×

ภูมิรัฐศาสตร์ปี 2024 น่ากังวล อาจเกิด ‘สงครามโลกรูปแบบใหม่’

25.10.2023
  • LOADING...
ภูมิรัฐศาสตร์ปี 2024

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD ถึงประเด็นภาพรวมของภูมิรัฐศาสตร์โลกและจุดฮอตสปอตที่น่าจับตามองในปี 2024 

 

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า “ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจนถึงปี 2024 ภูมิรัฐศาสตร์น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง สงครามในรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าการลงทุน สงครามด้านเทคโนโลยี สงครามชิป หรือสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ยังคงอยู่และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันสงครามรูปแบบดั้งเดิมที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่ได้เกิดขึ้นมาอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน และที่เพิ่งเกิดขึ้นคือสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันระหว่างปาเลสไตน์อย่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าใครจะเข้ามาร่วมบ้าง ไทยเองก็ได้รับผลกระทบ มีทั้งคนไทยที่เสียชีวิต ถูกจับเป็นตัวประกัน และคนไทยที่ได้รับบาดเจ็บ”

 

ดร.สุรเกียรติ์ คาดการณ์ว่า “ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้ขยายตัวเป็นสงครามโลกอย่างที่เราคุ้นเคย แต่จะเป็นสงครามโลกแบบใหม่ ซึ่งเป็นสงครามในภูมิภาคนั้น อาจมีบางประเทศเข้ามาร่วมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดความขัดแย้งในแต่ละสังคมทั่วไปหมด ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์กับกลุ่มที่สนับสนุนอิสราเอล เราได้เห็นการเดินขบวนในเมืองสำคัญๆ ของโลกมาตลอด และไม่รู้ว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่ๆ ที่ไหนอีกบ้าง 

 

“คนที่เห็นใจฝ่ายหนึ่งก็รู้สึกว่าฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ เห็นคนที่เดินมาคิดว่าเป็นฝ่ายนั้นก็ทนไม่ได้ เข้าไปทำร้ายเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รวมไปถึงคนที่มีความรู้สึกกดดันที่อาจจะก่อวินาศกรรมตามที่ต่างๆ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาในอดีต และผมเกรงว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นต่อไปจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ไม่ใช่เหมือนกับที่ทุกประเทศเข้ามาร่วม แต่จะเกิดสงครามหรือความขัดแย้งในแต่ละเมือง แต่ละชุมชน ในแต่ละประเทศมากขึ้น”

 

นอกจากนี้ ดร.สุรเกียรติ์ ยังมองว่า “สงครามแบบยุคใหม่ สงครามเศรษฐกิจ และสงครามเทคโนโลยี กับสงครามแบบดั้งเดิมที่ไม่ควรเกิดขึ้นแต่ก็เกิดขึ้นนั้นต่างเชื่อมโยงกัน สงครามรัสเซีย-ยูเครนเกิดการคว่ำบาตรในเรื่องของพลังงาน ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพก็เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้น ก็ต้องไปขึ้นดอกเบี้ยกับเขาด้วย เศรษฐกิจโลกก็ย่ำแย่ไปหมด ยุโรปก็แทบจะไม่เติบโตเลยในปีนี้ เกิดการคว่ำบาตรระบบโอนเงินระหว่างประเทศ ทำให้หลายประเทศเดือดร้อนต้องมาจัดกลุ่มกันใหม่ กลุ่มประเทศที่อยากจะหาระบบใหม่สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ อย่างเช่น กลุ่มประเทศ BRICS ที่มีบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ก็รวมตัวกันและกำลังจะขยายวงอีก 6 ประเทศในเดือนมกราคมปี 2024

 

“ด้านตะวันออกกลางอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจชัดเจน แต่ก็เริ่มเห็นว่าถ้าราคาพลังงานเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยก็อาจจะต้องเพิ่มขึ้นอีก ก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อไป รวมถึงอารมณ์ของการลงทุนระหว่างประเทศก็จะถูกกระทบไปด้วย เพราะฉะนั้นจากวันนี้จนถึงปี 2024 สงครามรูปแบบใหม่ก็ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบของการที่ประเทศจับมือกันไปเยอะมาก จากประเทศที่ไม่เคยจับมือกับคนนี้ก็จับมือกับคนนี้ จากที่จับมือกับคนนี้ก็ไปจับกับคนนั้น แล้วพอสงครามดั้งเดิมเกิดขึ้น ก็จะส่งผลกระทบกับสงครามแบบใหม่ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านเทคโนโลยีด้วย

 

“ที่เห็นชัดที่สุดคือจีนกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งตกลงซื้อ-ขายน้ำมันกันโดยใช้เงินหยวน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นก็เกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องจับตามองและเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนและอ่อนไหวมากพอสมควร”

 

ขณะที่จุดฮอตสปอตที่น่าจับตามองในปี 2024 ดร.สุรเกียรติ์ ระบุว่า “ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนใต้ และคาบสมุทรเกาหลี ถือเป็นจุดฮอตสปอต เป็นจุดที่มีความร้อนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ โดยกรณีของไต้หวันก็เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้งนับตั้งแต่ แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน และจีนก็ใช้นโยบาย ‘ล้อมแต่ไม่รบ’ นานหลายวัน ซึ่งจีนก็ประกาศชัดเจนแล้วว่า ถ้าไต้หวันนำไปสู่การประกาศอิสรภาพเมื่อไร จีนก็พร้อมจะรบ โดยจีนเดินหน้ารวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ซึ่งเป็นความตั้งใจดั้งเดิมของจีน และจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ก็ต้องดูว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่แตกร้าวมากขึ้นหรือไม่ หรือว่าสามารถร่วมมือกันได้มากขึ้น

 

“ด้านทะเลจีนใต้ก็เป็นจุดที่มีความอ่อนไหว ฟิลิปปินส์กับจีนซึ่งต่างอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ก็มีการกระทบกระทั่งกัน โดยเรือรบของจีนได้ยิงปืนใหญ่น้ำใส่เรือของฟิลิปปินส์ ก็หวังว่าจะไม่เกิดอะไรใหญ่ไปยิ่งกว่านี้ เพราะอย่าลืมว่าในอาเซียนกับจีนเองก็มีอาเซียน 5 ประเทศที่มีเขตพื้นที่ทับซ้อนกับจีน แต่ว่ามีประเทศมหาอำนาจอยู่ข้างหลัง แล้วก็สนับสนุนบางประเทศในทะเลจีนใต้ด้วย 

 

“ส่วนคาบสมุทรเกาหลีเป็นอีกจุดหนึ่ง การที่จับมือกันระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซียที่เพิ่มความเข้มแข็งทางด้านการทหารมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ทุกครั้งที่มีการซ้อมรบกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ เราก็มักจะเห็นเกาหลีเหนือยิงจรวดลงไปในทะเลเป็นสิบๆ ลูก 

 

“ฮอตสปอตทั้งสามแห่งนี้เป็นสิ่งที่น่าจะจับตามองและน่าเป็นห่วง เพราะว่าใกล้บ้าน ใกล้กับประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังมีผลกระทบกับเราขนาดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางก็เชื่อว่าจะมีผลกระทบมากพอสมควร แต่ผลกระทบไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบทางด้านจุดยืนด้านการเมืองระหว่างประเทศ เรื่องบางเรื่องทั้งซับซ้อนและอ่อนไหว ถ้าเกิดเราไม่รอบคอบขึ้นมา พลาดไปนิดเดียวก็จะกระทบทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจ 

 

“เพราะฉะนั้นเราไม่เลือกระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เราต้องการเป็นมิตรกับทั้งสองประเทศ แต่ว่าการที่จะเดินในภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากขนาดนี้ยากขึ้นกว่าเดิมมาก”

 

ภาพ: THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising