×

เด็กสมัยนี้ไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กรกันแล้วใช่ไหม!?

21.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เรื่องความจงรักภักดีต่อองค์กรสำหรับคนรุ่น Generation Y อาจจะมองต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าซึ่งทำงานที่ไหนก็มักจะทำงานที่นั่นยาวๆ แต่จะโทษ Generation Y ฝ่ายเดียวก็คงไม่ถูก ต้องกลับไปดูว่าองค์กรเอื้อต่อการเติบโตของคนรุ่น Generation Y หรือไม่
  • หากอยากให้คนอยู่ ต้องทำให้เขารู้สึกว่าองค์กรอยากให้เขาอยู่จริงๆ ไม่ใช่เป็นองค์กรที่ทำให้รู้สึกว่าไม่เข้าใจเขาเอาเสียเลย เมื่อทำองค์กรให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่แล้ว คุณจะไม่ต้องห่วงว่าลูกน้องจะลาออกบ่อย เพราะองค์กรจะดึงดูดคนรุ่นใหม่เจ๋งๆ ให้อยากเข้ามาทำงาน ต่อให้คนเก่าลาออกไป คุณก็หาคนใหม่ที่เก่งขึ้นมาปั้นใหม่ได้ไม่ยาก

Q: เหนื่อยใจกับการมีลูกน้องเหลือเกินค่ะ เด็กสมัยนี้ไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กรกันแล้วใช่ไหมคะ ทำงานแป๊บๆ ก็ลาออกแล้ว พอสอนให้เขาเก่งขึ้นมาได้หน่อยเดี๋ยวก็ลาออกไป เราก็ต้องมาเริ่มสอนลูกน้องกันใหม่ แล้วเดี๋ยวก็ลาออกกันไปอีก เป็นอย่างนี้ทุกที เหนื่อยจนไม่อยากมีลูกน้องแล้วค่ะ  

 

A: รัวมาเป็นชุดขนาดนี้ คุณพี่คงเหนื่อยจริงจนอยากแกล้งตาย เหนื่อยได้แต่อย่าเพิ่งหมดหวังครับ ขออนุญาตแลกเปลี่ยนความคิดกับคุณพี่ตามนี้นะครับ

 

หัวหน้ามีหน้าที่ทำให้ลูกน้องเก่ง แล้วที่เหลือเป็นเรื่องของเขา

     คนเป็นหัวหน้าก็เหมือนเป็นครูครับ ลูกน้องก็เหมือนลูกศิษย์ เราสอนลูกน้องให้เก่งขึ้น จากจุดเริ่มต้นที่เขาอาจจะเก่งในระดับหนึ่ง แล้วเราช่วยให้เขาพัฒนาตัวเองไปสู่อีกระดับ เขาอาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าตัวเองมีความสามารถที่ซ่อนอยู่แต่เราสามารถช่วยดึงความสามารถนั้นออกได้ เขาอาจจะถูกคนอื่นมองข้าม แต่เรามองเห็นประกายศักยภาพนั้น และเป็นฝ่าย ‘ให้ใจ’ เขาก่อนด้วยความเชื่อมั่นในตัวเขา

     ถ้าเขาเก่งขึ้น หน้าที่ของเราจบแล้วครับ ส่วนเขาจะอยู่กับเรานานแค่ไหน นั่นเป็นเรื่องของเขา

     คนเป็นครู ถ้าลูกศิษย์เก่งขึ้น ได้เลื่อนชั้น ก็ไม่มีครูคนไหนบอกว่า “ครูทำให้หนูเก่งขึ้นแล้ว หนูเรียนกับครูไปนานๆ นะ ไม่ต้องเลื่อนชั้น” ไม่มีนะครับ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพี่ทำให้ลูกน้องเก่งขึ้นแล้วก็น่าภูมิใจมากเลยนะครับ เพราะการสร้างคนให้เก่งขึ้นไม่ง่ายเลย และดูสิคุณสร้างมาหลายคนแล้วด้วย ไม่ธรรมดาจริงๆ ขอชื่นชมเลยครับ

     ที่เหลือลูกน้องจะอยู่นานแค่ไหน เราต้องปล่อยวางครับ ถ้าถึงวันที่เขาเดินไปจากเรา แล้วเขารู้สึกว่าโชคดีจังที่มีหัวหน้าที่ดี ที่ทำให้เขาเก่งขึ้น และเขาบอกกับตัวเองว่าจะเป็นหัวหน้าที่ดีให้ได้อย่างที่เราเคยเป็นหัวหน้าเขา ก็ถือว่าหน้าที่เราสมบูรณ์แบบแล้วครับ

     ไม่ได้เป็นหัวหน้า-ลูกน้องกันแล้ว แต่เป็นพี่น้องที่รักกันต่อไปได้ ผ่านมาทางนี้เมื่อไรให้เธอเข้ามาทักทายบ้าง…อยู่ที่ไหนก็ตามถ้าเขาทำประโยชน์ได้ เขาพัฒนาตัวเองได้ เขาต่อยอดสร้างคนเก่งออกมาได้เหมือนกับที่เราสร้างเขา ผมว่านั่นเป็นความสุขของคนเป็นหัวหน้าแล้วครับ

     รักแค่ไหนแต่เราไม่ใช่เจ้าของชีวิตของเขา สุดท้ายก็ต้องปล่อย เรื่องนี้ใช้ได้ไม่เฉพาะกับเรื่องความรัก แต่ใช้กับเรื่องงานได้เหมือนกันครับ พี่อ้อยพี่ฉอดไม่ได้บอกไว้นะครับ

 

สร้างองค์กรที่เอื้อต่อการเติบโตของคนรุ่นใหม่

     เรื่องความจงรักภักดีต่อองค์กร สำหรับคนรุ่น Generation Y นั้น อาจจะมองต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าซึ่งทำงานที่ไหนก็มักจะทำงานที่นั่นยาวๆ แต่จะโทษ Generation Y ฝ่ายเดียวคงไม่ถูก ต้องกลับไปดูว่าองค์กรเอื้อต่อการเติบโตของคนรุ่น Generation Y หรือไม่ ความอุบาทว์ของระบบการทำงานอย่างหนึ่งก็คือ การลาออกไปเริ่มงานที่ใหม่ๆ ได้เงินเดือนเยอะกว่าการทำงานอยู่ที่เดิมนานๆ

     ถ้าระบบมันกำลังบอกคน Gen Y ว่า ความจงรักภักดีไม่ตอบโจทย์ความก้าวหน้าในชีวิต เมื่อระบบมันเป็นแบบนี้ จะให้เด็ก Gen Y จงรักภักดีย่ำอยู่ที่เดิม แต่กลับไม่ได้รับความก้าวหน้าเพื่อ…?!

     เพราะฉะนั้น มันก็ไม่ผิดนะครับ ถ้าคนรุ่นนี้จะมองหาความก้าวหน้ามาก่อนความจงรักภักดี  แต่เป็นองค์กรหรือเปล่าครับที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับความจงรักภักดีตั้งแต่ต้น จนเด็ก Gen Y เรียนรู้ว่าจะเอาชีวิตรอดและเติบโตได้อย่างไร อันนี้ต้องกลับมาย้อนดูภายในองค์กรของเราเองด้วยครับ

     ในอีกทางหนึ่ง คนรุ่น Gen Y ก็มองว่า การได้ทำงานหลายๆ ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้กว้างขึ้น ทำงานที่เดียวก็ได้ประสบการณ์แบบหนึ่ง แต่พอเปลี่ยนที่ทำงานก็เหมือนเขาได้วิชาใหม่ การเปลี่ยนงานสำหรับคนยุคนี้จึงเหมือนการทำตัวเองให้มีประสบการณ์รอบด้านมากขึ้น และการจะอยู่รอดในโลกได้เราก็ต้องรู้ให้ได้รอบด้านมากที่สุด ถูกไหมครับ

     คุณอาจจะเป็นหัวหน้าที่ดีมากเลย แต่เส้นทางการเติบโตในองค์กรของคุณดันไม่ตอบโจทย์ชีวิตคนรุ่นใหม่ เขาก็ลาออกอยู่ดีครับ บาย!

     เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องหัวหน้าเช่นคุณอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของนโยบายองค์กรด้วยว่าปรับตัวทันโลกหรือตกยุคไปแล้ว ถ้าอยากให้คนรุ่นใหม่เติบโตไปพร้อมกับองค์กร ก็ต้องสร้างองค์กรที่เหมาะแก่การเติบโตของคนรุ่นใหม่ด้วย

     อยากให้คนอยู่ ต้องทำให้เขารู้สึกว่าองค์กรอยากให้เขาอยู่จริงๆ ครับ ไม่ใช่เป็นองค์กรที่ทำให้เขารู้สึกว่าโคตรไม่เข้าใจเขาเอาเสียเลย เมื่อทำองค์กรให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่แล้ว คุณจะไม่ต้องห่วงว่าลูกน้องลาออกบ่อย เพราะองค์กรจะดึงดูดคนรุ่นใหม่เจ๋งๆ ให้อยากเข้ามาทำงาน ต่อให้คนเก่าลาออกไป คุณก็หาคนใหม่ที่เก่งขึ้นมาปั้นใหม่ได้ไม่ยาก

 

ลูกน้องคือคนที่สร้างหัวหน้า

     ผมคิดว่าคุณพี่อย่าเพิ่งเหนื่อยใจจนไม่อยากมีลูกน้องเลยครับ เพราะเขานี่ล่ะ คือคนที่สร้างคุณพี่ให้เป็นหัวหน้า ถ้าไม่มีลูกน้องก็ไม่มีหัวหน้านะครับ

     ในขณะที่เราสอนให้ลูกน้องเติบโตขึ้น ลูกน้องเองก็คือคนที่สอนเราให้เติบโตขึ้นเป็นหัวหน้าคนได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าอยากเติบโตก็ต้องเรียนรู้จากลูกน้องเพื่อที่จะได้เป็นหัวหน้าที่ดี ส่วนเรื่องลูกน้องลาออก ผมว่าพอถึงจุดหนึ่งคุณพี่อาจจะเห็นวงจรการเข้าออกของคนรุ่นใหม่มากพอจนเข้าใจและรับมือกับมันได้

     ยิ่งคุณพี่มีลูกน้องมาหลายคนยิ่งได้เรียนรู้ความหลากหลายของคน ลูกน้องหนึ่งคนก็เหมือนตำราเรียนหนึ่งเล่ม ได้เรียนรู้ว่าวิธีการทำงานแบบไหนเหมาะกับคนแบบไหน ได้ทดลองและรู้ว่าทำงานกับลูกน้องแบบไหนเวิร์ก แบบไหนไม่เวิร์ก แล้วเราเอามาพัฒนาตัวเองได้ต่อ พวกนี้เป็นประสบการณ์หมดเลยครับ

     เรื่องบางเรื่อง ไม่ได้มาเป็นหัวหน้าเองคงไม่รู้หรอก และเชื่อไหมครับว่าปัญหาที่คุณพี่ปวดหัวอยู่นี้ วันหนึ่งอดีตลูกน้องคุณพี่ก็ต้องเจอ ถึงตอนนั้น เขาอาจจะเข้าใจคุณพี่มากขึ้นก็ได้ครับ

     และคุณนี่ล่ะที่จะเป็นคนแนะนำเขาได้ ‘ไงล่ะมึง’ คุณอาจจะคิดแบบนี้

 

     *ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่เฟซบุ๊ก ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising