“ดอกแรกเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงานที่ต้องทำงานในที่ที่ทำลายสุขภาพ
ดอกที่ 2 คือสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานไม่เอื้อต่อการทำงานที่มีคุณภาพ
ดอกที่ 3 คือการนิ่งดูดายต่อทุกข์สุขของพนักงาน”
Q: โต๊ะทำงานของดิฉันอยู่ใกล้ห้องเก็บของ เวลาคนเปิดห้องเก็บของทีฝุ่นคลุ้งกระจายทั่วมาถึงโต๊ะทำงานของดิฉัน ดิฉันเป็นคนแพ้ฝุ่นอยู่แล้ว เคยแจ้งหัวหน้าไปแล้ว เขาบอกว่าจะกั้นประตูให้ แต่ผ่านไป 3 เดือนก็ยังไม่มีความคืบหน้า ถ้าลาออกเพราะแพ้ฝุ่นจะเป็นเรื่องไร้สาระไหมคะ
A: ทุกเรื่องที่เราคิดว่าไร้สาระมันมีสาระอยู่ในนั้นหมดล่ะครับ ดูเผินๆ ว่าการลาออกเพราะแพ้ฝุ่นฟังดูเบ๊าเบา ดูไร้สาระ แต่ผมคิดว่ามันมีสาระอยู่ในนั้นนะครับ
สิ่งแวดล้อมในที่ทำงานมีผลต่องานอย่างมากครับ และมันสะท้อนว่าองค์กรนั้น ‘เชื่อ’ และ ‘ลงมือทำ’ ในสิ่งที่องค์กรบอกแค่ไหน
ยกตัวอย่างนะครับ องค์กรที่ขายผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดีขึ้น แต่พนักงานนั่งทำงานแช่ตูดกระดิกตัวจากเก้าอี้ไม่ได้จนเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไขมันพอกตามร่างกาย องค์กรรัฐที่บอกว่าเราเข้าสู่ยุค 4.0 แล้ว แต่เวลาติดต่อราชการยังต้องถ่ายเอกสารบัตรประชาชนเซ็นสำเนาถูกต้องอยู่ องค์กรที่บอกว่าเป็นองค์กรที่สนับสนุนคนรุ่นใหม่ แต่พอคนรุ่นใหม่แสดงความคิดเห็นดันบอกว่าข้ามหัวผู้ใหญ่ว่ะ
คุณคิดว่าองค์กรแบบนี้น่าเชื่อถือจริงไหมครับ?
บริษัทโฆษณาบางบริษัทจึงจัดให้มีพื้นที่ห้องสมุด มีแกลเลอรี มีห้องประชุมหน้าตาประหลาดบ้าง และสนับสนุนให้พนักงานดีไซน์โต๊ะทำงานเอง มีกิจกรรมต่างๆ ที่หลุดกรอบเพื่อดึงต่อมความสร้างสรรค์มาใช้งาน ทั้งหมดนี้เพื่อแสดงออกว่าเขาให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ และสิ่งแวดล้อมแบบนี้ล่ะที่จะเอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน สุดท้ายมันก็จะกลับไปสู่ผลงานที่มีคุณภาพ
พื้นที่ทำงานของเรานี่ล่ะครับคือที่มาของงานที่จะมีคุณภาพหรือไม่
กลับมาดูที่ห้องทำงานของคุณซึ่งมีฝุ่นคลุ้ง สภาพแวดล้อมแบบนี้ อย่าว่าแต่คนแพ้ฝุ่นเลยครับ เอาใครไปอยู่ก็จะเจ็บป่วยกันได้หมด และมันเป็นบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการทำงานให้มีคุณภาพเลย
จริงอยู่ว่าเราต้องทำงานได้ในทุกสภาพ แต่สภาพแบบไหนล่ะครับที่ทำให้เราได้งานที่ดีกว่า และสภาพนั้นแหละคือสภาพที่องค์กรควรทำให้เกิดขึ้น
ดีแล้วครับที่มีการแจ้งหัวหน้าไป เรามีสิทธิแจ้งปัญหาได้ และปัญหานั้นควรได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
ผมเชื่อว่าองค์กรที่ให้คุณค่ากับคุณภาพชีวิตของพนักงานจะแก้ไขครับ แต่ถ้าผ่านไปสัก 3 เดือนแล้วหัวหน้าคุณยังแกล้งตายไม่ทำอะไรอยู่ ผมว่าก่อนจะไปถึงการลาออก (ซึ่งผมคิดว่าควรเป็นทางออกสุดท้าย) ควรลองปรึกษาหัวหน้าอีกครั้ง คุณมีสิทธิถามความคืบหน้าได้นะครับ จะได้รู้ว่ามีปัญหาอะไรที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่เกิดขึ้น หรือจะไม่แก้ จะได้รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ
ลองดูดีๆ ปัญหาเหมือนจะเล็กแต่ไม่เล็กนะครับ
ดอกแรกเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงานที่ต้องทำงานในที่ที่ทำลายสุขภาพพนักงานเอง
ดอกที่ 2 คือสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานไม่เอื้อต่อการทำงานที่มีคุณภาพ
ดอกที่ 3 คือการนิ่งดูดายต่อทุกข์สุขของพนักงาน บอกว่าจะแก้ปัญหา แต่กลับปล่อยแกล้งตายซะอย่างนั้น
โดนไปหลายดอกแล้วนะครับนั่นบริษัทนี้ โอ๊ย!
เป็นไปได้ไหมครับว่าคุณจะขอย้ายตำแหน่งโต๊ะทำงานใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตของคุณและคุณภาพของงานด้วย รวมไปถึงจะมีวิธีการจัดการกับห้องเก็บของไม่ให้มีฝุ่นคลุ้งอย่างไรได้หรือเปล่า เพราะนอกจากคุณจะได้รับผลกระทบแล้ว พนักงานคนอื่นที่ต้องเข้าไปทำงานในห้องเก็บของนั้นก็ควรได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตเหมือนกัน
บางทีการที่หัวหน้าของคุณแกล้งตายอยู่อาจจะเพราะคิดว่าคุณเป็นคนเดียวที่มีปัญหา (แหม…อยากจะให้หัวหน้าคุณมานั่งทำงานในที่ฝุ่นคลุ้งบ้างจังเลย) ลองจับมือกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ หรือทำให้หัวหน้าเห็นว่าสภาพแวดล้อมแบบนั้นจะมีผลต่อพนักงานคนอื่นๆ อย่างไรบ้าง และที่คุณเข้ามาแจ้งปัญหาในครั้งนี้เพราะเป็นห่วงสุขภาพพนักงานคนอื่นๆ ด้วยนอกจากตัวคุณ มันคือการที่คุณกำลังบอกหัวหน้าว่า ปัญหานี้ไม่ใช่แก้เพื่อคุณคนเดียว แต่แก้เพื่อคนอีกมากมาย และถ้าหัวหน้าแก้ปัญหานี้ได้ เขาจะได้ใจพนักงานอีกมากมาย (แหม…ชงเข้าง่ามตีนขนาดนี้ ถ้าแกล้งตายไม่ทำอะไรอีกก็คงตายจริงแล้วล่ะ)
ถ้าหัวหน้าฉลาด เขาจะแก้ปัญหานี้ทันทีครับ นี่มันสถานการณ์สร้างวีรบุรุษชัดๆ เพราะมันคือการทำให้พนักงานรักหัวหน้าจากการที่เขาช่วยให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น และมีผลต่อการทำงานที่มีคุณภาพไปด้วย เป็นผลงานเขาเห็นๆ แค่ติดประตูหน่อย เอาเครื่องมาดูดฝุ่น ทำห้องเก็บของใหม่ให้สะอาด แค่นี้ก็ถึงยุคทองผ่องอำไพของบริษัทแล้ว พนักงานจะไชโย บริษัทไม่มีฝุ่นแล้วโว้ย!
ถ้าจะบอกว่าเรื่องฝุ่นเป็นเรื่องเล็กเท่าขี้ผง ผมคิดว่ามันไม่เล็กหรอกครับ
เพราะคุณภาพชีวิตพนักงานไม่เคยเป็นเรื่องเล็กครับ
*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai