ผมมีเพื่อนที่สนิทเป็นคนเยอรมันสองคน ทั้งสองคนเป็นสามีภรรยากัน เราทั้งสามพบกันตอนผมเเละฝ่ายสามีมาเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวอร์วิก (Warwick) ด้วยกันเมื่อประมาณสิบเจ็ดปีที่เเล้ว
ผ่านไปหลายปีผมเเละภรรยาได้มีโอกาสบินไปเยี่ยมเขาทั้งสองคนที่เยอรมนี เเละระหว่างที่เราทั้งสี่กำลังเดินเล่นในป่าเเถวๆ บ้านของเขา ผมก็ถามเขาทั้งสองว่า
“ไม่รู้ว่าถามได้หรือเปล่า เเต่ผมอยากรู้เหลือเกินว่าพวกคุณเติบโตมาพร้อมกับความรู้ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่สองมากน้อยขนาดไหน เเละในเรื่องนี้เราสามารถพูดกันเเบบเปิดเผยในที่ที่เป็นสาธารณะได้หรือเปล่า หรือเราไม่ควรที่จะพูดถึงมันเลย”
เมื่อได้ยินดังนั้นทางฝ่ายสามีก็ตอบกลับมากับผมว่า
“นิค” (เขาเรียกผมว่านิค) “ทั้งผมเเละภรรยา รวมทั้งคนอื่นๆ ทั่วทั้งประเทศ ต่างก็เติบโตมาพร้อมกับการเรียนในห้องเรียนในเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศเรากันทั้งนั้น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง ว่าฮิตเลอร์นั้นชั่วร้ายขนาดไหน ว่าตอนนั้นมีการฆ่าชาวยิวไปกี่ล้านคน ว่าคนเยอรมันในตอนนั้นสติเสียขนาดไหน
“คุณรู้ไหมว่าทำไมพวกเราถึงถูกสอนในเรื่องที่เป็นความอับอายของประเทศของเราถึงขนาดนี้”
ผมส่ายหน้าเเล้วตอบกลับไปว่า ผมไม่รู้จริงๆ
เขาตอบกลับผมมาว่า
“นั่นก็เป็นเพราะว่าเรา เเละลูกหลานของเรา จะได้รู้ว่าเราควรจะต้องทำยังไงเพื่อที่จะห้ามไม่ให้ประวัติศาสตร์ที่เเย่ๆ อย่างนั้นเกิดขึ้นซำ้รอยได้อีก”
ตอนเด็กๆ คุณเคยเรียนอะไรในวิชาประวัติศาสตร์ไทยบ้างครับ
จากการถามเพื่อนๆ ของผมที่เรียนในเมืองไทยมาตั้งเเต่เด็กๆ ผมมีความรู้สึกว่าเนื้อหาของวิชาประวัติศาสตร์ไทยที่เด็กเรียนๆ กันนั้นส่วนใหญ่เเล้วจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อน เเละส่วนใหญ่จะเป็นประวัติศาสตร์ข้างเดียว (นั่นก็คือการสรรเสริญเเต่ในสิ่งที่เชิดชูความภาคภูมิใจของประเทศของเรา เเละไม่ค่อยจะพูดถึงในสิ่งที่บรรพบุรุษของเราเคยทำผิดพลาดในอดีตซักเท่าไหร่นัก) ส่วนประวัติศาสตร์บ้านเมืองที่พึ่งเกิดขึ้นไปได้ไม่นานหลายๆ ปรากฏการณ์ – ซึ่งล้วนเเล้วเเต่เป็นปรากฏการณ์ที่เด็กๆ รุ่นใหม่ควรจะเรียนรู้ถึงสาเหตุที่มาเพื่อที่เราจะได้หาทางป้องกันเเก้ไขไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกในอนาคต – กลับไม่มีอยู่ในหลักสูตรของวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนทั่วไป
คำถามคือทำไมเราไม่นำเอาความผิดพลาดในประวัติศาสตร์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์การเมือง หรือประวัติศาสตร์การเงิน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่พึ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน มาสอนเด็กๆ อย่างครอบคลุมบ้าง
คงจะมีคำตอบที่เป็นไปได้อยู่หลายคำตอบนะครับ เเต่คำตอบหลักๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นความรู้สึกที่ไม่อยากให้ตัวเราเองเเละคนรุ่นใหม่รู้สึกไม่ดีต่อความผิดพลาดที่เราหรือที่บรรพบุรุษเราเคยทำเอาไว้
Elephant in the room
มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายอะไรนะครับที่เราอยากจะถ่ายทอดความภาคภูมิใจที่เรามีในประวัติศาสตร์ให้กับลูกหลานในอนาคต เเต่การที่เราไม่ถ่ายทอดความผิดพลาดหรือเรื่องที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจในอดีต (เเละปัจจุบัน) ไปให้ลูกหลานของเราได้เรียนรู้เลย โอกาสที่ประวัติศาสตร์ที่ไม่ดีจะซ้ำรอย – อย่างที่ซ้ำรอยมาเรื่อยๆ – ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกอย่างไม่รู้จบ
การที่เราพยายามที่จะไม่พูดถึงเหตุการณ์ที่ไม่ดีเหล่านี้ (ถึงเเม้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะสามารถพบเห็นได้อย่างชัดเจนในอดีตเเละปัจจุบัน) นับเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของคนเรานะครับ ไม่มีใครที่อยากรู้สึกไม่ดีจากการรื้อฟื้นความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นเหล่านี้ ซึ่งก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางด้านพฤติกรรมที่มีชื่อว่า Elephant in the room หรือ ‘ช้างในห้อง’
คำว่า ‘ช้างในห้อง’ เป็นคำที่ใช้เรียกพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ที่เลือกจะไม่ยอมพูดถึงปัญหาใหญ่ๆ ที่สามารถเห็นได้ชัดในสังคม เเละเเสร้งทำให้เหมือนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาจจะเป็นเพราะไม่อยากพูดถึง (เพราะพูดถึงเเล้วจะรู้สึกไม่ดี) หรือเพราะพูดไม่ได้เลยก็ตาม คล้ายๆ กับการเห็นช้างตัวใหญ่ในห้องเเต่เรากลับเเกล้งทำเป็นไม่เห็นเเละไม่เอ่ยถึงมัน
ก่อนจบผมขอยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง ไม่ทราบว่าคุณผู้อ่านทราบหรือเปล่าว่าวิชาประวัติศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นนั้นเองก็เเทบไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของประเทศตัวเองในสงครามโลกครั้งที่สองเลย ซึ่งการที่วิชาประวัติศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นไม่พูดถึงการกระทำที่ทหารญี่ปุ่นเคยทำกับประเทศเพื่อนบ้านของตัวเองนั้นส่งผลให้เด็กๆ รุ่นใหม่ต่างก็ไม่เข้าใจว่าทำไมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของตัวเองเเละประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่นประเทศจีน จึงเปราะบางกว่าที่ตัวเองคิดเยอะ
คำถามก็คือเราควรที่จะเอาเเบบอย่างวิชาประวัติศาสตร์ของประเทศเยอรมนีหรือประเทศญี่ปุ่นดี ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านก็คงน่าจะรู้ดีว่าคำตอบของผมคืออะไรนะครับ
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
อ่านเพิ่มเติม