ความน่ากลัวของการถูกเอาเงินฟาดเรื่อยๆ ก็คือ เมื่อมีค่าตัวมากขึ้น แต่คุณไม่ได้ให้คุณค่าอะไรตอบกลับมาที่บริษัท เมื่อนั้นคุณจะหมดความหมาย เพราะเขาจะรู้สึกว่าทำไมต้องจ่ายแพงด้วยในเมื่อสามารถจ่ายเงินจ้างคนที่ถูกกว่านี้ได้
Q: ผมเบื่องานที่ทำอยู่ตอนนี้มาก มีปัญหาหลายอย่างมาก แต่พอไปบอกหัวหน้าว่าจะลาออก เขากลับเพิ่มเงินเดือนให้ผมมากกว่าเดิม ผมควรทำอย่างไรดีครับ
A : ที่ถามนี่คือไม่รู้จะเอาเงินไปใช้กับอะไรใช่ไหม งั้นเอามาให้พี่ ฮ่าๆ ไม่ใช่แล้ว!
ความจัญไรของโลกการทำงานอย่างหนึ่งก็คือ บางครั้งบริษัทจะเห็นคุณค่าก็ต่อเมื่อเราเอ่ยปากจะขอลาออก พอจะลาออกปุ๊บก็เกิดไม่อยากเสียเราขึ้นมาซะอย่างนั้น (แต่ตอนอยู่ก็ไม่ได้จะให้การเติบโตอะไรกับเราเท่าไรหรอกนะ) ก็เลยฟาดเราด้วยเงิน
อยากลาออกใช่ไหม เอาเงินไปซะ ทีนี้ยังจะมีปัญหาอยู่ไหม เงียบเลยอะเด้!
นั่นทำให้บางคนใช้วิธีการขอลาออกเพื่อเป็นการเพิ่มเงินเดือน (ก็แหม… ทำงานโดยไม่หือไม่อือ มีหรือเขาจะขึ้นเงินเดือนให้เยอะๆ ไม่มีทาง บางคนก็คิดอย่างนี้) ซึ่งบางคนใช้แล้วได้ผล บางคนก็เงิบไปกับคำตอบว่า “เหรอคะ งั้นตามสบายค่ะ”
ทุกคนที่เดินเข้าไปบอกว่าจะลาออกนั้นมีปมปัญหาบางอย่างที่ทำให้เขาตัดสินใจจะออกไปเริ่มต้นใหม่อยู่แล้ว ปัญหาคือหัวหน้าบางคนอาจใช้วิธีการเพิ่มเงินเพื่อจบปัญหา
ผมไม่ทราบว่าปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้คุณเดินไปลาออกคืออะไร คำถามที่ผมอยากถามกลับไปคือ แล้วปัญหานั้นได้รับการแก้ไขหรือไม่จากการเข้าไปคุยกับหัวหน้าในครั้งนั้น นอกจากเสนอทางออกด้วยการให้เงินเพิ่มเพื่อให้คุณเปลี่ยนใจ
ถ้าปัญหาที่ทำให้คุณอยากลาออกคือเรื่องเงินเดือน แล้วหัวหน้ายื่นข้อเสนอเพิ่มเงินเดือนให้ นั่นแปลว่าปัญหาได้ถูกแก้แล้ว แต่ถ้าปัญหาของคุณเป็นเรื่องอื่น เช่น การไม่มี career path ในที่ทำงาน อยู่แล้วตัน อยู่แล้วตาย มีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน มีการประเมินผลงานอย่างไม่เป็นธรรม มีการเมืองในที่ทำงาน งานที่ทำไม่ท้าทายอีกต่อไป ฯลฯ
ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขหรือไม่ อย่างไร
ไหนๆ จะให้เงินแล้ว ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คุณควรถามและมีสิทธิรู้จากหัวหน้า ถ้าได้เงินเดือนมากขึ้น แต่ปัญหาที่ทำให้ไม่สบายใจยังอยู่เหมือนเดิม คงมีแต่คุณที่ตอบได้ว่าจะอยู่ได้ไหม สบายใจที่จะอยู่หรือเปล่า
เพราะเมื่อไรที่เขายื่นเงินมาให้เพื่อจบปัญหา (ที่เขาจะไม่ยอมแก้) แล้วคุณก็กระโดดงับเงินนั้น แปลว่าจากนี้ไปคุณจะไม่สามารถหืออืออะไรใดๆ ได้อีกแล้ว เพราะเขาให้เงินเป็นค่าจัดการความรู้สึกของคุณเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือคือห้ามบ่น เพราะถ้าให้เงินแล้วยังบ่นอีก นั่นคือปัญหาของคุณ ไม่ใช่ปัญหาของเขา
เขาถือไพ่เหนือคุณแล้วนะครับ และเรามีค่าแค่เงินที่ถูกเขาฟาด ยังไงก็ไม่มีสิทธิหืออือได้อีกต่อไป ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ครับ เมื่อเขาให้เงินมากขึ้น เขาย่อมคาดหวังจากคุณมากขึ้น และใช่ครับ… เขาย่อมคาดหวังให้คุณอดทนมากขึ้นด้วย
ความน่ากลัวของการถูกเอาเงินฟาดเรื่อยๆ ก็คือ เมื่อมีค่าตัวมากขึ้น แต่คุณไม่ได้ให้คุณค่าอะไรตอบกลับมาที่บริษัท เมื่อนั้นคุณจะหมดความหมาย เพราะเขาจะรู้สึกว่าทำไมต้องจ่ายแพงด้วยในเมื่อสามารถจ่ายเงินจ้างคนที่ถูกกว่านี้ได้
ตอนนั้นล่ะที่จะหมาจริง
ถ้าเขาเห็นคุณค่าของคุณจริง เห็นว่าการแก้ปัญหาจะทำให้องค์กรดีขึ้น และรักษาคนคุณภาพได้ เขาจะลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง แสดงว่าองค์กรนี้ให้คุณค่ากับคนทำงาน เหมือนแฟนกันน่ะครับ อยากให้เราอยู่แค่ไหน เราดูออกได้จากการกระทำ
ผมคิดว่าคนเป็นพนักงานมีสิทธิจะบอกปัญหาที่เขาไม่สบายใจ และมีสิทธิจะขอทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาจากหัวหน้าได้ เพราะนั่นหมายถึงการหาทางออกเพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้น ทำให้ที่ทำงานดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งหัวหน้าและลูกน้อง
ไม่แน่ใจว่าคุณได้บอกปัญหาให้หัวหน้ารับทราบหรือเปล่า ถ้าทราบแล้วเขาเสนอทางแก้ไขอะไรบ้าง ต้องเคลียร์ให้ชัด ถ้าจะแก้ แก้อย่างไร ภายในระยะเวลาเท่าไร มีอะไรที่เราจะสามารถช่วยกันและกันได้ บางเรื่องหัวหน้าอาจไม่ทราบว่ามีปัญหาอยู่ จึงควรคุยกันตรงๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน
หาให้เจอว่าอะไรผลักดันให้เราอยากลาออก แล้วสิ่งนั้นจะแก้ไขได้อย่างไร เราต้องการแอ็กชันอย่างไรจากหัวหน้า คุยกันตรงๆ ครับ ถ้าทางออกที่เขาเสนอให้เป็นที่น่าพอใจ มีการลงมือแก้ไขจริงจัง พร้อมกับมีข้อเสนอเรื่องเงินที่เพิ่มขึ้นมาด้วย ก็ลองมาดูว่ามันทำให้คุณอยากอยู่ต่อไหม คุ้มไหม และทำให้หายเบื่องานได้หรือเปล่า แต่ถ้าดูแล้วปัญหาที่ว่าจะไม่ได้รับการแก้ไข มีแต่การเสนอให้เงินมาอย่างเดียว ก็ลองถามตัวเองอีกทีครับว่าไหวไหม ถ้าจะต้องอยู่กับปัญหาที่ค้างคาแบบนั้น
แต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตที่ต่างกัน คุณคงต้องกลับมาดูว่าเงินที่เพิ่มขึ้นมานั้นทำให้คุณรู้สึกดีกับงานนี้ได้หรือไม่ มันทำให้คุณรู้สึกว่างานนี้ยังมีความหมายอยู่หรือเปล่า หรือมาถึงจุดที่เอาเงินมากองให้แค่ไหนยังไงก็จะไม่ทนแล้ว
ถ้าเขาเห็นคุณค่าของคุณจริง เห็นว่าการแก้ปัญหาจะทำให้องค์กรดีขึ้น และรักษาคนคุณภาพได้ เขาจะลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง แสดงว่าองค์กรนี้ให้คุณค่ากับคนทำงาน เหมือนแฟนกันน่ะครับ อยากให้เราอยู่แค่ไหน เราดูออกได้จากการกระทำ
แต่ถ้าเขามองว่าพนักงานมีค่าเพียงแค่คนที่เอาเงินฟาดหัวซะก็ยอมหมอบกราบศิโรราบแทบเท้าแล้ว โดยไม่คิดจะแก้ปัญหาใดๆ แสดงว่าองค์กรนั้นตีค่าคนทำงานแค่ทาสของเงิน กูให้เงินมึงแล้ว มึงก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไป อย่าบ่น อย่าเจ๋อ
องค์กรให้คุณค่าเราแบบไหนก็จะปฏิบัติกับเราแบบนั้นครับ
*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai