×

ทำไมคนที่เคยต่อต้านรถไฟความเร็วสูงสมัยรัฐบาล ‘เพื่อไทย’ จึงไม่ออกมาค้าน ‘ลุงตู่’

22.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ลีออน เฟสติงเจอร์ เป็นนักจิตวิทยาที่คิดค้นทฤษฎีชื่อ cognitive dissonance ใช้ในการอธิบายเวลาที่คนเรามีทัศนคติมากกว่าหนึ่งทัศนคติที่ขัดเเย้งกัน จะมีวิธีแก้ปัญหา 2 ทาง คือ เปลี่ยนพฤติกรรม หรือไม่ก็เปลี่ยนทัศนคติ
  • พฤติกรรมเปลี่ยนยากกว่าทัศนคติ
  • คนไม่ด่านโยบายนี้เเต่กลับเงียบเมื่อมีนโยบายเดียวกัน (หรือคล้ายๆ กัน) ออกมาจากรัฐบาลที่ตัวเองสนับสนุน เเต่ถ้าถามว่าพวกเขาเหล่านี้จะรู้สึกเเย่อะไรไหม คงจะไม่ นั่นก็เป็นเพราะว่าพวกเขาคงจะสามารถหาเหตุผลมาให้นโยบายที่ว่านี้ฟังดูดีขึ้นในหัวได้
  • พฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนเราเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล เเต่ถ้าเราถามคนคนนั้นว่า ‘ทำไมคุณจึงทำอย่างนั้น?’ พวกเราทุกคนสามารถหาเหตุผลมาอธิบายพฤติกรรมของเราได้เกือบทุกพฤติกรรม

     ไม่ทราบว่าคุณผู้อ่านกำลังสงสัยกันไหมครับ ว่าทำไมคนที่เคยออกมาต่อต้านการสร้างรถไฟความเร็วสูงในสมัยรัฐบาลที่เเล้ว จึงไม่ออกมาต่อต้านนโยบายเดียวกันที่กำลังถูกเสนอออกมาในครั้งนี้อีกครั้ง
     คุณเคยได้ยินถึงชื่อเสียงของนักจิตวิทยาที่มีชื่อว่า ลีออน เฟสติงเจอร์ (Leon Festinger) ไหมครับ
     ลีออน เฟสติงเจอร์ เป็นนักจิตวิทยาที่คิดค้นทฤษฎีที่มีชื่อว่า cognitive dissonance ขึ้นมา ทฤษฎีนี้ถูกใช้ในการอธิบายเวลาที่คนเรามีทัศนคติมากกว่าหนึ่งทัศนคติที่ขัดเเย้งต่อกันในหัวของตัวเอง ซึ่งทัศนคติที่ขัดเเย้งต่อกันนี้ทำให้เกิดความไม่สบายใจ หรือ discomfort ขึ้นมา เเละสำหรับคนที่กำลังเผชิญกับความรู้สึกที่ไม่สบายใจที่มาจาก cognitive dissonance นี้อยู่ พวกเขามีอยู่สองทางที่จะเเก้ปัญหาเเละลดความรู้สึกที่ไม่ดีนี้ลงไปได้นั่นก็คือ

     1) เปลี่ยนพฤติกรรมที่จะทำให้ความรู้สึกขัดกันในหัวมีความคล้องจองกันได้

     2) เปลี่ยนทัศนคติที่ขัดกันให้มีความคล้องจองกัน
     เเต่เพราะพฤติกรรมนั้นเปลี่ยนยากมากกว่าทัศนคติ คนเราจึงมักเลือกที่จะเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองเพื่อลด cognitive dissonance มากกว่าเปลี่ยนพฤติกรรม

     ยกตัวอย่างเช่น
     1. พฤติกรรมการโกงเเละคอร์รัปชัน

     ทัศนคติที่ 1 ‘การโกงเป็นสิ่งที่ไม่ดี ผิดศีลธรรม’ ทัศนคติที่ขัดเเย้งกันกับทัศนคติที่ 1 ‘การโกงทำให้เรารวย มีอำนาจ’
     วิธีการลด cognitive dissonance

     วิธีที่ 1 = หยุดการโกง

     วิธีที่ 2 = เปลี่ยนทัศนคติที่เรามีต่อการโกง ‘เเต่ถ้าเราไม่โกง คนที่อาจจะได้รับผลประโยชน์จากการโกงของเราอาจจะหมดโอกาสได้ในสิ่งที่เขาควรจะได้ ประเทศก็จะไม่พัฒนาไปได้เร็วเท่าที่ควรจะเป็น’
     ผลลัพธ์: เพราะพฤติกรรมเปลี่ยนยากกว่าทัศนคติ = คนไม่หยุดโกง เเต่กลับหาเหตุผลมาให้การโกงฟังดูดีขึ้นในหัว

     2. พฤติกรรมเมาเเล้วขับ

     ทัศนคติที่ 1 ‘การดื่มเเล้วขับเป็นอันตรายทั้งกับคนที่ขับเเละคนอื่นๆ บนท้องถนน’ ทัศนคติที่ขัดเเย้งกันกับทัศนคติที่ 1 ‘ถ้าไม่ได้ดื่มมันก็ไม่สนุกน่ะสิ’
     วิธีการลด cognitive dissonance

     วิธีที่ 1 = ไม่ดื่ม หรือเมาไม่ขับ

     วิธีที่ 2 = เปลี่ยนทัศนคติที่เรามีต่อการดื่มเเล้วขับ ‘โหย คนที่เมาเเล้วขับเเล้วเจออุบัติเหตุนั้น พวกนั้นมันไม่รู้จักลิมิต ไม่เหมือนกับเรา เรารู้ลิมิตของเราดี ถ้าเมาจริงๆ ไม่ขับหรอก’
     ผลลัพธ์: เพราะพฤติกรรมเปลี่ยนยากกว่าทัศนคติ = คนไม่หยุดเมาเเล้วขับ เเต่กลับหาเหตุผลมาให้การดื่มเเล้วขับฟังดูดีขึ้นในหัว (ป.ล. คนที่ดื่มมักจะคิดว่าตัวเองไม่เมา เเต่การดื่มทำให้ความสามารถในการประเมินความเมาในตัวเองลดลงเยอะมาก)

     3. พฤติกรรมความเชื่องมงายในลัทธิหรือในตัวคนที่มี ‘คาริสม่า’

     ทัศนคติที่ 1 ‘เราเชื่อในสิ่งที่ลัทธิหรือคนคนนี้สอนจริงๆ’ ทัศนคติที่ขัดเเย้งกันกับทัศนคติที่ 1 ‘เเต่ทำไมสิ่งที่ลัทธิหรือคนสอนเราถึงขัดกันกับหลักฐานที่ถูกนำมาเปิดโปงถึงในสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับลัทธิหรือบุคคลนั้นๆ จริงๆ’
     วิธีการลด cognitive dissonance

     วิธีที่ 1 = เลิกเชื่อ เลิกนับถือ เลิกปฏิบัติตามคำสอน;

     วิธีที่ 2 = เปลี่ยนทัศนคติที่เรามีต่อลัทธิหรือคนคนนั้น (“ไอ้คนที่มาเเกล้งด้วยการให้ร้ายลัทธิหรือกูรูของเรานั้นมันพวกอิจฉาริษยา”)
     ผลลัพธ์: เพราะพฤติกรรมเปลี่ยนยากกว่าทัศนคติ = คนไม่หยุดการนับถือหรือเลิกที่จะปฏิบัติตามคำสอนของลัทธิหรือของคนที่มีคาริสม่าคนนั้น เเต่กลับหาเหตุผลมาให้ลัทธิหรือคนที่เรานับถือฟังดูดีขึ้นในหัว และไม่ยอมรับความเป็นจริงถ้าสิ่งหรือคนที่เชื่อเเละนับถือถูกเปิดโปงว่าไม่ได้ดีอย่างที่ว่าจริงๆ

 

     4. พฤติกรรมการออกมาต่อต้านนโยบายรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลที่ตัวเองไม่ชอบ

     ทัศนคติที่ 1 ‘สนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ตัวเองสนับสนุนทุกๆ นโยบาย’ ทัศนคติที่ขัดเเย้งกันกับทัศนคติที่ 1 ‘เเต่มันเป็นนโยบายเดียวกันที่เราเคยด่าของรัฐบาลที่เเล้วนะ’
     วิธีการลด cognitive dissonance

     วิธีที่ 1 = เปลี่ยนมาด่านโยบายนี้เช่นเดียวกัน หรือออกมายอมรับว่าตัวเองเคยพูดผิดเกี่ยวกับนโยบายนี้ในสมัยก่อน

     วิธีที่ 2 = เปลี่ยนทัศนคติที่เรามีต่อนโยบายนี้ ‘ที่จริงนโยบายนี้มันก็ดีนะ เเต่มันคงจะพังเเน่ๆ ถ้ารัฐบาลที่เเล้วเป็นคนจัดการ’
     ผลลัพธ์: เพราะพฤติกรรมเปลี่ยนยากกว่าทัศนคติ = คนไม่ด่านโยบายนี้เเต่กลับเงียบเมื่อมีนโยบายเดียวกัน (หรือคล้ายๆ กัน) ออกมาจากรัฐบาลที่ตัวเองสนับสนุน เเต่ถ้าถามว่าพวกเขาเหล่านี้จะรู้สึกเเย่อะไรไหม คงจะไม่ถ้าเราว่าตามทฤษฎี cognitive dissonance นั่นก็เป็นเพราะว่าพวกเขาคงจะสามารถหาเหตุผลมาให้นโยบายที่ว่านี้ฟังดูดีขึ้นในหัวได้

     ผมขอจบบทความนี้ด้วยสิ่งที่นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แดน กิลเบิร์ต (Dan Gilbert) เคยกล่าวเอาไว้ว่า

     “พฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนเราเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล เเต่ถ้าเราถามคนคนนั้นว่า ‘ทำไมคุณจึงทำอย่างนั้น?’ พวกเราทุกคนสามารถหาเหตุผลมาอธิบายพฤติกรรมของเราได้เกือบทุกพฤติกรรม”

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ่านเพิ่มเติม

  • Festinger, L., Riecken, H.W. and Schachter, S., 1956. When prophecy fails. Vancouver.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X