×

จากประวัติศาสตร์สร้างชาติรัสเซียถึงโอกาสยุติสงครามในยูเครน ปูตินคุยอะไรบ้างกับ ทักเกอร์ คาร์ลสัน อดีตพิธีกรดัง Fox News

11.02.2024
  • LOADING...

เป็นที่ฮือฮาชั่วข้ามคืน เมื่อ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ให้สัมภาษณ์ ทักเกอร์ คาร์ลสัน อดีตพิธีกรข่าวชื่อดังช่อง Fox News ซึ่งถือเป็นพูดเปิดใจกับสื่อตะวันตกครั้งแรก นับตั้งแต่ถูกตัดขาดกับกลุ่มประเทศตะวันตกจากมาตรการคว่ำบาตรอันเนื่องมาจากการตัดสินใจเริ่มทำสงครามในยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งจะครบรอบ 2 ปีในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

 

อันที่จริงการที่ปูตินให้สัมภาษณ์สื่อตะวันตกไม่ใช่สิ่งใหม่ เขาให้สัมภาษณ์สื่อตะวันตกมามากมาย และสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ‘ปูไม่เคยตายไมค์’ ต่อให้ใครจะถามคำถามหมัดเด็ดขนาดไหน ปูตินก็สามารถใช้ไหวพริบตอบคำถามนั้นได้อย่างชาญฉลาดและทันการณ์เสมอ

 

สิ่งที่ปูตินให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้นั้นเป็นสิ่งที่เขาเคยพูดมาประมาณหนี่งแล้ว เพียงแต่ว่า ด้วยความที่คาร์ลสันก็เป็นผู้สื่อข่าวที่มีชื่อในระดับหนึ่งจึงเป็น ‘เครื่องขยายเสียง’ ในสิ่งที่ปูตินเคยพูดไว้ให้มีเสียงดังได้ยินทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรัสเซียและยูเครนที่การสัมภาษณ์ของคาร์ลสันทำให้ปูตินได้ลงรายละเอียดในเรื่องนี้มากขึ้นและยาวขึ้น จนสร้างเสียงฮือฮาในหมู่บรรดานักประวัติศาสตร์ สถาบันการศึกษาตะวันตก

 

แต่อย่างไรก็ตาม การที่เป็นกระแสฮือฮาแบบนี้ ผู้เขียนมองว่าเกิดจาก ‘การโหยหา’ ของเหล่าผู้ติดตามข่าวสงครามในยูเครนจากแหล่งข่าวต้นฉบับ ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ถูกปิดกั้นโดยสื่อตะวันตกในทุกแพลตฟอร์ม และการรับรู้ข่าวคราวเกี่ยวกับรัสเซียเป็นไปได้เฉพาะจากสื่อตะวันตกเท่านั้นที่มักจะรายงานข่าวรัสเซียในมุมเชิงลบหรือนำเสนอเพียงด้านเดียว

 

การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นราว 2 ชั่วโมงย่อมจะมีรายละเอียดที่ยาวมาก ดังนั้นผู้เขียนจะขอคัดสรรประเด็นที่สื่อหลักๆ พาดหัวนำมาเล่าสู่กันฟัง

 

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าทุกประโยคที่ปูตินกล่าว เขาจะอ้างหลักฐานจากอาร์ไคฟ์ที่เตรียมใส่ซองมาให้คาร์ลสันด้วย

 

ประวัติศาสตร์ที่มีหน้าที่เป็นเรื่องเล่า โดยมีรัฐเป็นศูนย์กลาง

 

ปูตินกล่าวถึง ‘ศูนย์กลางรัสเซีย’ เริ่มขึ้นที่เคียฟและนอฟโกรอด และค่อยๆ ขยายไปยังนครรัฐอื่นๆ ก่อนที่จะโดนถล่มโดย บาตูข่าน หลานของเจงกิสข่านในศตวรรษที่ 13 โดยปูตินปักธงว่า ‘ทุกอย่าง’ รวมถึงคำว่า ‘รุส’ เป็นจุดกำเนิดของรัสเซีย และยังไม่มีหลักฐานใดในสมัยนั้นที่กล่าวถึงคำว่า ‘ยูเครน’ ขณะที่นักวิชาการตะวันตกบางคนอธิบายว่า ปูตินพยายามใช้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บางอย่างเพื่อสร้างการเล่าเรื่องที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อรัสเซียในการโต้วาทกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์รัสเซีย

 

กลุ่มชาติพันธุ์พิเศษ

 

ปูตินอ้างถึงประวัติศาสตร์สมัยศตวรรษที่ 13 ที่เคียฟถูกทำลายโดยมองโกลจนไม่เหลือความสำคัญ แต่ความสำคัญย้ายไปที่มอสโกและนอฟโกรอด 

 

จนถึงช่วงศตวรรษที่ 17 สมัยที่รัสเซียกับโปแลนด์ยังคงขับเคี่ยวกัน โดย บ็อกดาน คเมลนิตสกี (Bogdan Khmelnytsky) ผู้นำทหารคอสแซคได้ขอสวามิภักดิ์ต่อซาร์แห่งรัสเซียในปี 1654 ทำให้ฝั่งขวาแม่น้ำดนีเปอร์อยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย ส่วนฝั่งซ้ายยังคงให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของโปแลนด์ จนกระทั่งโปแลนด์สิ้นชาติไปครั้งแรกหลังพระนางแคเธอรีนมหาราชินีไปล็อบบี้ปรัสเซียและออสเตรีย-ฮังการี เข้ามารุมยึดโปแลนด์

 

จวบจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เริ่มมีกิจกรรมเกี่ยวกับชาตินิยมยูเครน โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคือ เสนาธิการชาวออสเตรีย (คู่สงครามกับรัสเซีย) ซึ่งมีส่วนผลักดัน ‘กระบวนการทำให้เป็นยูเครน’ (Ukrainization) เพื่อหาแนวร่วม ในขณะที่กระบวนการชาตินิยมยูเครนยังญาติดีกับรัสเซีย เพราะจุดประสงค์หลักในช่วงเวลานั้นคือ ต้องการปลดแอกตัวเองออกจากร่มเงาของโปแลนด์ให้ได้ นี่คือสิ่งที่ปูตินเล่าให้คาร์ลสันฟัง

 

รัสเซียใหม่

 

ปูตินมักกล่าวถึงประวัติศาสตร์ช่วงศตวรรษที่ 18 อันเป็นยุครุ่งเรืองของรัสเซียในแง่การแผ่อำนาจขยายดินแดน โดยเฉพาะสมัยพระจักรพรรดินีแคเธอรีนมหาราชินี ซึ่งปูตินก็กล่าวว่ายังไม่มีหลักฐานชิ้นไหนกล่าวถึงคำว่า ‘ยูเครน’ แต่ในขณะที่นักวิชาการบางคนก็วิจารณ์ว่าดินแดนส่วนดังกล่าวทั้งรัสเซียและยูเครนต่างมาทีหลัง เพราะดินแดนส่วนนี้เคยถูกครอบครองโดยออตโตมานเติร์กและมีชาวตาตาร์ไครเมียเป็นคนกลุ่มหลักเดิมที่อยู่อาศัยมาก่อน

 

รัฐที่(เพิ่ง)ถูกสร้าง

 

ปูตินกล่าวว่า ที่มีประเทศยูเครนดังเช่นทุกวันนี้ได้ เพราะความต้องการของผู้นำบัลเชวิก ทั้งวลาดิเมียร์ เลนิน และโจเซฟ สตาลิน ซึ่งนักวิชาการหลายคนลงความเห็นว่า สิ่งที่ปูตินพูดมาเป็นข้อเท็จจริงที่แท้จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่ายูเครนไม่เคยมีตัวตน

 

ทรรศนะของผู้เขียนเองก็มองเช่นนี้ เนื่องจากหากลองย้อนไปดูแผนที่ยุคต้นศตวรรษที่ 20 ยังคงมีการเรียกชื่อดินแดนประเทศยูเครนในปัจจุบันว่า ‘รัสเซียน้อย’ (Little Russia) และเรียกเบลารุสว่า ‘รัสเซียขาว’ (White Russia) 

 

โปแลนด์ร่วมมือกับฮิตเลอร์

 

นับเป็นประเด็นที่รุนแรงมาก โดยประเด็นนี้ต่อให้ไม่มีนักวิชาการคนไหนมาค้าน ผู้เขียนก็ขอแสดงความเห็นค้านอยู่ดี และเห็นตรงกับหลายท่านว่า ข้อเท็จจริงคือโปแลนด์ที่หมดความเป็นมหาอำนาจไปนานแล้วตั้งแต่ช่วงโดนมหาอำนาจอื่นๆ แบ่งส่วนก้อนเค้กกัน ขณะที่สหภาพโซเวียตกับอาณาจักรไรช์ที่สามต่างเป็นมหาอำนาจที่ตกลงแบ่งครึ่งโปแลนด์และเข้ายึดครองในปี 1939

 

คาร์ลสันพยายามถามหลายครั้งว่า ทำไมช่วงเป็นผู้นำใหม่ๆ เมื่อ 24 ปีที่แล้วถึงไม่พูด ทำไมเพิ่งมาพูดตอนนี้ ปูตินชี้แจงว่า ตอนนั้นไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บปัญหาชาติพันธุ์แบบยูโกสลาเวียที่เพิ่งจบไป

 

คาร์ลสันถามว่า ตอนนั้นปูตินจะเข้า NATO ไม่ใช่หรือ ปูตินตอบกลับว่า เราถามเขาว่ามีโอกาสหรือไม่ ถ้าเขาตอบตกลง เราก็จะได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เราแสดงความจริงใจออกไป แต่เขาไม่มีความตั้งใจจริงกับเรา สุดท้ายเขาปฏิเสธ เราก็ได้แต่ทำใจแล้วบอกว่าปฏิเสธก็ปฏิเสธไป

 

ส่วนประเด็นการเจรจาในเรื่องต่างๆ ปูตินก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะปิดประตูไม่เจรจาแต่อย่างใด อย่างในเรื่องของ อีวาน เกิร์ชโควิช (Evan Gershkovich) นักหนังสือพิมพ์อเมริกันเชื้อสายรัสเซียที่ถูกจับข้อหาจารกรรมและเผชิญโทษสูงอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นที่แน่ชัดว่าจะเป็น ‘หมากต่อรอง’ ในการแลกเปลี่ยนนักโทษระหว่างกันต่อไป 

 

ขณะที่ประเด็นเรื่องการยุติสงครามนั้น ปูตินก็ยังยืนยันคำเดิมว่า “ยุติแน่ ถ้าสหรัฐฯ เลิกส่งอาวุธสนับสนุนยูเครน” ก็นับว่าเป็นการตอกย้ำท่ามกลางความระส่ำระสายในสภาคองเกรสที่ผลการโหวตยังไม่มีแนวโน้มออกมาว่าจะสนับสนุนแพ็กเกจความช่วยเหลือชุดใหญ่ให้แก่ยูเครนเมื่อใด แต่ถ้าหากดำเนินไปถึงขั้นเจรจาหารือก็ต้องยอมรับเงื่อนไขของรัสเซียอยู่ดี โดยอีกฝ่ายจำต้องยอมรับผลดินแดนที่รัสเซียขีดไว้ให้ใหม่ ยิ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนในสถานการณ์เช่นนี้ 

 

ภาพ: Sputnik / Gavriil Grigorov / Kremlin via Reuters

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising