×

มาตรฐานใหม่ของ ‘สนามกีฬาแห่งอนาคต’

16.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ส กำลังก่อสร้างสนามไวต์ฮาร์ตเลน ที่มีโรงงานผลิตเนยแข็ง โรงเบียร์ขนาดเล็ก ภัตตาคารระดับมิชลินสตาร์ บาร์ที่มีขนาดยาวที่สุดในโลก เก้าอี้ที่มีเครื่องทำความร้อน พอร์ต USB สำหรับชาร์จมือถือ อุโมงค์สนามทำจากแก้ว รวมถึงสกายวอล์กบนหลังคาสนามสำหรับชมวิว
  • คริสโตเฟอร์ ลี สถาปนิกผู้ออกแบบสนามกีฬาแห่งนี้เชื่อว่ามันจะเป็นสนามกีฬาที่ล้ำหน้ามากที่สุดในโลก
  • ต่างจากฌาค เฮอร์ซอก ผู้ออกแบบสนามกีฬาระดับโลกอย่างอลิอันซ์อารีนา และสนามรังนก ที่คิดว่าสิ่งที่พยายามยัดเยียดกันเข้ามานั้นเป็นการหลงทาง และเชื่อว่าจำเป็นต้องรักษาความรู้สึกที่เป็นของจริงอย่างกลิ่นต้นหญ้า หรือความใกล้ชิดระหว่างแฟนๆ กับผู้เล่นเอาไว้
  • เมื่อระบบความบันเทิงภายในบ้านในปัจจุบันนั้นก้าวไปไกลมาก เราจะลำบากเดินทางเข้าไปชมเกมในสนามกันทำไม?

 

     โรงงานผลิตเนยแข็ง โรงเบียร์ขนาดเล็ก และภัตตาคารระดับมิชลินสตาร์

     ที่พูดมาทั้งหมดเชื่อไหมครับว่ามันคือสิ่งที่จะอยู่ในสนาม (นิว) ไวต์ฮาร์ตเลน ของทีม ‘ไก่เดือยทอง’ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ส ที่กำลังก่อสร้างใหม่และคาดหวังว่าจะเปิดใช้ในฤดูกาลถัดต่อจากฤดูกาลนี้ (2018-19)

     สนามมูลค่ากว่า 750 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 3.25 หมื่นล้านบาท ที่มีความจุ 61,000 ที่นั่ง ยังจะมีบาร์ที่มีขนาดยาวที่สุดในประเทศ, เก้าอี้ที่มีเครื่องทำความร้อน, พอร์ตยูเอสบีสำหรับใช้ชาร์จไฟโทรศัพท์มือถือ รวมถึงอุโมงค์สนาม (tunnel) ที่ทำจากแก้ว ซึ่งจะทำให้แฟนบอลได้เห็นนักฟุตบอลขวัญใจของพวกเขาในช่วงนาทีสำคัญก่อนการลงสนาม

     ไม่นับ ‘สกายวอล์ก’ ทางเดินบนหลังคาสนามที่จะให้แฟนบอลได้ปีนป่ายขึ้นไปชมวิวจากจุดสูงสุดของสนาม

     “มันจะเป็นสนามกีฬาที่ล้ำหน้ามากที่สุดในโลก” คริสโตเฟอร์ ลี (Christopher Lee) สถาปนิกแห่ง Populous บริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการกีฬาและบันเทิงที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบสนามไวต์ฮาร์ตเลนโฉมใหม่กล่าวเอาไว้

     ขณะที่ผมเอง – และเชื่อว่าน่าจะมีคุณผู้อ่านอีกหลายคนที่สงสัยไม่แตกต่างกัน

     สนามฟุตบอล หรือสนามกีฬา จำเป็นต้องมีอะไรเยอะแยะขนาดนั้นเลยหรือ?

 

via GIPHY

 

To Infinity and Beyond

      จากคำถามข้างต้นนั้น คริสโตเฟอร์ ลี ให้คำตอบว่า “มันจะเป็นเหตุผลที่ทำให้คนตัดสินใจที่จะลุกจากโซฟาและทิ้งทีวีจอยักษ์ขนาด 50 นิ้ว ที่มีความละเอียดสูงระดับ 4K เอาไว้ที่บ้าน และออกมาสัมผัสเกมจริงๆ ที่สนาม”

     ฟังแล้วก็ชวนให้คิดตามครับ ในเมื่อระบบความบันเทิงภายในบ้าน (home entertainment systems) ในปัจจุบันนั้นก้าวไปไกลมาก ทีวีมีความละเอียดสูงมาก คุณภาพและเทคโนโลยีของการถ่ายทอดสดก็ดีขึ้นมากด้วยเช่นกัน

     นี่ยังไม่นับเรื่องระบบเสียงที่กระหึ่มไม่แตกต่างจากการนั่งอยู่บนอัฒจันทร์และชมเกมที่สนาม

     ถ้าการชมเกมที่บ้านมันดีขนาดนั้น เราจะลำบากขึ้นรถลงเรือ เสียเงินจำนวนมหาศาล (การไปชมเกมครั้งหนึ่งโดยเฉพาะหากไปชมทั้งครอบครัวใช้เงินเยอะมาก และเป็นปัญหาใหญ่ของแฟนฟุตบอลอังกฤษตลอดหลายปีที่ผ่านมา) เพื่อจะเข้าไปชมเกมในสนามทำไม?

     หมดสมัยสำหรับพายรสชาติแย่ – สำหรับเมืองไทยอาจจะเป็นหมูปิ้งหน้าสนามที่เย็นชืด – เบียร์รสฝาดบาดคอ แม้แต่บทเพลงเชียร์ที่ได้ร่วมขับขานด้วยกันในสนามก็อาจจะไม่มีพลังดึงดูดที่มากพออีกแล้วสำหรับแฟนบอลหรือแฟนกีฬาทั่วไป

     พวกเขาคาดหวังอะไรกว่านั้นมากกับคำว่า ‘ประสบการณ์’ ซึ่งมันกลายเป็นโจทย์ที่ทำให้เหล่านักออกแบบต้องคิดให้หนักกว่าที่ผ่านมา

 

 

     ไม่ใช่แค่จะสร้างสนามให้ใหญ่ มีความจุมากที่สุด ตกแต่งภายในสวยที่สุด หรือมีห้องน้ำที่ติดแอร์เย็นฉ่ำที่โถปัสสาวะไม่ตัน

มันต้องมากกว่านั้น ต้องบียอนด์ไปกว่านั้นอีกครับ

     ยกตัวอย่างเช่น ในอเมริกาเองซึ่งมีการแข่งขันสูงไม่แพ้กันครับ ในกลุ่มของทีมอเมริกันฟุตบอล NFL

     ทีมแอตแลนตา ฟอลคอนส์ ลงทุนสร้างสนามใหม่มูลค่ากว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเปิดใช้ได้ในปลายปีนี้ โดยสนามแห่งใหม่นี้ติดตั้งจอวิดีโอวอลล์ 360 องศา ที่มีความยาวถึง 335 เมตรภายในสนาม เพื่อให้แฟนฟุตบอลได้รับชมภาพการแข่งขันจากทุกมุม

     ความจริงก่อนหน้านี้ยังมีแผนการติดตั้ง ‘เก้าอี้สั่น’ เข้าไปด้วย!

     คล้ายๆ การเข้าไปดูหนังในโรงหนังแบบ 4D อะไรแนวๆ นั้น

 

 

     ในความตั้งใจแล้ว เพื่อจะให้แฟนๆ ที่มาชมในสนามได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ทั้งทางกายภาพ และประสบการณ์การเชียร์แบบยุค ‘ดิจิทัล’ แท้ๆ ซึ่งด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยที่มีจะทำให้แฟนๆ ได้ใกล้ชิดกับนักกีฬามากขึ้นกว่าเดิม

     ทุกอย่างต้องผ่านการคิดแล้วคิดอีก

     กระทั่งการออกแบบเรื่องระบบเสียงในสนามที่สเปอร์ส (ขอย้อนกลับมาอีกทีครับ) จ้างที่ปรึกษาที่มีความชำนาญด้านอะคูสติกมาเพื่อทำให้สนามไวต์ฮาร์ตเลน แห่งใหม่สามารถสร้าง ‘กำแพงเสียง’ (wall of sound) จากอัฒจันทร์ทิศใต้ที่มีความจุ 17,000 ที่นั่ง

     ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้น้อยหน้า The Kop ที่สนามแอนฟิลด์ หรือ Yellow Wall อันลือลั่นของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์

     ถ้าเป็นแบบนี้คริสโตเฟอร์ ลี เชื่อว่าแฟนบอลจะยอมเดินทางมาที่สนาม

     “ผู้คนคาดหวังมากขึ้นจากประสบการณ์ที่จะได้รับจากการเข้ามาชมเกมในสนาม พวกเขายอมจ่ายถ้ามันคุ้มค่ามากพอ”

 

 

กลับไปที่จุดเริ่มต้น?

     อ่านเรื่องข้างต้นจบแล้ว ผมเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยครับ

     อย่างน้อยไม่ใช่สำหรับ ฌาค เฮอร์ซอก (Jacques Herzog) แห่ง Herzog & de Meuron บริษัทจากสวิตเซอร์แลนด์ที่เคยได้รางวัลการออกแบบ Pritzker และอยู่เบื้องหลังการก่อสร้างสนามกีฬาระดับโลกมากมาย อาทิ อลิอันซ์อารีนา และ ‘สนามรังนก’ โอลิมปิกสเตเดี้ยม ที่กรุงปักกิ่ง และปัจจุบัน Herzog & de Meuron กำลังจะมีผลงานการออกแบบสนามใหม่ของเชลซี ที่มาในคอนเซปต์แตกต่างจากสนามของสเปอร์สค่อนข้างมาก

     แฮร์ซอกเชื่อว่าสิ่งที่พยายาม ‘ยัดเยียด’ เข้ามานั้นเป็นการหลงทาง

     “ทุกอย่างมันเริ่มกลายเป็นของปลอมกันไปหมด” ในความเห็นของแฮร์ซอก ซึ่งมองว่าเกมที่แข่งบนสนามหญ้าเทียม และมีหลังคากันฝนกันหิมะ มันทำให้ทุกคนสูญเสียโอกาสที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตไป ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากการนั่งดูลูกชายเล่นเกม FIFA อยู่ที่บ้าน

      แนวคิดของแฮร์ซอก คือการออกแบบสนามที่จะตอบสนองต่อวัฒนธรรมของแฟนฟุตบอลทีมนั้นๆ มากกว่า ไม่ว่าจะเป็น โคมไฟที่เปล่งแสงได้ที่อลิอันซ์อารีนาของบาเยิร์น มิวนิค, วิหารสีขาวของสนามที่เมืองบอร์โดซ์ หรือการออกแบบสนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ ที่ไม่ต่างอะไรจากการบิดเข็มนาฬิกากลับไปในยุคกลาง (เกือบจะเป็น ‘โรมัน’​ ในถ้อยคำของแฮร์ซอกเอง) ที่มีอัศวินผู้กล้าเต็มเมือง

     “เหนืออื่นใดทั้งฟุตบอลและสถาปนิกจำเป็นที่จะต้องรักษาความรู้สึกของสิ่งที่เป็นของจริงเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นของต้นหญ้า หรือความใกล้ชิดระหว่างแฟนๆ กับผู้เล่น”

     นั่นเป็น ‘ประสบการณ์’ การเข้าไปชมเกมในสนามแบบดั้งเดิมที่แฮร์ซอก เชื่อว่าควรจะรักษาไว้

     โดยส่วนตัวผมเองเอนเอียงมาทางแบบ ‘ดั้งเดิม’ ครับ อาจจะด้วยวัยและประสบการณ์ที่ผ่านมาในช่วงชีวิต

     แต่ก็ยอมรับว่าความคิดการสร้างสนามกีฬาสมัยใหม่ที่ล้ำยุคก็ทำให้หัวใจแอบเต้นแรง และเชื่อว่ามันน่าจะสนุกอยู่ไม่น้อย

     เหมือนในคอนเสิร์ตของวง Coldplay เมื่อไม่นานมานี้ที่เปลี่ยนโลกทัศน์ที่มีต่อการเข้าไปชมคอนเสิร์ตของผมไปตลอดกาล (คนที่ไปมาน่าจะเข้าใจ) ซึ่งผมเชื่อว่าสนามไวต์ฮาร์ตเลนใหม่ หรือสนามของทีม แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ก็น่าจะทำให้เราได้สัมผัสความสนุกแบบใหม่ๆ ได้เช่นกัน

     อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นสนามล้ำยุคแบบบียอนด์ขั้นสุด หรือสนามแบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคยกันมาแต่อ้อนแต่ออก

     สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับแฟนบอลจริงๆ คือ ‘ความรู้สึก’ ที่อยากจะออกมาเชียร์ทีมที่ตัวเองรักครับ

     ถ้าเล่นดี มีลุ้น และรักกันมากพอ ลำบากแค่ไหนทุกคนก็พร้อมจะออกมา

     สนามกีฬาจะเทพแค่ไหนก็ไม่มีความหมาย ถ้าไม่มีความผูกพันของทีมและแฟนๆ

FYI
  • ว่ากันว่าในอนาคตเราอาจจะได้เข้าไปชมทีมระดับโลกอย่าง เรอัล มาดริด หรือบาร์เซโลนา ในสนามกีฬาที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ รวมถึงราชมังคลากีฬาสถาน! ​ผ่านการถ่ายทอดในระบบโฮโลแกรม (hologram)
  • เรื่องข้างต้นอาจฟังดูแฟนตาซีมาก แต่เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 พวกเขาให้คำมั่นว่าจะถ่ายทอดสดเกมแบบ 360 องศา ด้วยกล้อง HD กว่า 200 ตัว ซึ่งจะทำให้ถ่ายทอดสดในแบบ 3D ได้ และฉายภาพแบบโฮโลแกรมได้
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising