×

ผู้จัดการระดับกลาง เลิกดูเอกสาร ทำงานกับคน สรุปหนังสือ Power to the Middle

โดย THE STANDARD TEAM
25.01.2025
  • LOADING...
ผู้จัดการระดับกลาง สรุปหนังสือ Power to the Middle

ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จขององค์กรไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนจากบุคลากรทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ผู้จัดการระดับกลาง’ หรือ Middle Manager ที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่เชื่อมโยงวิสัยทัศน์ของฝ่ายบริหารให้เชื่อมโยงกับเหล่าพนักงานที่ต้องดำเนินงานแบบ Day-to-Day แบบไร้รอยต่อ

 

แต่ในหนังสือ ‘Power to the Middle: Why Managers Hold the Keys to the Future of Work’ ได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของผู้จัดการระดับกลางในฐานะ ‘ผู้นำจากตรงกลาง’ ที่ไม่เพียงแต่ประสานงานระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน แต่ยังเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรม สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีม และแปลงกลยุทธ์ขององค์กรให้เป็นการปฏิบัติจริงได้นั่นเอง

 

🟡 ภาพจำเดิมๆ ของ Middle Manager 

 

หากคนทำงานที่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับ ‘ผู้จัดการระดับกลาง’ มาก่อนหน้านี้ อาจพอเห็นภาพว่าบทบาทของคนเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าแค่ 

 

🔺Paper Pusher: ผลักดันและจัดการงานเอกสาร

🔺Bureaucrat: บริหารงานให้เป็นไปตามกฎระเบียบ

🔺Rule Enforcer: ควบคุมและบังคับใช้กฎหมายภายในองค์กร

 

แต่หารู้ไม่ว่า จากการสำรวจล่าสุดของ McKinsey พบข้อค้นพบที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำงานของผู้จัดการระดับกลาง โดยส่วนใหญ่มักให้เวลากับงานที่มีความสำคัญน้อยที่สุด เช่น งานเอกสารและงานบริหารจัดการทั่วไป แทนที่จะโฟกัสกับสิ่งที่ควรเป็นหัวใจสำคัญของบทบาทนี้ นั่นคือการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Talent Management)

 

🟡 นิยามของผู้จัดการระดับกลางยุคใหม่: มากกว่าแค่หัวหน้างาน

 

ความจริงที่น่าสนใจก็คือ งานที่แท้จริงของผู้จัดการระดับกลางในยุคปัจจุบันไม่ใช่แค่การวางแผนกลยุทธ์หรือควบคุมการทำงานเท่านั้น แต่คือการบริหารคนให้มีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อทีมงานได้รับการดูแลและพัฒนาอย่างเหมาะสม พวกเขาจะสามารถสร้างผลงานที่นำไปสู่เป้าหมายขององค์กรได้

 

จากบทบาทดั้งเดิมที่มักถูกมองว่าเป็นเพียง ‘คนกลาง’ ที่คอยส่งต่อคำสั่งจากเบื้องบน ปัจจุบันผู้จัดการระดับกลางได้วิวัฒนาการกลายเป็นผู้นำที่มีบทบาทหลากหลายมากขึ้น พวกเขาต้องเป็นทั้งผู้สอนงาน (Coach) ที่คอยพัฒนาทีม เป็นนักคิดเชิงกลยุทธ์ที่แปลงวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยให้องค์กรปรับตัวได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง 

 

จากเดิมที่เน้นการบริหารและควบคุม ปัจจุบันผู้จัดการระดับกลางต้องเป็น

 

🔺Facilitator: ช่วยให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการลดอุปสรรคต่างๆ

🔺Change Leader : นำพาการเปลี่ยนแปลงและช่วยให้ทีมปรับตัวได้

🔺Strategic Thinker: มองภาพรวมขององค์กรและเชื่อมโยงงานของทีมเข้ากับเป้าหมายหลัก

 

ลองนึกถึงบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่ประสบความสำเร็จในการนำ Agile Leadership มาใช้ ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากการประกาศนโยบายจากผู้บริหารระดับสูงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะผู้จัดการระดับกลางสามารถนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

 

🟡 ทักษะสำคัญสำหรับผู้จัดการระดับกลางยุคใหม่

 

ในเมื่อมีแนวคิดแล้ว ถัดมาก็คือทักษะที่จะช่วยทำให้แนวคิดของ Middle Manager นั้นสามารถออกดอกออกผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในโลกแห่งการทำงานยุคใหม่นี้ ผู้ที่จะสามารถทำหน้าที่ Middle Manager ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นที่จะต้องมี 6 ทักษะสำคัญด้วยกัน ประกอบไปด้วย

 

  1. การคิดเชิงกลยุทธ์

ไม่ใช่แค่เข้าใจวิสัยทัศน์องค์กร แต่ต้องนำไปปรับใช้ในงานประจำวันให้สอดคล้องกับเป้าหมาย

 

  1. ความฉลาดทางอารมณ์

สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งผู้บริหารและพนักงานระดับล่าง เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้

 

  1. ความสามารถในการปรับตัว

พร้อมที่จะนำทีมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ

 

  1. การพัฒนาทรัพยากรบุคคล

เป็นโค้ชและที่ปรึกษาให้กับพนักงานเพื่อพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการเติบโต

 

  1. ทักษะการสื่อสาร

สื่อสารข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับองค์กรและระหว่างบุคคล

 

  1. การตัดสินใจโดยใช้ข้อมูล

ใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ในการตัดสินใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

 

🟡 ความท้าทายและอนาคตของ Middle Manager

 

แม้จะมีบทบาทสำคัญ แต่ผู้จัดการระดับกลางก็ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งแรงกดดันจากผู้บริหารและทีมงาน ภาระงานเอกสารที่มากเกินไป และการเปลี่ยนแปลงขององค์กรที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง องค์กรที่ชาญฉลาดจึงต้องหาวิธีสนับสนุนผู้จัดการระดับกลางอย่างเหมาะสม

 

หลายองค์กรเริ่มนำเทคโนโลยีมาช่วยลดภาระงานที่ไม่จำเป็น เช่น การใช้ AI ในการจัดการเอกสาร หรือการสร้างระบบอัตโนมัติสำหรับงานประจำ นอกจากนี้การให้โอกาสในการพัฒนาตนเองและเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพที่ชัดเจนก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยรักษาผู้จัดการที่มีความสามารถไว้กับองค์กร

 

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดที่องค์กรควรผลักดันคือ การปรับเปลี่ยนบทบาทของผู้จัดการระดับกลางจากผู้ควบคุมมาเป็นโค้ชและที่ปรึกษา พร้อมทั้งเพิ่มบทบาทในการมีส่วนร่วมตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ เพราะพวกเขาคือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิบัติการมากที่สุด เปรียบเสมือนแม่ทัพที่เข้าใจสถานการณ์หน้าสนามรบผ่านการสื่อสารกับทหารในแนวหน้า

 

ด้วยเหตุนี้ นิยามของการเป็นผู้นำในระดับกลางจึงเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่การจัดการงานประจำวัน แต่หมายถึงการสร้างอิทธิพลและความสามารถในการปรับตัว การนำทีมผ่านการเปลี่ยนแปลง การส่งเสริมนวัตกรรม และการเชื่อมโยงเป้าหมายของทีมเข้ากับกลยุทธ์องค์กร จนเกิดเป็นแนวคิด ‘ผู้นำจากตรงกลาง’ (Lead from the Center) แทนที่จะเป็นเพียง ‘ผู้นำระดับกลาง’

 

รับชมคลิปฉบับเต็มได้ที่: https://youtu.be/OQdwricuJqA

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising