×

‘Entomophagy’ เปิบแมลงกู้โลก

07.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 mins read
  • การขยายตัวเพิ่มขึ้นของกลุ่มนิยมกินแมลงนั้น มาจากสองประเด็นหลักๆ คือ ข้อเท็จจริงเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ เมื่อเทียบกันตัวต่อตัวแล้ว แมลงมีสารอาหารหลักอย่าง โปรตีน ไม่ด้อยไปกว่าเนื้อสัตว์
  • เหตุผลหลักอีกข้อคือในแง่ของสิ่งแวดล้อม ด้วยจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับทรัพยากรซึ่งมีอย่างจำกัด จึงมีการคาดการณ์กันว่าในปี ค.ศ. 2050 สถานการณ์อาหารโลกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ
  • คนที่อยากลองกินแมลงเพื่อกู้โลกและกันโรค แนะนำให้เลี่ยงเมนูทอด เพราะการทอดจะส่งผลให้ได้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น ปริมาณพลังงานและไขมันจะเพิ่มจนเกินควร

     มักกะโรนีหนอนชีสเยิ้ม แมลงปอผัดไฟแดง จิ้งหรีดป่นโรยข้าว สตูหนอนผีเสื้อ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เมนูอาหารในรายการ Fear Factor แต่เป็นเมนูที่เสิร์ฟกันในร้านอาหารจริงๆ

     และเมนูแมลงน้อยเหล่านี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุโรปและอเมริกา ลามถึงนาซาซึ่งพิจารณาให้แมลงเป็นหนึ่งในทางเลือกอาหารสำหรับนักบินอวกาศ ‘Entomophagy’ คือชื่ออย่างเป็นทางการที่ใช้เรียก พฤติกรรมกินแมลง โดยเป็นการเชื่อมคำว่า Entomo ซึ่งแปลว่า แมลง เข้ากับคำว่า -phagy ซึ่งแปลว่า กิน

     การขยายตัวเพิ่มขึ้นของกลุ่มนิยมกินแมลงนั้น มาจากสองประเด็นหลักๆ

     หนึ่งคือ ข้อเท็จจริงเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ เมื่อเทียบกันตัวต่อตัวแล้ว ต้องยอมรับว่าเจ้าแมลงทั้งหลายมีสารอาหารหลักอย่าง โปรตีน ไม่ด้อยไปกว่าเนื้อสัตว์ที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน ยกตัวอย่างเช่น เนื้อหมูบด 100 กรัม จะมีโปรตีนราว 18 กรัม ในขณะที่ตั๊กแตนเล็ก 100 กรัม จะมีโปรตีนแซงหน้าไปถึง 20.6 กรัม แมลงตับเต่า 21 กรัม ส่วนแมลงกุดจี่อยู่ที่ 17.2 กรัม

     ในส่วนของปริมาณไขมันนั้น คนที่เคยเปิบแมลงคงจะพอเดาจากความหอมมันของแมลงได้ว่าปริมาณไขมันน่าจะไม่น้อย โดยแมลงแต่ละประเภทจะมีความหลากหลายของปริมาณและประเภทของกรดไขมัน แต่แมลงที่มีประเภทของกรดไขมันดีอย่างพอเหมาะพอเจาะคือ จิ้งหรีด จิโปม ปาทังก้า และกินูน

     นอกจากสารอาหารหลักแล้ว แมลงยังมีแร่ธาตุที่จำเป็นอย่าง แคลเซียม โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก เส้นใยอาหาร และสารไคติน ซึ่งอยู่ในส่วนเปลือก ส่งผลให้แมลงมีรสกรุบกรอบ และไคตินยังมีคุณสมบัติดักจับไขมัน ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

 

Photo: D. Kucharski K. Kucharska/shutterstock

 

     เหตุผลหลักอีกข้อที่แมลงได้รับความนิยมคือในแง่ของสิ่งแวดล้อม ด้วยจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับทรัพยากรซึ่งมีอย่างจำกัด จึงมีการคาดการณ์กันว่าในปี ค.ศ. 2050 สถานการณ์อาหารโลกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ กลุ่มอาหารที่ให้โปรตีนจากแหล่งอาหารอย่างเนื้อสัตว์ที่เราคุ้นเคย เช่น ไก่ หมู วัว ปลา จะหายากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในการเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ต้องใช้พื้นที่ อาหาร แหล่งน้ำ และเวลา ซึ่งไม่เพียงพอกับการบริโภคอย่างมหาศาลของคนทั้งโลก แหล่งโปรตีนทดแทนอย่างแมลง จึงถูกแสงสปอตไลต์สาดส่อง คนรักสิ่งแวดล้อมบางคนเลือกที่จะรับประทานมังสวิรัติ หรือรับประทานแมลงเพราะเกิดผลเสียกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ใหญ่อย่างวัวหรือหมู

     ตัวแม่ด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง แอนเจลินา โจลี ก็เคยเปิบแมลงออกสื่อพร้อมลูกๆ มาแล้ว ภาพเธอคว้าแมงป่องเข้าปากเคี้ยวหงุบหงับ พร้อมเสียงยืนยันตามมาว่า “รสดีจริงๆ” กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก

     แต่จะว่าไปแล้ว การกินแมลงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทยเราเลย มีงานวิจัยที่รวบรวมจำนวนชนิดของแมลงที่คนไทยเรากินพบว่ามากถึง 154 ชนิด ด้วยความที่แมลงเป็นอาหารหาง่ายตามชนบทในอดีต ไม่ว่าจะในดิน บนต้นไม้ ตามทุ่งนา และสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลาย รสชาติอร่อย การนำแมลงมาทำอาหารรับประทานจึงจัดเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่น่าภูมิใจและชวนให้ลอกเลียนแบบ (หากสามารถหาวัตถุดิบมาทำได้)

     สำหรับคนที่อยากลองกินแมลงเพื่อกู้โลกและกันโรค แนะนำให้เลี่ยงเมนูทอด เพราะการทอดจะส่งผลให้ได้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น ปริมาณพลังงานและไขมันจะเพิ่มจนเกินควร อีกทั้งยังเสี่ยงต่อสารก่อมะเร็งในน้ำมันที่ใช้ทอดซ้ำ ควรเลือกเปิบเป็นเมนูคั่ว ยำ ผัด นึ่ง ลวก แกง ลาบ ก้อย หรือหมกจะดีต่อสุขภาพกว่า

     การกินอาหารเพื่อสุขภาพให้ยั่งยืนนั้น ต้องกินให้สนุก กินให้หลากหลาย

     กินแต่พอประมาณ อย่ายึดติดรูปแบบ และอย่ากลัวที่จะลองค่ะ

 

Cover Photo: Archeophoto/shutterstock

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising