที่ 97 วันที่ 30 ตุลาคม 2505 โดยปัจจุบันเหลือแค่โบราณสถานหมายเลข 1, 2, 5, 7, 8, 10, 11, 12, 15, 18, 19, 20, 21, 24, 25, 26, 28, 31, 32, 33, 34, 39, 41, 43 และ 44 รวมแล้วเหลือ 25 แห่ง

 

แผนที่แสดงสถานภาพของโบราณสถานในเมืองคูบัว จุดสีแดงคือโบราณสถานที่ยังคงปรากฏร่องรอย สีเหลืองคือโบราณสถานที่ถูกทำลาย

ภาพ: สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี

 

โบราณสถานหมายเลข 23-24 กำลังถูกรุกแนวโบราณสถานและมีดินใหม่ที่เอามาถม

 

จากการตรวจสอบแผนที่ Google Earth ย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 หรือ 17 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเมืองคูบัวอย่างมหาศาล (ดูแผนที่ข้างบน) บ้านเรือนมีจำนวนเพิ่มขึ้น บ่อน้ำถูกขุดขึ้นหลายสระ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือโบราณสถานหมายเลข 28 เพราะมีการขุดดินรอบๆ พื้นที่จนทำให้โบราณสถานแห่งนี้มีสภาพไม่ต่างจากเกาะ (ดูแผนที่ข้างล่าง) ซึ่งระดับความลึกของบ่อดินที่ขุดไปนี้ลึกมาก กะด้วยสายตาเกิน 30 เมตร ทำให้เสี่ยงต่อการพังทลายลงของโบราณสถานเป็นอย่างมาก จากการเดินสำรวจพบเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก และเปลือกหอยแครง 

 

โบราณสถานหมายเลข 28 กำลังได้รับผลจากการขุดดินรอบพื้นที่

 

บึงน้ำที่ขุดบริเวณโบราณสถานหมายเลข 28

 

แผนที่เปรียบเทียบสภาพของเมืองคูบัวเมื่อปี 2549 กับปี 2565 

ภาพ: Google Earth 

 

แผนที่แสดงพื้นที่รอบโบราณสถานหมายเลข 28 ถูกล้อมรอบด้วยสระน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากการขุดดินไปขาย

ภาพ: Google Earth

 

แนวคลองชลประทานขุดตัดแนวโบราณสถานหมายเลข 34

 

โบราณสถานหมายเลข 19 ถูกขุดบ่อดินประชิดโบราณสถาน จนทำให้อิฐบางส่วนทลายลงไป

 

โบราณสถานหมายเลข 20 และ 21 กำลังเสี่ยงต่อการถูกทำลายจากการเกษตร

 

พื้นที่นาไถเข้าไปประชิดโบราณสถานหมายเลข 20 อย่างน่าเป็นห่วง

 

สภาพโบราณสถานหมายเลข 3 หรือ 5 กำลังถูกทำลายจากงานก่อสร้างสมัยใหม่

 

แต่ที่สำคัญในทางโบราณคดีด้วยก็คือ โบราณสถานแต่ละแห่งนั้นย่อมต้องมีชุมชนโบราณอยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้ผืนดินที่หายไปรอบโบราณสถานย่อมทำให้ความรู้ต่อการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนสมัยทวารวดีนั้นขาดหายไป 

 

เข้าใจว่าด้วยสถานการณ์ของโบราณสถานที่เสี่ยงต่อการถูกทำลายนี้เป็นเรื่องน่ากังวล จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือกรมศิลปากรสำรวจสถานะของโบราณสถาน และมีความจำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง เพื่อประกาศขอบเขตของโบราณสถานให้ชัดเจนมากขึ้นในปี 2544 และ 2548 เช่น ประกาศขอบเขตของโบราณสถานหมายเลข 1, 8, 31, 33 และ 44 เป็นต้น

 

โบราณสถานหมายเลข 32 ถูกใช้กลายเป็นพื้นที่เลี้ยงวัว

 

การทำลายโบราณสถานที่เมืองคูบัวเป็นเรื่องใหญ่ น่าเสียดายที่โบราณสถานถูกทำลายไปแล้วหลายแห่ง และแย่พอกันคือการทำลายภูมิทัศน์ของเมืองโบราณ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แนวคันดิน คูเมือง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันกับการอนุรักษ์ตัวโบราณสถาน ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้ใหญ่เกินขอบเขตหน้าที่ของกรมศิลปากรเพียงฝ่ายเดียว หากแต่ยังเกี่ยวพันกับหน่วยงานระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น และเจ้าที่ดินในท้องถิ่นที่ควรต้องมีจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้มากขึ้น เพราะการทำลายโบราณสถานและภูมิทัศน์ในวันนี้ก็คือการทำลายมรดกทางวัฒนธรรมที่จะตกทอดถึงลูกหลานของตนเองและของคนในประเทศโดยรวมในอนาคต ทั้งๆ ที่เมืองนี้เดิมทีแล้วมีศักยภาพมากต่อการพัฒนาเป็นมรดกโลก ช่างน่าเสียดาย

 

อ้างอิง:

  • http://www.mitrearth.org/24-5-dvaravati-coast-and-shore/
  • สมศักดิ์ รัตนกุล. โบราณคดีเมืองคูบัว. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2535. 
  • ขอบคุณนักสำรวจท้องถิ่นสำหรับข้อมูลแหล่งโบราณคดีและภาพบางส่วนของเมืองคูบัว
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising